“ดื่ม หรือ ดูดควบดวด” แบบไหนเข้าถึงอารมณ์มากกว่ากัน


เมื่อวัยหนุ่มสาว การดูดควบดวดให้หมดแก้วอย่างรวดเร็วหิวกระหาย อาจคือเป้าหมายที่สำคัญยิ่งยอด หากเมื่อวัยเคลื่อนคล้อย การละเลียดดื่มให้หมดแก้วอย่างเนิบนาบ กลับคือเป้าหมายที่สำคัญยิ่งยวด

ล้อมวงดื่ม ดูด ดวด เรือนริมตลิ่ง บางปะหัน อยุธยา (ขอบคุณเจ้าของภาพน้องเซย์)

ในแวดวงการร่ำสุรา จากดีกรีละอ่อนต่อโลกไปถึงดีกรีแก่กร้านต่อชีวิต จากน้ำหมักส่าพื้นบ้าน น้ำตาลเมา กระแช่ อุ สาโท เหล้าป่าไร้สี ไปจนถึงโรงส่าเบียร์ โรงกลั่นไวน์ และโรงต้มเหล้าชั้นฟุ่มเฟือย หากถอดทิ้งราคาค่างวดออกไปเสีย ล้วนแข่งกันเสกสรรระดับส่าเมา เชื้อเชิญผู้เสพให้ปั้นแต่งอารมณ์เคลิบเคลิ้ม ล่องลอยไปตามกระแสแห่งการปลดปล่อยอย่างสนุกสนานสุดสายทาง

และไม่ว่าใครถ้าเคยลิ้มลองรสชาติของน้ำโลกีย์ ต้องเคยไต่ระดับความเมามันจนถึงขั้นไร้สติป้อแป้ลงข้างทาง หมดความเป็นผู้คนไปชั่วขณะกันมาทั้งนั้น ข้อนี้เอาประสบการณ์ส่วนตัวเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ

คำที่ใช้สำหรับการเสพน้ำเมาของพวกไทยและอาจรวมถึงพวกไท-ไต ซึ่งใช้กันบ่อยเป็นปกติ เช่น จิบ, ซด, ดื่ม, ดูด และดวด โดยไม่ขอรวมคำว่า กิน และ แดก เข้าไว้ในบัญชี เพราะเห็นว่าเหมาะกับการขบเคี้ยวของแข็งมากกว่าการดื่มของเหลว พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายไว้ดังนี้

“จิบ1 ก. ลิ้ม, ดื่มทีละนิด.

จิบ2 น. เครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ใช้เสาหรือไม้ลำปักทางซ้ายหรือทางขวาเรียงกันเป็นลำดับ แล้วเอาเฝือกขนาบกับเสาทั้ง 2 ข้างอย่างเดียวกับกะบัง แต่ละหว่างกลางเอาอวนลงกางกั้นให้ปลาเข้าถุงอวน จับเมื่อเวลาน้ำไหลอ่อนๆ .

จิบ3 (กลอน) น. นกกระจิบ.

ซด ก. อาการที่กินน้ำร้อน น้ำชา หรือน้ำแกงทีละน้อยๆ มักมีเสียงดังซู๊ด.

ดื่ม ก. กินของเหลวเช่นน้ำ. ดื่มด่ำ ว. ซาบซึ้ง.

ดูด ก. สูบด้วยปาก เช่น ดูดนม, สูบด้วยกำลัง เช่น น้ำดูด ไฟฟ้าดูด.

ดวด1 น. ชื่อการเล่นชนิดหนึ่ง เดินแต้มตามเบี้ยที่ทอดได้ไปตามตาตาราง. (ปาก) ก. ดื่มทีเดียวหมด (มักใช้แก่เหล้า). ว. เดี่ยว, หนึ่ง; (ปาก) ทีเดียว.

ดวด2 ว. สูง.”

ในความรู้สึกไม่ว่าจะเป็นอาการจิบ, ซด, ดื่ม, ดูด และดวด ต่างแสดงถึงการสูบสูดของเหลวจากภายนอกผ่านเข้าไปในลำปากผสมรวมกับอารมณ์อื่นๆ ด้วยกันทั้งสิ้น และที่อยู่ในความสนใจของผู้เขียนคือคำว่า ดื่ม, ดูด และดวด

โดยคำว่า ดื่ม เป็นคำกลางกว้างๆ ของการสูบดึงของเหลวผ่านปากเป็นระยะ เช่น ดื่มเบียร์ ดื่มไวน์ ดื่มเหล้า ไปเรื่อยๆ ตามบทบาทหนักเบาของวงสนทนาและความเร้าใจของเนื้อร้องทำนองเพลงบนเวที ในขณะที่ ดูด และ ดวด เป็นคำที่ความหมายแคบและไปด้วยกัน ต้องใช้กำลังในการสูบดึงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าปกติ เช่น ดูดเหล้าหมักจากไหอย่างอุ หรือสาโท หลายครั้งหมายถึงการทำให้หมดไปอย่างรวดเร็ว เช่น กระดกดวดเหล้าให้หมดแก้ว หมดขวด

คำว่า ดื่ม, ดูด และดวด มีลำดับความเป็นมาจากไหนยังไม่อาจทราบ ในคำศัพท์ไท-ไตพื้นฐานของอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ 2552 ก็ไม่ได้สืบค้นอ้างอิงไว้ แต่ที่น่าสนใจเป็นบทความหนึ่งของวารสาร “ภาษาและภาษาศาสตร์” ที่ออกโดยภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 มกราคม – มิถุนายน 2553 ชื่อว่า Sino-Tai Words for “to Eat” เขียนโดย Yongxian Luo จาก University of Melbourne ออสเตรเลีย ได้พยายามสืบเทียบหาความสัมพันธ์ระหว่างคำเดิมจีนและคำไท-ไต ผ่านศัพท์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการกินการดื่มทั้งหลายเป็นจำนวนหลายสิบคำ บันทึกเป็นบทคัดย่อไว้ดังนี้

“This paper examines Sino-Tai lexical correspondences in the semantic field of 'to eat'. Several dozen correspondence sets are established, including concepts like 'eating', 'drinking', 'biting', 'chewing', among others. Related concepts involving food preparation, food processing and food vessels are also investigated. Wider connections are sought where appropriate. The findings have implications for the debate on the genetic affiliation of Tai within Sino-Tibetan.”

ข้อสำคัญเป็นประโยคปิดท้ายที่ขอแปลเองว่า “ผลการสืบค้นบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการถกเถียงเรื่องความเกี่ยวข้องทางสายพันธุ์ของภาษาไท-ไตภายในตระกูลภาษาชิโน-ทิเบตั้น”

ซึ่งปรากฏคำว่า ดื่ม ของพวกไทยในคำสอบที่ 13 drink, eat โดยคำสืบสร้างของ Old Chinese ว่า dâmh และคำสืบสร้างของ Early Middle Chinese ว่า dam’ เทียบได้ใกล้เคียงกับพวกไท-ไต เช่น ไท Dehong เรียก dɯmB1 พวก Yay เรียก dɯnC2 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า *ʔdïïm(?) (Li, 2520)

ในขณะที่คำว่า ดูดควบดวด ปรากฏความหมายในคำสอบที่ 22 sip, suck (GSR295c ภาษาจีนหมายถึง to gulp) และคำสอบที่ 23 drink (GSR295i ภาษาจีนหมายถึง to drink) โดยคำสืบสร้างของ Old Chinese ว่า trwjət และ Early Middle Chinese ว่า tɕhwiat เทียบละม้ายกับพวกไท-ไต เช่น พวกไท Dehong ว่า lutD1 พวกจ้วง Lungming ว่า nɤtD1 พวก Yay เรียก dɯtD1 และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ได้ว่า *ʔdoutD1

นอกจากนั้น Yongxian Luo ยังได้อ้างอิง Gongwan Xing ผู้เขียน A Handbook of Comparative Sino-Tai 2542 ซึ่งได้เคยเสนอไว้ว่า คำสอบเทียบที่ 22 และ 23 นี้เป็นศัพท์ Sino-Tai ร่วมเชื้อร่วมรากกันมา

อย่างไรก็ตามในบทสรุป เนื้อความส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า

“Sino-Tai words for ‘to eat’ supply compelling evidence for a close historical relationship between Chinese and Tai. Although a definitive answer to the issue is beyond the scope of the present paper regarding the nature of historical relationships between the two groups and their higher genetic affiliation, it has provided fresh insight into the debate. The data can be interpreted in different ways. Either they can be regarded as genetic, or as loan contact. However, it is sobering to realize that at this stage we are far from being able to sort out loans from cognate words. There is still a lot to learn about the the complexities of the linguistic situation in Asia and Southeast Asia.”

ข้อความโดดเด่นอยู่ตรงท่อนที่ว่า “คำศัพท์เรื่องการกินการดื่มของพวก Sino-Tai เป็นหลักฐานชั้นดีที่สนับสนุนความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์ระหว่างจีนและไท-ไต” และต่อด้วยท่อนที่ว่า “อาจเป็นได้ทั้งความสัมพันธ์เชิงเชื้อสาย หรือความสัมพันธ์เชิงการหยิบยืมผ่านการติดต่อ”

ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นอารมณ์อยากสืบค้นของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับคำว่า ดูดควบดวด เพราะคำทั้งสองกลับแสดงข้อบ่งชี้ให้ตีความได้ว่า มีความเกี่ยวโยงกับคำดั้งเดิมของพวกออสโตรนีเซียน ในภาษา “yut – ยุต” อย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่าทางพวกจีน

ภาษา yut – ยุต ได้ถูกอธิบายอย่างละเอียดไว้แล้วในเรื่อง ประวัติศาสตร์ของคำเสพสังวาส “เยสสส” และต่อเนื่องมายังเรื่อง ทำไม “เฮ็ด” จึงกลายเป็นคำเสพสังวาสของชาวลุ่มเจ้าพระยา (สุพัฒน์ 2559) ซึ่งภาษา yut – ยุต ถูกนำไปประกอบสร้างเป็นคำสองพยางค์ในภาษาอินโดนีเซียนับสิบคำ เช่น ayut – อายุต, buyut – บูยุต, denyut – เดินยุต, gayut – กายุต, geduyut – เกอดุยุต, gelayut – เกอลายุต, hanyut – ฮันยุต, kenyut – เกินยุต, layut -ลายุต, lenyut – เลินยุต, luyut – ลูยุต, nyunyut – ญุนยุต, nyut – ญุต, renyut – เรินยุต, runyut - รุนยุต และ lanjut – ลัน(จ)ยุต เป็นต้น

คำเหล่านี้ล้วนแต่มีแก่นความหมายเชิงนามธรรมร่วมกันว่า “บางสิ่งสืบต่อกันเป็นทอดๆ จากแก่ไปอ่อน เป็นสายๆ ออกไปไม่สิ้นสุด มีความยืดหยุ่นปรับแต่งรูปร่างได้ ยืดยาวและหดสั้น แกว่งตัวไปมา ชักเข้าและชักออก ชักขึ้นและลงอย่างเป็นจังหวะ การดูดดึงขึ้นเป็นสาย ตลอดจนถึงการปั้นแต่งสืบสานขยายเผ่าพันธุ์”

ทั้งยังเป็นคำที่สืบค้นได้ว่าร่วมรากทั้งรูปคำและความหมายกับภาษาไท-กะได ดังปรากฏในคำสั้นของพวกไท-ไตว่า เหยียด, ยืด, เยด เอยด, เย็ด, เฮ็ด ขยายขึ้นมาจนถึงคำว่า ยุด, ยื้อ, เยื้อ, ยอด และยวด

ความหมายของคำว่า ดูดควบดวด แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของการสูบดึงบางอย่างขึ้นเป็นสายยาวๆ อย่างต่อเนื่อง อาจสูบขึ้นหมดในคราวเดียว หรือพักรั้งรอและรอจังหวะสูบต่อไปก็ได้ และในช่วงผ่อนการสูบ สายยืดยาวนั้นก็จะหดสั้นลงไป ซึ่งเป็นความหมายที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษา yut – ยุต อย่างเห็นได้ชัด เป็นความหมายที่อยู่ในร่องเดียวกันของการใช้ปากและการดื่มกินเป็นส่วนใหญ่

เมื่อมองดูรูปคำเก่าของ ดูดควบดวด ชนิด Proto-Tai ที่สืบสร้างไว้ว่า *ʔdoutD1ยิ่งขยับเข้าหากันอย่างใกล้ชิดกับสำเนียงและภาษาของคำยาว yut – ยุต เช่น denyut ที่แปลว่าการชักขึ้นและลงอย่างเป็นจังหวะเป็นต้น เป็นความแนบสนิทชิดเชื้อที่มากไปกว่าการหยิบยืมแบบทั่วไป เป็นคำที่มีรากร่วมกันมากับคำไท-ไตตระกูล เหยียด ยืด และเยดทั้งหลาย ซึ่งสืบสาแหรกต้นเหง้ามาแต่เดิมกับทางสายออสโตรนีเซียน

เป็นหนึ่งในคำเริ่มต้นที่ตีความว่าเกิดจากการเสพสังวาสกัน ระหว่างบรรพชนของไท-กะไดและออสโตรนีเซียน มากกว่าการก่อตัวจากแนวคิด Sino-Tai และอาจทำให้มุมมองในการสืบสาแหรกภาษาต้องเปลี่ยนไป ดังคำกล่าวของ Yongxian Luo ในเรื่องเดียวกัน บทที่ 7 Wider Connections คัดมาในท่อนท้ายๆ ที่ว่า

“While the Mon-Khmer links can be safely said to be the result of areal convergence, the Austronesian connections must be seen from a different perspective, for Austronesian speakers have not been in contact with Chinese, TB and Tai-Kadai for several thousand years since they spread out to the islands.”

เป็นมุมมองที่ถือว่าพวกพูดออสโตรนีเซียนได้แยกตัวไปยังเกาะไต้หวันเมื่อหลายพันปีมาแล้ว จึงเป็นไปได้ที่คำเช่นว่านี้ (ถ้ามี) ถูกแพร่กระจายจากไท-กะไดเข้าไปยังจีนจากการปะทะติดต่อกันมากกว่าที่จะแพร่จากจีนเข้ามา และหมายถึงถ้ามีคำร่วมเชื้อสายมากๆ เข้า จะยิ่งทำให้แนวคิด Sino-Tai ขยับตัวยากมากขึ้น ดังนั้นแล้วสถานภาพของความสัมพันธ์ในแบบการหยิบยืมกันไปมา อาจเป็นเส้นทางที่เหมาะสมกว่าอื่นใด และคือลำดับความเป็นมาของคำว่า ดูดควบดวด ที่ขอเสนอไว้เป็นทางเลือกเพื่อการถกเถียงมา ณ ที่นี้

“เมื่อวัยหนุ่มสาว การดูดควบดวดให้หมดแก้วอย่างรวดเร็วหิวกระหาย อาจคือเป้าหมายที่สำคัญยิ่งยอด หากเมื่อวัยเคลื่อนคล้อย การละเลียดดื่มให้หมดแก้วอย่างเนิบนาบ กลับคือเป้าหมายที่สำคัญยิ่งยวด”...บางคนไม่ได้กล่าวไว้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 2 ตุลาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 616448เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท