องค์กรภาครัฐ : การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา Government organization: Participation in Buddhist affairs promotion


องค์กรภาครัฐ : การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา

Government organization: Participation in Buddhist affairs promotion

ดร.อนุวัต กระสังข์*


บทนำ

การบริหารกิจการคณะสงฆ์มีความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง และการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของพระพุทธศาสนา เป็นการบริหารงานเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่ในการปกครองให้เรียบร้อยดีงาม การบริหารนั้นพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)[๑] ได้ให้ความหมายของการบริหารตามแนวพระพุทธศาสนาว่า ควรยึดหลักธรรมาธิปไตยเป็นสำคัญ โดยผู้บริหารเองจะต้องประพฤติธรรม และใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหาร และต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งโดยพึงสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ถ้าเห็นจะได้ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่เพราะเสียสละประโยชน์สุขเล็กน้อย บุคคลควรสละประโยชน์สุขเล็กน้อย เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่”[๒] ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการปกครองคณะสงฆ์ หรือการบริหารกิจการคณะสงฆ์ จึงหมายถึงพระธรรมวินัยเป็นหลัก เพราะพระธรรมวินัยเป็นโครงสร้างของการบริหารกิจการคณะสงฆ์ และการจัดสภาพสังคมสงฆ์ให้เกิดความเรียบร้อย ถือว่าเป็นการพัฒนาบุคลากรในสังคมด้วยที่จะทำให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตนเอง ดังความแห่งมาตรา ๔๕ แห่ง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ว่า ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งในการดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” เพราะเหตุนี้ ตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง[๓]และสำหรับการบริหารวัดที่มหาเถรสมาคมกำหนดขึ้นนั้นมี ๖ ประการ คือ การปกครองคณะสงฆ์ การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ [๔] องค์กรภาครัฐถือว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการให้การสนับสนุนงานกิจการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เพราะองค์กรภาครัฐถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลความเป็นปกติสุขและให้ความสะดวกแก่ประชาชนในทุก ๆ ฝ่ายอย่างทั่วถึง รายะเอียดผู้เขียนจะนำเสนอดังต่อไปนี้

องค์กรภาครัฐในความหมายทั่วไป

องค์กรภาครัฐ ก็คือ การบริหารราชการกล่าวคือ กิจกรรมทุกประเภทของรัฐไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการหรือการบริหารราชการจะเกี่ยวข้องเฉพาะกิจกรรมของฝ่ายบริหารในการดําเนินความพยายามในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐประกอบกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายอย่างได้ผลที่สุด[๕]

การบริหารราชการเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญยิ่ง กล่าวได้ว่าหากการบริหารราชการขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ระบบการปกครองของประเทศก็ย่อมอ่อนกำลังไปด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะการบริหารราชการเป็นการนำนโยบายไปปฏิบัติขณะเดียวกันก็มีส่วนกำหนดนโยบายและเป็นกลไกที่สำคัญที่จะดำรงไว้และพัฒนาวัฒนธรรมของสังคม ความก้าวหน้าของสังคมขึ้นอยู่กับประสิทธิผลโดยเฉพาะประสิทธิผลการบริหารงานของรัฐ เพราะตามความเป็นจริงแล้วชีวิตของบุคคลแต่ละคนในสังคมเกี่ยวข้องอยู่กับการบริหารราชการ ตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อเริ่มต้นชีวิต รัฐก็ไปดูแลโดยการจัดโรงพยาบาลไว้ให้ เมื่อเข้าเรียนก็จัดบริการสถานศึกษาให้การศึกษาจนถึงขั้นที่สามารถดำรงชีพได้ด้วยตนเอง และแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานในส่วนของภาครัฐทุกคน เขาก็ได้รับประโยชน์และการบริการจากรัฐ ทั้งด้านสาธารณูปการ การคมนาคม และตัวบทกฎหมายต่างๆ เมื่อบุคคลสิ้นชีวิตลงรัฐก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมสุดท้ายลุล่วงไปโดยผ่านสถาบันทางศาสนา การที่รัฐเก็บภาษีจากประชาชนทำให้ประชาชนต้องการให้รัฐทำงานอย่างมีประสิทธิผล ดังนั้น ประสิทธิผลขององค์การรัฐบาลจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป

โครงสร้างการบริหารราชการของไทยในปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี โดยทรงลงปรมาภิไธยตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และทรงลงปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร คือพระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกา และทรงแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งบริหารชั้นสูง ได้แก่ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า ส่วนคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรบริหารราชการแผ่นดินผู้กำหนดนโยบาย แผนงาน และโครงการตลอดจนจัดสรรเงินงบประมาณให้ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รับไปบริหารราชการให้บรรลุเป้าหมาย

องค์กรภาครัฐเป็นการบริหารงานในองค์การขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและระบบราชการไทยเป็นสถาบันหลักที่มีความสําคัญต่อความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศ ดังนั้น จึงมีนักวิชาการได้นิยามความหมายของภาครัฐไว้ ดังนี้

สยาม ดําปรีดา ได้กล่าวว่า การบริหารราชการ (Public Administration) คือความพยายามในการที่จะร่วมมือดําเนินงานของส่วนราชการต่างๆ หรือดําเนินกิจการต่างๆ ที่รัฐต้องปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะต้องจัดให้มีหน่วยงานหรือส่วนราชการ เพื่อดําเนินกิจการต่างๆ ที่รัฐพึงปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้และจัดให้มีระเบียบบริหารงานหรือที่ เรียกว่า “ระเบียบบริหารราชการ” เพื่อให้มีการใช้คน (Man) เงิน (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และวิธีการดําเนินงาน (Method) แบบต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล[๖]

Jame W. Fesler (เฟสเล่อ) ได้กล่าวว่า การบริหารราชการ เป็นกิจกรรมนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและการกำหนดนโยบายเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะขององค์การแบบราชการ (Bureaucracy) มีขนาดใหญ่และมุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ[๗]

ผู้เขียนมองว่า การบริหาราชการแผ่นดินขององค์การภาครัฐ เป็นความพยายามในการที่จะร่วมมือดําเนินงานของส่วนราชการต่างๆ หรือดําเนินกิจการต่างๆ โดยเฉพาะในการบริหารจัดการงานต่างๆ ของภาครัฐทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมในประเทศ

การมีส่วนร่วมในความหมายทั่วไป

การมีส่วนร่วมนี้เกิดได้หลายลักษณะหลายรูปแบบ หลายวิธีการ และหลายวัตถุประสงค์ ความแตกต่างเช่นนี้มีผลให้ไม่สามารถนิยามความหมายของการมีส่วนร่วมได้อย่างครอบคลุมครบถ้วนและเป็นที่ยอมรับทั่วไปการมีส่วนร่วมเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำงาน เป็นขั้นตอนหนึ่งของการมีมนุษย์สัมพันธ์ เพื่อการอยู่ร่วมกัน เพื่อการก้าวหน้าและพัฒนา เพื่อชุมชนสังคม ประเทศชาติ มีความมั่นคงผาสุขสืบไป ซึ่งก็ได้มีนักวิชาการหลายท่าน ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมไว้ ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, สำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ และทบวงมหาวิทยาลัย การมีส่วนร่วม คือ การ ที่ประชาชนหรือชุมชนสามารถเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจในการกำหนด นโยบายพัฒนาท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในการรับประโยชน์จากบริการรวมทั้งมีส่วนใน การควบคุมประเมินผลโครงการต่าง ๆ ของท้องถิ่นนอกจากนี้ยังได้ให้ความหมายของ การมีส่วนร่วมว่ามี ๒ ลักษณะ คือ

๑.การมีส่วนร่วมในลักษณะที่เป็นกระบวนการของการพัฒนา โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่เริ่มด้นจนสิ้นสุดโครงการ ได้แก่ การร่วมกันค้นหาปัญหา การวางแผน การตัดสินใจ การระดมทรัพยากรและเทคโนโลยีท้องถิ่น การบริหารจัดการ การติดตามประเมินผลรวมทั้งรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ

๒. การมีส่วนร่วมทางการเมือง แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือการส่งเสริมสิทธิและพลังอำนาจของพลเมืองโดยประชาชน หรือชุมชนพัฒนาขีดความสามรถของตนในการจัดการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มควบคุมการใช้และการกระจายทรัพยากรของชุมชนอันจะก่อให้เกิดกระบวนการ และโครงสร้างที่ประชาชนในชนบทสามารถแสดงออกซึ่งความสามารถของตนและได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา[๘]

อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวว่า การมีส่วนร่วม หมายถึง การที่บุคคลกลุ่มหนึ่ง ประชาชนหรือองค์กรได้ร่วมพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน โดยร่วมกันวางแผนโครงการร่วมกันปฏิบัติงาน ประเมินผลงาน พิจารณาตัดสินใจและร่วมกันรับผิดชอบด้วยความสมัครใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงในแนวนโยบายให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใต้การกำหนดและดำเนินการของประชาชนเอง[๙]

ผู้เขียนมองว่าการมีส่วนร่วมเป็นการที่ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องโดยการใช้ความพยายามหรือใช้ทรัพยากรบางอย่างส่วนตน ในกิจกรรมที่มุ่งสู่การพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมต้องมีองค์ประกอบดังนี้

๑. มีประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องในกิจกรรมพัฒนา

๒. ผู้เข้าร่วมได้ใช้ความพยายามบางอย่างส่วนตัว เช่น ความคิด ความรู้ ความสามารถ แรงงาน หรือทรัพยากรบางอย่าง เช่น เงินทุน วัสดุ ในกิจกรรมการพัฒนา

สรุปได้ว่าหลักการมีส่วนร่วม สามารถนำมาใช้ได้กับทุกองค์กร เพราะยิ่งถ้ามีการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมและลงตัวมากที่สุด จะทำให้องค์กรนั้นสามารถพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ และสามารถปรับตัวได้เพื่อความอยู่รอดขององค์กร จากการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์

องค์กรภาครัฐกับการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเหล่าสาวกได้ช่วยกันทำหน้าที่เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าให้กว้างไกลและคอยอุปถัมภ์บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นสืบมา อุบาสกเป็นสาวกกลุ่มหนึ่งที่ได้มีบทบาทช่วยส่งเสริมสนบัสนุนพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง บทบาทของอุบาสกไว้ในลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้

๑. บทบาทด้านการถวายความอุปถัมภ์พระสงฆ์ เป็นการทำหน้าที่บำรุงพระสงฆ์ในด้านการดำรงชีพให้อยู่โดยไม่เดือดร้อน กล่าวคือ

๑) บทบาทด้านการถวายภัตตาหารเป็นประจำ

บทบาทในด้านนี้มีอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นที่มีการเผยแผ่ธรรม อุบาสกทั้งที่เป็นพราหมณ์ เศรษฐี คฤหบดี พ่อค้าพาณิช ผู้เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้าต่างพากันอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์โดยการถวายภัตตาหารเป็นจำนวนมากถึงแม้พระสงฆ์จะไปบิณฑบาตทางไหนก็มีผู้ทำบุญถวายทานโดยตลอดจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองได้รวดเร็วขึ้น

อุบาสกที่มีบทบาทในด้านนี้โดยตรง ส่วนใหญ่แล้วต่างมีโรงทานเป็นของตนเอง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ให้ทานอยู่เป็นประจำในบ้าน ดังนั้น จึงเป็นการสะดวกต่อการถวายความอุปถัมภ์ พระสงฆ์ได้อย่างสม่ำเสมอ

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ที่บ้านของท่านจะจัดเตรียมสถานที่และตกแต่งอาสนะเพื่อถวายภัตตาหารเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วัน ๒,๐๐๐ รูป เป็นประจำ ท่านมีกิจวัตรประจำ คือ การเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อสดับฟังธรรมทุกวัน เวลาไปก่อน เวลาอาหารก็จะนำอาหารขบฉันไปถวาย เวลาไปในตอนหลังจะเอาเภสัช ๕ อย่าง และปานะ ๘ประการ ไปถวายเป็นประจำเวลาไปฟังธรรมท่านไปด้วยความเป็นคนใจบุญ[๑๐]

๒) บทบาทด้านการถวายสิ่งของอุปโภคและยารักษาโรค

บทบาทในด้านนี้ อุบาสกที่กระทำอยู่เป็นประจำเช่นเดียวกับการถวายอาหาร เนื่องจากว่าเครื่องอุปโภค อันหมายถึง เครื่องอัฎฐบริขาร เช่น ผ้าไตรจีวร เครื่องใช้ที่จำเป็นอย่าง อื่นๆ และยารักษาโรคเป็นสิ่งที่พระสงฆ์พึงต้องใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดความสบาย พอสมควรอันส่งผลต่อการปฏิบัติศาสนกิจได้อุบาสกจำนวนมากที่มีบทบาทในลักษณะนี้ เช่น

พระเจ้าอุเทนกษัตริย์เมืองโกสัมพี ได้ถวายจีวรแก่พระอานนท์เถระ เพราะมีความศรัทธาในการใช้สอยผ้าของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่มีความมัธยัสถ์ และประหยัดเพราะได้ทรงสดับว่า ภิกษุที่รับจีวรแล้วจะมอบจีวรของตนแก่ผู้มีจีวรที่เก่ากว่า จากนั้นจะนำเอาผ้าเก่าเหล่านั้นทำเป็นผ้าปูที่นอนผ้าปูพื้น ผ้าเช็ดเท้าจากนั้นแล้วใช้ผสมดินเหนียวฉาบทาฝาทรงพิจารณาเห็นว่า พระสงฆ์ใช้ผ้าอย่างคุ้มค่าจึงเกิดความเลื่อมในศรัทธาได้ถวายผ้าที่ค่าเป็นจำนวนมากทั้งผ้าที่มีราคา ๕๐๐ ๑,๐๐๐ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ โดยได้ถวายเป็นชุดๆ ตามราคาจีวร ทำให้พระสงฆ์มีเครื่องใช้สอยไม่เดือดร้อน[๑๑]

๒. บทบาทด้านการส่งเสริมด้านความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เป็นบทบาทที่ส่งเสริมเป็นไปเพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา แยกอธิบายได้ดังนี้

๑) บทบาทด้านการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุ

เสนาสนะที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการดำเนินชีวิตทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต จัดเป็นปัจจัยหนึ่งในบรรดาปัจจัย ๔ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับพระสงฆ์คือ ผ้าห่ม (จีวร) อาหาร (บิณฑบาต) ที่อยู่อาศัย (เสนาสนะ) ยารักษาโรค (เภสัช) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย[๑๒] หลักฐานที่ปรากฏชัดในพระไตรปิฎกว่า มีอุบาสกได้สร้างเสนาสนะถวายไว้ในพระพุทธศาสนา เช่น สร้างกุฏิ ศาลา เจดีย์ วิหาร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

พระเจ้าพิมพิสาร ภายหลังได้ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใส ได้ถวายพระเวฬุวัน ซึ่งเป็นพระราชอุทยานของพระองค์แด่พระพุทธเจ้า เพื่อเป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์ และเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา[๑๓] โฆสกเศรษฐี ได้สร้างโฆสิตารามถวายโดยเฉพาะได้ตั้งโรงทานให้แก่คนเดินทางไกลและคนกำพร้าทุกๆ วัน[๑๔]

๒) บทบาทด้านการชำระอธิกรณ์และปัญหา

พระพุทธศาสนาเมื่อมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก็ไม่อาจที่จะพ้นจากภัยอันตราย จากสิ่งรอบข้างได้จึงทำให้เกิดเป็นปัญหา ซึ่งภัยดังกล่าวมานั้นได้เกิดขึ้นจากเจ้าลัทธิผู้สอนลัทธิ ศาสนาต่างๆ บ้างเกิดจากความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของพระพุทธสาวกเองบ้างจนเป็นปัญหาและอธิกรณ์ขึ้น เมื่อเกิดปัญหาหรือเกิดอธิกรณ์ขึ้นเหล่าพุทธสาวกได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา และ อธิกรณ์นั้นให้หมดไป อุบาสกก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ทำหน้าที่ในด้านนี้ กล่าวคือได้ช่วยชำระอธิกรณ์ที่ เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาให้หมดไปได้เช่น ครั้งหนึ่งธิดาของเศรษฐีในเมืองราชคฤห์เกิดตั้งครรภ์ ขึ้นภายหลังจากที่บวชเป็นภิกษุณี ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากนางภิกษุณีที่ร่วมสำนักต่าง ก็พากันโจทก์ ใส่ร้ายและได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระเทวทัต พระเทวทัตกลัวว่าความเสียชื่อเสียง จะเกิดขึ้นแก่ พวกภิกษุณีผู้ทำตามโอวาทของตน จึงสั่งให้นางภิกษุณีนั้นไปสึกเสียจากสำนัก นางภิกษุณีได้ขอร้องและบอกความประสงค์ว่าที่นางไปยังพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อนางไปถึงพระพุทธเจ้าทรง ทราบแล้วว่า ครรภ์ของนางตั้งขึ้นตั้งแต่ก่อนที่นางจะบวชแล้ว แต่เพื่อจะเปลื้องถ้อยคำของพวกคนที่อาจจะกล่าวตำนิพระองค์ว่าไม่ทรงมีความยุติธรรม จึงได้เชิญพวกอุบาสกประกอบด้วย พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี จูฬอนาถปิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกา และตระกูล อุบาสกอุบาสิกาใหญ่อื่นๆ มาแล้วให้ทำการชำระอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏว่า อุบาสกได้ทำการชำระอธิกรณ์ร่วมกับอุบาสิกาและพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระอุบาลีเป็นประธานในการวินิจฉัยตรวจสอบมีการตรวจดูมือ เท้า สะดือ และที่สุดท้องของนางภิกษุณีภายในม่านและนับวันนับเดือนดู ก็ได้ความจริงว่า นางภิกษุณีได้ตั้งครรภ์ในเวลาที่นางเป็นคฤหัสถ์แล้ว จึงทำให้นางภิกษุณีรูปนั้นพ้นจากมลทินกล่าวหาได้[๑๕]

๓) บทบาทด้านการปกป้องพระพุทธศาสนา

การป้องกันภัยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง บทบาทในด้านนี้อุบาสกได้กระทำไว้อย่างสม่ำเสมอ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงเมื่อ ครั้งที่มีการทำสังคายนาครั้งแรก พระองค์ได้ทรงรับเป็นภารธุระในการช่วยเหลือให้ภิกษุสงฆ์ผู้ทำการสังคายนาในครั้งนั้น ได้รับความสะดวกสบายคือ พระองค์ได้ช่วยปฏิสังขรณ์มหาวิหารถึง ๑ ตำบลในเมืองราชคฤห์ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักอาศัยของพระภิกษุสงฆ์พระองค์ได้ช่วยปกป้องกันภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ ผู้ทำการสังคายนา และได้อุปัฏฐากบำรุงพระสงฆ์ด้วยอาหารบิณฑบาตในที่สุดการทำสังคายนาพระธรรมวินัยก็สำเร็จด้วยดี[๑๖]

พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งทำที่ อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน มีพระสงฆ์ ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป ทำอยู่ ๙ เดือน จึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้า ทรงปรินิพพานแล้ว ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี ข้อปรารภในการทา สังคายนาครั้งนี้ คือ พวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นๆ มาปลอมบวชแล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่า เป็น พระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ไดข้อความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้น จากพระธรรมวินัยได้แล้ว จึงสังคายนาพระธรรมวินัย[๑๗]

๔) บทบาทด้านการสนับสนุนพระสงฆ์เผยแผ่พระพุทธศาสนา

อุบาสกหลายท่านได้สร้างบทบาทในด้านนี้โดยวิธีต่างๆ กัน เช่น แสดงธรรมให้ฟังบ้าง สนทนาธรรมบ้าง การโตว้าที กับบุคคลอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นพุทธสาวก หรือเป็นผู้นับถือลัทธิอื่นมาก่อน เช่น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ จิตตคฤหบดี นอกจากจะมีศรัทธาถวายทานให้ความอุปถัมภ์พระสงฆ์และสร้าง เสนาสนะสถานไว้ในพระพุทธศาสนาแล้วท่านยังได้แสดงธรรมอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าให้กับบุคคลอื่นๆ ให้มีความรู้เข้าใจในธรรมยิ่งขึ้น ท่านจะใช้เวลาภายหลังจากที่ได้ทำบุญภัตตาหารแด่พระสงฆ์เสร็จแล้วสนทนาธรรมกับพระสงฆ์อยู่เสมอๆ ครั้งหนึ่งท่านได้ถามปัญหาธรรมกับพระสงฆ์ที่นิมนต์มาฉันที่บ้านถึงเรื่องความต่างแห่งธาตุกับพระเถระผู้เป็นหัวหน้า แต่พระเถระไม่ ตอบแม้ว่าจะถูกถามถึง ๓ ครั้งก็ยังไม่ตอบ ในที่สุดอิสิทัตตะจึงอาสาตอบคำถามแทน ท่านได้สนทนาธรรมกับท่านเศรษฐีโต้ตอบกันจนทำให้ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมนั้นเกิดความรู้แจ้งในธรรมะยิ่งขึ้น[๑๘]

๕) บทบาทด้านการชักชวนคนเข้าวัดฟังธรรม

การชักชวนผู้คนไปฟังธรรม เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่อุบาสกได้กระทำเพื่อสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาไว้มีบุคคลหลายคนที่ได้ฟังธรรมเพราะการชักนำของอุบาสก การที่บุคคลนับถือพระพุทธศาสนาและนำเอาหลักธรรมปฏิบัตินั้นหมายถึงว่า พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง เพราะหลักธรรมที่สำคัญๆ อันเป็นหลักของพระพุทธศาสนาจะได้รับการสืบทอดต่อไป อุบาสกที่ กระทำลักษณะนี้ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร ภายหลังจากที่ทรงพาบริวาร ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนตาล หนุ่มชื่อ ลัฏฐิวัน กระทั่งบริวารประกาศตนเป็นอุบาสกและได้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่ง พระนางเขมาอัครมเหสีของพระองค์เป็นผู้ลุ่มหลงในรูปร่างของตน ไม่ปรารถนาจะไปเฝ้า พระพุทธเจ้าเพราะพระนางได้สดับฟังว่า พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนโทษของรูปไว้ พระเจ้าพิมพิสาร จึงหาวิธีจะพานางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม ได้สั่งพวกนักกวีแต่งเพลงขับพรรณนาความงาม ของพระเวฬุวัน เมื่อนักฟ้อนขับเพลง พระนางได้ฟังแล้วมีความปรารถนาจะไปพระเวฬุวัน เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ได้เนรมิตสตรีรูปงามให้พระนางเห็นแล้วทรงทำให้รูปนั้นเปลี่ยนสภาวะไปตามลำดับจนเหลือแต่ร่างเพียงกระดูก พระนางเห็นแล้วเกิดความสลดใจคิดว่าในรูปนี้ไม่สาระอยู่ เลยและเมื่อได้ฟังธรรมแล้วพระนางได้บรรลุโสดาปัตติผล[๑๙]

พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้สนทนากับหมู่พระราชา ๔ พระองค์เรื่องกามคุณว่า อะไรเป็นยอดของกามคุณ พระราชาเหล่านั้นตอบว่า รูป...เสียง....กลิ่น....รส....โผฏฐัพพะ ว่าเป็นยอดของกามคุณ แต่ก็หาข้อสรุปตกลงกันไม่ได ้พระองค์จึงได้ชักชวนให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อ ฟังธรรมและทูลถามปัญหาเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็หมดความสงสัยมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เลิกการลุ่มหลงในกามคุณอีกต่อไป[๒๐]

) บทบาททั่วไป

นอกจากนี้แล้วอุบาสกยังมีบทบาทอีกหลายๆ ด้านที่ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคม หรือที่เรียกว่า สังคมสงเคราะห์ คือ การให้ความช่วยเหลือบุคคลผู้ยากไร้หรือได้รับความลำบาก ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือมีอาหาร มีที่พักอาศัย มีงานทำ มีเสื้อผ้าใส่ มีคนคอยดูแลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย อุบาสกผู้มีฐานะเป็นเศรษฐีนอกเหนือจากที่ช่วยอุปการะผู้ที่ยากไร้ที่มาของพึ่งพิงให้มีงานทำ และอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค แล้วยังได้จัดสร้างโรงทานใช้เป็นสถานที่แจกจ่ายของไว้ตามประตูบ้านของตน ใครที่ขัดสนหรือได้รับความเดือดร้อนก็สามารถไปพึ่งพิงขออาศัยฝากปากฝากท้อง และชีวิตยังสถานที่แห่งนี้ได้โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้การดูแลในการแจกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกคนที่มาขอรับสิ่งของเสมอเหมือนกันยังมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดต่อพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

แนวทางการอุปถัมภ์ ส่งเสริมและคุ้มครองพระพุทธศาสนา

๑. การอุปถัมภ์ ส่งเสริมและคุ้มครองศาสนธรรม

ผู้เขียนมองว่าควรสังคายนาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วศึกษาพระธรรมให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง นำพระธรรมที่ได้รู้มานำมาปฏิบัติ และเมื่อเห็นว่าปฏิบัติแล้วเกิดผลดีกับตนเองก็เผยแผ่ให้คนอื่นที่เรารักได้ปฏิบัติตาม ในการเปิดประเทศอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงเป็นโอกาสดีที่ชาวพุทธในประเทศอาเซียนจะร่วมมือกันอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของมวลมนุษย์ทั่วโลก

๒. การอุปถัมภ์ ส่งเสริมและคุ้มครองศาสนบุคคล

ผู้เขียนมองว่าควรส่งเสริม สนับสนุนและอุปถัมภ์บำรุง ศาสนบุคคลที่เห็นว่า ท่านปฏิบัติถูกต้องตรงตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปกป้องคุ้มครองท่านเมื่อเห็นว่าท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเกิดความไม่ปลอดภัย ร่วมมือกันในการสรรหาศาสนทายาทและส่งเสริมพัฒนาให้มีสมรรถภาพสูงไว้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

๓. การอุปถัมภ์ ส่งเสริมและคุ้มครองศาสนสถาน

ผู้เขียนมองว่าควรอุปถัมภ์บำรุงศาสนสถานโดยการกำหนดหลักเกณฑ์การสร้างวัดและตั้งวัดให้เหมาะสมกระจายอำนาจการดูแลรักษาวัดให้กับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้มีความรู้สึกรัก หวงแหนและมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของวัด สละกำลังกาย กำลังทรัพย์และกำลังสติปัญญาในการสร้างซ่อมแซมศาสนสถานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบพิธีหรือปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา

๔. การอุปถัมภ์ ส่งเสริมและคุ้มครองศาสนวัตถุ

ผู้เขียนมองว่าควรสร้าง ดูแลรักษาและเคารพบูชารูปเคารพพระพุทธเจ้าและพระสาวกและน้อมรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยสรรพสัตว์ให้รอดพ้นจากความทุกข์ โดยปกป้องและป้องกันไม่ให้ใครมาดูหมิ่นเหยียดหยามและทำลาย

๕. การอุปถัมภ์ ส่งเสริมและคุ้มครองศาสนพิธี

ผู้เขียนมองว่าควรศึกษาพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าความสำคัญ ช่วยกันรักษาประพฤติปฏิบัติตามพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษได้เคยปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาเพื่อให้ลูกหลานได้ปฏิบัติสืบไป


บรรณานุกรม

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. คู่มือการบริหารศึกษาคณะสงฆ์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, ๒๕๓๘.

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). พุทธวิธีบริหาร. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙.

พระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ). การคณะสงฆ์และการศาสนา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. การบริหารราชการไทย หน่วยที่ ๑-๘ , นนทบุรี : สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๓๙.

สยาม ดําปรีดา. สังคมกับการปกครอง. พิมพ์ครั้งที่ ๒, ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ๒๕๔๙.

สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ. สำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ และทบวงมหาวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.

อเนก เหล่าธรรมทัศน์. “ประชาสังคมพัฒนาการและนัยยะแห่งอนาคต”.วารสารนิเวศวิทยา. (ฉบับที่ ๒๓, ๒๕๔๗):

Jame W. Fesler, Public Administration: Theory and Practice. New Jersey: prentice-Hall Inc, 1980.



*อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

[๑] พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), พุทธวิธีบริหาร, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙), หน้า ๒๒.

[๒] ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕ /๘/ ๙.

[๓] พระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ), การคณะสงฆ์และการศาสนา, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕), หน้า ๑๖.

[๔] กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, คู่มือการบริหารศึกษาคณะสงฆ์, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, ๒๕๓๘), หน้า ๓๒.

[๕] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, การบริหารราชการไทย หน่วยที่ ๑-๘ , (นนทบุรี : สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๓๙), หน้า ๕.

[๖] สยาม ดําปรีดา, สังคมกับการปกครอง, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ๒๕๔๙), หน้า ๒๗๓.

[๗] Jame W. Fesler, Public Administration: Theory and Practice, (New Jersey: prentice-Hall Inc, 1980), p. 2.

[๘] สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, สำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ และทบวงมหาวิทยาลัย, (๒๕๔๖), หน้า ๑๑๔.

[๙] อเนก เหล่าธรรมทัศน์, “ประชาสังคมพัฒนาการและนัยยะแห่งอนาคต”,วารสารนิเวศวิทยา, (ฉบับที่ ๒๓, ๒๕๔๗): ๓๔.

[๑๐] ขุ.ธ. (ไทย) ๑/๑๔๑.

[๑๑] วิ.จูฬ. (ไทย) ๗/ ๒ /๓๙๒.

[๑๒] ราชบัณฑิตสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, หน้า ๕๒ .

[๑๓] วิ. มหา. (ไทย) ๔/ ๓/๗๐-๗๒.

[๑๔] ขุ.ธ. (ไทย) ๒/๒๗-๑ .

[๑๕] ขุ.ธ. (ไทย) ๒/๑๑ -๑๑๙.

[๑๖] วิ.อ. (ไทย) ๑/๑๐-๑๔.

[๑๗] สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน, (กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐), หน้า ๙.

[๑๘] สํ. สฬ. (ไทย) ๑ /๕๓๗/๑๔๗.

[๑๙] ขุ.อ.(ไทย) ๒๐/๒๑

[๒๐] ขุ.อ. (ไทย) ๒๐/๒๑.

หมายเลขบันทึก: 617560เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2016 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2016 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท