อุปสรรคของงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์???


งานสังคมสงเคราะห์ ที่มีวิธีการสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย (Case Work) เป็นวิธีการปฏิบัติงานหลัก นอกเหนือจากการให้บริการด้วยวิธีการสังคมสงเคราะห์ เฉพาะรายแล้ว ยังอาจใช้วิธีการสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน (Group Work) เข้ามาการจัดการกับผู้ใช้บริการที่มีปัญหาสังคมคล้ายกัน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในกลุ่มของผู้ป่วยจำนวนมาก ถ้าจะให้ดี นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ต้องใช้วิธีการสังคมสงเคราะห์ชุมชนเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานสร้างความยั่งยืนทางสวัสดิการด้านสาธารณสุขให้แก่สังคม ด้วย

ที่กล่าวมานั้นเป็นการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสังคมสงเคราะห์ แต่ในทางปฏิบัติจริง นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ตามโรงพยาบาล มักจะถูกจำกัดให้ทำงานด้านการอนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล เท่านั้น หากแม้มีนักสังคมฯคนใด พยายามทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่แท้จริง ก็มักจะถูกบดบังด้วยนโยบายองค์กรที่มุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไรมากกว่า นักสังคมฯจึงเป็นเพียงเครื่องมือ "ตรวจจับ" ความยากจน คือ ถ้าใครจนจริง เราจะให้ ถ้าใครไม่จน เราจะไม่ ทั้งที่ ไม่มี School of Social Work ที่ไหน สอนเราในเรื่องของการดูว่าใครจนหรือใครรวย มีแต่การสอนให้ขุดค้นลงไปถึงปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วยให้ลึกที่สุด

บ่อยครั้งที่คนไข้ถูกส่งตัวมาขอรับคำปรึกษาด้วยเรื่องค่ารักษา แต่ปัญหาที่แท้จริงคือปัญหาครอบครัว ซึ่งสิ่งนี้ นักสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่จะพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงที่ได้จากการวินิจฉัยโรคทางสังคม แต่ผู้บริหารองค์กรด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่ จะมีอาการรู้ แต่ไม่รับรู้ คือ ปฏิเสธบทบาทการเยียวยาทางสังคมของนักสังคมสงเคราะห์ออกไป และยัดเยียดบทบาทผู้ screening ฐานะของคนไข้ให้พวกเรามากกว่า

หากพวกเราจะได้รับการยกย่อง เราก็จะได้รับการยกย่องในฐานะที่ช่วยให้โรงพยาบาลสงเคราะห์ค่ารักษาได้ถูกคน ซึ่งมีไม่บ่อยนักที่เราจะได้รับการยกย่องเยี่ยงนั้น โดยมากจะโดนตราหน้าว่าทำให้โรงพยาบาลขาดทุนมากกว่า โดยที่ไม่ได้คิดกันบ้างเลยว่า ค่ารักษานั้น ไม่ได้ออกมาจากนักสังคมสงเคราะห์ หากแต่มาจากหมอ ส่วนเราเป็นเพียงคนที่นำเสนอความจริงทางสังคมของคนไข้ต่างหาก

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลตั้งแต่แรกเริ่ม ก็มีส่วนทำให้เกิดความเข้าใจบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์บิดเบือนไป ด้วยกฎหมายข้าราชการพลเรือน ได้กำหนดวุฒิการศึกษาสำหรับตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ ได้ตั้งแต่ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา ไปจนถึงบริหารธุรกิจ (??) จึงมีบุคคลที่ไม่มีความรู้ด้านสังคมสงเคราะห์เข้ามาทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ และปล่อยให้มีการเข้าใจผิดๆ ว่านักสังคมสงเคราะห์ มีหน้าที่ตัดสินว่าใครจน ใครรวย ใครสมควรได้รับสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล

ความเข้าใจผิดดังกล่าวจึงถูกนำเสนอ และ ถูกผลิตซ้ำไปซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นภาพพจน์ของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไปแล้ว -- นักสังคมสงเคราะห์เป็นพวกไม่มีมันสมอง ทำได้แค่แจกของ และดูว่าใครจนใครรวย -- สิ่งเหล่านี้ กลายเป็นตราบาปติดตัวนักสังคมสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ จนไม่สามารถดิ้นรนหลุดรอดไปไหนได้อีก ยกเว้นบางองค์กรที่นักสังคมสงเคราะห์ ดั้งเดิม ต่อสู้ และได้มาซึ่งความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนใหญ่ จะอ่อนล้า และ ยอมถูกครอบงำโดยองค์กร กลายเป็นซอมบี้ที่มีหน้าที่ แจกความเมตตา กรุณา ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ เชิงอำนาจต่อผู้ใช้บริการอีกชั้นหนึ่ง

ข้อเสียอีกประการหนึ่ง คือ แต่เดิมงานสังคมสงเคราะห์ มิได้ถูกกำหนดให้เป็นวิชาชีพตามกฏหมาย ไม่ต้องมีใบอนุญาต แปลว่า ใครๆก็สามารถเป็นนักสังคมสงเคราะห์ได้ ไม่จำเป็นต้องจบสังคมสงเคราะห์ การทำงานจึงเป็นไปตามนโยบายองค์กรโดยไม่มีผู้ทักท้วง คือ ดูว่าใครจนใครรวย แล้วก็ทำตามกันมาเรื่อยๆ กลายเป็นการยอมรับบทบาทที่บิดๆเบี้ยวๆไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี หลังจากต่อสู้กันมานานกว่า 30 ปี พรบ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ 2556 ก็ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 เนื้อหาโดยสรุปกำหนดให้นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องได้รับใบอนุญาต ใครจะมีใบอนุญาตได้ ต้องจบสังคมสงเคราะห์ ต้องสอบ ต้องจัดทำมาตรฐานฯ ส่งมายังสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียน พรบ.นี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการประกาศศักดิ์ศรีของวิชาชีพ ประกาศองค์ความรู้ ในการจัดการ วินิจฉัย และรักษาโรคทางสังคมของผู้ป่วยได้ ในกรณีของงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์

แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับพวกเรา--นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์-- ว่าจะต่อสู้อย่างจริงจัง เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ หรือจะนอนลอยชาย ปล่อยให้มันผ่านไป กินเงินเดือนตอบแทนเล็กๆน้อยๆพอประทังชีวิต แล้วเกษียณไปอย่างไร้คุณค่าโดยไม่ทำอะไรเลย

หมายเลขบันทึก: 619043เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท