เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (18) หุ่นไล่กา (ไพฑูรย์ ธัญญา)


เห็นกลิ่นอายความเป็น “อีสาน” เจือปนอยู่ในหลายๆ เรื่องอย่างน่าเอ็นดู ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้เกิดที่อีสาน แต่ก็ใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินอีสานมายาวนานจนแทบจะเรียกว่า “เบิ่งอีสานซัด (ชัด) เบิ่งอีสานซอดกว่าคนอีสาน” (บางคน) แล้วเสียอีก แถมยังมีเรื่องชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะ “อบต.” เข้ามาเกี่ยวโยง ยิ่งพลอยทำให้เรื่องสั้นหลายๆ เรื่องในเล่มนี้ทำหน้าที่ตอบโจทย์ความเป็นชะตาชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นจริง !

คืนที่ผ่านมา (วันที่ 27 ตุลาคม 2559) ผมตื่นมาในราวๆ ตีสามเศษ ทำยังไงก็นอนไม่หลับ เพราะนอนมาเต็มที่แล้วนั่นเอง

เป็นธรรมเนียมส่วนตัวเมื่อตื่นมาเช่นนี้ผมต้องหาอะไรทำ และส่วนใหญ่ก็หลีกไม่พ้นการอ่านหนังสือ ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นไปตามนั้น

ครั้งนี้ผมตัดสินใจหยิบหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “หุ่นไล่กา” ของ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงน้ำหมึกว่า “ไพฑูรย์ ธัญญา” มาอ่าน

ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพรักและเชื่อศรัทธาในหลายเรื่อง รวมถึงการเป็นแรงบันดาลใจต่อผมในหลายๆ เรื่องด้วยเช่นกัน ทั้งในมิติความเป็นครู เป็นผู้บังคับบัญชา และอื่นๆ ที่เกินกล่าวอ้าง





หุ่นไล่กา


หุ่นไล่กา เป็นรวมเรื่องสั้นที่จัดพิมพ์โดย “นาครสำนักพิมพ์”
พิมพ์ครั้งแรกเมื่อสิงหาคม 2557 ล่าสุดคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่13 ประจำปี 2559 ซึ่งปีนี้ไม่มีรางวัลชนะเลิศ

ในคำนำท่านยืนยันว่ายาวนานเป็นสิบปีแล้วที่ยังไม่รวมเรื่องสั้นออกมาเป็นเล่ม กระนั้นผมก็ติดตามอ่านหลายต่อหลายเรื่องผ่านวารสาร และนิตยสารมาเป็นระยะๆ

อย่างไรก็ดี ที่สุดของที่สุด ผมก็ชอบอ่านแบบเป็นรูปเป็นเล่มเสียมากกว่า จึงไม่แปลกประหลาดเลยที่ผมจะยังคงซื้อมาเก็บประดับไว้ในตู้หนังสือ เมื่อถึงวาระอันเหมาะเจาะจึงหยิบจับมาอ่าน


เอาตามตรงเลยนะ นานหลายปีเลยที่ผมไม่อ่านเรื่องสั้นเป็นเล่มๆ เพราะผมตามไม่ทัน อ่านแล้วปวดหัวที่จะถอดรหัส และอ่านแล้วบางทีก็หากลิ่นอาย "ไทย" ที่ชอบและที่อยากจะเจอ แต่ก็ไม่เจอ จนยอมที่จะตกหล่นและตกข่าวไปจากแวดวงเรื่องสั้นเลยก็ว่าได้





กลับมาอ่าน


กลับมาอ่านงานรวมเล่มของอาจารย์ฯ ครั้งนี้ ผมเห็นหลายสิ่งอย่างที่คุ้นเคย ทั้งภาษาที่กระชับสละสลวย เป็นภาษาเชิงกวี มีความเปรียบคมคาย รวมถึงการวิพากษ์สังคมที่ยังข้นเข้มเหมือนเก่าก่อน และการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ชวนคิดชวนติดตาม และไม่คุกคามโน้มนำผู้อ่านให้คล้อยเคลิ้มจนเกินงาม รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวสังคมชนบทท่ามยุคสมัยปัจจุบันและความเป็นคนชายขอบอย่างน่าสนใจเหมือนที่เราคุ้นเคยและประทับใจเสมอมา


หากแต่คราวนี้ผมยังเห็นอารมณ์ใหม่ของอาจารย์ฯ มากขึ้น โดยเฉพาะ “อารมณ์ขัน” ที่เด่นหราอยู่ในหลายๆ เรื่อง เห็นสำนวนใหม่ๆ ที่ล้ออยู่กับปัจจุบัน เห็นสำนวนจ๊าบๆ จี๊ดๆ ตลอดจนวาทกรรมหยิกหยอกที่เหน็บเจ็บอย่างเนียนหนัก เห็นต้นทุนจากสายวิชาชีพของท่านที่ได้ฝังตัวผูกโยงมาเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องสั้นอย่างน่ารักน่าสนใจ

และที่สำคัญคือเห็นกลิ่นอายความเป็น “อีสาน” เจือปนอยู่ในหลายๆ เรื่องอย่างน่าเอ็นดู ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้เกิดที่อีสาน แต่ก็ใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินอีสานมายาวนานจนแทบจะเรียกว่า “เบิ่งอีสานซัด (ชัด) เบิ่งอีสานซอดกว่าคนอีสาน” (บางคน) แล้วเสียอีก

แถมยังมีเรื่องชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะ “อบต.” เข้ามาเกี่ยวโยง จึงยิ่งต้องย้ำว่าเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องในเล่มนี้ได้ทำหน้าที่ตอบโจทย์ความเป็นชะตาชีวิตของผู้คนในสังคมรากหญ้าอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นจริง !

นั่นคืออำนาจวรรณกรรม อำนาจที่เราและเรายังหลงรัก ----





ผมชอบเรื่องนี้ (ทางผีเดิน)

ผมชอบเรื่องนี้นะครับ เรื่อง “ทางผีเดิน”

ไม่รู้สิครับ ชอบก็คือชอบ อ่านแล้วเห็นปรากฏการณ์สังคมปัจจุบันอย่างชัดเจน การเปลี่ยนผ่านของผู้คนในหมู่บ้านบนฐานของสังคมเก่าและสังคมใหม่ วิถีอันเป็นโลกใบเล็กของครอบครัวกับโลกในวิถีเด็กหนุ่มเด็กสาวในหมู่บ้านที่ซ้อนทับกันอยู่ หรือกระทั่งโลกแห่งความเชื่อเดิมกับวิถีใหม่อันเป็นทุนนิยมที่อ่านแล้วเห็นภาพแจ่มชัดและปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีอยู่จริง เกิดขึ้นจริง และเป็นโศกนาฏกรรมที่ปฏิเสธไม่ได้

  • ...ในวงสาโท ครั้งหนึ่งฉันเคยถามถึงเคล็ดลับในการหาปลา เขาบอกว่าไม่มีคาถาอาคมอะไรหรอก เพียงแต่ทุกครั้งที่ออกไปหาปลา เขาจะไหว้เจ้าที่ผีหนองเสียก่อน เขาเชื่ออย่างหนักว่า ทุกที่ทุกแห่งล้วนแต่มีผีอยู่รักษา ผีห้วย ผีกุด ผีหนองและผีปู่ตา

  • ... คำพาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ทางผีเดินไม่มีใครกล้าเดินผ่าน เพราะเชื่อว่านี่คือเส้นทางสัญจรของเหล่าผีในละแวกบ้าน ผีปู่ตา ผีป่า ผีหนองและผีทุ่งใช้ทางสายนี้เดินทางไปมาหาสู่กัน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “ทางผีเดิน” แต่หลวงพ่อในวัดบอกว่าเหตุที่เรียกทางผีเดินน่าจะมาจากการที่เป็นเส้นทางที่คนคนในหมู่บ้านใช้หามศพไปเผาและฝังไว้ที่ป่าช้ามากกว่า

  • ...ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทางผีเดินเกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลได้งบประมาณมาทำถนนภายในหมู่บ้าน ความเจริญได้เปลี่ยนโฉมหน้าของทางผีเดินอย่างสิ้นเชิง แม้แต่หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็ยังกล่าวว่าทางผีเดินเดี๋ยวนี้ไม่มีผีอีกแล้ว ผีมันกลัวรถแทรกเตอร์และรถราที่วิ่งไปมาบนถนนสายใหม่ ทางผีเดินจึงเหลือเพียงแต่ชื่อและเรื่องเล่าในความทรงจำ

...ทุกอย่างเป็นของเพิ่น เฮาต้องเซ่นไหว้ขอเพิ่นก่อน ถ้าเฮาปฏิบัติกับเพิ่นดีๆ เพิ่นก็จะดีกับเฮา...

เรื่องนี้ในตอนท้ายจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ถนนอันเป็นทางผีเดินในรูปลักษณ์ของถนนใหม่ที่เด็กแว้นใช้สัญจรและประลองบารมีก็พรากทั้งเด็กหนุ่มและเด็กสาวในหมู่บ้านไปอย่างน่าเจ็บปวดใจ

จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้บอกชัดว่าเด็กหนุ่มเด็กสาวในหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องพลัดหลงไปเสียผู้เสียคนในเมืองเหมือนอดีต แต่ทุกวันนี้ใครๆ หรือกระทั่งลูกหลานเราก็เสียผู้เสียคนในหมู่บ้านแล้วก็มาก นี่คือผลพวงและพลวัตการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่วัดความเจริญกันด้วยท้องถนน

หรือกระทั่งสาเหตุของการเสียผู้เสียคน และผิดผีก็เถอะ บัดนี้ไม่ใช่ความรักความลุ่มหลงต่อความรักอย่างเดียวดังอดีต หากแต่มีเรื่องอบายมุขมาเกี่ยวโยงด้วย






อีกเรื่องที่ผมชอบ
(บักหัวแดง)

“บักหัวแดง” เป็นอีกเรื่องที่ผมชอบ อ่านแล้วนึกถึงภาพเมื่อครั้งนั่งเรียนกับอาจารย์ฯ ในชั้นเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อน การบรรยายในชั้นเรียนเป็นยังไง ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็สื่อสารออกมาราวกับบันทึกเทปเสียงแล้วมาเปิดให้ฟังซ้ำใหม่ และเมื่ออ่านหรือฟังแล้วก็เชื่อมโยงมาถึงความเป็นปัจจุบันของวันนี้อย่างไม่ตกยุค

  • ...เมื่อสักสี่สิบปีมา สมัยที่สงครามอินโดจีนยังคุกรุ่น เวียดนามแบ่งออกเป็นสองประเทศ คือเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ กองทัพจีไอ.ของอเมริกาเดินสวนสนามกันให้พล่าน โคราช อุดร ขอนแก่น จนถึงอุบล ฐานทัพอเมริกาตั้งกระจายอยู่ตามห้าเมืองเหล่านี้ เครื่องบินบี 52 ทะยานข้ามน่านฟ้าไทยไปโรยระเบิดใส่พวกเวียดนามไม่ขาดสาย ไฮฟอง ฮานอย นาตรังถูกพวกจีไอถล่มจนแผ่นดินพรุนเป็นรางขนมครก เสร็จภารกิจทิ้งระเบิดทหารจีไอ บินกลับมาเสพสุขในแคมป์พักที่เมืองไทย ในเวลานั้นไนต์คลับและบาร์ฝรั่งผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดในหน้าฝน

    .... มันเป็นยุคที่สามล้อถูกหวย โสเภณีเริงร่า และธุรกิจเมียเช่าเติบโตขนานหนัก สาวแก่แม่หม้ายไปถึงผู้สาวส่ำน้อยทิ้งทุ่งนาออกมาเป็นเมียเช่าให้ทหารฝรั่งนิโกรระเบิดบอมบ์อยู่ครึกครื้น... สาวอีสานบ้านป่าหันมากินฮอทดอก หมูแฮมแทนส้มตำ ข้าวจี่ หนุ่มหมอแคนทิ้งแคนมาจับกีตาร์ เป่าแซกโซโฟน....

    ไม่รู้สิ สำหรับผมแล้วข้อความข้างต้นไม่ได้เกินจริงไปกว่าเอกสารในทางประวัติศาสตร์เลยสักนิด แตกต่างก็ตรงภาษาที่อ่านแล้วดูรื่นรมย์มากกว่าการอ่านแล้วหนักอึ้งในทางวิชาการ

ผมชอบคำบางคำที่นำมากล่าวซ้ำในความหมายเดียวกัน เช่น “โรยระบิดใส่พวกเวียดนาม” จากนั้นก็ใช้ตำว่า “ระเบิด” อีกครั้งในวาระถัดว่า คือ “ผู้สาวส่ำน้อยทิ้งทุ่งนาออกมาเป็นเมียเช่าให้ทหารฝรั่งนิโกรระเบิดบอมบ์อยู่ครึกครื้น” อ่านแล้วผมมีอารมณ์ขันและเจ็บข้นอยู่ไม่ใช่ย่อย

และทุกวันนี้ในพื้นที่ที่ถูกกล่าวอ้างถึงก็มี “บักหัวแดง” ในแบบลูกครึ่งก็เดินกรีดกรายทะลักล้นอยู่มาก ทั้งที่เกิดอยู่ที่นั่นและบินลัดฟ้ามาก็มาก

ส่วนตัวผมนะ - นี่คือเรื่องเล่าที่ว่าด้วย “เขยฝรั่ง” และ “เมียฝรั่ง” ที่อ่านแล้วก็ร่วมสมัยอยู่วันยังค่ำ เขียนได้คลาสิกไม่ตกยุคตกสมัย ยังดีนะครับในเรื่องนี้พูดถึง "บักหัวแดง" ที่กรีดกรายล้มลุกคลุกฝุ่นหมู่ในหมู่บ้าน โดยมิได้กล่าวถึงอีกมากมายที่กรีดกรายอยู่ในจอหนังจอแก้ว ฯลฯ

ครับ- อ่านจบ รู้สึกมีแรงจูงใจที่จะตามอ่านเรื่องราวประเด็นนี้เพิ่มเติมในนิตยสารหลายเล่มที่ผมเก็บไว้ในตู้หนังสือของตนเอง หรือกระทั่งการเบิ่งมองไปท้ายหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง แถมยังมีชะตากรรมใกล้เคียงกันกับตัวละครในเรื่อง






นี่ก็อีกเรื่องที่ชอบ
(หุ่นไล่กาอาระกัน)

หุ่นไล่กาอาระกัน คืออีกหนึ่งเรื่องสั้นที่ผมชื่นชอบ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “โรฮิงญา” กลุ่มคนชายขอบจากพม่าที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นในเมืองไทย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้กลายเป็นกระแสหลักที่ปรากฏอยู่ในสื่อของเมืองไทย หรือกระทั่งโด่งดังไกลไปในหลายๆ ประเทศ ยังผลให้เมืองไทยอันเป็นที่รักของเราๆ ท่านๆ ตกต้องชะตากรรมถูกวิพากษ์กับเรื่องนี้อย่างหน่วงหนัก


  • ...ลุงเชษฐาได้เห็นพวกคนตัวเหม็นกลุ่มใหญ่ที่พากันนั่งเรือข้ามทะเลมาลอบขึ้นฝั่งที่ชายทะเลจังหวัดสตูล พวกเขาถูกต้อนให้มารวมกันอย่างแออัดในสภาพร่างกายอ่อนล้า หิวโหย ผู้รายงานข่าวภาคสนามกล่าวว่า คนพวกนี้ถูกนายหน้าค้ามนุษย์พามาส่งตัวตามเมืองชายทะเล จากนั้นพวกเขาค่อยเลี่ยงหลบลัดเลาะเข้าไปตามแนวป่าและสวนยางพารา เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย กล้องจับภาพไปที่ใบหน้ากลวงเปล่าของชายวัยกลางคนที่กำลังนั่งยองๆ เปิบข้าวจากกล่องโฟมอย่างหิวโหย เขาไว้เคราแพะใต้คางและสวมหมวกกาปิเยาะห์แบบที่ชายมุสลิมทั่วไปสวมใส่กัน แต่ลึกลงไปในตากลวงโหวงนั้น มันฉายแววอ้างว้าง สิ้นหวัง หน้าตาของชายผู้นี้ทำให้ลุงเชษฐานึกถึงเจ้าคนในกอไผ่ขึ้นมาทันที

หรือกระทั่งตอนท้ายเรื่องที่เจ้าคนแปลกถิ่นแอบไปหลบซ่อนโดยแทรกเป็นส่วนหนึ่งในหุ่นไล่กาเพื่อให้รอดพ้นจากการไล่ล่าจับกุม ผมอ่านแล้วสะเทือนลึกในหัวใจตัวเองแบบกึ่งขบขัน หม่นเศร้าและอาทรคลุกเคล้าระคนกันไป เพราะราวกับกำลังถูกกดทับด้วยความจริงความเท็จ-ความลวง หรือารมณ์ผิดถูกบนฐานของศีลธรรมและกฏหมายที่อธิบายถึงความเป็นคน ความเป็นมนุษยชาติ


    • ลุงเชษฐารีบลุกขึ้นยืน เดินตรงไปที่หุ่นไล่กาตัวนั้น แกเข้าไปประชิด และแทบผงะอีกทีเพราะกลิ่นที่เริ่มคุ้นเคย ลุงเชษฐายกมือบีบจมูก เพ่งมองสำรวจหุ่นไล่กาอย่างจริงจัง ทันใดนั้นก็ต้องสะดุ้งวาบไปทั้งตัว เมื่อสายตาของแกไปประสานกับลูกตาดำวาวเหมือนลูกงูสิงห์ของใครบางคนที่แทรกเข้าไปมุดอยู่ในหุ่นฟางตัวนั้น

      "เคราะห์ดีนะแก" ลุงเชษฐาทักขึ้น ก่อนจะหัวเราะอย่างจะเป็นบ้า





ใช่ครับ-หนังสือเล่มนี้มีเรื่องสั้นทั้งหมด 9 เรื่อง ขอยืนยันว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะเรื่องราวจากอีสานหรอกนะครับ เรื่องจากปักษ์ใต้บ้านเกิดของอาจารย์ฯ ก็มี ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง "ที่นี่...ปัตตานี" ที่หยอกล้อกับผู้นำระดับประเทศได้อย่างเจ็บจี๊ด -

จะว่าไปแล้วยังมีอีกสองเรื่องที่ผมชื่นชอบ นั่นก็คือ มหานครล่มสลาย เรื่องนี้สะท้อนต้นสายปลายเหตุแห่งการล่มสลายของบ้านเมืองเพียงเพราะการโกงกินของผู้คนฯ ยิ่งอ่านผมยิ่งคิดถึงวรรณคดีในดวงใจ “ไตรภูมิพระร่วง” โลกแห่งอุมคติอันแสนสุขในวถีอันดีงามของมนุษย์ หรือกระทั่งตำนานและนิทานมุขปาฐะที่ว่าด้วย "เมืองบังบด" จนอดที่จะคิดทบทวนถึงการไปเยือน "เมืองลับแล" เมืองแห่งความสัตย์ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาทางเหนือของไทยที่ผมเพิ่งไปเยือนมาเมื่อไม่นาน

รวมถึงเรื่อง “บางใครในบางเรา” ที่อ่านแล้วราวกับไปนั่งอยู่ในเวทีการชุมนุมของนักคิด นักเขียน นักปฏิวัติ นักแสดงจากทั่วทั้งมุมโลก ซึ่งทำให้ได้หวนคิดกลับไปยังแก่นสารทฤษฎีจากสำนักต่างๆ ที่ยัง “ไม่ตาย”

หรือกระทั่งอดจิตนาการถึงชีวิตของอาจารย์ฯ ในช่วงฝังตัวทำงานวิชาการอยู่ต่างประเทศไม่ได้ เพราะคงทำงานหนักกับตำรับตำราและการท่องโลกใบใหม่อย่างท้าทาย ซึ่งบางทีเรื่องสั้นที่ว่าอาจเป็นมุมหนึ่ง หรือกลวิธีหนึ่งที่อาจารย์ฯ นำมาเยียวยาเสริมพลังให้กับตัวท่านเองฯ (เอาล่ะอย่างน้อยก็ได้รู้แหละว่า วิชาการ หรืองานบริหารก็ไม่ได้ฆ่านักเขียนดีๆ ไปจากบ้านเมืองเสียทั้งหมด)

ครับ- ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมชื่นชอบ แต่ก็คงไม่อาจหยั่งลึกคัดย่อมาให้ทุกท่านได้อ่านเสียทั้งหมด เพราะอยากให้ทุกท่านติดตามด้วยตนเอง

หลายต่อหลายเรื่องยังคงทำหน้าที่บันทึกและวิพากษ์สังคมได้อย่าน่าสนใจ ไม่เว้นกระทั่งนโยบายของรัฐ และนักการเมืองต่างๆ นานาๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของการล่มสลายทางสังคม

ลองติดตามดู หรือติดตามอ่านด้วยตนเอง นะครับ

ผมชอบ และเชื่อว่าหลายๆ ท่านจะชอบไม่แพ้กับที่ผมชอบ





เขียน : 28 ตุลาคม 2559
มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 617557เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2016 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2018 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เนื้อหา ดีดี น่าอ่านทั้งนั้นเลย นะคะ ขอบคุณค่ะ

ชลธิรา สัตยาวัฒนา

เพิ่งมีโอกาสได้อ่านบทวิจารณ์หนังสือรวมเรื่องสั้น "หุ่นไล่กา" ของ "นายแผ่นดิน" ผ่านทางเฟสบุคของ ไพฑูรย์ ธัญญา ขอแสดงความชื่นชมต่องานวิจารณ์เชิงแนะนำสิ่งดี ๆ เรื่องเด่น ๆ ที่น่าอ่าน ถ้าคนรุ่นใหม่อ่านหนังสือได้ลึกและเขียนบทวิจารณ์ได้ดีอย่าง "นายแผ่นดิน" ครูคนนี้คงจะเริ่มให้เวลากับการอ่านบทวิจารณ์หนังสือของคนรุ่นใหม่ (รุ่นศิษย์ของลูกศิษย์) มากขึ้น หลังจาก "หยุด" มานาน ด้วยเหตุผลเฉพาะตัว ดีใจมากที่มีนักอ่านนักวิจารณ์ฝีปากคมภาษาเนียนความคิดลึกซึ้งอย่าง "นายแผ่นดิน" ผู้เปิดเวทีนักอ่านให้เลียบเลาะตู้หนังสือของเขา

ชลธิรา สัตยาวัฒนา

สวัสดีครับ Dr. Ple

ผมเชียร์ให้อ่านเรื่องสั้นเล่มนี้เลยครับ บันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยไว้ในหลายประเด็น มีทั้ง จำนำข้าว สงครามสีเสื้อ สามชายแดนภาคใต้ การเปลี่ยนผ่านของแผนพัฒนาระดับท้องถิ่นในสังคมอีสาน ความล่มสลายของบ้านเมืองภายใตัระบบคิดการฉ้อฉนของนักการเมือง รวมถึงการกล่าวถึงข้อมูลเชิงวิชาการว่าด้วยนักคิด นักเขียน นักปฏิวัติ วรรณคดี วรรณกรรมหลากแนวคิด รวมถึงทฤษฎีต่างๆ

อ่านไม่เครียดครับ ----

สวัสดีครับ อ.ชลธิรา สัตยาวัฒนา

เป็นเกียรติอย่างยิ่งเลยคระบกับการมาทักทายใน Blog ของผม....

จะว่าไปแล้ว ผมมีความรู้และทักษะการวิเคราะห์เรื่องสั้นน้อยมาก ครับ

ผมอ่านในแบบเอาใจนำพาศรัทธานำทางครับ ชอบเพราะชอบไม่ได้ใช้มฤษฎีใดเทียบเคียง เพราะไม่ค่อยได้มีอยู่ในตัว

จริงๆ ชอบอีกหลายเรื่องเลยครับ ที่นี่...ปัตตานี่กับการหยอกหยิกท่านผู้นำและวิถีสื่อมวลชนอย่างเจ็บจี๊ด หรือกระทั่งการตายของชาวนาในวาระการจองจำ (จำนำข้าว) ความตายที่ไม่ตาย หากแต่พยายามถูกนำมาใช้ให้เกิดมรรคผลไม่รู็จบ แต่ผมชอบ "เจ้าเคนผีบ้า" มาก โผล่มาตอนต้นไม่กี่ช็อต แถมโผล่มาปิดท้ายแบบเก๋ๆ พร้อม "ผีแม่ม่าย" ทำให้ผมได้ฮาไปกับเรื่องนี้ --- ถ้าอีสานบ้านผมที่คุ้นชิน ผีแม่ม่ายมาพาตัวไป ต้องนอนหลับ "ไหลตาย" แต่นี่ไม่ใช่.....แต่ก็ดีครับ มีความสุขกับวรรณกรรมที่ยังบันทึกเรื่องราวอันเป็นยุคสมัยของสังคมได้อย่างน่าอ่าน ---


ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท