โครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ : นักกฎหมายหัวใจอาสา (คณะนิติศาสตร์)


ยิ่งการนำนายกสมาคมศิษย์เก่าของคณะที่นำโดยนายธนิต ปุลันรัมย์ (นายกสมาคมศิษย์เก่านิสิตคณะนิติศาสตร์และอดีตนายกองค์การนิสิตปีการศึกษา 2551) มาร่วมบริการสังคม ยิ่งถือว่าเป็นสิ่งอันดีงาม ก่อเกิดการเรียนรู้และการพัฒนาทุกฝ่ายไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่พัฒนานิสิต ไม่ใช่แค่พัฒนาชุมชน หากแต่เป็นการพัฒนาศิษย์เก่า หรือเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนร่วมกับมหาวิยาลัยฯ



-1-


โครงการ ‘นักกฎหมายหัวใจอาสา’ ที่จัดโดย ‘สโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์’ เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงเรียนบ้านหนองโสน ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดูเหมือนจะบูรณาการระหว่างการบริการสังคมกับการบริการวิชาการแก่สังคมผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นหัวใจหลัก

กระนั้นเมื่อพิจารณาในภาพรวม หรือกระทั่งหยั่งลึกกลับพบว่าเป็นกิจกรรมบริการสังคมในวิถีค่ายอาสาพัฒนาเสียมากกว่า...

กิจกรรมครั้งนี้บริหารจัดการโดยคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์ ส่วนใหญ่จะเป็นชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะแก่นิสิตผ่านกิจกรรมการบริการสังคม (กิจกรรมนอกหลักสูตร) โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ - พื้นที่แห่งการเรียนรู้คู่บริการ






สำหรับเหตุผลและกระบวนการ ‘คัดเลือกพื้นที่’ มีหลายเหตุผล เช่น โรงเรียนขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมบำรุงอาคารเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเหมาะสมกับงบประมาณที่นิสิตมีอยู่ รวมถึงเป็นชุมชนบ้านเกิดของคณะกรรมการสโมสรนิสิต โดยมีกระบวนการประชุมหารือ นำเสนอรูปแบบและคัดเลือกพื้นที่อย่างเป็นทางการร่วมกันในทีมของสโมสรนิสิต ครั้นพิจารณาลึกลงไปก็พอเข้าใจเหตุผลหรือเกณฑ์ที่เลือกว่าเป็นเสมือนต้นทุนอันสำคัญที่จะช่วยให้กิจกรรมสำเร็จลุล่วงตามหมุดหมาย ซึ่งศัพท์ทางการจัดการความรู้ (KM) เรียกว่า ‘ปัจจัยความสำเร็จ’ ทว่านี่คือการเริ่มต้น จึงมีสถานะเป็นเพียงคำพยากรณ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ !

ประเด็นดังกล่าวนี้มุมมองส่วนตัวของผม- ผมมองว่าการเลือกพื้นที่เช่นนี้ ‘ไม่มีผิด-ไม่มีถูก’ เพราะเป็นการขับเคลื่อนบนฐานคิดอันเป็นวัฒนธรรมองค์กร หรือหมุดหมายของแต่ละองค์กรในวาระนั้นๆ นี่คือการฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคม โดยเริ่มต้นจากการ ‘ค้นหาโจทย์’ หรือ ‘ความต้องการของชุมชน’ จากนั้นจึงบูรณาการโจทย์จากชุมชนเข้ากับโจทย์ของตนเอง เพื่อนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการร่วมกัน ขอเพียงเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้วต้องตั้งวง ‘โส่เหล่’ สรุปงานกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้มาซึ่งชุดความรู้แล้วส่งมอบต่อคนรุ่นหลังเพื่อสานต่อภารกิจ





จากประเด็นข้างต้น หากไม่นับว่าเป็นกระบวนการบ่มเพาะการทำงานอย่างเป็นทีม หรือการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในวิถีประชาธิปไตยแก่นิสิต แท้จริงแล้วยังหมายรวมว่าเป็นการบ่มเพาะทักษะการทำงานและการใช้ชีวิตแก่นิสิตไปในตัว กล่าวคือ เป็นการฝึกค้นหาปัญหา (โจทย์) เมื่อพบปัญหาก็สืบเสาะหาต้นตอปัญหา จากนั้นจึงนำไปสู่การออกแบบวิธีคลี่คลายปัญหาและลงมือทำ พร้อมๆ กับการประเมินผลเป็นระยะๆ มิใช่การประเมินผล ‘ตูมเดียว’ เมื่อเสร็จสิ้นโครงการฯ

ทั้งปวงที่ผมกล่าวถึงล้วนยึดโยงอยู่กับฐานคิดอันเป็นกรอบการขับเคลื่อนงานสำคัญๆ หลายประการ เช่น อริยสัจ 4 การจัดการความรู้ การมีส่วนร่วม หรือกระทั่งที่คุ้นชินเหมือนไฟต์บังคับในการบริหารจัดการโครงการ/โครงงานในชื่อ ‘วงจรเดมมิ่ง’ หรือ PDCA





-2-



โครงการ ‘นักกฎหมายหัวใจอาสา’ เป็นชื่อโครงการที่เบ็ดเสร็จในตัวเอง สั้นกระชับได้ใจความ - บ่งบอกอะไรๆ หลายอย่างในตัวอย่างไม่ต้องคิดมาก ยกตัวอย่างการบ่งบอกว่า ‘ใคร’ (นักกฎหมาย:นิสิต) บ่งบอกว่า ‘อะไร-อย่างไร’ (หัวใจอาสา) อันเป็นคุณลักษณะของนักกฎหมายที่ดีว่าต้องมีจิตอาสา-จิตสาธารณะ หรือกระทั่งการมีนัยสำคัญว่ากิจกรรมนี้คือการบ่มเพาะให้นิสิตเติบโตไปสู่การเป็นนักกฎหมายที่มีหัวใจอันดีงามที่ต้องยึดมั่นในผองชน สอดรับกับความเป็นอัตลักษณ์นิสิตที่คณะนิติศาสตร์ได้บัญญัติไว้ ดังว่า ‘นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน’

ทั้งนี้หากเราไม่กังขาต่อกระบวนการจัดการเรียนรู้ในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยเฉพาะในครรลองของ ‘ค่ายอาสาพัฒนา’ ไม่ว่าจะเพียงแค่ไม่กี่วันไม่กี่คืน หรือยาวนานเป็นสัปดาห์ก็เถอะ โครงการ ‘นักกฎหมายหัวใจอาสา’ ที่นิสิตจะต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำก็ดูเหมือนจะกำลังขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นอัตลักษณ์ที่ว่านั้นอย่างชัดแจ้ง รวมถึงการเดินทางสู่เป้าหมายอันเป็นปรัชญา (Philosophy) ของคณะนิติศาสตร์ ที่กล่าวว่า ‘อตฺตานํ ทมยนฺ ปณฺฑิตา’ (อัดตานัง ทะมะยันติ ปันดิตา) : บัณฑิตย่อมฝึกฝนตนเอง






นั่นเป็นเจตนารมณ์ที่ชูประเด็นเด่นหราในโครงการ ส่วนจะบรรลุสู่จุดหมายปลายฝันหรือไม่ ทีมทำงานก็ได้ฝากหวังไว้กับกิจกรรมและกระบวนการที่ถูกออกแบบขึ้นไว้อย่างหลากหลายรูปรส ขึ้นอยู่กับว่า ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ จะเปิดใจและทุ่มเทต่อการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมแค่ไหน อาทิเช่น

  • ทาสีอาคารเรียน
  • ทาสีเครื่องเล่นสถานเด็กเล่น
  • ทาสีหอพระและพระพุทธรูปประจำโรงเรียน
  • ทำรั้วสนามเด็กเล่นด้วยยางรถยนต์
  • มอบอุปกรณ์กีฬาและการเรียนการสอน
  • ปรับภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน
  • บายศรีสู่ขวัญ
  • กิจกรรมนันทนาการภาคกลางวันและกลางคืน เช่น ละคร ตีกลองร้องรำ
  • กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ เช่น วอลเลย์บอล ตะกร้อ
  • ฯลฯ





จากภาพรวมการจัดกิจกรรมข้างต้นทำให้เห็นว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นต่างขับเคลื่อนในลักษณะ ‘สหกรรมกิจกรรม’ เน้นการเรียนรู้แบบบูรณากิจกรรมผ่านระบบและกลไกลกิจกรรมสำคัญๆ คือด้านบำเพ็ญประโยชน์-สิ่งแวดล้อม ด้านกีฬาและนันทนาการ ด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี แต่ที่ดูจะไม่แจ่มชัดหรือยังไม่บรรลุเป้าหมายคงหลีกไม่พ้นกิจกรรมด้านวิชาการ ซึ่งเดิมกำหนดไว้จะเป็นการบรรยายให้ความรู้ด้านกฎหมายโดย ‘ศิษย์เก่า’ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากประสบปัญหาเร่งด่วนที่ผู้ใหญ่บ้านจำต้องระดมชาวบ้านและแกนนำเข้าไปร่วมงานกับทางอำเภอ จำต้องพักวางและเก็บกิจกรรมเข้าลิ้นชักไว้ก่อน ส่วนพี่ๆ ที่เป็นศิษย์เก่าก็ถอดสูทพลิกพาตัวเองไปเป็น ‘กรรมกรค่าย’ ร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับน้องๆ อย่างไม่อิดออดและถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกับน้องๆ ไปแบบนุ่มเนียน -






กรณีดังกล่าว ผมไม่อยากด่วนสรุปว่านั่นคือสิ่งที่ล้มเหลว หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการทำงาน เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วน เป็นปัจจัยจากภายนอกที่เกินการควบคุมจากทีมทำงานของนิสิต สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้บนสถานการณ์ของชุมชนที่นิสิตจะเอาตัวเองเป็นตัวตั้งอย่างเสร็จสรรพไม่ได้ ทุกๆ อย่างต้องปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นไปตาม ‘หน้างาน’ อันเป็นจริง ยิ่งเป็นความจริงของชุมชนยิ่งต้องให้ความเคารพ





-3-







สืบเนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมเชิงรุกว่าด้วยการสร้างเสริมให้นิสิตในคณะได้เรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมในประเด็น ‘จิตอาสา’ ผ่านการทำความดีร่วมกันในประเด็น ‘เยาวชนไทยร่วมใจทำความดีถวายในหลวง’ ดังนั้นหากไม่กล่าวถึงแนวคิดเรื่องหลักธรรมก็ดูกระไรอยู่ ซึ่งเบื้องต้นได้กล่าวไปแล้วว่ากระบวนการได้มาซึ่งโจทย์นั้นคือการขับเคลื่อนบนฐานคิดของหลักอริยสัจ 4

นอกจากนี้แล้วประเด็น ‘จิตอาสา’ ยังถือว่าเป็นอีกประเด็นของคุณธรรมจริยธรรมด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ถึงแนวคิดอันเป็นหลักธรรมอื่นๆ ที่หยิบจับมาใช้ขับเคลื่อนโครงการนี้ก็เด่นชัดอยู่หลายหลักธรรม เช่น สังคหวัตถุที่เป็นหลักธรรมของการหลอมรวมใจให้ผู้คนรักใคร่กลมเกลียวและแบ่งปันสิ่งดีๆ ต่อกัน ดังวาทกรรมที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่า “โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ชุมชน วางตนพอดี”

  • ทาน : ความเสียสละ โดยการช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักแบ่งปันทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังปัญญา
  • ปิยวาจา : พูดดี โดยการสื่อสารสร้างพลังผ่านการพูดจาสุภาพไพเราะน่าฟัง พูดคำสัตย์ มีสาระประโยชน์ หรือติติงเสนอแนะอย่างกัลยาณมิตร
  • อัตถจริยา : การบำเพ็ญประโยชน์ โดยการมองประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง
  • สมานัตตตา : การวางตนเหมาะสม โดยการปฏิบัติตนอย่าง เสมอต้นเสมอปลาย รู้กาลเทศะจารีตและครรลองของสังคม






-4-


เหนือสิ่งอื่นใดผมยังอยากจะยืนยันว่าโครงการ ‘นักกฎหมายหัวใจอาสา’ เป็นงานที่เด่นชัดในเรื่องกิจกรรมนอกหลักสูตรมากกว่างานในด้านกิจกรรมในหลักสูตร เป็นการจัดการเรียนรู้คู่บริการบนฐานระบบและกลไกของกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยยึด ‘ค่ายอาสาพัฒนา’ เป็นโจทย์การเรียนรู้ที่จะบูรณาการกิจกรรมหลากหลายด้านเข้าด้วยกัน

กิจกรรมในครั้งนี้เห็นภาพความร่วมมือกับชุมชนในระดับที่น่าสนใจและต้องคิดตามอยู่มากไม่ใช่ย่อย เพราะเป็นฐานที่มั่นอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนิสิตผู้ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารองค์กรในสังกัดคณะ ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงต้องยกระดับให้เข้มแข็งขึ้น มิใช่แต่เพียงแค่การทำอาหารในแต่ละมื้อให้นิสิตได้รับประทาน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมบันเทิงเริงรื่นเชื่อมความสัมพันธ์ในภาคกลางคืนและทำพิธีบายศรีสู่ขวัญตามวัฒนธรรมการต้อนรับขับสู้ของชุมชนที่ดูแล้วก็ยังประปราย –







ด้วยเหตุนี้ในมิติการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงจำต้องถอดรหัสให้เด่นชัดว่าจริงๆ แล้วยังสามารถแสดงการมีส่วนร่วมได้ในอีกหลายลักษณะ ยิ่งเป็นชุมชน ‘คนกันเอง’ ยิ่งต้องเห็นพลังที่เป็นรูปธรรม แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่าคงมีปัจจัยหลายประการกระมังที่ทำให้ภาพการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่เด่นชัดเท่าที่ควร สำคัญว่านิสิตและอาจารย์จะถอดรหัสตรงนี้ออกมาได้หรือไม่

ส่วนกรณีการออกแบบกิจกรรมที่นำพาศิษย์เก่าเข้ามามีบทบาทในกิจกรรม ผมถือว่าเป็นจุดเด่นและดูเหมือนจะกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวคณะนิติศาสตร์ไปแล้ว เพราะเท่าที่เห็นจะมีทั้งที่เป็นค่ายอาสาพัฒนาและงานอันเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย (บริการวิชาการแก่สังคม) ยิ่งการนำนายกสมาคมศิษย์เก่าของคณะที่นำโดยนายธนิต ปุลันรัมย์ (นายกสมาคมศิษย์เก่านิสิตคณะนิติศาสตร์และอดีตนายกองค์การนิสิตปีการศึกษา 2551) มาร่วมบริการสังคม ยิ่งถือว่าเป็นสิ่งอันดีงาม ก่อเกิดการเรียนรู้และการพัฒนาทุกฝ่ายไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่พัฒนานิสิต ไม่ใช่แค่พัฒนาชุมชน หากแต่เป็นการพัฒนาศิษย์เก่า หรือเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนร่วมกับมหาวิยาลัยฯ นั่นแหละ






เช่นเดียวกับหากสามารถประสานส่วนราชการด้านกฎหมายในท้องถิ่นออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ยิ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน –ชุมชนได้พบปะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นิสิตเราเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับชุมชน แถมยังก่อเกิดเป็นเครือข่ายการเรียนรู้และการทำงานในปัจจุบันและอนาคตไปในตัว


ในส่วนของนิสิตที่ขับเคลื่อนงานนี้ หากสามารถจัดเตรียมเอกสารว่าด้วยกฎหมายมาแจกจ่ายยิ่งน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและชุมชน ชุดความรู้เหล่านี้มีในชั้นเรียน ค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ รวมถึงขอความอนุเคราะห์ภาคส่วนมาแจกจ่าย โดยไม่ต้องฝากหวังหรือทิ้งเป็นภาระไว้ที่ศิษย์เก่าแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือแม้แต่หากสามารถออกแบบกิจกรรมเรียนรู้บริบทชุมชนให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เช่น เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ผู้นำ ปราชญ์ชาวบ้าน เศรษฐกิจ การศึกษา ประเพณีวัฒนธรรม ไม่เว้นแม้แต่การเรียนรู้วิถีการจัดการความขัดแย้งในชุมชนที่เรียกเป็นภาษาถิ่นอีสานว่า ‘เว้าความ’ ยิ่งน่าสนใจและท้าทายต่อการเรียนรู้เป็นที่สุด เพราะเกี่ยวโยงกับวิชาชีพและสังคมล้วนๆ




ผมมองว่าประเด็นเหล่านี้ คือระบบและกลไกที่จะหล่อหลอมให้โครงการ ‘นักกฎหมาย หัวใจอาสา’ มีความสมบูรณ์มากขึ้นอย่างทบทวี

แต่ที่แน่ๆ ต้องขอชื่นชมว่ากิจกรรมครั้งนี้พัฒนาขึ้นจากปีก่อนๆ อย่างมหาศาล เป็นกิจกรรมที่ฉายชัดภาพคุณธรรมจริยธรรมในมิติจิตอาสาที่พยายามเชื่อมร้อยคู่กันไประหว่างนอกหลักสูตรกับในหลักสูตร โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้

และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นอื่นๆ ก็คือการผนึกกำลังของคณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ในระดับคณะ ต้องถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีของการทำงานในครั้งนี้ เพราะได้ ‘ฝังตัว’ เป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมอย่างน่ายกย่อง พลอยให้ผมได้หวนคิดถึงวาทกรรมเก่าๆ ของตนเองเมื่อหลายปีก่อนว่า ‘พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน’





หมายเหตุ :

ภาพ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เขียน : วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559


หมายเลขบันทึก: 618422เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2016 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ยศชนินทร์ กะตารัตน์

ค่าย‘นักกฎหมายหัวใจอาสา’เป็นค่ายแรกๆ ที่รวมศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันที่จะได้ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน โดยอาศัยชุมชนเป็นจุด แลก – รับ ระหว่างศิษย์เก่าที่เคยทำกิจกรรม กับ ศิษย์ปัจจุบันที่อยากทำกิจกรรม

ค่าย‘นักกฎหมายหัวใจอาสา’ทำให้นึกถึงอดีต 3 ชมรม ชมรมทอฝัน ชมรมนอกหน้าต่าง และชมรมนิติศาสตร์สัมพันธ์ ที่เคยมีคนอาสา สวมบทบาทเป็น นักกฎหมายหัวใจอาสา’ด้วยเช่นกัน

ค่ายนี้เป็นประจักษ์พยานแล้วว่า หากจะเป็นนักกฎหมายที่ดี ต้องฝึกหัดหัวใจให้รู้จักช่วยเหลือสังคมและชุมชน เพราะเกียรติอันสูงสุดของนักกฎหมาย คือ การใช้ความรู้กฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม

นายยศชนินทร์ กะตารัตน์

ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์

นิติศาสตร์ รุ่นที่ 6

ในนามศิษย์เก่าขอชื่นชมในการเสียสละของน้องๆในการจัดกิจกรรมเพื่อชุมชน แม้กิจกรรมดังกล่าวป็นกิจกรรมเล็กๆของเด็กกลุ่มหนึ่ง มันน่าชื่นชมตั้งแต่เมื่อแรกคิดโครงการ เตรียมโครงการ และทำโครงการออกมาเป็นรูปธรรมได้ การเป็นผู้ให้มันมีความสุขใจมากกว่าการเป็นผู้รับ แม้สิ่งเล็กๆที่มอบให้แก่ชุมชนสังคมจะมีมูลค่าไม่มากมาย แต่ค่าของความเสียสละมันมิอาจประมาณค่าได้ นอกจากนั้นยังได้ความรัก ความสมัครสนามสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อนพ้อง น้องพี่ ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า

ส่วนต่อผมเองได้ร่วมงานวันแรกตั้งแต่เช้าจนเสร็จกิจกรรมช่วงเย็น ได้ร่วมทาสีหอพระ ร่วมกิจกรรมตอนเย็น รู้สึกสบายใจ สุขใจ ที่ได้ร่วมกับน้องๆทำเพื่อสังคม เรียนกฎหมายไม่ใช่แค่ยิบยื่นกฎหมายให้แก่สังคมได้เท่านั้น ที่ผ่านมาพวกเราแสดงให้เห็นแล้วว่าเราสามารถให้กับสังคมได้มากกว่าคำปรึกษาทางด้านกฎหมาย

ผมเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งของ นิติศาสตร์ตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งจบการศึกษาไม่เคยว่างเว้นจากกิจกรรมต่างๆเลย วันนี้ที่ผมจบออกมามองกลับเข้าไปเห็นดอกผลของต้นกล้า ฯลฯ ที่เรามีส่วนเพราะเมล็ด ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน มันเป็นสิ่งที่งดงามและสุขใจอย่างบอกไปถูก และบังเกิดภาคภูมิใจโดยไม่ต้องมีใครประกาศแต่เราประกาศในหัวใจของเราเอง ขอชื่นชมและขอให้น้องๆทำเพื่อสังคมต่อไป

นายจรัญ บรรลือ

ประธานนิสิต รุ่น 4 (ศิษย์เก่า ฯ)

ขอบคุณมากๆ ครับ คุณยศชนินทร์ กะตารัตน์

และขออนุญาตนำข้อความเหล่านี้ไปใช้ประกอบในหนังสือที่จะจัดพิมพ์นะครับ

ส่วนหนึ่งก็สุขใจและชื่นชมนะครับที่เห็นมิติการทำงานร่วมกันระหว่างศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ไม่ใช่แค่การทำงานค่ายอาสาเล็ๆ เท่านั้น หากแต่เป็นการนำพาประสบการณ์ชีวิตมาแชร์กับน้องๆ ครับ


ขอบคุณมากครับ นายจรัญ บรรลือ

ผมชื่นชอบกับข้อความนี้มากๆ ครับ

เรียนกฎหมายไม่ใช่แค่ยิบยื่นกฎหมายให้แก่สังคมได้เท่านั้น ที่ผ่านมาพวกเราแสดงให้เห็นแล้วว่าเราสามารถให้กับสังคมได้มากกว่าคำปรึกษาทางด้านกฎหมาย

....

ส่วนหนึ่งขออนุญาตนำไปรวมเล่มในหนังสือนะครับ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

...

โครงการนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเชิงนโยบายที่มหาวิทยาลัยมอบหมายให้แต่ละคณะจัดกิจกรรมสร้างสรรค์มุ่งเน้นการบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมด้านจิตอาสาโดยการทำความดีถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นความร่วมมือกับมูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์ ครับ ขับเคลื่อนในลักษณะโครงงาน เพียงแต่ด้วยปรัชญาของอุดมศึกษา กิจกรรมส่วนหนึ่งจึงมุ่งสู่การเรียนรู้และพัฒนาชุมชน ขณะที่ส่วนหนึ่งมุ่งจัดการเรียนรู้และพัฒนาในรั้วมหาวิทยาลัย...


พอถึงช่วงท้าย ก็จัดคัดเอาโครงการฯ ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในภาคอีสาน รวมถึงการยกย่องเชิดชูต้นแบบ ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท