​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๕ : การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา


ในทางวิทยาศาสตร์เราคุ้นชินกับการ "แก้สมการ" คือมี input ขาเข้ามาอย่างหนึ่ง ผ่านกระบวนการไปๆมาๆ คำตอบหรือผลลัพธ์ก็จะกระเด้งออกมาอีกฝั่งหนึ่ง กี่ครั้งๆก็จะได้คำตอบเดิมตราบใดที่ input เหมือนเดิม เวลาเรานำหลักการนี้มาใช้กับชีวิต เราก็ติดนิสัยสร้าง rules สร้างกรอบ สร้างกฎขึ้นมาก่อน เวลาแก้ปัญหาก็โยน input ใส่ลงไป จากนั้น rules ว่ายังไง กรอบว่าอย่างไร กฎว่าทางไหน คำตอบก็จะออกมาได้ทันที เหมือนเดิม no deviation ไม่มีบิดเบี้ยวเลี้ยวไปเลี้ยวมา

สังคมศาสตร์เป็นอีกสาขาหนึ่งของศาสตร์ ที่แตกต่างกับวิทยาศาสตร์ (ข้างต้น) มากที่สุดคือเราแทบจะไม่สามารถควบคุม input ได้เหมือนกันทุกครั้งเป๊ะๆ ไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมหรือกระบวนการดำเนินการได้เหมือนกันทุกครั้งเป๊ะๆ ไม่สามารถควบคุมการรับรู้ผลลัพธ์ว่าออกมาดี/ไม่ดีเสมอไปได้เป๊ะๆ เพราะสังคมประกอบด้วย "สิ่งมีชีวิต" ที่เรื่องราวต่างๆนั้นกระทบโดยสิ่งแวดล้อมภายใน และสิ่งแวดล้อมภายนอกอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

การศึกษาควรจะ promote ส่งเสริมวิธีคิดทั้งสองแบบให้แก่นักศึกษา เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในต่างกรรม ต่างวาระ เพราะแต่ละวิธีถ้านำไปใช้กับบริบทที่เหมาะกับอีกวิธีหนึ่ง อาจจะไม่สำเร็จ หรือแม้แต่อาจจะเกิดผลเสียมากมายมหาศาลได้

วิชาแพทย์ ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ เป็น social sciences เพราะมิติของคุณภาพชีวิตเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ และก็เป็น physical sciences เพราะมิติของการทำงานของชีววิทยา สารเคมีต่างๆในตัวเรา ก็เป็นปัญหาแบบ "สมการ" แพทย์จะต้อง exercise การแก้ปัญหาได้ทั้งสองวิธี

ยกตัวอย่าง

แพทย์สนทนากับผู้ป่วยและญาติเรื่องการวางแผนการรักษา (advanced care plan) แพทย์ทราบการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยว่าเป็นโรคมะเร็ง ระยะไหน และกำลังลุกลามอยู่ที่ระดับไหน กระจายไปที่ไหนบ้าง แพทย์จะใช้วิธี "การแพทย์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine)" ตั้งสมการ โดยพยาธิต่างๆนั้นเป็นตัวตั้ง อธิบายว่าโรคดำเนินอย่างไร จะไปทางไหนบ้าง ถ้าไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น โดยที่ในแต่ละระยะนั้นเรามีทางเลือกจะรักษาอย่างไรบ้าง การรักษาทุกชนิดไม่ได้มีประโยชน์ร้อยเปอร์เซนต์เท่านั้น ส่วนใหญ่จะมีโทษด้วย หรือการตอบสนองที่ไม่เท่ากัน ความมั่นใจของหมอว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะลดลงไปตามความซับซ้อนของปัจจัยต่างๆ

ข้อมูลช่วงนี้หมออธิบายเหมือนๆกัน กับคนไข้เกือบทุกคน แต่ผลลัพธ์หรือการตัดสินใจนั้น ยังขึ้นกับคนไข้ด้วย

เพราะคนไข้เป็นคนเผชิญกับปัญหาโดยตรง ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการรักษา ผู้ป่วยก็รับได้บ้าง รับไม่ได้บ้าง ปัญหาหลายๆอย่างที่กระทบกับผู้ดูแล ที่ผู้ดูแลรับได้บ้าง รับไม่ได้บ้าง ยังแถมมีปัญหาเรื่องเศรษฐานะ เรื่องสังคม หน้าที่การงาน ระบบสุขภาพ การเบิกจ่าย ค่าประกัน ฯลฯ

จะจัดการได้ต้องเอาทั้งหมดมารวมกันเป็นเนื้อเดียว

มีวิธีเดียวคือ "การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา"

การมีส่วนร่วมไม่ได้เน้นที่ข้อมูลเพิ่มขึ้นเท่านั้น (จากทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง) แต่โดย "กระบวนการมีส่วนร่วม" ก็มีนัยยะสำคัญอย่างมาก ทุกๆเรื่องที่สุดท้ายตกลงออกมา เราได้อยู่ในกระบวนการนั้นๆ เรามีความเป็น "เจ้าของ และเจ้าภาพ" ในการตัดสินใจนั้นด้วย ไม่ได้ถูกสั่งให้ทำ ไม่ได้ถูกบีบบังคับให้ทำ แต่เราร่วมพิจารณาแล้วว่าอะไรดี/ไม่ดีแค่ไหน อย่างไร คนอื่นคิดอย่างไร เราคิดอย่างไร เราถูกฟัง และคนอื่นๆทุกคนก็ถูกฟัง เราได้พูด คนอื่นๆทุกคนก็ได้พูด กระบวนการ "มีส่วนร่วม" ทำให้เกิดการ sharing idea, feeling, goals และตัวตนของเราอย่างเต็มที่

ปัญหาอีกประการนอกเหนือจากการ "มีส่วนร่วม" แล้วก็คือ การมีส่วนร่วมโดย "ทุกคนที่เกี่ยวข้อง" เพราะหากมีใครตกหล่นหายไป คนๆนั้นจะทำตามคำตัดสินโดยไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้พูด และไม่ได้ถูกฟัง ความไม่พึงพอใจก็ยังคงมีอยู่ (ถึงแม้ว่าบางครั้งคำตัดสินใจที่ออกมาก็เห็นด้วย แต่ก็ยังมีความไม่พึงพอใจที่เราไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้พูด และไม่ได้ถูกฟัง)

การแก้ปัญหาโดยการอ่านกฎ อ่าน rules อ่านระเบียบข้อบังคับให้ฟังนั้น ไม่ได้แปลว่าเกิดการมีส่วนร่วมแล้ว ถ้าจะทำแค่นั้น ก็ไม่ต้องนัดมารวมกันก็ได้ ออกเป็น memo หรือยื่น notice ให้ก็พอ แต่ปัญหาจะไม่ได้ถูกแก้อย่างแท้จริง เป็นการแก้ปัญหาแค่เฉพาะหน้า ที่ได้มีการหว่านเมล็ดความไม่พึงพอใจลงไปก่อนอีกด้วย

ทุกวันนี้ทั้งๆที่เวลาไม่มาก คนไข้ก็เยอะ แต่ทั้งนี้แหละทั้งนั้น เราไม่ควรจะละเลยวิธีการ "มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา" กับคนไข้และญาติไป เพราะสิ่งที่จะขาดไปคือ relationship (ความสัมพันธ์) อันเป็นพื้นฐานเสาเข็มเสาหลักของการเกิดความไว้วางใจ (trust) ไม่ต้องไปพูดถึงหากเราแบ่งค่าย แบ่งฝั่งเป็นตรงกันข้ามว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะแก้ปัญหาได้ไหม

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓ นาที
วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 616450เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท