จดหมายถึงพระคุณเจ้า: ประเพณีมีความหมาย


(๑) มีข้อความสนับสนุนให้สืบทอดประเพณี อย่างข้อความที่ให้สวดปาติโมกข์ เพราะปาติโมกข์จะเป็นเหมือนด้ายร้อยรัดเชื่อมต่อ ๓ กาลไว้ (อดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ที่จะคงบุคคลที่ต่างครรลองให้อยู่ในครรลองเดียวกัน (๒) การสวดและฟังปาติโมกข์คือการช่วยกันสืบทอดประเพณีจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง (๓) การสวดและฟังปาติโมกข์ช่วยืดอายุพรหมจรรย์ไว้ได้

เมื่อหลายปีก่อน มีเพื่อนพระที่ผ่านการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศมาเยี่ยมผม ปัจจุบันพระรูปนี้พำนักอยู่ที่วัดในอเมริกา หนึ่งในข้อมูลที่เพื่อนได้บอกกล่าวคือ ความหวั่นไหวต่อความไม่มั่นคงในสถานภาพทางสังคม ดูเหมือนสิ่งหนึ่งที่คิดคือ การคิดว่าการอยู่เป็นฆราวาสน่าจะคือทางออกของชีวิต เฉกเช่นคนทั่วไปเขามีชีวิตกัน ผมรู้สึกบางอย่างในใจ พร้อมกับบอกเพื่อนไปว่า ชีวิตฆราวาสนั้นไม่ได้สวยหรูเหมือนอย่างที่เราจินตนาการถึงโลกอุดมคติ หลังจากท่านกลับอเมริกา เราส่งจดหมายถึงกัน ผมนึกถึงว่า มีหลายเรื่องที่ผมอยากบอกท่่าน และนึกไปว่า ถ้าจดหมายดังกล่าวเป็นจดหมายที่ส่งถึงพระหลายๆรูป น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยในการที่ทำให้ท่านรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นท่านอย่างที่กำลังเป็นอยู่ น่าจะช่วยอะไรหลายๆอย่างได้

หลายปีก่อนเช่นกัน ผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนพระอีกรูปหนึ่ง ซึ่งพำนักอยู่ที่จังหวัดสงขลา ผมรับรู้ได้ว่า ท่านกำลังหาโลกอุดมคติเหมือนกับเพื่อนพระที่กล่าวถึงนั้น ผมบอกให้ท่านทราบว่า ชีวิตฆราวาสไม่ได้สวยงามเหมือนโลกอุดมคติเช่นกัน โชคดีที่ปัจจุบันนี้ท่านยังครองสถานภาพพระในสังคมไทยอยู่ได้ อยากบันทึกไว้เลาๆว่า ท่านไม่ยุ่งกับเรื่องอื่นอีกเลย นอกจากดูแลสามเณรที่เรียนหนังสือกันอยู่ ซึ่งมีไม่น้อยในวัดนี้ เรื่องอื่นที่ว่านี้เช่น การจัดการศึกษาในโรงเรียนปริยัติ สถาบันอุดมศึกษาของพระ การอบรมสามเณรภาคฤดูร้อน ผมไม่ได้ถามท่านว่า ทำไมจึงถอดใจถอยให้กับเรื่องเหล่านี้

ทั้งสองท่านที่ผมกล่าวถึง เป็นพระมักน้อย ไม่ชอบการเมือง มีจิตใจโออ้อมอารีย์ นิ่งๆ พูดน้อย จิตใจงาม และทั้งสองท่านมีความกตัญญู แตกต่างจากผม แต่ผมก็โชคดีที่ผมมีเพื่อนแบบนี้คอยเยื้อคอยดึง เมื่อสองเดือนก่อนผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมพระเพื่อนรูปหลัง เพื่อชักชวนทำงานบางอย่าง เพื่อนบอกให้ทราบว่า พระที่ทำงานไม่ใช่เพื่อเงินและสมณศักดิ์นั้นมีอยู่เยอะ แต่พระเหล่านี้ไม่ทำตัวให้โดดเด่นทางสังคม เพราะไม่ได้หวังจะได้อะไรจากสังคม ผมเห็นห้องของเพื่อนพระ ยังรู้สึกประทับใจ "เคยอยู่อย่างไรก็อย่างนั้น"

จดหมายถึงพระคุณเจ้า เป็นจดหมายที่ผมอยากจะส่งถึงพระบวชใหม่หรือผู้ที่กำลังจะเป็นนักบวชในพุทธศาสนา ข้อเขียนอาจเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ในวันนี้ก็อีกวันหนึ่งที่ต้องการบันทึกจดหมายถึงพระคุณเจ้า โดยรอบนี้จะไปค้นหาว่า ศีล ๒๒๗ ข้อทีบัญญัติไว้นั้นมีอะไรบ้าง คณาจารย์รุ่นถัดมา (อรรถกถาจารย์) ได้พิจารณาไว้อย่างไรบ้าง แต่เมื่อเข้าไปอ่านพระไตรปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์ ไปสะดุดกับข้อความที่ว่า ... (นี่นะ) สารีบุตร พระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภู ทรงผ่อนคลายที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ๑ ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์จึงมีน้อย มิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก ไม่มีการแสดงปาติโมกข์ เมื่อหมดพระพุทธเจ้า และสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลัง ๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติวรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์สูญสิ้นไปเร็วพลัน เหมือนดอกไม้นานาพรรณกองอยู่บนแผ่นกระดาน ยังไม่ร้อยด้วยด้าย ย่อมถูกลมพัด กระจัดกระจายไป เพราะเหตุไร เพราะไม่ได้เอาด้ายร้อยไว้ ข้อนี้ฉันใด เมื่อหมด พระพุทธเจ้าและสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ วรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์สูญสิ้นไปเร็วพลันฉันนั้น" ดูข้อความที่คัดมานี้จากนี้

จากข้อความย่อยที่ว่า".. .ไม่มีการแสดงปาติโมกข์... และ ... เพราะไม่ได้เอาด้ายร้อยไว้..." ความคิดบางอย่างเกิดกับผม กล่าวคือ (๑) พระภิกษุปัจจุบันที่ศึกษาตามแนวของพุทธทาสภิกขุ กำลังปฏิเสธประเพณีบางอย่างที่เกิดขึ้นในวงการชาวพุทธไทย และตีความอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุเสนอไว้ในทำนองว่า ประเพณีเป็นเพียงกระพี้ของต้นไม้ ไม่ใช่แก่น (๒) พระภิกษุจำนวนหนึ่ง เริ่มไม่เห็นความสำคัญของการสวดและผังปาติโมกข์ จากความคิดนี้ผนวกกับข้อความย่อยที่กล่าวถึง ทำให้คิดว่า (๑) มีข้อความสนับสนุนให้สืบทอดประเพณี อย่างข้อความที่ให้สวดปาติโมกข์ เพราะปาติโมกข์จะเป็นเหมือนด้ายร้อยรัดเชื่อมต่อ ๓ กาลไว้ (อดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ที่จะคงบุคคลที่ต่างครรลองให้อยู่ในครรลองเดียวกัน (๒) การสวดและฟังปาติโมกข์คือการช่วยกันสืบทอดประเพณีจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง (๓) การสวดและฟังปาติโมกข์ช่วยืดอายุพรหมจรรย์ไว้ได้

บันทึกนี้ขอยุติไว้แต่เพียงเท่่านี้ โอกาสหน้าอาจได้เริ่มศีลข้อที่ ๑ สักที

หมายเลขบันทึก: 616445เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท