ทฤษฎีระบบและทฤษฎีนิเวศวิทยา


ทฤษฎีระบบและทฤษฎีนิเวศวิทยา (Systems and Ecological Theories)

จุดกำเนิดของทฤษฎีระบบในทางสังคมวิทยามาจากอิทธิพลของทฤษฎีแนวคิดดาร์วินทางสังคม (Social Darwinism) ของเฮอร์เบิร์ด สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) รวมทั้งผลจากการสำรวจวิจัยทางสังคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ประเทศอังกฤษตลอดจนอิทธิพลของนักสังคมวิทยา สำนักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ในช่วงทศวรรษที่ 1930

เมื่อเข้ามาสู่วงการสังคมสงเคราะห์ ประวัติของทฤษฎีระบบในการทำงานสังคมสงเคราะห์เริ่มจาก กอร์ดอน เฮิร์น (Gordon Hearn, 1958; 1969) เป็นคนแรกๆ ที่กล่าวถึงการทำทฤษฎีระบบมาประยุกต์ใช้ในการทำงานสังคมสงเคราะห์ ขณะเดียวกัน ก็มีผลงานสองชิ้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ชิ้นหนึ่งเป็นของโฮวาร์ด โกลด์สทีน (Goldstein, 1973) เรื่อง Social work practice: A unitary approach และอีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานของแอลเลน ปินคัส และแอน มินาฮาน (Allen Pincus and Anne Minahan, 1973) เรื่อง Social work practice: Model and method ซึ่งงานเขียนทั้งสองเรื่องพยายามนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีระบบเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ต่อจากนั้น มีงานเขียนของนักวิชาการอีกชุดหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงระบบ ได้แก่ แมกซ์ ซิพอริน (Max Siporin, 1975; 1980) ที่เขียนเรื่อง Introduction to social work practice และ Ecological systems theory in social work และคาเรล เจอร์เมนกับอเล็กซ์ กิตเตอร์แมน (Carel Germain and Alex Gitterman, 1980) เขียนเรื่อง The life model of social work practice ซึ่งงานเขียนชุดหลังของซิพอรินเจอร์เมนและกิตเตอร์แมนนั้นมีอิทธิพลต่อทฤษฎีระบบนิเวศ (Ecological systems theory) ในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มัลคอล์ม เพย์น (Malcolm Payne, 1992, p. 135) เห็นว่า ความคิดเรื่องระบบที่เข้ามาสู่การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์นั้น ต้นกำเนิดแท้จริง น่าจะมาจากทฤษฎีระบบทั่วไป ของลุกวิด ฟอน เบอร์ทาลันฟี่ (Ludwig von Bertalanffy, 1971) ซึ่งเป็นนักชีววิทยา และเขียนทฤษฎีระบบทางชีววิทยา เพื่อเสนอว่า อินทรีย์ (Organisms) ทุกชีวิตเป็นระบบ อันประกอบด้วยระบบย่อยๆ (sub-systems) ขณะเดียวกัน อินทรีย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่า ที่เรียกว่า Super – systems ดังนั้น มนุษย์ผู้หนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่เป็นระบบที่ใหญ่กว่า และมนุษย์ประกอบด้วยระบบต่างๆ ที่ไหลเวียน เซลล์ และอะตอม ซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ ทฤษฎีระบบทางชีววิทยา เมื่อนำมาอธิบายกับระบบทางสังคม ก็ประยุกต์ได้กับกลุ่มต่างๆ ครอบครัว และสังคม ตลอดจนระบบทางชีววิทยา ซึ่งรายรอบและประกอบกันเป็นมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์นั่นเอง

แนวคิดหลักของทฤษฎีระบบ ได้แก่

- ระบบทุกระบบจะมีขอบเขต (Boundaries) ซึ่งภายในขอบเขตก็จะมีพลังงานทั้งทางกายภาพและพลังทางจิตใจแลกเปลี่ยนไหลเวียนและมีความสัมพันธ์กันภายในขอบเขตของระบบมากกว่าที่จะแลกเปลี่ยนข้ามออกมาจากระบบ

- ระบบหนึ่งอาจจะเป็นระบบปิด (Closed system) หมายถึง ระบบที่มีขอบเขตที่แน่นอนตายตัว และไม่ปล่อยให้มีการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ออกมานอกระบบ ประหนึ่งกระติกน้ำร้อนสุญญากาศ ที่ขังน้ำร้อนไว้ภายใน ไม่ยอมให้รั่งไหลออกนอกตัวกระดิก

- ระบบหนึ่งอาจจะเป็นระบบเปิด (Open system) หมายถึง ระบบที่มีขอบเขตที่สามารถปล่อยให้พลังงานซึมซาบออกมาได้ ดังเช่น ถุงชงชา (Tea-bag) ที่เรานำน้ำร้อนมาเทเพื่อชงชาร้อนๆ ดื่ม ชาก็จะซึมออกมาจากถุงชา ทำให้น้ำร้อนกลายเป็นน้ำชา ระบบของถุงชงชาจึงเป็นระบบเปิด ที่ปล่อยให้มีการซึมหลุดออกจากขอบเขตของระบบได้

นอกเหนือจากแนวคิดหลักสามประการแล้ว ในด้านการทำงานของระบบ ยังมีชุดแนวคิดที่อธิบายการทำงานของระบบอีกชุดหนึ่ง ได้แก่

1. ปัจจัยนำเข้า (Input) หมายถึง พลังงานที่นำเข้ามาหล่อเลี้ยงระบบ โดยข้ามผ่านขอบเขตเข้ามา เช่น อาหาร น้ำ อากาศ เป็นปัจจัยนำเข้าของระบบร่างกายมนุษย์ น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยนำเข้าของรถยนต์ หรือเงินรายได้ของพ่อแม่ เป็นปัจจัยนำเข้าของระบบครอบครัวนักศึกษาที่มีพื้นฐานความรู้ ทัศนคติและทักษะการเรียนรู้ที่ดี เป็นปัจจัยนำเข้าของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เป็นต้น

2. กระบวนการเปลี่ยนผ่าน (Throughput) หมายถึง วิธีการนำพลังงานไปใช้ภายในระบบ เช่น อาหาร น้ำ อากาศต้องผ่านกระบวนการย่อยเผาผลาญพลังงาน รถยนต์นำน้ำมันเข้าไปเผาผลาญเป็นพลังงานด้วยระบบเครื่องยนต์ นักศึกษาต้องผ่านกระบวนการเรียนการสอน การฝึกงานโดยมีอาจารย์ที่มีคุณภาพดูแลตามหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เป็นต้น

3. ปัจจัยส่งออก (Output) หมายถึงผลจากการที่ปัจจัยนำเข้า ผ่านกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากขอบเขตของระบบออกมาเป็นสิ่งที่ระบบสร้างขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยส่งออกที่ระบบต้องการ (Primary output) หรือปัจจัยส่งออกที่ระบบไม่ต้องการ (Secondary output) ก็ได้ตัวอย่างของปัจจัยส่งออกที่ระบบต้องการ (Primary output) ได้แก่ เมื่อมนุษย์บริโภคอาหาร น้ำ อากาศ ผ่านเข้าไปในระบบร่างกายเปลี่ยนผ่านมาเป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง ทำงานได้เป็นปกติ ไม่มีโรคภัย ส่วนปัจจัยส่งออกที่ระบบไม่ต้องการ (Secondary output) อาจจะได้แก่ อาหารที่มากเกินไปทำให้อ้วน อากาศที่ไม่ดีอาจทำให้เจ็บป่วย น้ำที่ไม่สะอาดอาจทำให้ท้องเสีย ปัจจัยส่งออกที่ระบบของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ต้องการ ได้แก่ การจบปริญญาตรี สส.บ.อย่างสง่างาม มีคุณภาพได้งานนำ เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ดี ส่วนปัจจัยส่งออกที่ระบบของคณะสังคมสงเคราะห์ไม่ต้องการ อาจจะได้แก่ การเรียนไม่จบ ถูกรีไทร์ การถูกหน่วยงานฝึกงานไล่ออก การจบเป็นบัณฑิต สส.บ. แต่ทำเรื่องเสียหายแก่คณะและวิชาชีพ เป็นต้น

4. ห่วงสะท้อนป้อนกลับ (Feedback loops) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารและพลังงานที่ส่งเข้าไปในระบบ อันทำให้เกิดปัจจัยส่งออกที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เราทราบถึงผลของปัจจัยส่งออกว่าเป็นอย่างไร เป็นปัจจัยที่เราประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ ตัวอย่างเช่นมนุษย์กินอาหารไม่สะอาดเข้าไป ก็รู้ได้จากการปวดท้อง หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ผลิตบัณฑิตแล้วเกิดปัญหาบัณฑิตหางานทำไม่ได้ สู้กับบัณฑิตวิชาชีพเดียวกันจากสถาบันอื่นๆ ไม่ได้ หรือนักศึกษาเรียนไม่จบ รีไทร์ออกกลางคันจำนวนมากๆ ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมด

5. ภาวะเสื่อมถอย (Entropy) หมายถึง แนวโน้มของระบบที่ใช้พลังงานของตนเท่าที่มีอยู่ในการรักษาระบบให้ดำรงอยู่ โดยจำเป็นต้องมีปัจจัยนำเข้าจากนอกขอบเขตของระบบ มิฉะนั้นระบบจะหยุดทำงานและตายลง ตัวอย่างเช่น หากร่างกายมนุษย์ไม่ได้อาหาร น้ำ และอากาศที่ดีมีคุณภาพและเพียงพอ ก็จะเจ็บป่วยและตายได้ รถยนต์ขาดน้ำมันก็จะหยุดนิ่ง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ไม่มีนักเรียนสมัครเข้าเรียนในคณะ คณะก็ต้องปิดตัวลง อาจารย์ต้องออกไปประกอบอาชีพอื่นแทน คณะต้องหยุดกิจการ – ปิดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาวะของระบบ (State of a system) มีชุดแนวคิดที่อธิบายคุณลักษณะของระบบ จำแนกได้อีกห้าประการ ได้แก่

1. สภาวะคงที่ (Steady state) ของระบบ หมายถึง สภาวะที่ระบบดำรงตนอยู่ได้ โดยการรับปัจจัยนำเข้า นำปัจจัยนำเข้ามาใช้ได้ เกิดผลตามปกติ

2. สภาวะสมดุลหรือสภาวะที่มีดุลยภาพ (Homeostasis or Equilibrium) ของระบบ หมายถึงความสามารถของระบบที่จะรักษาธรรมชาติพื้นฐานของระบบเอาไว้ได้อย่างมีสมดุล เช่น มนุษย์รับประทานอาหารได้ อาจมีปวดหัวตัวร้อนเล็กน้อย แต่โดยทั่วไปแข็งแรงดี ไม่ต้องลาหยุดเรียนหรือลาหยุดงาน รถยนต์ยังวิ่งได้ดี ไม่มีปัญหาติดขัด รบกวนใดๆ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ยังสอนนักศึกษาตามปกติ มีบัณฑิตส่วนใหญ่มีคุณภาพ และไปทำงานรับใช้สังคมได้ดี ทำให้คณะมีชื่อเสียงสมตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร

3. สภาวะการเปลี่ยนแปลงแตกต่าง (Differentiation) หมายถึง แนวคิดที่ทำให้ระบบเติบโตก้าวหน้าไปอย่างสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อเวลาผ่านไป ระบบสามารถทำให้เกิดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลกแตกต่างออกไป เช่น มนุษย์เมื่อเติบโตขึ้น อาหารน้ำ อากาศที่ดี ประกอบกับการฝึกฝนร่างกายอย่างถูกต้อง อาจทำให้มนุษย์คนนั้นเป็นนักกีฬาที่มีสมรรถภาพการแข่งขันยอดเยี่ยม ทำลายสถิติทางกีฬาประเภทที่ตนลงแข่งขันได้ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์อาจได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เมื่อประเทศไทยมีระบบใบประกอบวิชาชีพ หรือสังคมเรียกร้องให้ผลิตนักสังคมสงเคราะห์มากยิ่งขึ้น และมีความชำนาญกานเฉพาะด้านมากขึ้น คณะอาจต้องผลิตนักสังคมสงเคราะห์คลินิก เพื่อทำงานให้การปรึกษาทางสังคมตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น เป็นต้น

4. สภาวะคุณค่าองค์รวม (Nonsummativity) ของระบบ หมายถึง สภาวะการเติบโตของระบบที่มีคุณค่าอันเป็นคุณค่าขององค์รวมทั้งระบบ มากกว่าการรวมส่วนย่อยๆ ของแต่ละส่วนมาผนวกรวมกัน เช่น ร่างกายมนุษย์ที่มีการเติบโตและการฝึกฝนที่ดี ทำให้สามารถแสดงสมรรถนะออกมาได้อย่างสูงสุด คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ผลิตบัณฑิต สส.บ. ออกมาได้ดีมีคุณภาพ สะท้อนผลรวมคุณค่าขององค์กรทั้งคณะ ไม่ใช่ฝีมือของอาจารย์คนใดคนหนึ่ง หรือภาควิชาใดวิชาหนึ่งเท่านั้น

5. สภาวะต่างสัมพันธ์ (Reciprocity) หมายถึง สภาวะที่ระบบย่อยแต่ละระบบต่างมีความสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ระบบย่อยระบบหนึ่ง ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยระบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ร่างกายมนุษย์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการนำเข้าอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารเปลี่ยนแปลงไป ระบบการเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงานก็เปลี่ยนไป ระบบการขับถ่ายก็เปลี่ยนแปลงไป คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ หากอาจารย์ดีๆ มีคุณภาพลาออกไป หรือเกษียณอายุพร้อมๆ กันหลายท่าน หรือย้ายไปอยู่สถาบันอื่นกันเป็นส่วนใหญ่ ระบบการสร้างอาจารย์ใหม่ทดแทนไม่ทัน การผลิตบัณฑิตก็จะประสบปัญหา บัณฑิตรุ่นหลังอาจจะมีคุณภาพเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

จากการที่ระบบต่างสัมพันธ์ แสดงผลของการต่างสัมพันธ์แลกเปลี่ยนของระบบย่อย เมื่อระบบย่อยหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา มีทั้งสภาวะที่เรียกว่า สภาวะแสดงผลสุดท้ายคงเดิม (Equifinality) และสภาวะแสดงผลสุดท้ายที่แตกต่าง (Multifinality) โดยสภาวะแสดงผลสุดท้ายคงเดิม (Equifinality) เกิดขึ้นเพราะระบบสามารถดำเนินการได้ผลดังเช่นเดิม แม้จะมีวิธีการที่แตกต่างกันในกระบวนการ หรือระบบย่อยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ได้ผลดังเดิม กล่าวคือ ไม่ว่าอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่สอนดีสอนเก่งจะเกษียณอายุไปพร้อมกัน แต่อาจารย์ใหม่ซึ่งมีวิธีการสอนแตกต่างไป ยังสามารถสอนนักศึกษาได้อย่างมีคุณภาพไม่ย่อหย่อนไปกว่าเดิม ส่วนสภาวะแสดงผลสุดท้ายที่แตกต่าง (Multifinality) เกิดขึ้นเพราะ แม้ว่าเงื่อนไขสภาพการณ์จะเหมือนเดิม แต่ระบบย่อยๆ มีความสัมพันธ์ที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้ผลที่ได้มีความแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์อาจจะชุดเดิมทั้งหมด ไม่มีใครเกษียณ และยังไม่มีอาจารย์ใหญ่ ทว่า อาจารย์แตกสามัคคีกัน (สมมุติ) ไม่ร่วมมือกันในการสอน แก่งแย่งกันหรือเกี่ยงโยนงานกัน นักศึกษาก็จะด้อยคุณภาพไปจากเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบสัมคมยังสามารถสร้างกระบวนการ “สังเคราะห์พลังร่วม” (Synergy) ซึ่งหมายถึงการที่ระบบสามารถสร้างพลังร่วมของทั้งระบบได้โดยตัวของระบบเอง ตัวอย่างเช่น มนุษย์เรามีการแต่งงานกันคู่ครองที่ดีสามารถเกื้อกูลหนุนสร้างพลังให้กับครอบครัวโดยรวม ทำให้ครอบครัวนั้นเข้มแข็ง หรือมนุษย์มารวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อสร้างระบบการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือระบบสวัสดิการร่วมกันภายในกลุ่ม ทำให้กลุ่มเกิดความเข้มแข็ง รวมทั้งการสังเคราะห์พลังร่วม (Synergy) ยังทำให้เกิด “สภาวะคุณค่าองค์รวม” (Nonsummativity) ขึ้นภายในระบบนั้นด้วย เนื่องเพราะความผูกพันแนบแน่นที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม ย่อมเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่ม ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าที่มากกว่าการรวมส่วนต่างๆ ของระบบย่อยเข้าด้วยกัน

หมายเลขบันทึก: 619042เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท