60 ปีสาธิตจุฬา ฯ โรงเรียนนวัตกรรมการศึกษาเพื่อสังคมไทย


60 ปีสาธิตจุฬาฯ โรงเรียนนวัตกรรมการศึกษาเพื่อสังคมไทย


เฉลิมลาภ ทองอาจ








“จะพัฒนาประชาราษฎร์ทั้งชาติไทย ต้องฝึกให้ความรู้คู่คุณธรรม”

(ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตคุณ)

เป็นเวลาเกือบ 6 ทศวรรษ ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้ถือหลักปรัชญา “ความรู้คู่คุณธรรม” เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนานักเรียนของโรงเรียน ด้วยศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิง
พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ปฐมปูชนียาจารย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งและปฐมคณบดีคณะ
ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิต มีดำริว่า การจัดการศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาให้เยาวชนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น ต้องดำเนินการเติมเต็ม ทั้งในส่วนของความรู้ และคุณลักษณะของการเป็นคนดี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนร่วมไปพร้อมกัน และจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน คณาจารย์ ผู้บริหาร ผู้ปกครองและบุคลากร ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานักเรียนและโรงเรียนให้ก้าวหน้าไปตามปณิธานดังกล่าว

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2501 ด้วยการริเริ่มของศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ตั้งอยู่ ณ บริเวณของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยเมื่อในระยะแรกของการดำเนินการนั้น เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เริ่มสอนในระดับชั้นประถมศึกษา มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติการสอนของนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งเมื่อโรงเรียนได้รับนักเรียนมากขึ้น จึงได้พัฒนาและขยายหลักสูตรจนถึงระดับมัธยมศึกษา และได้แบ่งส่วนงานออกเป็นฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม กระทั่งปัจจุบันนี้ โรงเรียนได้พัฒนาเป็นสถานศึกษาขนาดกลาง ที่จัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ปัจจุบันมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยศักดิ์ ชั่งใจ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และรองคณบดีคณะครุศาสตร์

เพื่อให้การดำเนินงานของโรงเรียนมีเป้าหมายที่ชัดเจน โรงเรียนได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า โรงเรียนเป็นแหล่งความรู้และแหล่งอ้างอิงในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีความเป็นเลิศในการพัฒนาวิชาชีพครู โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบายหลายประการ ที่จะเสริมสร้างคุณภาพของการจัดการศึกษา ทั้งนักเรียนของโรงเรียน และทั้งนิสิตคณะครุศาสตร์ ซึ่งมาฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียน ในฐานะห้องปฏิบัติการ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาชีพครู ผลจากการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของโรงเรียนที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลและเกียรติคุณที่สำคัญ เช่น ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ปีการศึกษา 2529 และ 2538 รางวัลสถานศึกษาวิชาทหารดีเด่น ปีการศึกษา 2552 รางวัลสถานศึกษาดีเด่น ปีการศึกษา 2557 รวมถึงได้รับการยกย่องจากสถานศึกษาอื่น ๆ ในฐานะโรงเรียนต้นแบบ ดังจะเห็นได้จากการติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนในทุกปีการศึกษา ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนที่ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ของวงการศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง

จากปณิธานของผู้ก่อตั้งที่ได้สืบทอดมายังผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรทุกฝ่าย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม จึงพัฒนาและสนองปณิธาน ด้วยการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนให้มีความพร้อมสมบูรณ์อย่างรอบด้านและสมดุล จัดการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความรู้ด้านวิชาการที่ชัดเจนกระจ่าง ควบคู่ไปกับการสอดแทรกแนวทางการปฏิบัติตนให้ถึงพร้อมในด้านคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้นักเรียนสาธิตทุกคน ไปเป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำที่ดีให้แก่สังคม ผลจากการทำงานอย่างประสานกันของทุกฝ่าย ได้สะท้อนผลการปฏิบัติออกมาในหลายด้าน ซึ่งสามารถประมวลมาได้ ดังนี้

1. ด้านนักเรียน

นักเรียนของโรงเรียน เป็นผู้มีคุณธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการ และมีสุขภาวะทั้งทางร่างกายและทางใจที่สมบูรณ์ โดยประการแรก โรงเรียนได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน ด้วยการให้คณาจารย์นำหลักคุณธรรม ทั้งในเรื่องความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และเสียสละเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน โดยสอดแทรกผ่านทางบทเรียน และการทำกิจกรรมทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล เพื่อให้นักเรียนสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สำหรับด้านความเป็นไทย นักเรียนยังเห็นความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาและภูมิใจในความเป็นไทย ด้วยการที่โรงเรียนได้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมไทยตลอดภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม ด้านภาษาไทย ศิลปะไทย ดนตรีไทย และนาฏศิลป์ไทย ทำให้นักเรียนรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทยและสามารถแสดงศักยภาพในแต่ละด้านออกมาได้อย่างโดดเด่น นอกจากนี้ นักเรียนยังได้รับการปลูกฝังในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกของการเป็นพลเมืองโลกที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และคิดหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยกันอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ตลอดจนการลดภาวะโลกร้อน ด้วยการลดต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของพลังงานและการสร้างมลพิษในโรงเรียน ด้วยการจัดกิจกรรมการแยกและลดขยะ และการรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงาน

ประการต่อมา นักเรียนของโรงเรียนเป็นผู้ที่ได้พัฒนาตนเอง ให้มีความรู้ความสามารถและความชำนาญในด้านวิชาการสาขาต่าง ๆ เห็นได้จากการที่นักเรียนของโรงเรียนประสบความสำเร็จในการแข่งขันทางวิชาการ ทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รางวัลโอลิมปิกวิชาการ ทั้งในสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ที่นักเรียนของโรงเรียนจะได้รับการคัดเลือกและเข้าร่วมโครงการดังกล่าว กระทั่งสามารถเข้าร่วมการแข่งขันและประสบความสำเร็จได้รับเหรียญรางวัล และนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ อีกทั้งเมื่อพิจารณาภาพรวมของนักเรียนทั้งโรงเรียน นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติหรือ O-NET ในทุกรายวิชา โดยมีนักเรียนได้รับคะแนนเต็มจากการทดสอบในรายวิชาต่าง ๆ ในระดับชาติ นอกจากนี้ นักเรียนยังมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ตลอดจนเขียนสื่อความและใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จากการที่โรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการคิดระดับสูง ด้วยการใช้คำถามระดับสูง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการส่งเสริมสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 การตั้งประเด็นให้นักเรียนอภิปรายและวิพากษ์ การแก้ปัญหา การแสดงบทบาทสมมติ และกิจกรรมบูรณาการที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน และนักเรียนจะต้องมีการศึกษาค้นคว้า แล้วนำมาพูดหรือเขียนนำเสนอ เพื่อสื่อสารกับผู้อื่นโดยตลอด ทำให้นักเรียนได้รับการฝึกหัดและเสริมสร้างทักษะทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

นอกจากในด้านผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้แล้ว นักเรียนของโรงเรียนยังได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้านร่างกาย โรงเรียนได้จัดวางระบบเพื่อส่งเสริมโภชนาการของนักเรียน โดยการจัดสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียนให้สะอาด จัดอาหารที่มีโภชนาการสูง และจัดกิจกรรมกีฬาเพื่อให้นักเรียนได้เสริมสร้างสมรรถนะด้านร่างกายและรักในการเล่นกีฬา ส่วนในด้านอารมณ์และสุขภาพจิต โรงเรียนได้จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เสริมสร้างสุขภาวะทางอารมณ์ เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในด้านอารมณ์ รู้จักและเข้าถึงความงดงามของศิลปะและดนตรี ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของงานศิลปะ อันเป็นเครื่องช่วยยกระดับจิตใจให้มีความอ่อนโยนและกล่อมเกลาให้ผ่องใส ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานที่ดี ที่ทำให้นักเรียนของโรงเรียนไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ จนกลายเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของชีวิตในที่สุด

2. ด้านการพัฒนาหลักสูตรและงานวิชาการ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตร เพราะถือเป็นหัวใจของการจัดการศึกษา ในการสร้างและพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียน ได้กำหนดหลักการจากกรอบแนวทางและปรัชญาทั้งที่ปรากฏในแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปณิธานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนชุมชนและสังคม เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่สามารถเสริมสร้างนักเรียนให้เป็นผู้มีความสมบูรณ์และพัฒนาได้ตามศักยภาพ การสร้างหลักสูตรเกิดจากการระดมความคิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นลักสูตรที่เน้นการตอบสนองความต้องการและความถนัดส่วนบุคคลของนักเรียน ส่งเสริมนักเรียนที่มีศักยภาพทางวิชาการ ในขณะเดียวกัน ก็ให้การช่วยเหลือและพัฒนานักเรียนส่วนที่ต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมอย่างเต็มที่ โดยแต่ละงานได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารงานด้านวิชาการเข้ามากำกับและดูแล โดยจะมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของการนำหลักสูตรไปใช้ โรงเรียนได้วางระบบกำกับและติดตามครูผู้สอน โดยมีการนิเทศจากฝ่ายวิชาการ เพื่อให้การนำหลักสูตรเป็นไปตามที่กำหนดไว้

สำหรับการจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของการนำหลักสูตรไปใช้ โรงเรียนได้ให้ความสำคัญต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่นักเรียนเป็นอย่างยิ่ง คณาจารย์ของโรงเรียนได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ เน้นการให้นักเรียนสืบสอบและสร้างความรู้ขึ้นจากประสบการณ์ที่ครูจัดเตรียมไว้ให้ นักเรียนได้ตั้งคำถาม ทดลองและค้นคว้า และลงมือปฏิบัติเพื่อที่จะเรียนรู้และค้นหาคำตอบ โดยครูจัดแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายให้แก่นักเรียน ทั้งนี้ ในแต่ละรายวิชาจะมีลักษณะของการบูรณาการแบบสอดแทรก และเชื่อมโยงความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันจัดเป็นรายวิชาและหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่นักเรียนได้ใช้ความรู้จากหลายศาสตร์มาปฏิบัติงาน รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบโรงเรียน มาสู่การจัดการเรียนการสอน ที่ให้นักเรียนได้ไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน โดยเฉพาะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในเขตปทุมวัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนที่มีความต้องการเฉพาะ ให้ได้เรียนซ่อมเสริมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้นักเรียนทุกคนของโรงเรียนได้รับการดูแลจากโรงเรียนอย่างเต็มที่ เพราะนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการคิดและการตัดสินใจในด้านวิชาการ ที่มุ่งหวังให้นักเรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด และสามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่

ในส่วนของการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ โรงเรียนได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีที่จะนำมาส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยได้มีการร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชน ผ่านสมาคมผู้ปกครองและครู และคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งมีผู้แทนของชุมชน ตั้งแต่ในขั้นตอนของการวางแผน การจัดหา การติดตั้งและการบริหารจัดการให้เกิดผลต่อการเรียนการสอน ดังจะเห็นได้จากการที่โรงเรียนได้ดำเนินการพัฒนาห้องเรียนทุกห้องให้เป็นห้องเรียนอัจฉริยะ สามารถเชื่อมโยงกับระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั้งแบบไร้สายและแบบสายสัญญาณปกติ รวมถึงการติดตั้งสื่อและอุปกรณ์ในการเรียนการเรียนรู้ ที่ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากสื่อมัลติมีเดีย ได้รับประสบการณ์ทั้งทางภาพและเสียง รวมถึงการส่งเสริมให้คณาจารย์ของโรงเรียนใช้ระบบการเรียนการสอนที่เน้นการใช้เทคโนโลยี เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ห้องเรียนเสมือน และโครงการห้องเรียนในอนาคต เป็นต้น โดยโรงเรียนได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลรักษาระบบ อีกทั้งมีการนำระบบดังกล่าว ไปสาธิตและเป็นตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ ที่สามารถเผยแพร่ให้แก่สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่ได้ติดต่อเข้ามาขอศึกษาดูงาน และนำแนวคิดไปปฏิบัติใช้เป็นจำนวนมาก

ตามปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือการจัดการศึกษาในเชิงก้าวหน้า ที่เน้นให้นักเรียนสร้างความรู้จากประสบการณ์ตรง โรงเรียนได้นำหลักปรัชญาดังกล่าวมาใช้ในการจัดการศึกษา ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
ต่าง ๆ ทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตร ที่นักเรียนได้พัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้งกิจกรรมที่ส่งเสริมความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ ตลอดจนมีค่านิยม 12 ประการ โดยการนำแนวคิดเรื่องคุณลักษณะอันพึงประสงค์สอดแทรกไว้เป็นเป้าหมายและการวัดและประเมินผลการเรียนการสอนในทุกรายวิชา ในส่วนด้านการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจของนักเรียน รวมถึงการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ โรงเรียนได้จัดศูนย์แนะแนวเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งมีคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว มาประจำศูนย์เพื่อให้บริการแก่นักเรียนในการให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องการเรียนและการดำเนินชีวิต ตลอดจนทำงานประสานกับผู้ปกครองเพื่อให้รับทราบปัญญา และนำมากำหนดแนวทางการแก้ไข โดยนักเรียนที่มีความจำเป็นที่ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม โรงเรียนได้จัดสวัสดิการต่าง ๆ ที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก ทั้งในส่วนของการมอบทุนการศึกษา และการให้ความอนุเคราะห์นักเรียนในเรื่องอุปกรณ์การเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนกำลังกายและกำลังใจที่จะศึกษาเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างไม่ย่อท้อ

การส่งเสริมและพัฒนาด้านวิชาการ ยังปรากฏในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน โดยพัฒนาห้องสมุดของโรงเรียนให้มีหนังสือในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เพียงพอ และมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละสาขาวิชา ก็ได้จัดทำห้องปฏิบัติการ สำหรับให้นักเรียนได้ใช้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในสาขาวิชาเฉพาะ โดยมีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะสนับสนุนการเรียนการสอนของคณาจารย์ ส่วนในบริเวณต่าง ๆ ของโรงเรียนก็ส่งเสริมให้มีพื้นที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด และร่มรื่น ซึ่งนักเรียนสามารถใช้เป็นมุมส่งเสริมการเรียนรู้ของตนเองภายนอกห้องเรียน ทั้งในการทบทวนการเรียน การเล่นกีฬา หรือการพักผ่อน ที่ช่วยให้นักเรียนมีสุขภาพกายใจที่ดีเพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสติปัญญาและทักษะชีวิต

3. ด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งข้อมูล โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการจัดการข้อมูลต่างๆ ในโรงเรียน ให้อยู่ในระบบของฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ทั้งในส่วนข้อมูลของนักเรียน ข้อมูลบุคลากร และข้อมูลของหน่วยงาน ที่สามารถสืบค้นมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการดำเนินงานของโรงเรียน รวมทั้งมีการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นผลการดำเนินการของโรงเรียน ผ่านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศไปสู่สาธารณชน สำหรับในส่วนของการบริหาร ผู้บริหารโรงเรียนได้จัดการประชุมเพื่อจัดทำแผนการดำเนินการในแต่ละปีการศึกษา โดยกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย โดยพิจารณาจากบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนาโรงเรียนที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โรงเรียนยังได้ส่งเสริมให้มีระบบของการประกันคุณภาพภายใน เกิดกระบวนการประเมินประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอนของครู และการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในโรงเรียน ทั้งนี้ก็ด้วยมุ่งหวังให้มีข้อมูลสำหรับปรุงระบบการบริหารให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับกิจกรรมด้านการบริหารงบประมาณ โรงเรียนได้ดำเนินการวางแผนด้านงบประมาณ รวมถึง
การเตรียมงบต่าง ๆ สำหรับการบริหารจัดการ โดยใช้หลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่จะต้องให้เกิดความถูกต้องและคุ้มค่าในฐานะที่เป็นเงินอันเกิดจากภาษีของประชาชน ในการเบิกจ่าย จะมีการตรวจสอบการใช้เงิน ตั้งแต่ในระยะของการจัดทำกิจกรรมหรือโครงการ การติดตามการนำงบประมาณไปใช้ และการรายงานผลการใช้งบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ แก่สาธารณะ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบ และเป็นหลักประกันให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนี้ ในด้านการบริหารงานบุคคล โรงเรียนได้จัดหาบริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคณาจารย์ และบุคลากรของโรงเรียน ทั้งในเรื่องของการตรวจสุขภาพ การทำประกันภัยกลุ่ม การจัดเตรียมอาหารกลางวัน รวมถึงเครื่องแต่งกายต่าง ๆ เนื่องในกิจกรรมของโรงเรียน รวมถึงเบี้ยเลี้ยงในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการดูแลนักเรียน ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการประเมินเพื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือน ที่เป็นไปตามหลักการและผลงานของคณาจารย์ ทั้งนี้ เพื่อให้งานบริหารบุคคลดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ

งานด้านการบริหารอีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ งานด้านอาคารสถานที่ โรงเรียนได้ดำเนินการจัดและพัฒนาทั้งในส่วนของอาคารและพื้นที่โดยรอบ ให้มีความปลอดภัย มีระบบการป้องกันภัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยมีวิศวกรและสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา ทั้งวางแผนในการใช้พื้นที่ต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตของนักเรียน และบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน มีการวางระบบการใช้ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่นักเรียน คณาจารย์และบุคลากรอย่างเพียงพอ ให้สามารถเรียนและปฏิบัติงานได้อย่างเป็นสุข โดยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแล ที่จะดำเนินการตรวจสอบ ปรับปรุงและซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพดีและสามารถใช้งานเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนได้ตลอดเวลา

4. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน

ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรในท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียน ที่มีคณะกรรมการสถานศึกษาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนชุมชน และผู้แทนจากสมาคมผู้ปกครองและครู เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนประสานความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยมีการเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้ปกครองได้เข้ามาทั้งทางตรงและทางอ้อม นักเรียนของโรงเรียนได้มีโอกาสศึกษาในรายวิชาที่มีผู้ปกครองได้เปิดขึ้นเพื่อเน้นการศึกษาต่อและความถนัดในด้านวิชาชีพ อันแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ที่สำคัญ โรงเรียนยังมีความร่วมมือกับแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและท้องถิ่น เพื่อขยายประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียนทั้งในด้านศิลปะ สังคม และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม จากห้องเรียนสู่โลกภายนอก ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และโรงเรียนได้จัดบริการวิชาการต่าง ๆ ในด้านวิทยาการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกในชุมชนรอบโรงเรียน ทั้งยังสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการของชุมชนโดยที่นักเรียนและคณาจารย์ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งทำให้งานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุนชนเกิดความแน่นแฟ้น และมีความสมัครสมานสามัคคี อันช่วยให้การดำเนินงานของโรงเรียนเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ

5. ด้านการบริหารบุคลากร

บุคลากรในทุกส่วนงานของโรงเรียน ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้มีความรู้ ทักษะและความชำนาญในงานของตนเอง ทั้งในส่วนของผู้บริหาร ที่ได้ดำเนินการคัดเลือกจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษา มีผลงานการวิจัยและผลงานวิชาการเป็นที่ประจักษ์ มีความเป็นผู้นำและมีจิตอาสาที่จะทำช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียน และใช้แนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งในการประชุมในระดับต่าง ๆ เน้นการทำงานแบบการตั้งคณะกรรมการ และการตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตย ที่ช่วยให้เกิดความหลากหลายทางความคิด ที่สำคัญคือเป็นผู้มีความประพฤติดี
เป็นแบบอย่างที่ดีในทางวิชาชีพและการใช้ชีวิตทั้งแก่คณาจารย์ นักเรียนและบุคลากรทุกฝ่ายของโรงเรียน

สำหรับในด้านคณาจารย์ โรงเรียนได้คัดเลือกคณาจารย์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ โดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญ ตลอดจนประสบการณ์ที่มีในสาขาวิชาที่ตนเองสอน โดยคณาจารย์ของโรงเรียน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายในการจัดการศึกษา มีความรู้เรื่องของหลักสูตร สาระเนื้อหาวิชาที่จะสอน ตลอดจนสามารถจัดกระบวนการเรียนการสอน ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ตลอดจนสร้างสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของนักเรียน อีกทั้งยังมีการนิเทศและพัฒนาครูประจำการอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการส่งเสริมให้คณาจารย์ทำวิจัย และใช้วิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน โดยสะท้อนได้จากในแต่ละปีการศึกษา จะมีคณาจารย์ที่ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ได้กลายมาเป็นแบบอย่างของสถานศึกษาแห่งอื่น ๆ ที่ได้มาศึกษาดูงานและนำไปปรับเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยคณาจารย์ของโรงเรียนยังได้รับเกียรติจากหน่วยงาน สถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ เพื่อไปเป็นวิทยากรฝึกอบรมครูในทุกสาขาวิชา โดยให้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการรวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในด้านการพัฒนาหลักสูตร การสอน การพัฒนาระบบการวัดและประเมินผล และการเป็นผู้ทรงคุณทางวิชาการในระดับชาติ นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาบุคลากร โรงเรียนยังได้มีการส่งเสริมและอบรมให้บุคลากรเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง สามารถทำงานได้อย่างประสานกัน และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ รู้จักวางระบบและปรับปรุงหน่วยงานของตนเองให้มีโครงสร้างของการบริหารงานที่ชัดเจน ตลอดจนมีการวางระบบของการติดตามและประเมินการทำงาน ทำให้แต่ละหน่วยงานมีการพัฒนาและสามารถที่จะสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียนให้ก้าวหน้าไปด้วยเช่นเดียวกัน

6. ด้านความดีเด่นของโรงเรียน

โครงการและกิจกรรมของโรงเรียนที่ได้ดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนให้ได้ความทุ่มเทกับการคิดค้นกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ได้กำหนดไว้ โดยเป็นกิจกรรมและโครงการที่เน้นการพัฒนานักเรียน ซึ่งหลายกิจกรรมได้รับการยกย่องและยอมรับจากสังคม ทำให้ได้รับเกียรติยศหรือรางวัลในลักษณะต่าง ๆ ผลจากการจัดกิจกรรมได้ก่อให้เกิดผลแก่สังคมในวงกว้าง สอดคล้องกับปณิธานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะบุกเบิก และแสวงหาความรู้ ที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคม ซึ่งกิจกรรมที่นักเรียนสาธิตได้ปฏิบัติ เป็นกิจกรรมที่ยังประโยชน์ต่อสังคมส่วนร่วม สามารถเผยแพร่เป็นแบบอย่างแก่สถานศึกษาอื่น ๆ รวมถึงเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา และที่สำคัญที่สุด ทุกกิจกรรมล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ครอบคลุมการพัฒนานักเรียนในทุกด้าน และทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย อันถือเป็นเกียรติแห่งการรับใช้สังคมไทยของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

จากการประมวลผลงานแห่งการพัฒนาของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยมที่ผ่านมา ย่อมเห็นอย่างประจักษ์ชัดว่า โรงเรียนได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำ ที่จัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ ประกอบด้วยความสมบูรณ์พร้อมทั้งในด้านคุณธรรมของนักเรียนที่มีอย่างโดดเด่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่อยู่ในระดับสูง หลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนทุกระดับศักยภาพ การบริหารจัดการของผู้บริหาร และการจัดกระบวนการเรียนการสอนของครู ที่สามารถเป็นต้นแบบของการสาธิตศึกษา การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และเกียรติยศต่าง ๆ แห่งการรับใช้สังคม ที่สามารถเป็นต้นแบบให้แก่สถาบันฝึกหัดครูทั่วประเทศ ด้วยความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว อันสืบทอดมาแต่ครั้งการกำเนิดขึ้นของโรงเรียนนี้เอง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม จะยังคงคิดค้นนวัตกรรมทางการศึกษาโดยเฉพาะในด้านการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาโรงเรียนและนักเรียนให้เป็นผู้นำการสร้างนวัตกรรม นำประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้าวัฒนาสถาพร เป็นผู้มีจิตใจเอื้ออาทร ให้ความช่วยเหลือผู้กำลังตกทุกข์ได้ยาก มากด้วยความเป็นผู้นำ สื่อสารด้วยถ้อยคำที่แสดงความเคารพอ่อนน้อมในการรับใช้ชาติและประชาชน มีปณิธานในการธำรงตนเพื่อรักษาภูมิปัญญาและสืบสานความเป็นไทย และมีจิตใจมั่นคงธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติ ศาสนา และพระบรมราชวงศ์จักรี ให้คงอยู่ชั่วฟ้าดิน


___________________________________________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 617599เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2016 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2016 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท