โครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ : จิตอาสาสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและเด็ก (สโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์)


ผมชอบกิจกรรมของนิสิตในทำนองนี้เสมอ เพราะทำให้มองเห็นงานบริการสังคมในมิติเรียนรู้คู่บริการที่นิสิตได้คืนกลับมาทั้ง Hard skills & Soft skills ซึ่งพร้อมที่จะจบออกไปอย่างมีความรู้และทักษะอันสร้างสรรค์นานาประการ ยิ่งได้รับรู้ว่านิสิตที่ทำงานเรื่องนี้ได้จัดเตรียมข้อมูลส่งมอบให้รุ่นน้องเพื่อ ‘ต่อยอด’ ในชุมชนต่อไป ยิ่งรู้สึกอาบอิ่มใจเป็นที่สุด

โครงการ ‘นิสิตพยาบาลจิตอาสาสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและเด็กในชุมชน’ ที่จัดโดย ‘สโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์’ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ฉายภาพชัดในเรื่องการบูรณาการระหว่างกิจกรรมนอกหลักสูตร (บริการสังคม) กับกิจกรรมในหลักสูตร หรือกิจกรรมในวิชาชีพ (บริการวิชาการ) ได้อย่างน่าสนใจ

ความน่าสนใจที่ว่านี้มีหลายประเด็น แต่ที่แน่ๆ คือภาพที่นิสิตได้นำองค์ความรู้ในวิชาชีพไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ผ่านการเรียนรู้คู่บริการของกิจกรรมนอกหลักสูตรโดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน เสมือนการนำความรู้ภาคทฤษฎีไปใช้จริง หรือการฝึกประสบการณ์ทางวิชาชีพไปในตัว







ค้นหาพื้นที่ : ปักหมุดร่วมระหว่างคณะกับชุมชน


โครงการนิสิตพยาบาลจิตอาสาสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและเด็กในชุมชนจัดขึ้นเป็นระยะๆ ระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2559 – 11 สิงหาคม 2559 ณ บ้านหัวหนอง ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ การคัดกรองสุขภาพและหนุนเสริมความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและเด็ก

การขับเคลื่อนดังกล่าวเริ่มต้นจากนิสิตได้หารือกับอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กร รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและเจ้าหน้าที่ด้านกิจการนิสิตในระดับคณะเกี่ยวกับประเด็นอันเป็น ‘โจทย์’ ที่ต้องการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่คณะกำลังปฏิบัติการเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในชุมชนท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม นั่นก็คือเรื่องผู้สูงอายุ

หากแต่ครั้งนี้ได้เบนเข็มมาสู่ชุมชนอีกซีกหนึ่งคือชุมชนในเขตเทศบาลตำบลขามเรียง ฯ โดยผู้บริหารคณะกับแกนนำนิสิตได้ปักหมุดร่วมกันว่ากิจกรรมจะต้องสอดรับกับปลายทางการเรียนรู้ของคณะที่ว่าด้วย เอกลักษณ์ (มีจิตอาสาเป็นที่พึ่งของชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ) และอัตลักษณ์นิสิต (มีหัวใจแห่งการช่วยเหลือชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ)






ถัดจากนั้นจึงขยับออกสู่การค้นหาพื้นที่เป้าหมาย หรือการค้นหาโจทย์ร่วมกับชุมชน เริ่มจากการมุ่งตรงไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขามเรียง เพื่อสอบถามข้อมูลว่าในชุมชนขามเรียงมีหมู่บ้านใดบ้างที่น่าสนใจต่อการจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการต่อกลุ่มผู้สูงอายุ


ประเด็นดังกล่าวนี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฯ ยืนยันว่า ‘บ้านหัวหนอง’ คือชุมชนที่ท้าทายที่สุด เนื่องจากมีผู้สูงอายุจำนวนมากและอยู่ห่างไกลที่สุดเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นๆ ทั้งยังมี ‘เด็ก’ อีกจำนวนหนึ่งที่สามารถผนึกเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้ร่วมกันได้

ในเบื้องต้นนิสิตก็ไม่ลืมที่จะขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขามเรียง ในเรื่องระบบสุขภาพของผู้สูงอายุและเด็กในชุมชน เพื่อใช้เป็นชุดความรู้ในการศึกษาล่วงหน้า

และถัดจากนั้นก็เดินทางเข้าหมู่บ้านเพื่อพบปะหารือกับผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชาวบ้าน เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ ตลอดจนแนวทางที่อยากจะขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน พร้อมๆ กับการหารือว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ รวมถึงการสัมภาษณ์และสอบถามอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุและเด็กเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ล่วงหน้าในแบบ ‘เรียกน้ำย่อย’








กระบวนการขับเคลื่อน 3 ระยะ


ภายหลังประชุมวางแผนการดำเนินร่วมกับชุมชนเสร็จสิ้นก็ปรากฏรูปแบบการจัดกิจกรรมใน 3 กระบวนการ หรือ 3 ระยะที่ประกอบด้วยการเก็บข้อมูล การจัดกิจกรรมให้ความรู้และการสรุปผล

ระยะที่ 1 : มอบหมายนิสิตลงสู่ครัวเรือนต่างๆ คล้ายการฝากตัวเป็นลูกฮักเพื่อช่วยดูแลสุขภาพ ในอัตรานิสิต 3 คนต่อครัวเรือน หรือต่อผู้สูงอายุ 1 คน กิจกรรมหลักจะเป็นประเภทการถามไถ่เรื่องสุขภาพ ผ่านการสัมภาษณ์และแบบสอบถาม หรือกระทั่งการบันทึกข้อมูลในรูป Diary nursing โดยจะไม่ใช่การเข้าไปพักอาศัย ‘กินนอน’ อยู่กับชาวบ้าน แต่จะเป็นการไปมาหาสู่เป็นระยะๆ ผสมผสานไปกับการเรียนรู้บริบทชุมชน เช่น สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ จากนั้นจึงนำข้อมูลมารวบรวมและวิเคราะห์เพื่อคัดกรองระบบสุขภาพของผู้สูงอายุและเด็ก ที่พบมากจะเป็นอาการปวดเมื่อยตามแขนขา เบาหวานและความดันโลหิต รวมถึงภาวะความเปลี่ยวเหงาอันเกิดจากการต้องอยู่คนเดียว เนื่องจากบุตรหลานไปทำงานนอกบ้านและต่างจังหวัด






ระยะที่ 2 : เมื่อจำแนกข้อมูลอันเป็นปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุและเด็กได้แล้วก็นำข้อมูลมาออกแบบเป็นกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติการไปพร้อมๆ กัน กลุ่มแรก (ผู้สูงอายุ) จัดขึ้นที่ศาลากลางหมู่บ้าน มีผู้สูงอายุเข้าร่วม 25 คน ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก เช่น การออกกำลังกายด้วยยางยืดที่ทำมาจากยางรัดของที่สามารถทำได้เองในครัวเรือน เพื่อช่วยสร้างความแข็งแกร่งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ กิจกรรมบริหารสมองโดยการเล่นเกม อาทิ เกมจีบเอล เกมหัวไหล่เอว เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือความจำสั้น นอกจากนั้นเป็นการให้ความรู้เรื่องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น สมุนไพรตามรั้วบ้าน หรือ ‘ผักสวนครัวรั้วกินได้’



ขนิษฐา ศรีธรรมา ศิริกาญจน์ วงค์จันทร์ ธิติสุดา จุลพันธ์ ภัทรชัย หาทรัพย์ : ผู้รับผิดชอบหลัก


ส่วนกลุ่มที่สอง (เด็ก) จัดกิจกรรมขึ้นที่โรงเรียนบ้านหัวหนองฯ มีน้องนักเรียนเข้าร่วม 27 คน หลักๆ เป็นการให้ความรู้ด้านการดูแลสุขอนามัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย เช่น สระผม แปรงฟัน การรับประทานอาหารผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานที่นิสิตเรียกกันเองว่า ‘ละครเหนือจินตนาการ’ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เด็กตื่นตัวต่อการเรียนรู้ ช่วยให้จดจำได้ง่ายและช่วยเสริมทักษะด้านจินตนาการแก่เด็ก

ระยะที่ 3 : จัดขึ้น ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มีผู้เข้าร่วม 93 คน เป็นกิจกรรมสรุปผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตที่ดำเนินงานทั้งหมด ร่วมกับผู้บริหารคณะ โดยเฉพาะคณะกรรมการฝ่ายพัฒนานิสิตของคณะ อาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งในครั้งนี้มีการประกวด Diary nursing ด้วยเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการเรียนรู้คู่บริการของนิสิตแต่ละคน







กรอบแนวคิด : บูรณาการแนวคิด


ด้วยเหตุที่โครงการดังกล่าวดำเนินการเนื่องในวาระโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติ ระดับอุดมศึกษา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จึงยึดโยงอยู่กับพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังว่า “…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง…”รวมถึง ‘อิทธิบาท 4’ ที่ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ฉันทะ หมายถึงความพอใจรักใคร่ในการงานที่กระทำ กล่าวคือ นิสิตที่เข้าร่วมในโครงการ ต่างมีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม มีความรักและรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย คือ การเป็นนิสิตที่ดีและตรงตามอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของคณะพยาบาลศาสตร์
  • วิริยะ หมายถึงความเพียรพยายามในการประกอบการงาน กล่าวคือมีความพยายามที่จะศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุและเด็กในชุมชน การมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
  • จิตตะ หมายถึงความใฝ่ในงานไม่ทอดทิ้งธุระ กล่าวคือการไม่ละทิ้งหน้าที่การงานที่ตนเองได้รับมอบหมาย ไม่ให้เป็นภาระต่อคนอื่น
  • วิมังสา หมายถึงความหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในงานที่ทำ ด้วยการเพียรพยามแก้ไขปัญหาที่เข้ามาด้วยหลักการและเหตุผล






นอกจากแนวคิดที่ว่าด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสฯ และหลักพุทธธรรมอันเป็นอิทธิบาท 4 มาเป็นระบบและกลไกหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรม พบว่ายังยึดโยงกับแนวคิดอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น การบริหารจัดการตามหลัก CDPA การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน หรือนิสิตกับนิสิต นิสิตกับอาจารย์ หรือกระทั่งการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงบนฐานคิด ‘บวร’ (บ้าน-โรงเรียน)








ผลพวงการเรียนรู้


โดยส่วนตัวผมมองว่านี่คือการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลางขนานแท้ บูรณาการบนฐานคิดการเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน รวมถึงการเรียนรู้เพื่อให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 หลากหลายประการ เห็นบทบาทของอาจารย์ผู้สอนที่ผันตัวเองจากการสอนแบบดั้งเดิมที่มุ่งถ่ายทอดชนิดสื่อสารทางเดียวด้วยการ ‘กรอกข้อมูลลงในหัวสมอง’ ของนิสิตมาเป็นการเรียนรู้เชิงรุกที่ให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น เป็นการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงของสังคมที่ไม่ใช่โลกเสมือนจริงที่พานพบเกลื่อนล้นในสังคมออนไลน์

หรือในอีกมิติเรียกได้ว่านี่คือการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา สำนึกรักษ์ท้องถิ่น หรือกระทั่งการเป็นเสมือนกระบวนการของการฝึกประสบการณ์เพื่อการเป็น ‘นักส่งเสริมสุขภาพ’ ให้เกิดขึ้นในตัวตนและจิตวิญญาณของนิสิตด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งที่นิสิตได้สัมผัสเรียนรู้นั้นคือ ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ หาใช่หุ่นยนต์ที่ไร้ซึ่งลมหายใจ







ในครรลองเดียวกันนี้ยังเป็นการฝึกให้นิสิตมีทักษะในการ ‘ถอดรหัสชีวิต’ เพื่อให้เห็นมูลเหตุแห่งปัญหา ค้นคว้าหาทางแก้ไขทั้งในระบบบุคคลและทีม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น ‘อาวุธทางปัญญา’ หรือ ‘ทักษะชีวิต’ ที่สำคัญที่จะหนุนนำให้นิสิตดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและความหมาย โดยไม่เป็นภาระของสังคม หรือถ้าจะเป็นก็เป็นไปอย่างน้อยที่สุด

ผลพวงดังกล่าวนี้ยังไม่รวมถึงความรู้และทักษะของการเรียนรู้คู่บริการของนิสิตที่มีต่อชุมชนอันเป็นส่วนหนึ่งในฐานใจที่ยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับจิตวิญญาณแห่งการให้บริการของนักส่งเสริมสุขภาพหรือพยาบาลมืออาชีพที่จะต้องออกไปรับใช้สังคม

เช่นเดียวกับผลพวงของชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการหนุนเสริมพลังชีวิตแก่ผู้สูงอายุเพื่อมิให้รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ถูกทอดทิ้งและเป็นภาระของสังคม ตลอดจนการบอกย้ำให้เด็กๆ ได้เข้าใจบทบาทที่จะต้องดูแลตนเองให้ดีที่สุด เพราะภายภาคหน้าพวกเขาล้วนเป็นพลังของการขับเคลื่อนหมู่บ้าน ชุมชนและประเทศชาติ รวมถึงการย้ำเน้นให้เกิดความตระหนักรู้ที่จะดูแลใส่ใจคนในครอบครัวของตนเอง








เหนือสิ่งอื่นใด


ท้ายที่สุดนี้ผมมองว่านี่คือกิจกรรมนอกหลักสูตร (บริการสังคม) ของนิสิตที่บูรณาการร่วมกับกิจกรรมในหลักสูตร (บริการวิชาการ) ที่กำลังพัฒนาสู่การเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างน่าสนใจ สื่อให้เห็นมิติการทำงานแบบมีส่วนร่วมของนิสิตกับอาจารย์ที่ปรึกษา หรือกระทั่งคณะผู้บริหารของคณะ

ผมชอบกิจกรรมของนิสิตในทำนองนี้เสมอ เพราะทำให้มองเห็นงานบริการสังคมในมิติเรียนรู้คู่บริการที่นิสิตได้คืนกลับมาทั้ง Hard skills & Soft skills ซึ่งพร้อมที่จะจบออกไปอย่างมีความรู้และทักษะอันสร้างสรรค์นานาประการ ยิ่งได้รับรู้ว่านิสิตที่ทำงานเรื่องนี้ได้จัดเตรียมข้อมูลส่งมอบให้รุ่นน้องเพื่อ ‘ต่อยอด’ ในชุมชนต่อไป ยิ่งรู้สึกอาบอิ่มใจเป็นที่สุด เพราะนี่คือตัวชี้วัดอันสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้ม หรือแสงสว่างปลายอุโมงค์ของความเข้มแข็งและยั่งยืนผ่านวิถี ‘การเรียนรู้คู่บริการ’ ของมหาวิทยาลัยกับชุมชน ยิ่งหากสามารถผูกโยงเป็น ‘ลูกฮัก’ ของหมู่บ้านได้จริงๆ เหมือนที่ผมเคยขับเคลื่อนโมเดล ‘1 คณะ 1 หมู่บ้าน’ เมื่อปี พ.ศ.2551 ยิ่งน่าจะมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อหลายภาคส่วน

หรือกระทั่งหากนิสิตสามารถออกแบบกระบวนการคืนข้อมูลให้กับชุมชนได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงส่งมอบข้อมูลนี้ต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขามเรียงและเทศบาลตำบลขามเรียง ยิ่งน่าจะเป็นมรรคเป็นผลมากทบทวีขึ้นเรื่อยๆ ดีไม่ดีอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาชุมชนไปโดยปริยายด้วยก็เป็นได้






เสียงจากนิสิต

ทำงานนี้แล้วได้เรียนรู้การมีส่วนร่วมเรื่องการทำงานของนิสิตในคณะเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน เป็นการเรียนรู้การทำงานก่อนที่จะก้าวสู่วิชาชีพจริง เป็นการเตรียมความพร้อมให้นิสิตสามารถรู้แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต รู้สึกความภูมิใจและรักในวิชาชีพ ผูกพันกับคณะและสถาบันทีเปิดโอกาสให้ได้ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนด้วยตนเองอย่างจริงๆ จังๆ

นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชาวบ้านกับตัวนิสิต เช่น ตอนที่ทำกิจกรรม ระยะที่สาม หัวข้อ สมุนไพรใกล้บ้าน ชาวบ้านมีความคุ้นชินกับสมุนไพรนี้อยู่แล้ว นิสิตก็ได้มีความรู้จากชาวบ้าน เป็นความรู้ใหม่ที่หลายต่อหลายเรื่องก็หาอ่านไม่ได้ในหนังสือ

...

ภัทรชัย หาทรัพย์
ชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์


ภัทรชัย หาทรัพย์



ธิติสุดา จุลพันธ์


ตอนที่ทำโครงการหนูยังอยู่ปี 1 ไม่ได้มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและเด็กมากเท่าใดนัก อาจารย์จะคอยให้ความช่วยเหลือทั้งด้านข้อมูลว่าเราควรทำยังไงบ้าง คอยแนะในเรื่องการจัดกิจกรรมกับเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งมันละเอียดอ่อนมาก และอาจารย์ก็เข้าชุมชนกับพวกหนูตลอด

ในยามเจ็บป่วยถ้าอาการไม่รุนแรงชาวบ้านจะไปที่ รพ.สต. หรือคลินิก แต่ถ้าเป็นโรคประจำตัวก็จะไปโรงพยาบาลตามที่หมอนัดหมาย บางท่านจะชอบไปรักษาที่คลินิกมากกว่า เพราะรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้สูงอายุหลายท่านก็ยังมีความรู้ในเรื่องของสมุนไพรตามรั้วบ้าน เช่น ดอกแค แครอท รวมถึงผักอื่นๆ ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายยังไงและต้องปรุงอาหารแบบไหนบ้าง ซึ่งเป็นความรู้ที่หนูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สูงอายุ

...

ธิติสุดา จุลพันธ์

ชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์


ภาพ : สโมสรนสิตคณะพยาบาลศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 618416เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2016 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชื่นชมการที่นิสิตมีใจอยากช่วยเหลือดูแลผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และได้พยายามเรียนรู้ในทุกๆรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งการพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเองให้ดูแลผู้อื่นได้ เป็นจุดเริ่มต้อันดีของการประกอบวิชาชีพค่ะ

โครงการนี้นิสิตได้เรียนรู้อะไรมากมาย..รวมถึงตัวอาจารย์เองที่เข้าร่วมโครงการก็ได้เรียนรู้ร่วมไปกับนิสิตเช่นกันค่ะ...ขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ได้มีการสนับสนุนนิสิต...ทุกๆคำแนะนำและทุกๆคำชื่นชมล้วนแต่มีคุณค่าช่วยพัฒนานิสิต..ขอบพระคุณมากๆนะคะ

ขอบคุณ อ.ปุ๋ม Apinya Kochamat ที่เข้ามาร่วมให้กำลังใจแก่นิสิตในครั้งนี้นะครับ โดยส่วนตัวผมมองว่ากิจกรรมนี้สามารถยกระดับเป็นงานบริการวิชาการแก่สังคมได้เลยนะครับ ทั้งในเรื่องของพื้นที่และประเด็นของการทำงาน เพียงแต่ต้องเน้นกระบวนการพัฒนาโจทย์ที่เข้มข้น การเติมความรู้เรื่องเครื่องมือเรียนรู้ชุมชน การบูรณาการการทำงานกับเครือข่าย โดยเฉพาะในท้องถิ่น ซึ่งบ่อยครั้งผมได้ยินว่ามีงบหนุนเสริมจาท้องถิ่นบ้างอยู่เหมือนกัน


และเห็นด้วยอย่างยิ่งนะครับว่ากิจกรรมเรียนรู้คู่บริการเช่นนี้ คือจุดเริ่มต้นที่ดีในทางวิชาชีพ

ขอบคุณครับ


สวัสดีครับอาจารย์ Suthinee piyasuwan

จากการที่ผมสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแกนนำที่จัดทำโครงการฯ ต้องชื่นชมครับ โดยเฉพาะสิ่งที่นิสิตยืนยันว่าอาจารย์ได้ลงชุมชนกับนิสิตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมถึงการให้คำแนะนำเป็นระยะๆ ส่งเสริมให้นิสิตได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นทีม สิ่งเหล่านี้ผมถือว่าเป็นการทหน้าที่ของ 'โค้ช' ที่น่าชื่นชม นะครับ

และโดยส่วนตัวผมแล้ว ผมชื่นชอบกิจกรรมในทำนองนี้ เพราะได้ทั้งทักษะทางวิชาชีพและสังคมไปพร้อมๆ กัน...



ครับ พี่ใหญ่นงนาท สนธิสุวรรณ

  • สติ
  • ปัญญา
  • ความดี....

    ขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท