หนึ่งปีกับชีวิตเร่ร่อนพเนจรในเกาหลีใต้


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ....

“ป้อม” (นามสมมติ)

อายุ 35 ปี

แรงงานชาย


ชีวิตที่ราบเรียบและราบรื่นของหนุ่มคนหนึ่ง ที่เรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนใกล้บ้าน และได้เรียนต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนประจำอำเภอ ด้วยที่บ้านมีกิจการประกอบครอบครัว คือ ขายผ้าม่าน รับติดผ้าม่าน และขายผ้ากิโล มีทั้งขายหน้าบ้าน และออกเร่ขายไปเรื่อย ๆ ตามตัวอำเภอ ตามต่างจังหวัด หรือแม้กระทั่งภาคเหนือจรดภาคใต้ “ป้อม” ก็ได้ไปมาทั่วแล้ว

การเดินทางออกไปขายผ้า จะไปแบบครอบครัว มีแม่ พี่ชาย และตนเองไปกัน หรือสลับกันไป แต่ต้องมีแม่ไปด้วยเสมอ ๆ ถึงแม้จะมีคนอื่นสลับไปก็ตาม เพราะผู้หญิงรู้เรื่องผ้ามากที่สุด และสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ซื้อได้ดีที่สุดเช่นกัน

การขายผ้าสามารถสร้างเม็ดเงินให้ครอบครัวมากมาย บางวิกเกือบครึ่งเดือนที่ออกขายผ้าตามตลาดนัดที่ต่าง ๆ สามารถได้เงินเป็นกอบเป็นกำเรือนแสน แต่อย่างไรก็ตามรายจ่ายต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ความรู้สึกของป้อมก็คิดว่า อาชีพขายผ้ายังเป็นอาชีพที่ทำเงินให้กับครอบครัว

ครอบครัวของป้อมเป็นครอบครัวแรก ๆ ในหมู่บ้านที่ขายผ้า เมื่อครอบครัวอื่นเห็นครอบครัวตนเองขายผ้าได้ดี ก็มีการขายตามไปด้วย “คนบ้านเราถ้าใครทำขาย หรือปลูกอะไรแล้วดี ก็ตาม ๆ กันไปจนมันล้น” ทำให้ตอนป้อมอายุ 26 ปี มีร้านขายผ้าเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ดเกือบ 20 กว่าร้าน กิจการของบ้านจึงซบเซาลงบ้าง

ป้อมจึงขออนุญาตพ่อกับแม่ นำเงินส่วนตนเองและพี่ชาย มาทำกิจการวิ่งรถ รถแม็คโคร (ใช้ขุดดิน) และรถดั้ม (ใช้เทดิน) เมื่อป้อมคิดไปแล้วตนเองก็คงไม่ต่างกับคนในหมู่บ้าน ที่ใครทำอะไรดีก็มีคนทำตามเสมอ ทั้งวันของตนเองจึงหมดไปพร้อมกับอาชีพใหม่ คือ ขุดดินและส่งดิน ถ้าใกล้ราคา 150 บาทต่อรถ ถ้าไกลราคา 200 บาทต่อรถ ช่วงระยะนี้เองตนเองก็ได้แต่งงานกับหญิงสาวในหมู่บ้าน และได้ทำไร่อ้อยไปด้วย ป้อมมีความรู้สึกว่า ครอบครัวตนเองมีความสุขและราบรื่นดี มีลูกชาย 1 หนึ่ง อายุ 10 ปี

จนกระทั่งปี 2557 ป้อมเห็นทางการกวดขันเรื่องการขุดดิน และมีระเบียบขั้นตอนมากขึ้น แตกต่างกาทำแรก ๆ ที่ขุดดินง่าย ๆ ทำให้ตนเองรู้สึกเบื่อ จนเลิกกิจการ ซึ่งตอนนี้ป้อมอายุได้ 35 ปี ช่วงนี้จึงเป็นช่วงว่างงานที่เป็นทางการ มีเพียงไปไร่ไปนา ที่เป็นงานหลักของภรรยา

ในช่วงเวลานั้นเอง เพื่อน ๆ ในหมู่บ้านก็เริ่มไปเกาหลีใต้มากขึ้นมากขึ้น ทำให้ป้อมสนใจและอยากลองไปใช้ชีวิตแรงงานต่างแดนบ้าง ครอบครัวก็ไม่ว่าอะไร เพราะญาติ ๆ ก็ไปกันมากมายหลายคน การไปทำงานของป้อมไปแบบลักลอบเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ โดยมีหน้าหน้า มาหาถึงบ้าน โดยตกลงค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเครื่องบิน ค่านายหน้าเมืองไทย และค่านายหน้าที่เกาหลีอีก รวมแล้ว 50,000 กว่าบาท ซึ่งตนเองไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน จึงไม่ได้กู้หนี้ยืมสินไปทำงานครั้งนี้

การเดินทางไปเกาหลีใต้ช่างแสนง่ายดาย ตนเองและคนอื่นทั้งในและนอกหมู่บ้าน รวม 6 คน ถึงสนามบินอินชอน ตอนนั้น โรคเมอร์ส (MERS) กำลังระบาด มีป้ายประชาสัมพันธ์มากมาย แต่ตนเองไม่ได้รู้สึกหวาดกลัว เพราะคิดว่า ที่นี้เขาน่าจะดูแลและจัดการโรคได้ดี และตนเองมาถึงแล้วจะให้กลับบ้านไปได้อย่างไร?

ไม่นานก็มีคนเกาหลีแต่สามารถพูดภาษาไทยได้มารับ ป้อมนั่งรถยนต์กับเพื่อน ๆ นานประมาณสองชั่วโมง ขึ้นภูเขาไม่ชัน และได้ทำงานเลยวันแรกที่มาถึง แทบไม่มีเวลาตั้งตัวเลย งานแรกของป้อม คือ การปลูกและการเก็บผักแป้น (กุยช่าย) เกาหลี ที่คนที่นี้ นำมาประกอบอาชีพและทำกิมจิ

การทำงานตื่นแต่เช้าและเลิกงานค่ำ จนมองไม่เห็นอะไรแล้ว ไร่ผักแป้นสุดลูกหูลูกตา มีแรงงานประมาณ 10 คน หญิง-ชาย สัดส่วนเท่ากัน เป็นบ้านตึกสองชั้น ตอนแรกป้อมนึกว่า เกาหลีจะเหมือนในหนังซีรีย์ ที่ดูมา แต่ไม่ใช่เลย ที่นี้ยังใช้ส้วมหลุม และแรงงานต้องขับถ่าย กว่าจะปรับตัวกับส้วมหลุมได้ และยังต้องเอามูลถ่ายนั้นมาเป็นปุ๋ยใส่ผักอีก กินข้าวไม่ลงหลายวัน เงินเดือนออกทุก 15 วัน ผู้ชายได้ 1,100,000 วอน ผู้หญิง 1,000,000 วอน เทียบเป็นเงินได้ประมาณ 30,000 บาท รวมทั้งเดือน 60,000 บาท ไม่น้อยเลย แต่พอมาเดือนที่ 3 นายจ้างบอกว่า เลิกจ้าง จะเลิกทำผักแป้น ป้อมและเพื่อน ๆ รู้สึกถูกลอยแพ บางคนได้กลับมาเมืองไทย ทั้งที่ใช้เงินต้นเงินดอกที่ได้มาไม่หมด แต่ป้อมโชคดีมีเพื่อนในหมู่บ้านว่า ที่ทำงานตนเอง นายจ้างต้องการแรงงานพอดี

งานที่สองของป้อม คือ ทำโรงงานผลิตเม็ดสารพลาสติก เป็นโรงงานครอบครัวเล็ก ๆ มีแรงงานประมาณ 10 คน เช่นกัน นอนกันในตู้คอนเทนเนอร์เริ่มทำงานต่างกัน ผู้หญิงทำงาน 2 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม ผู้ชายก็มารับช่วงต่อ จนถึง 2 โมงเช้า ทำงานทุกวัน ได้หยุดเพียงวันอาทิตย์ แต่ก็ไม่ได้ไปไหน เพราะกลัวตำรวจจับส่งกลับเมืองไทย ค่าจ้างได้ ผู้ชายได้ 1,300,000 วอน ผู้หญิง 1,100,000 วอน ทำงานพลาสติกจะไม่สบายเหมือนเก็บผักแป้น เพราะควันของพลาสติกเหม็นมาก มีทั้งเหม็นไหม้และเหม็นสารเคมี และงานที่สองของป้อมน่าจะราบรื่น แต่พอจะครบเดือนที่ 3 นายจ้างขอให้เลิกงานอีกแล้ว

ทำให้ป้อมเข้าใจสภาพการทำงานที่นี้ จากการเก็บข้อมูลกับเพื่อน ๆ “ประมาณว่า นายจ้างเขาคงอยากได้แรงงานใหม่ เพราะจะได้รับค่านายหน้าถ้ามีแรงงานมาทำงานใหม่ เขาจึงโละคนเก่าออกไปเรื่อย ๆ เพราะคนเก่าน่าจะปรับตัว หรือมีเพื่อน สามารถหาแหล่งที่ทำงานใหม่ได้ หรือถ้างั้นก็เบื่อเอง หรือถ้างั้นก็เรียกตำรวจมาจับพวกเรา ส่งกลับเมืองไทย” ป้อมมีเหตุผลสารพัด แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ สำหรับเรื่องเงิน จะมีคนไทยในเมืองนั้น ที่เขาเปิดร้านอาหาร และได้สามีคนเกาหลี รับนำเงินไปโอนเข้าบัญชีในเมืองไทยให้ เขาคิดหมื่นละ 500 บาท มีคนไทยไปฝากกันมากมาย ป้อมก็กลัวถูกหลอกเช่นกัน แต่ทำอย่างไรได้ ไม่อยากเก็บเงินไว้กับตัวเอง

เมื่อป้อมเข้าใจการทำงานของที่นี้ ทำให้เมื่อวันไม่ทำงาน จะเดินแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไปขอทำงานตามครอบครัวเกาหลี ถึงพูดภาษาเกาหลีไม่ได้ แต่ก็มีคนไทยที่เป็นแรงงานในที่นั้นตลอด นอกจากแรงงานไทยแล้ว มีชาติอื่นที่นิยมไปทำงาน เช่น รัสเซีย เนปาล เวียดนาม งานที่สามของป้อม คือ โรงงานเล็ก ๆ ของครอบครัวเช่นกัน งานทอด้ายโบราณ มีแรงงาน 7 คน เฉพาะแรงงานชาย อาศัยในครอบครัวนายจ้างเลย จึงทำงานแต่เช้า และเลิกมืด ๆ ทำงานทุกวัน เป็นงานที่หนักมาก เพราะต้องใช้แบกฟืน มาใส่เตาหม้อต้ม ควันไฟมากมายทำให้หายใจไม่สะดวก เพื่อนแรงงงานคนหนึ่ง มือถูกน้ำร้อนลวก ไม่ได้ทำงานเกือบเดือน ที่นี้ป้อมได้เงินเดือน 1,300,000 วอน ผ่านไปอีก 3 เดือน เหตุการณ์เป็นเช่นเดิม ป้อมจึงได้เปลี่ยนงานอีกครั้ง

งานที่สี่ของป้อม คือ งานโรงงานอะไหล่รถยนต์ เพื่อนอีกเช่นกันที่แนะนำงานใหม่ให้ เป็นโรงงานครอบครัวที่ขนาดใหญ่ขึ้น แรงงาน 20 กว่าคน เป็นคนไทยมากกว่าชาติอื่น ๆ ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็น หลังจากนั้นจะเป็นโอที เงินเดือนและโอทีของป้อมได้ 1,900,000 ต่อเดือน ค่าที่พักและค่าอาหารไม่ได้จ่ายเงินเลย เช่นเดียวกับสามงานที่ป้อมผ่านมา ป้อมได้ทำอะไหล่ทั้งหมด เช่น ครัชเกียร์ เบรก คัสซีรถ เป็นต้น เพราะตนเองมีความรู้เรื่องรถบ้าง จากการทำรถขุดดิน แต่ที่ทำให้ป้อมเจ็บมือจนกระทั่งทุกวันนี้ คือ การใช้เครื่องเจียรไว้ใช้ตัดเหล็กในการทำอะไหล่ เพราะตอนทำมือจะบวมมาก จนได้ไปรักษาหมอที่นั้น จ่ายเงินเอง 15,000 วอน นอกจากเรื่องมือบวมแล้ว ก็มีเรื่องฝุ่นที่เป็นปัญหาสำหรับป้อม แต่ทุกอย่างราบรื่นด้วยดี เพราะป้อมสามารถปรับตัวและทำใจได้

เวลาผ่านมาอีก 3 เดือน เหตุการณ์การเปลี่ยนงานก็เป็นเหมือนภาพถ่ายที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ถ้านับเวลารวมทั้งหมดก็ครบ 1 ปี สำหรับชีวิตแรงงานร่อนเร่พเนจรของป้อม ทำให้รู้สึกอ่อนล้า อิ่มตัว และคิดถึงบ้านมาก ป้อมไม่อยากโดนตำรวจจับเช่นคนอื่นอีก จึงปรึกษานายหน้าขอกลับเมืองไทย ซึ่งป้อมรู้สึกง่ายดายกับการผ่านเข้า-ออก จากสนามบินอินชอน ป้อมเล่าว่า

“ที่เกาหลีใต้เป็นประสบการณ์หนึ่งของชีวิตที่มีสีสัน และแปลกตา ตื่นเต้น เต็มไปด้วยการปรับตัว หลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้อง ถ้าคนอื่นอยากมา อยากให้ผ่านกรมแรงงานให้ถูกกฎหมาย เพราะความรู้สึกหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตอนแรก ๆ ก็ตื่นเต้น แต่นาน ๆ ไป มันเหมือนชีวิตไม่มั่นคง หวาดกลัว ชีวิตทำงานที่เกาหลีเป็นการทำงานจริง ๆ ไม่เห็นดินเห็นตะวัน มันไม่เหมือนอยู่บ้าน ที่มีความสุข ไปไหนมาไหนสะดวกสบาย ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ พอแล้วครับ ผมจะไม่ดิ้นรนทำงานที่ห่างจากบ้านอีกแล้ว”

*********************

คำสำคัญ (Tags): #แรงงาน#ทิมดาบ
หมายเลขบันทึก: 617164เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท