PLC เพื่อศิษย์ มิติใหม่



ผมเพิ่งเข้าใจคำที่ผมคิดขึ้นเอง “ครูเพื่อศิษย์” ในมิติใหม่ ในเช้าวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ ในเวทีเสวนาวิชาการ ครูแท้แพ้ไม่เป็น จัดโดย สสค.


รวมทั้งเข้าใจ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC) ในมิติใหม่ด้วย


ในเวทีดังกล่าวครูเรฟถามที่ประชุมว่า ใครสอนชั้นมัธยม มีคนยกมือ ครูเรฟชี้ไปยังครูท่านหนึ่ง ที่ยกมือ และถามว่า What do you teach? ได้รับคำตอบว่า English อีกท่านหนึ่งตอบว่า Thai Language อีกท่านหนึ่งตอบว่า Math สะท้อน “มายา” ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยและวงการศึกษาไทย


เพราะจริงๆ แล้ว ในระบบการศึกษาที่คุณภาพสูง ครูสอนศิษย์สอนคน ไม่ใช่สอนวิชา สอนแบบ ไม่สอน เพื่อให้เกิดพัฒนาการครบด้าน ทั้งด้าน จิตใจ ทักษะ และวิชาการ แต่มายาซึ่งเป็นมารร้ายแห่ง การศึกษาหลอกให้เราหลงไปสอนวิชา เวลานี้สังคมไทยทั้งสังคมหลงไปตามกระแสหลอกนี้


ผมก็โดนหลอกด้วย


มายาในใจทำให้ผมหลงคิดว่า PLC ที่ง่าย คือ PLC ในกลุ่มครูที่สอนวิชาเดียวกัน และบันทึกที่ผมเขียน เรื่อง PLC ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ก็ติดบ่วงมายานี้ทั้งหมด


บัดนี้ ผมเปลี่ยนใจ เป็นมองว่า PLC ที่ง่ายที่สุด และทรงพลังที่สุดคือ PLC ที่ข้ามวิชา โดยสมาชิกของ PLC มีเป้าหมายร่วมที่การพัฒนาศิษย์ เป็น PLC ครูเพื่อศิษย์ หรือ PLC เพื่อศิษย์ ไม่ใช่ PLC เพื่อการสอนวิชา


คำพูด และพฤติกรรมของครูไก่ วีระยุทธ เพชรประไพ ครูศิลปะ ครูรางวัลยิ่งคุณ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้า มหาจักรี มีส่วนสะกิดการสะท้อนคิดในบันทึกนี้ ที่คำเล่าของท่านในเวที ครูแท้แพ้ไม่เป็น ทำให้ผมเห็นชัด ว่าท่าน “สอนศิษย์ทั้งคน” ไม่ใช่แค่สอนวิชาศิลปะ โปรดอ่านเว็บไซต์ที่ลิ้งค์ไว้นะครับ ว่าท่านมีเป้าหมาย สอนศิษย์ทั้งคนจริงๆ อ่านแล้วผมขอยกย่องท่านเป็นครูเพื่อศิษย์ และเป็นหนึ่งใน คนดีวันละคน


หากจะให้คุณภาพการศึกษาไทยยกระดับขึ้น ระบบผลิตครู (หลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์) และระบบพัฒนาครูประจำการ ต้องเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน โดยเปลี่ยนจากการผลิตและพัฒนา “ครูเพื่อวิชา” มาเป็น “ครูเพื่อศิษย์”


นั่นคือ ครูต้องมี “ทักษะเชิงซ้อน” ที่ “สอนศิษย์” กับ “สอนวิชา” ไปในเวลาเดียวกัน “ ประเมินศิษย์” และ “ประเมินวิชา” ไปในเวลาเดียวกัน สร้างแรงบันดาลในในการเรียน โดยฝึกฝน ASK (A = Attitude, S = Skills, K = Knowledge) ไปในเวลาเดียวกัน นี่คือ “ทักษะบูรณาการ” ที่ครูต้องมี ต้องฝึก หรือเรียนรู้ ใน กระบวนการ PD – Professional Development ด้วยเครื่องมือ PLC


PLC ครูเพื่อศิษย์ คือชุมชนเรียนรู้ฝึกฝน “ทักษะบูรณาการ” เพื่อการ “สอนศิษย์” อย่างบูรณาการ ASK เข้าด้วยกัน

ครูที่ยังอยู่ในภพภูมิ “สอนวิชา” ไม่ใช่ “ครูเพื่อศิษย์” ไม่ใช่ “ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑” การศึกษาที่มุ่ง สอนวิชาแบบแยกส่วน ไม่สอนศิษย์อย่างบูรณาการ ไม่ใช่ “การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑”


ครูเรฟบอกว่า ไม่มีทางลัดในการฝึกฝนพัฒนาครูดี ต้องใช้เวลาในการทำงานและเรียนรู้แบบ กัดไม่ปล่อย ครูเรฟพัฒนาตัวเองโดยไม่มีเพื่อนร่วมทางที่เป็นครู ไม่มีเพื่อนร่วมทางที่อยู่ในระบบการศึกษา มีแต่ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า และเพื่อนร่วมทางนอกระบบการศึกษาเพียบ รวมทั้งผู้ปกครอง และผู้เห็นความสำคัญของวิธีจัดการเรียนรู้ที่ถูกต้องในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทย



แต่ครูไทยสามารถเลือกเส้นทางที่ง่ายกว่าครูเรฟ โดยรวมตัวกันเป็น PLC ครูเพื่อศิษย์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจากประสบการณ์ในห้องเรียนของตน



วิจารณ์ พานิช

๒๒ กันยายน ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 617413เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2016 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2016 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท