หลักนิติบัญญัติบริหารและตุลาการตามแนวพระพุทธศาสนา โดย...คนอง วังฝายแก้ว สาขาวิชารัฐศาสตร์ มจร.วข.พะเยา


บทคัดย่อ

การเขียนบทความทางวิชาการในครั้งนี้เพื่อจะศึกษาอำนาจทั้งสามตามรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ เป็นอำนาจสูงสุดที่จะชี้ชะตากรรมของประเทศว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่ากับอารยประเทศ ฉะนั้นผู้บริหาร นักการเมืองและข้าราชการ จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารราชการบ้านเมือง ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยความซื่อสัตย์ และสุจริต คือ ความประพฤติดีประพฤติชอบ และประพฤติถูกต้องตามคลองธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารประเทศ นักการเมืองทุกระดับ และข้าราชการ จะต้องเป็นผู้บริหาร ที่อยู่ในฐานะที่เป็น ครู เป็นเพื่อน เป็นพี่เลี้ยง เป็นแบบอย่างที่ดี และจะต้องมีความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และจะต้องใช้หลักธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทางการบริหาร ได้แก่ ทศพิธราชธรรม ๑๐ พรหมวิหาร ๔, ศีล๕, สังคหะวัตถุ ๔, อิทธิบาท ๔ และ อธิปไตย ๓

ABSTRACT

Writing paper was to study the three constitutional powers of the executive, judicial and legislative. The supreme power to the fate of the country will develop in the direction it. Equivalent to a civilized country to progress Therefore, administrators Politicians and civil servants Must have integrity and ethics in government houses. To be transparent accountability with integrity and good faith, behave like a well-behaved. And conduct conscientious particular. Government official Politicians and government officials at all levels must be an executive. As the teacher as a mentor. Set a good example And to be loyal to the nation, religion and monarchy. And must use the principles in political activities, including administrative Tspitrachtrrm 10 four cardinal virtues, canon 5, 4 Sagcha objects, Itti 3 Baht 4 and sovereignty.

บทนำ

สถานการณ์บ้านเมืองในปี พ.ศ. ๒๕๕๘- ๒๕๕๙ นี้ เป็นที่น่าจับตาและเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายๆ ด้านที่อาจทำให้สถานการณ์บ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองหรือประชาชนผู้สนับสนุนกลุ่มการเมืองนั้นที่เนื้อสาระในร่างรัฐธรรมนูญบางมาตราไม่ตอบโจทย์หรือตอบสนองความต้องการของกลุ่มตัวเองอาจจะนำมาซึ่งขัดแย้งรอบใหม่ อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาเป็นเช่นไรในฐานะประชาชนชาวไทยทุกคนจะต้องยอมรับกติกาสูงสุดของบ้านเมืองเพื่อจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุข เกิดความสามัคคีปรองดองกันได้ ก็ต้องอาศัยประชาชนคนไทยทุกคน ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้ได้โดยยึดหลักของกฎหมายของบ้านเมืองเป็นหลัก เคารพสิทธิของคนอื่น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารบ้านเมือง ก็จะต้องยึดหลักความถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมในการใช้กฎหมายบังคับอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจทั้งสามตามรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ เป็นอำนาจสูงสุดที่จะชี้ชะตากรรมของประเทศว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่ากับอารยประเทศ ฉะนั้นผู้บริหาร นักการเมืองและข้าราชการ จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารราชการบ้านเมือง ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยความซื่อสัตย์ และสุจริต คือ ความประพฤติดีประพฤติชอบ และประพฤติถูกต้องตามคลองธรรม มีอยู่ ๓ คือ (พระธรรมปิฎก, พจนานุกรมพุทธศาสน์, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า ๓๔๕)

๑.กายสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยกายคือ การทำความดีทางกาย เช่น เป็นผู้เสียสละทรัพย์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม และเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขของผู้อื่น

๒.วจีสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยวาจาคือ การทำความดีทางวาจา พูดจาไพเราะ พูดแต่ความจริง พูดยกย่องเพื่อน พูดให้กำลังใจผู้อื่น และไม่ควรพูดสิ่งที่จะเป็นการสร้างประเด็นความขัดแย้ง ที่เป็นบ่อเกิดให้สังคมเกิดความแตกแยกมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

๓.มโนสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยใจคือ การทำความดีทางใจ เช่น ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข คิดแต่สิ่งที่ดีงามถูกต้อง เป็นต้น

ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง และข้าราชการ จะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้สังคมสามารถตรวจสอบในการทำงานเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้ในฐานะเป็นบุคคลสาธารณะ ได้รับค่าตอบแทนซึ่งเป็นภาษีอากรของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารประเทศ นักการเมืองทุกระดับ และข้าราชการ จะต้องเป็นผู้บริหาร ที่อยู่ในฐานะที่เป็น ครู เป็นเพื่อน เป็นพี่เลี้ยง และเป็นแบบอย่างที่ดี

๑.ประวัติและความเป็นมา

การแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามฝ่ายมีอยู่จริงในพระพุทธศาสนา แต่การแบ่งอำนาจทำนองเดียวกันนี้อยู่ในระบอบการปกครองอื่น ๆ ที่มิใช่ประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยของการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นอยู่ที่การคานอำนาจระหว่างกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากรัฐ และควบคุมการปฏิบัติงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งประชาชนเป็นผู้บัญญัติ ลำพังการแบ่งแยกอำนาจจะถือว่าเป็นลักษณะประชาธิปไตยไม่ได้ หากแต่เป็นความจำเป็นทางสังคมที่จะต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์การทำตามกฎเกณฑ์และการตัดสินปัญหาด้วยกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอยู่ทุกสังคมการที่จะตัดสินว่าการแบ่งอำนาจเช่นนี้แสดงความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทั้งสาม คือ

๑.๑.อำนาจทางนิติบัญญัติ

นักรัฐศาสตร์ได้กล่าวถึง หลักนิติบัญญัติ อยู่ ๒ ลักษณะคือ สถาบันนิติบัญญัติกับอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งจะกล่าวถึงทั้ง ๒ ลักษณะดังนี้

๑) สถาบันนิติบัญญัติ เป็นสถาบันที่รับผิดชอบต่อกระบวนการบัญญัติกฎหมายเป็นสำคัญ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมีองค์กรที่ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย คือ รัฐสภา (Parliament) เพราะถือว่ารัฐสภาเป็นสถาบันที่แสดงเจตนารมณ์ทั่วไปของประชาชน เพราะฉะนั้นการตราพระราชบัญญัติจึงถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ให้ผ่านกระบวนการพิจารณาและแสดงความเห็นชองโดยรัฐสภา ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติก็เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับการตราให้เป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้[๑]

สถาบันนิติบัญญัติมีหน้าที่หลักคือ การออกกฎหมาย ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารและปกครองประเทศ ส่วนหน้าที่รองได้แก่ หน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนและเจตนารมณ์ของตนเอง หน้าที่ต่อมาก็คือ หน้าที่ในการควบคุมการทำงานของรัฐบาล ในระบบรัฐสภา[๒] อันหมายถึง การสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารด้วยวิธีการที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้คือ การตั้งกระทู้ถาม การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น[๓]

นอกจากนั้นสถาบันนิติบัญญัติยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแผ่นดินในกรณีต่าง ๆ เช่น การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการสืบราชสมบัติ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เป็นต้น[๔]

๒) อำนาจนิติบัญญัติ[๕] เป็นอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย สถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติ คือ สถาบันรัฐสภา หลักการสำคัญของระบบรัฐสภา ประกอบด้วย ๓ หลักการคือ

๒.๑) หลักการแบ่งแยกอำนาจ อันเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่สำคัญคือ การแบ่งแยกอำนาจทางการเมืองเป็นการแบ่งแยกอำนาจเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ป้องกันผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางที่ผิด อันเป็นที่มาของการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามส่วนคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

๒.๒) หลักการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นหลักการส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความสัมพันธ์กับประชาชน ในส่วนของการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าในรัฐสภาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ อันสะท้อนถึงความสัมพันธ์กับชาติ มติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ มติของประเทศ เป็นต้น

๒.๓) หลักการตามกฎหมายที่กฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างถ้วนหน้า กฎหมายที่มาจากรัฐสภามีศักดิ์ศรีเหนือกว่ากฎหมายอื่น ยกเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีกระบวนการดำเนินการจัดทำแตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่น อันแสดงถึงหลักการของระบบเสรีนิยม

๑.๒ อำนาจทางการบริหาร

การบริหาร (administration) มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน “administatrae” หมายถึง ช่วยเหลือ (assist) หรืออำนวยการ (direct) การบริหารมีความสัมพันธ์หรือมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “minister” ซึ่งหมายถึง การรับใช้หรือผู้รับใช้ หรือผู้รับใช้รัฐ คือ รัฐมนตรี สำหรับความหมายดั้งเดิมของคำว่า administer หมายถึง การติดตามดูแลสิ่งต่าง ๆ
การบริหารหมายถึง การทำงานของคณะบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปที่ร่วมกันปฏิบัติการให้บรรลุเปาหมายร่วมกัน (Barnard,1972)

การบริหาร หมายถึง กระบวนการต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน การจัดหน่วยงาน การอำนวยการ การควบคุม ที่ถูกพิจารณาจัดกระทำขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยใช้กำลังคน และทรัพยากรที่มีอยู่ (เทอรี่ (Terry,1968)

การบริหาร หมายถึง เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมโดยผู้บริหารและสมาชิกในองค์กรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ทรัพยากร และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด นักบริหารหลายคนจึงมีความคิดตรงกันว่า “การบริหารเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันของคณะบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะที่แน่นอนในการทำงาน” บางคนเห็นว่าการบริหารเป็นศิลปะของการเป็นผู้นำที่จะนำผู้อื่นให้ทำงานตามวัตถุประสงค์ได้ และได้กล่าวถึงลักษณะเด่นที่เป็นสากลของการบริหารไว้ ๙ ประเด็นคือ ( รุจิร์ ภู่สาระและจันทรานี สงวนนาม,๒๕๔๕:๔-๕)

๑. การบริหารต้องมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย

๒. การบริหารต้องอาศัยปัจจัยเป็นองค์ประกอบสำคัญ

๓. การบริหารต้องใช้ทรัพยากรการบริหารเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน

๔. การบริหารต้องมีลักษณะการดำเนินการเป็นกระบวนการทางสังคม

๕.การบริหารต้องเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกลุ่มบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป

๖. การบริหารต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจเพื่อให้การปฏิบัติตามภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์

๗. การบริหารเป็นการร่วมมือดำเนินการอย่างมีเหตุผล

๘. การบริหารมีลักษณะเป็นการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

๙. การบริหารไม่มีตัวตน แต่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์

๑.๓ อำนาจทางตุลาการ

หลักตุลาการ สามารถกล่าวได้ ๒ ประเด็น เช่นเดียวกับหลักนิติบัญญัติ กล่าวคือ

๑) สถาบันตุลาการ สถาบันตุลาการมีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามหลักกฎหมายของประชาชน ดังนั้นผู้พิพากษาซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในกระบวนการยุติธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผดุงไว้ซึ่งหลักการดังกล่าว ผู้พิพากษาจะต้องมีหลักการที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ เป็นกลางและปราศจากอคติใดๆ รวมทั้งต้องมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านกฎหมายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษาต้องไม่เป็นผู้ที่ผูกพันหรือถูกกดดันต่อสถาบันอื่นใด สถาบันนี้จึงเป็นที่พึ่งของประชาชนในกรณีที่เกิดความขัดแย้งหรือความผิดขึ้น ตุลาการจึงต้องใช้อำนาจอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และเสมอภาคต่อคนทุกๆ ชนชั้นและสาขาอาชีพ และทั่วทุกแห่งภายในอาณาเขตของรัฐนั้น บทบาทอื่นๆ ของฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย การตีความกฎหมาย การกำหนดกฎเกณฑ์ในกระบวนการยุติธรรม สร้างขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งศาล ให้คำแนะนำของศาล และเป็นกระบวนการสุดท้ายในการสร้างความมั่นคงและผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม[๖]

๒) อำนาจตุลาการ[๗] คืออำนาจในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทั่วหน้ากัน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในการดำรงชีวิต เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรักษาความยุติธรรมตามกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ของศาล ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

๒. อำนาจทางนิติบัญญัติบริหาร และตุลาการเปรียบเทียบกับหลักประชาธิปไตย

ถ้าพิจารณากำเนิดของกษัตริย์ตามที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร[๘] ก็จะเห็นว่ากษัตริย์มีอำนาจเพราะประชาชน และประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง กษัตริย์เป็นเพียงมหาชนสมมติ คือ มหาชนยกขึ้นเพื่อให้ใช้อำนาจนั้น ข้อนี้คงเป็นที่มาของประชาธิปไตยได้ แต่ลำพังการที่ประชาชนมอบอำนาจให้แก่บุคคลใดนั้นยังหานับเป็นประชาธิปไตยเสมอไปไม่ เพราะในระบบของโธมัส ฮอบส์ อำนาจก็เป็นของประชาชน และประชาชนมอบให้แก่ผู้ปกครองหรืออธิปัตย์ แต่ระบบนั้นก็เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะอำนาจนั้นอธิปัตย์ใช้ได้โดยสิทธิ์ขาด ประชาชนไม่มีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบหรือเรียกเอาอำนาจคืนได้ นั่นคือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจแต่ประชาชนมิได้มีส่วนแห่งการใช้อำนาจนั้น โดยเฉพาะอำนาจที่แสดงถึงการปกครองตนเองคือ อำนาจนิติบัญญัติ ดังนั้น หากระบบการเมืองในพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยจริงก็ต้องตัดสินได้ด้วยเกณฑ์ข้อนี้ ในอัคคัญญสูตรจะเห็นได้ว่ากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการ คือ ตัดสินข้อขัดแย้งต่างๆ และอ้างถึงอำนาจบริหารด้วยคือ เป็นผู้ทำให้ประชาชนพอใจ จึงใช้คำเรียกกษัตริย์ว่า “ราชา” แต่อำนาจทั้งสองนั้นก็อยู่ในมือคนคนเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับระบอบสมบูรณาญาธิราชย์ จึงต้องพิจารณาดูอำนาจอีก อำนาจหนึ่ง คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจทั้ง ๓ ตามแนวพระพุทธศาสนา มีดังนี้[๙]

๑) อำนาจทางด้านนิติบัญญัติ ในสังคมสงฆ์ มีการบัญญัติพระวินัยเพื่อใช้ปกครองสงฆ์หรือใช้เป็นหลักปฏิบัติของพระภิกษุ แต่พระวินัยนั้นเป็นพุทธบัญญัติทั้งหมดหาใช่สงฆ์หรือผู้แทนของสงฆ์เป็นผู้บัญญัติ อย่างที่รัฐสภาเป็นผู้บัญญัติกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยไม่ จุดประสงค์ในการบัญญัติพระวินัยก็เพื่อให้สงฆ์อยู่ร่วมกันด้วยดี พ้นจากมลทินและกิเลสต่างๆ ทำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสและเป็นเครื่องส่งเสริมการปฏิบัติธรรมดังข้อความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม


ผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจักบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะ อันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑”

๒) อำนาจทางด้านการบริหาร ในสมัยเมื่อยังมีพระสาวกไม่มากนักพระพุทธองค์ทรงบริหารพระศาสนาด้วยพระองค์เอง โดยมีพระสาวกที่สำคัญ เช่น พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะช่วยแบ่งเบาภาระบ้างตามความจำเป็น ต่อมาเมื่อมีพระสาวกเพิ่มขึ้นและมีผู้ขอเข้าอุปสมบทแก่ผู้เข้ามาขอบวชได้ โดยให้ผู้ขอบวชเปล่ง วาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ครั้นต่อมาเมื่อภิกษุเพิ่มขึ้นอีก ทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์ในการทำกิจกรรมทั้งปวงของพระพุทธศาสนา เช่น การให้บรรพชาอุปสมบท การกรานกฐิน การกำหนดเขตสีมา การระงับอธิกรณ์ เป็นต้น ซึ่งเท่ากับมอบให้สงฆ์เป็นผู้บริหารงานพระศาสนาตามระเบียบที่ได้ทรงกำหนดไว้นั่นเอง ส่วนการบริหารคณะสงฆ์ในรูปองค์กร เช่น มหาเถรสมาคมนั้นไม่บัญญัติในพระวินัยแต่ก็มิได้ขัดพระวินัย

๓) อำนาจทางด้านตุลาการ สถาบันตุลาการทางพระพุทธศาสนามีลักษณะบางอย่างคล้ายกับสถาบันตุลาการทางอาณาจักร มีกฎหรือระเบียบที่สังคมว่าไว้เป็นบรรทัดฐานแห่งการกระทำของบุคคลในสังคม ป้องกันไม่ให้มีการกระทำหรือความประพฤติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบสุขของสังคม ฝ่ายอาณาจักรมีกฎหมายเป็นหลักในการปกครอง ส่วนฝ่ายพุทธจักรมีธรรมวินัยเป็นหลัก ทั้งฝ่ายอาณาจักร และพุทธจักรมีกระบวนการพิจารณาคดีหรืออธิกรณ์ และมีวิธีลงโทษตามโทษานุโทษ แต่ลักษณะการลงโทษตามพระวินัยกับโทษของกฎหมายบ้านเมืองมีข้อแตกต่างกันมาก ความผิดที่ร้ายแรงบางอย่างของบรรพชิต เช่น ความผิดทางเพศ สำหรับฝ่ายอาณาจักรอาจไม่ถือว่าผิด

กล่าวโดยสรุป การแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามฝ่ายมีอยู่จริงในพระพุทธศาสนา แต่การแบ่งอำนาจทำนองเดียวกันนี้อยู่ในระบอบการปกครองอื่น ๆ ที่มิใช่ประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยของการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นอยู่ที่การคานอำนาจระหว่างกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากรัฐ และควบคุมการปฏิบัติงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งประชาชนเป็นผู้บัญญัติ ลำพังการแบ่งแยกอำนาจจะถือว่าเป็นลักษณะประชาธิปไตยไม่ได้ หากแต่เป็นความจำเป็นทางสังคมที่จะต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์การทำตามกฎเกณฑ์และการตัดสินปัญหาด้วยกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอยู่ทุกสังคมการที่จะตัดสินว่าการแบ่งอำนาจเช่นนี้แสดงความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

การเปรียบเทียบลักษณะการปกครองของฝ่ายอาณาจักรกับฝ่ายพุทธจักรซึ่งมีรูปแบบตามระบอบของประชาธิปไตย ๓ สถาบันหลัก คือ[10]

. สถาบันนิติบัญญัติ ก็คือรัฐสภาที่มีหน้าที่คือตราพระราชบัญญัติโดยวิธีประชุมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่เป็นมติในการชี้ขาด พระวินัยเป็นพุทธบัญญัติทั้งหมด ส่วนคณะสงฆ์ไม่มีอำนาจในการบัญญัติ เพียงแต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระวินัยหรือพุทธบัญญัติ

การตราพระราชบัญญัติ หรือออกกฎหมายของสถาบันนิติบัญญัติมี ๒ ลักษณะ คือ

ก. การตราพระราชบัญญัติ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก คือเมื่อมี เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จึงออกกฎหมาย

ข. การตราพระราชบัญญัติเพื่อป้องกันล่วงหน้า คือเหตุการณ์ที่จะก่อความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นจึงออกกฎหมายไว้ล่วงหน้า

กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายหลักหรือกฎหมายสูงสุดของการปกครองในทางโลก ส่วนพระวินัยในพระปาฏิโมกข์ เป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ พระวินัยแต่ละสิกขาบทมีบทบัญญัติระบุโทษแก่ผู้ละเมิดไว้ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติระบุโทษควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ระบุโทษแก่ผู้ละเมิดไว้ในกฎหมายอื่นที่ออกตามความในกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงมีส่วนคล้ายประมวลกฎหมายมากกว่า การแบ่งกฎหมายทางโลกแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ กฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน แต่พระวินัยจะมีลักษณะของกฎหมายเอกชน และกฎหมายมหาชนรวมกันอยู่

อาบัติปาราชิก ถ้าเป็นกฎหมายทางโลกจัดว่าเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งละเมิดย่อมมีบทบัญญัติลงโทษตามควรแก่กรณี แต่พุทธบัญญัติทรงปรับอาบัติปาราชิกก็คือการขาดจากความเป็นภิกษุซึ่งจะเข้ามาบวชอีกมิได้ ซึ่งเท่ากับโทษประหารชีวิตนั้นเอง ส่วนเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมายและพระวินัย เจตนารมณ์ของการบัญญัติกฎหมายคือเพื่อเป็นหลักการปกครองประเทศ หรือบริหารสังคมให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบและมีความสงบสุขตลอดจนเพื่อให้สังคมเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าไปได้อย่างไม่ติดขัด อันจะอำนวยให้ปัจเจกบุคคลสามารถดำรงและดำเนินชีวิตไปได้ตามปกติและอย่างมีความสงบสุขตามควรแก่อัตภาพ

จุดประสงค์ที่ทรงบัญญัติพระวินัยคือ

๑) เพื่อป้องกันมิให้เป็นคนเหี้ยมโหด

๒) เพื่อป้องกันมิให้เป็นคนลวงโลกเลี้ยงชีพ

๓) เพื่อป้องกันมิให้เป็นคนดุร้าย

๔) เพื่อป้องกันมิให้เป็นคนประพฤติเลวทราม

๕) เพื่อป้องกันมิให้เป็นคนประพฤติเสียหาย

๖) เพื่อป้องกันมิให้เป็นคนเล่นซุกซน

๗) เพื่อคล้อยตามความนิยมในครั้งนั้น

๘) เพื่อให้เป็นธรรมเนียมของภิกษุ

สำหรับเจตนารมณ์ของการบัญญัติพระวินัยก็คือ[11]

๑) เพื่อความรับว่าดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์

๒) เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์

๓) เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย

๔) เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลอันดีงาม

๕) เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในปัจจุบัน

๖) เพื่อบำบัดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน อันจะบังเกิดในอนาคต

๗) เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส

๘) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว

๙) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม

๑๐) เพื่อส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้หนักแน่น (พุทธบัญญัติที่มาในพระปาฏิโมกข์ คือศีล ๒๒๗ ข้อ ส่วนที่มานอกพระปาฏิโมกข์เรียกว่าอภิสมาจาร หรือกิริยามารยาทที่ควรประพฤติ) ส่วนการรักษากฎหมายกับการรักษาพระวินัย คือการละเมิด การละเมิดกฎหมายมีอยู่ ๒ ลักษณะคือ ละเมิดเพราะไม่รู้และละเมิดทั้งๆ ที่รู้ การละเมิดพระวินัย มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ ละเมิดเพราะเจตนาและละเมิดโดยไม่เจตนา

ในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุประสงค์ของการบัญญัติสิกขาบท เพิ่มอีก ๒ ข้อคือ เพื่อเอื้ออนุเคราะห์แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย และเพื่อตัดรอนฝักฝ่ายของภิกษุผู้มีความปรารถนาชั่วร้าย

จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์เหล่านี้ แสดงถึงเจตนารมณ์ที่เน้นความดีงามและประโยชน์สุขของสังคมเป็นอย่างมาก และบรรดาบทบัญญัติทั้งหลายในวินัยนั้น เรื่องที่ยืนยันถึงการให้ความสำคัญแก่ส่วนรวมได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือบทบัญญัติเกี่ยวกับสังฆกรรมต่างๆ อันได้แก่ การดำเนินกิจการของสงฆ์โดยการร่วมกันคิดร่วมกันพิจารณาของภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสมาชิก แต่สังฆกรรมทั้งหลายจะเป็นไปได้ด้วยดีก็เพราะสงฆ์มีความสามัคคี ไม่แตกแยก ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงย้ำความสำคัญของสังฆเภทและสังฆสามัคคี พุทธบัญญัติต่างๆ ก็ล้วนเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่เกี่ยวกับประโยชน์สุขและความดีงามของสงฆ์และสังคมทั้งสิ้น

ส่วนขั้นตอนในการบัญญัติพระวินัยนั้น เนื่องจากสิกขาบททั้งหลาย พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดเรื่องมัวหมองไม่ดีงามขึ้นภายในคณะสงฆ์ พระพุทธองค์จึงจะทรงบัญญัติขึ้น ดังนั้น ทุกสิกขาบทจะมีลำดับขั้นตอน[12] ดังนี้

๑) เมื่อมีเพื่อนภิกษุหรือชาวบ้านตำหนิ ประณามภิกษุผู้เป็นต้นเหตุนั้น

๒) เมื่อภิกษุอื่นประพฤติดีงามทราบเรื่องแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

๓) พระพุทธองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วตรัสถามภิกษุผู้เป็นต้นเหตุให้รับตามจริง

๔) ทรงตำหนิแล้วชี้โทษแห่งการประพฤติไม่ดีนั้นแล้วตรัสอานิสงส์แห่งการสำรวม

๕) ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีก

ขั้นตอนในการบัญญัติพระวินัย หากเปรียบเทียบกับกฎหมายบ้านเมืองแล้ว เป็นขั้นตอนในการลงโทษผู้กระทำผิด ตั้งแต่กระบวนการดำเนินคดีความของตำรวจ เข้าสู่ศาลเพื่อสืบสวนโจทก์ จำเลย และพยานต่างๆ จากนั้นพระองค์จึงทรงตำหนิผู้กระทำผิด รวมทั้งมีการกล่าวถึงอานิสงส์หรือข้อดีของการประพฤติที่ดีงาม แล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบทตามความผิดนั้น ๆ เพียงแต่กระบวนการของศาล จะตัดสินโดยมีบทลงโทษกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว

. สถาบันบริหาร ระยะเริ่มแรกทรงจัดการบริหารด้วยพระองค์เอง และทรงมีพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวา และพระมหาโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้าย แบ่งเบาภาระระยะหลังทรงมอบความเป็นใหญ่ให้กับคณะสงฆ์ในการทำสังฆกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีอุปสมบท, การกำหนดเขตสีมา กฐิน ปาฏิโมกข์ เป็นต้น มติทางโลกเสียงข้างมาก แต่มติคณะสงฆ์ต้องเป็นเอกฉันท์แม้ภิกษุทักท้วงเพียง ๑ รูปก็ต้องทบทวนมติใหม่ ทรัพย์สินของสงฆ์ ภิกษุอยู่อาวาสเดียวกันเป็นเจ้าของร่วมกันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจะถือเอาทรัพย์สินเป็นส่วนตัวไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจากสงฆ์ สงฆ์มีความหมายกว้าง ไม่มีลักษณะแน่นอนตายตัว เช่น ภิกษุในอาวาสหนึ่งประชุมกันทำกิจกรรม ก็เป็นกิจของสงฆ์ ถ้ามี ๑๐๐ วัด สงฆ์ก็มี ๑๐๐ กลุ่ม หรือคณะ (โบราณถือว่าหนึ่งอาวาสก็คือหนึ่งประเทศ หรือองค์กรหนึ่ง)

๓. สถาบันตุลาการ กระบวนการตุลาการในระบอบการปกครองฝ่ายอาณาจักรเรียกว่า คดี ในทางพระวินัยเรียกว่า อธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ ศาลยุติธรรมทำหน้าที่ วินิจฉัยและพิพากษาอรรถคดีให้สอดคล้องกับกฎหมาย สงฆ์ทำหน้าที่ วินิจฉัยและพิพากษาอรรถคดีให้สอดคล้องกับพระวินัย การทำหน้าที่ของสงฆ์ในการเป็นสถาบันตุลาการเมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้น ๔ ประการ[13] คือ

๑) วิวาทาธิกรณ์ การวิวาทกันของภิกษุในเรื่องพระธรรมวินัยสงฆ์จะวินิจฉัยว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก เช่น วิวาทกันว่า สิ่งนี้เป็นธรรมเป็นวินัย สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย เป็นต้น ดังนั้น สงฆ์พึงระงับด้วยสัมมุขาวินัย และเยภุยยสิกา

๒) อนุวาทาธิกรณ์ การกล่าวโจทกันด้วยอาบัติ เช่น การฟ้องร้องกล่าวหาว่าภิกษุต้องอาบัติ ผู้วินิจฉัยพึงใช้หลักสัมมุขาวินัย สติวินัย อมูฬหวินัย และตัสสปาปิยสิกา ข้อใดข้อหนึ่งเป็นเครื่องตัดสิน

๓) อาปัตตาธิกรณ์ อาบัติที่ภิกษุต้องแล้ว (ได้ทำลงไปแล้ว) การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ ด้วยวิธีปลงอาบัติ หรืออยู่กรรม เป็นต้น คณะผู้วินิจฉัยพึงใช้หลัก สัมมุขาวินัย ปฏิญญาตกรณวินัย และติณวัตถารกวินัย ข้อใดข้อหนึ่งเป็นเครื่องตัดสิน

๔) กิจจาธิกรณ์ กิจที่เกิดขึ้นที่สงฆ์ต้องทำ ทั้งรับเข้าหมู่ เช่น พิธีอุปสมบท การลงโทษ เช่น นิคหกรรม เป็นต้น กิจจาธิกรณ์นี้ สงฆ์พึงระงับด้วย สัมมุขาวินัย

นอกจากนั้นแล้วถ้าภิกษุรูปใดกระทำผิดพระพุทธองค์จะไต่สวนหาความผิด แล้วจึงตัดสินพิพากษา ถ้าหากสิกขาบท (กฎหมาย) ใดไม่มี ก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์แล้วแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นและปรับแก้สิกขาบทนั้นใหม่ (ตรากฎหมายใหม่) การบัญญัติครั้งแรก เรียกว่า มูลบัญญัติ หรือบัญญัติเดิม ส่วนข้อแก้ไขเพิ่มเติมเรียกว่า อนุบัญญัติ[14]

อธิกรณสมถะ[15] คือ ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์ สิกขาบทสำหรับระงับอธิกรณ์ หรือวิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์ให้เสร็จสิ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม มี ๗ อย่างคือ

๑) สัมมุขาวินัย คือ วิธีระงับในที่พร้อมหน้า ต่อหน้า ได้แก่ การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้า ๔ ประการคือ

๑.๑) สังฆสัมมุขตา ภิกษุเข้าประชุมครบองค์สงฆ์

๑.๒) ปุคคลสัมมุขตา บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้า

๑.๓) วัตถุสัมมุขตา ยกเรื่องที่เกิดนั้นขึ้นวินิจฉัย

๑.๔) ธัมมสัมมุขตา และวินยสัมมุขตา นำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมวินัยมาใช้ปฏิบัติ ได้แก่ วินิจฉัยถูกธรรมถูกวินัย สัมมุขาวินัยนี้ใช้เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ได้ทุกเรื่อง

๒) สติวินัย คือ วิธีระงับอธิกรณ์ถือสติเป็นหลัก ได้แก่กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติเป็นหลัก ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติเต็มที่เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ที่มีผู้โจทค้านด้วยศีลวิบัติ หมายความว่า จำเลยเป็นพระอรหันต์ สงฆ์เห็นว่าไม่เป็นฐานะที่จำเลยจะทำการล่วงละเมิดดังโจทก์กล่าวหา จึงสวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่า ให้สติวินัยแล้วยกฟ้องของโจทก์เสีย ภายหลังจำเลยจะถูกผู้อื่นโจทด้วยอาบัติอย่างนั้นอีก ก็ไม่ต้องพิจารณาให้อธิกรณ์ระงับด้วยสติวินัย

๓) อมูฬหวินัย คือ วิธีตัดสินที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ อธิบายว่า จำเลยเป็นบ้าทำการล่วงละเมิดอาบัติแม้จะเป็นจริงก็ไม่ต้องอาบัติ เมื่อหายบ้าแล้ว มีผู้โจทด้วยอาบัติระหว่างเป็นบ้านั้นไม่รู้จบ ท่านให้สงฆ์สวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้เรียกว่า อมูฬหวินัย ยกฟ้องของโจทเสีย ภายหลังมีผู้โจทด้วยอาบัตินั้นหรืออาบัติเช่นนั้นในคราวที่เป็นบ้า ก็ให้อธิกรณ์ เป็นอันระงับด้วยอมูฬหวินัย

๔) ปฏิญญาตกรณะ คือ วิธีตัดสินโดยปรับโทษตามคำสารภาพ ได้แก่ ปรับอาบัติตามปฏิญญาของจำเลยผู้รับเป็นสัตย์ การแสดงอาบัติก็จัดเข้าในข้อนี้

๕) เยภุยยสิกา คือ วิธีตัดสินโดยอาศัยเสียงข้างมาก ได้แก่ วิธีตัดสินอธิกรณ์โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่าก็ถือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการเลือกตั้งคะแนนเสียงของทางโลก

๖) ตัสสปาปิยสิกา คือ วิธีตัดสินโดยปรับโทษแก่ผู้ทำความผิดเป็นกรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดกลบเกลื่อนข้อความที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้เป็นการลงโทษตามความผิด แม้ว่าจะไม่รับสารภาพ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง

๗) ติณวัตถารกวินัย คือ ระเบียบวิธีระงับอธิกรณ์ดังกลบไว้ด้วยหญ้า ได้แก่ กิริยาที่ให้ประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องชำระสะสางหาความเดิม เป็นวิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์ ที่ใช้ในเรื่องจะระงับลหุกาบัติที่เกี่ยวกับภิกษุจำนวนมาก ต่างก็ประพฤติไม่สมควรและซัดทอดกันเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ชวนให้ทะเลาะวิวาท กล่าวซัดคำล้ำเลิกกันไม่มีที่สิ้นสุด จะระงับด้วยวิธีอื่นก็จะเป็นเรื่องลุกลามไป เพราะถ้าจะสืบสวนปรับให้กันและกันแสดงอาบัติก็มีแต่จะทำให้อธิกรณ์รุนแรงยิ่งขึ้นจึงระงับเสีย ด้วยติณวัตถารกวิธี โดยการยกเลิก ไม่สะสางอีก

จากการระงับอธิกรณ์ด้วย “อธิกรณสมถะ” ทั้ง ๗ ข้อนี้ สรุปได้ว่า

๑) สัมมุขาวินัย เป็นวิธีระงับอธิกรณ์ได้ทุกเรื่อง

๒) สติวินัย อมูฬหวินัย และตัสสปาปิยสิกา เป็นวิธีระงับอธิกรณ์เฉพาะเรื่องที่เป็นอนุวาทาธิกรณ์

๓) ปฏิญญาตกรณะ และติณวัตถารกวินัย เป็นวิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์และอนุวาทา ธิกรณ์

๔) เยภุยยสิกา เป็นวิธีระงับวิวาทาธิกรณ์

ส่วนการตัดสินลงโทษ มี ๖ ประการ ดังต่อไปนี้

๑) ตัชชนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่ ได้แก่การตำหนิติเตือน

๒) นิยสกรรม กรรมคือการถอดยศ ลดฐานะทางวินัย

๓) ปัพพาชนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงไล่เสีย คือไล่ออกจากวัด

๔) ปฏิสารนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงให้กลับไปคือกลับไปขอโทษคฤหัสถ์

๕) อุกเขปนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย คือการตัดสิทธิชั่วคราว

๖) ตัสสปาปิยสิกากรรม กรรมอันสงฆ์ทำด้วยความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้ชั่วช้า คือการเพิ่มโทษ (อีกกระทง) ในสังคมบรรพชิตนอกจากจะปฏิบัติตามพระวินัยของสังคมตนเองแล้วยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองอีกด้วย

๓. ระบบกฎหมาย และการลงโทษ

๓.๑ พระวินัย : กฎหมายคณะสงฆ์

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ออกเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในตอนแรกที่ยังมีพระภิกษุน้อยอยู่ การปกครองก็ไม่สู้ต้องการเท่าไรนัก สาวกทั้งปวงได้ประพฤติตามปฏิปทาของพระศาสดา และเข้าใจพระศาสนาทั่วถึง ครั้นภิกษุมีมากขึ้นโดยลำดับกาลและกระจายกันอยู่ ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นหมู่เดียวกัน การปกครองก็ต้องการมากขึ้นตามกัน คนเราที่อยู่เป็นหมวดหมู่จะอยู่ตามลำพังไม่ได้เพราะมีอัธยาศัยต่างกัน มีกำลังไม่เท่ากัน ผู้มีอัธยาศัยหยาบและมีกำลังมาก ก็จะข่มเหงคนอื่น คนสุภาพและมีกำลังน้อย ก็จะอยู่ไม่เป็นสุข เหตุนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงตรากฎหมายขึ้น ห้ามปรามไม่ให้คนประพฤติในทางที่ผิด และวางโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดไว้ด้วย นอกจากนี้ในหมู่หนึ่งๆเขาก็ยังมีธรรมเนียมสำหรับประพฤติอีก เช่นในสกุลผู้ดี เขาก็มีธรรมเนียมสำหรับคนในสกุลนั้น ในหมู่ภิกษุก็จำต้องมีกฎหมายและขนบธรรมเนียม สำหรับป้องกันความเสียหายและชักจูงให้ประพฤติงามเหมือนกัน พระศาสดาทรงตั้งอยู่ในที่เป็นพระธรรมราชาผู้ปกครอง และทรงตั้งอยู่ในที่เป็นสังฆบิดรผู้ดูแลภิกษุสงฆ์ พระองค์จึงได้ทรงทำหน้าที่ทั้ง ๒ ประการนั้น คือทรงพุทธบัญญัติเพื่อป้องกันความเสียหาย และวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ด้วยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง อย่างเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินทรงตราพระราชบัญญัติ อีกฝ่ายหนึ่งทรงตั้งขนบธรรมเนียมซึ่งเรียกว่า อภิสมาจาร เพื่อชักนำความประพฤติของภิกษุสงฆ์ให้ดีงาม ดุจบิดาผู้เป็นใหญ่ในสกุลฝึกปรือบุตรของตนในขนบธรรมเนียมของสกุลฉะนั้น

พระพุทธบัญญัติและอภิสมาจารทั้ง ๒ นี้ รวมเรียกว่า พระวินัย พระวินัยนี้ ท่านเปรียบเหมือนด้ายร้อยดอกไม้ อันควบคุมดอกไม้ไว้ไม่ให้กระจัดกระจาย เพราะเหตุรักษาสงฆ์ให้ตั้งอยู่เป็นอันดี อีกอย่างหนึ่งคนที่บวชเป็นภิกษุจากสกุลต่างๆ สูงบ้าง กลางบ้าง ต่ำบ้าง มีพื้นเพต่างกันมาแต่เดิม มีน้ำใจต่างกัน หากจะไม่มีพระวินัยปกครอง หรือไม่ประพฤติตามพระวินัย จะเป็นหมู่ภิกษุที่เลวทรามไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาและเลื่อมใส ถ้าต่างรูปประพฤติตามพระวินัยอยู่แล้ว จะเป็นหมู่ภิกษุที่ดี นำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส[16]

พระวินัยหรือพุทธบัญญัติ[17] หมายถึง ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และวิธีดำเนินกิจการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณี

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)[18] ได้กล่าวถึงความหมายอย่างง่าย ๆ ของพระวินัย ออกเป็น ๒ อย่างคือ

ก. การฝึกให้มีความประพฤติและความเป็นอยู่เป็นระเบียบแบบแผน หรือ การบังคับควบคุมตนให้อยู่ในระเบียบแบบแผน รวมทั้งการใช้ระเบียบแบบแผนต่าง ๆ เป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติ ความเป็นอยู่ของคน และกิจการของหมู่ชน

ข. ระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่วางลงไว้เป็นหลักหรือเป็นมาตรฐานสำหรับใช้ฝึกคน หรือใช้บังคับควบคุมคน ตลอดจนเป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติ ความเป็นอยู่ของคนและกิจการของหมู่ชนให้เรียบร้อยดีงาม

พระวินัย แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ

๑) อาทิพรหมจริยกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นพุทธอาณา (อำนาจปกครองของพระพุทธเจ้า หรืออำนาจปกครองฝ่ายพุทธจักร) เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายของพระภิกษุและวางโทษผู้ล่วงละเมิด โดยปรับอาบัติสถานหนักบ้าง เบาบ้าง ตามสมควรแก่ความผิด และให้พระสงฆ์สวดทุกครึ่งเดือน เรียกว่า “พระปาฏิโมกข์”

๒) อภิสมาจาริกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาท และความประพฤติความเป็นอยู่อันดีงามของพระภิกษุ อันนำมาซึ่งความเคารพศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน

พระวินัยกำหนดอาบัติไว้ดังนี้

๑) ปาราชิก ๔ เป็นอาบัติหนัก ถ้าภิกษุล่วงละเมิดแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกษุ คือ เสพเมถุน ลักทรัพย์มีมูลค่าตั้งแต่ ๕ มาสก (มาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก เป็น ๑ บาท) ขึ้นไป ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน

๒) สังฆาทิเสส ๑๓ เป็นอาบัติหนักรองจากปาราชิก ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้ แก้ไขได้ เช่น เจตนาทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน มีความกำหนัดจับต้องกายหญิง มีความขุ่นเคือง แล้วกล่าวหาภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล เป็นต้น

๓) อนิยต ๒ คำว่า อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน เป็นอาบัติที่ยังไม่แน่นอนระหว่างปาราชิกกับสังฆาทิเสสหรือปาจิตตีย์ ซึ่งพระวินัยธรจะต้องวินิจฉัย มี ๒ ข้อคือ ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง และภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง

๔) นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เป็นอาบัติเบา แก้ไขได้ ด้วยการแสดงหรือการปลงที่เรียกว่า แสดงอาบัติหรือปลงอาบัติ เช่น ภิกษุทรงอติเรกจีวร (ผ้าส่วนเกินจากไตรจีวร) ได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าทรงเกิน ๑๐ วันก็อาบัติ ภิกษุรับประเคนเภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยแล้ว เก็บไว้ฉันได้เพียง ๗ วัน เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเก็บไว้เกิน ๗ วันต้องอาบัติ เป็นต้น

๕) ปาจิตตีย์ ๙๒ เป็นอาบัติเบา แก้ไขได้ ด้วยการแสดงหรือการปลง เช่น พูดปด ด่าภิกษุ นั่งในที่แจ้งกับหญิงสองต่อสอง หลอกภิกษุให้กลัวผี เป็นต้น

๖) ปฏิเทสนียะ ๔ เป็นอาบัติเบา เป็นอาบัติที่จะพึงแสดงคืน เช่น ภิกษุรับของเคี้ยวของฉันจากมือของภิกษุณีที่มิใช่ญาติด้วยมือของตนมาบริโภค เป็นต้น

๗) เสขิยวัตร ๗๕ เป็นวัตรที่ภิกษุ จะต้องศึกษา อันเป็นธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียกหรือพึงฝึกฝนปฏิบัติ เช่น พึงสำเหนียกว่าเราจักนุ่งห่มให้เรียบร้อย เราจักไม่พูดเสียงดัง เราจักไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน เป็นต้น

๓.๒ การลงโทษตามบทบัญญัติของพระวินัย

ระดับโทษของอาบัติในพระวินัย มี ๓ สถาน[19] คือ

๑) โทษสถานหนัก หรือ ครุโทษ แก้ไขไม่ได้ เรียก “อเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติปาราชิก ภิกษุต้องแล้ว (ล่วงละเมิดแล้ว) ขาดจากความเป็นภิกษุอย่างเดียว จะกลับมาบวชใหม่อีกไม่ได้

๒) โทษสถานกลาง หรือ มัชฌิมโทษ แก้ไขได้ เรียก “สเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุต้องเข้าแล้วต้องอยู่กรรม คือจะต้องอยู่ปริวาสให้ครบตามจำนวนวันที่ปกปิดนับตั้งแต่วันต้องอาบัติ และประพฤติมานัตอีก ๖ ราตรี จึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้

๓) โทษสถานเบา หรือ ลหุโทษ แก้ไขได้ เรียก “สเตกิจฉา” เหมือนข้อ ๒ แต่เบากว่า เพราะเมื่อภิกษุต้องแล้ว เพียงแสดงอาบัติที่ต้องนั้นต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ก็พ้นจากอาบัตินั้นได้ อาบัติเหล่านี้ ได้แก่ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต

โทษของอาบัติจัดประเภทเป็นคู่ ๆ ได้แก่

๑) โทษเกี่ยวกับมีเจตนา และไม่มีเจตนา ได้แก่ สจิตตกะ อาบัติที่เกิดโดยมีเจตนาเป็นเหตุ คือเป็นไปพร้อมกับจิตหรือเจตนา และอจิตตกะ อาบัติที่เกิดโดยไม่มีเจตนาเป็นเหตุ คือไม่คิดจะทำหรือไม่มีเจตนาที่จะทำ

๒) โทษของอาบัติในความหมายของอาบัติหนัก อาบัติเบา ได้แก่ ครุกาบัติ คือ อาบัติหนัก มี ๒ ประเภท คือ (๑) ประเภทแก้ไขไม่ได้ เรียกว่า “อเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติปาราชิก

(๒) ประเภทแก้ไขได้ เรียกว่า “สเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส และลหุกาบัติ คือ อาบัติเบา แก้ไขได้ด้วยการแสดงอาบัติ นำความผิดของตนมาแสดงให้เพื่อนภิกษุรับทราบ เรียก “สเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ และทุพภาษิต

๓) โทษของอาบัติในความหมายอาบัติชั่วหยาบและไม่ชั่วหยาบ ได้แก่ ทุฏฐุลลาบัติ อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุไม่ควรประพฤติ ได้แก่อาบัติปาราชิก และสังฆาทิเสส แต่ในบางกรณีท่านหมายเอาเฉพาะอาบัติสังฆาทิเสส เช่น พูดเกี้ยวหญิง จับต้องกายหญิง และเจตนาทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกมา เป็นต้น และอทุฏฐุลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ เป็นอาบัติเบา มีโทษเล็กน้อย และกิริยาที่ล่วงละเมิดไม่หยาบคาย เช่น ภิกษุฉันอาหารที่ยังไม่รับประเคน เป็นต้น

๔) โทษของอาบัติในความหมายว่ามีส่วนเหลือ และไม่มีส่วนเหลือ ได้แก่ อนวเสสาบัติ คือ อาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ เมื่อภิกษุต้องแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ ได้แก่ อาบัติปาราชิก และสาวเสสาบัติ คืออาบัติที่มีส่วนเหลือ เมื่อภิกษุต้องแล้ว แม้จะมีความผิดต้องโทษ คือเป็นอาบัติแต่ก็ยังคงเป็นภิกษุอยู่ เมื่อแสดงอาบัติแล้ว ก็พ้นจากโทษนั้น ๆ

๕) โทษของอาบัติในความหมายว่า แสดงคืนได้และแสดงคืนไม่ได้ ได้แก่ เทสนาคมมินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน และอเทสนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง

๖) โทษของอาบัติในความหมายว่า ทำคืนได้และทำคืนไม่ได้ ได้แก่ อปฏิกรรม อาบัติที่ภิกษุต้องแล้วไม่สามารถทำคืนได้ หรือแสดงอาบัติให้หายได้ ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ คืออาบัติปาราชิก และสปฏิกรรม อาบัติที่ภิกษุต้องเข้าแล้วสามารถทำคืนได้ คือหลุดพ้นจากอาบัตินั้น ๆ ได้

๗) โทษของอาบัติในความหมายว่า ทำเอง และใช้ให้ผู้อื่นทำ ได้แก่ สาณัตติกะ อาบัติที่ภิกษุต้องเพราะสั่งผู้อื่นทำ เช่น สั่งให้ผู้อื่นลักทรัพย์ เป็นต้น และอาณัตติกะ อาบัติที่ภิกษุต้องเฉพาะที่ทำเอง ไม่ต้องเพราะสั่งผู้อื่นทำ อาบัติบางสิกขาบท ภิกษุทำเองจึงต้องอาบัติ ใช้ให้บุคคลอื่นทำตนเองไม่ต้องอาบัติ อาบัติบางสิกขาบท ภิกษุทำเองก็ต้องอาบัติ และใช้ให้ผู้อื่นทำก็ต้องอาบัติเช่นกัน

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)[20] ได้กล่าวถึง วินัยบัญญัติ ในฐานะที่เป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายของสังคมไว้อย่างน่าสนใจว่า

“วินัยบัญญัติของสงฆ์มิใช่ศีลในความหมายแคบ ๆ อย่างที่มักเข้าใจกันง่าย ๆ แต่ครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไปที่เรียกว่าชีวิตด้านนอกของภิกษุสงฆ์ทุกแง่ เริ่มตั้งแต่กำหนดคุณสมบัติ สิทธิ หน้าที่ และวิธีการรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ชุมชนคือสงฆ์ การดูแลฝึกอบรมสมาชิกใหม่ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำกิจการสงฆ์พร้อมด้วยคุณสมบัติและหน้าที่ที่กำหนดให้ ระเบียบเกี่ยวกับการแสวงหา จัดทำ เก็บรักษา แบ่งสรรปัจจัย ๔ เช่น ประเภทต่าง ๆ ของอาหาร ระเบียบการรับและจัดแบ่งส่วนอาหาร การทำจีวรและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจีวร ประเภทของยา การปฏิบัติต่อภิกษุอาพาธ ข้อปฏิบัติของคนไข้และผู้รักษาพยาบาลไข้ การจัดสรรที่อยู่อาศัย ข้อปฏิบัติของผู้อยู่อาศัย ระเบียบการก่อสร้างที่อยู่อาศัย การดำเนินงานและรับผิดชอบในการก่อสร้าง การจัดผังที่อยู่อาศัยของชุมชนสงฆ์คือวัดว่า พึงมีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอย่างใดบ้าง ระเบียบวิธีดำเนินการประชุม การโจทหรือฟ้องคดี ข้อปฏิบัติของโจทก์ จำเลยและผู้วินิจฉัยคดี วิธีดำเนินคดีและตัดสินคดี การลงโทษแบบต่าง ๆ ฯลฯ ว่าโดยสาระ วินัยก็ได้แก่ ระบบแบบแผนทั้งหมดสำหรับหมู่ชนหนึ่ง ที่จะให้หมู่ชนนั้นตั้งอยู่ได้ด้วยดี สามารถมีชีวิตอยู่ตามหลักของตน และสามารถปฏิบัติกิจดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงเกี่ยวกับการปกครอง การบริหาร การศาล นิติบัญญัติ การเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น ทั้งหมดเท่าที่ชุมชนตลอดถึงประเทศชาติจะตกลงใช้ปฏิบัติเป็นทางการ โดยตราไว้เป็นธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ”

๔. ความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ[21] กล่าวถึงความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย ไว้ดังนี้

ประการที่ ๑ พระวินัยคืออายุของพระพุทธศาสนา ในคราวก่อนที่จะเริ่มทำปฐมสังคายนา พระมหากัสสปะได้ปรึกษากับพระเถระผู้เข้าร่วมทำสังคายนาแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า จะดำเนินชำระสังคายนาพระวินัยก่อน เพราะพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนาพระวินัยจัดว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระศาสนาชื่อว่ายังดำรงอยู่ ดังนั้น จึงขอสังคายนาพระวินัยก่อน

ประการที่ ๒ พระวินัยเป็นด้ายร้อยเรียงลักษณะนิสัย/พฤติกรรมของคนไว้ในกรอบเดียวกัน พุทธประสงค์ในการประกาศพระศาสนา ในเชิงจริยศาสตร์สังคมมี ๒ ประการ คือ

(๑) กำจัดความคิดแบ่งแยกทางสังคม

(๒) กระตุ้นเตือนให้มนุษย์คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าภายในตน

พระพุทธองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาในพระพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ถ้าประสงค์จะบวชเป็นพระภิกษุ ภิกษุณีก็บวชได้ โดยไม่จำกัดว่าจะเกิดในตระกูลใด วรรณะใด และเมื่อประสงค์จะพัฒนาตนก็มีโอกาสพัฒนาได้เต็มที่ ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลแห่งการปฏิบัติ ไม่มีใครบันดาลให้ใครได้ สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญญํ วิโสธเย ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน ผู้อื่นจะให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ไม่ได้

ด้วยพุทธประสงค์อย่างนี้ จำเป็นต้องมีพระวินัยไว้เป็นกฎเกณฑ์ควบคุมดูแล เพราะธรรมดาคนที่มาจากสังคมหลากหลาย ย่อมมีลักษณะนิสัย และพฤติกรรมต่างกันอยู่แล้ว
ประการที่ ๓ ความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย ที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง เห็นได้จากพุทธประสงค์ ๑๐ ประการในการบัญญัติพระวินัย คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งภิกษุผู้มีศีลดีงาม เพื่อปิดกั้นอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน เพื่อบำบัดอาสวะอันจะบังเกิดในอนาคต เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย

วัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ กล่าวโดยสรุปคือ (๑)เพื่อความเรียบร้อยดีงามของสังคมสงฆ์ (๒) เพื่อความสบายใจของสังคมคฤหัสถ์ และ(๓) เพื่อพระพุทธศาสนาโดยตรง

ประเด็นนี้หมายถึง เมื่อมีพระวินัยเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ความสามัคคี ความผาสุกย่อมเกิดขึ้น สังคมมีมาตรการในการที่จะตัดสินลงโทษคนผิดชัดเจน กำจัดความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน และป้องกันความเสื่อมเสียอันจะเกิดในอนาคต ในส่วนของประชาชนคฤหัสถ์ แม้จะไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่เมื่อเห็นภาพการประพฤติดีปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ ย่อมเกิดความเลื่อมใส ส่วนผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งมีความเลื่อมใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเห็นภาพแห่งการประพฤติดีปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ ย่อมมีความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น อันว่าความเลื่อมใสนี่แหละทำให้จิตใจเย็นสบาย ไม่อึดอัดไม่ขัดเคือง

ประการที่ ๔ พระวินัยสร้างหลักประกันให้บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งในปัจจุบันและอนาคต เห็นได้จากที่พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ ๕ ประการแห่งความเป็นผู้มีศีล คือ (๑) ได้โภคทรัพย์กองใหญ่ (๒) ชื่อเสียงดีงามขจรไป (๓) เป็นผู้องอาจในที่ประชุมชน (๔) ไม่หลงตาย คือ ตายไปอย่างมีสติ (๕) เมื่อตายไป ย่อมไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์

ประการที่ ๕ ความเป็นกฎเกณฑ์และความมีคุณค่าทางสังคมของพระวินัย เห็นได้จากประเด็นต่อไปนี้

คำว่า วินัย ในที่นี้หมายถึงศีล ๒ ส่วน คือ (๑) ศีลที่มาในพระปาติโมกข์ของภิกษุ ๒๒๗ ข้อและศีลของภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ (๒) ศีลที่มานอกพระปาติโมกข์อีกจำนวนมาก ศีลมีอรรถะลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานดังนี้

๑. ลักษณะของศีล คือความเป็นรากฐาน

๒. รสของศีล คือ กำจัดความทุศีล หรือคุณที่หาโทษมิได้

๓. ปัจจุปัฏฐานของศีล คือความสะอาด

๔. ปทัฏฐานของศีล คือ หิริและโอตตัปปะ

ประเด็นที่ ๑ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่มีรากฐานแข็งแกร่ง

ประเด็นที่ ๒ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่ไร้ทุกข์โทษ

ประเด็นที่ ๓ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมสะอาด

ประเด็นที่ ๔ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมแห่งความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว

กล่าวโดยสรุป สังคมต้องมีวินัย วินัยแบ่งตามกลุ่มของผู้ปฏิบัติ มี ๒ อย่าง คือ

๑. อาคาริยวินัย กรอบควบคุมวิถีชีวิต แนวทางประพฤติสำหรับคฤหัสถ์ การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก การสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือกุศลกรรมบถ ๑ จัดเป็นอาคาริยวินัยหรือวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งเมื่อชายหญิงถือปฏิบัติทั่วถึงกันแล้ว ชื่อว่าป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิต เพราะเป็นเหตุนำความสงบสุขมาให้ทั้งแก่ตนและแก่หมู่คณะ

๒. อนาคาริยวินัย กรอบควบคุมวิถีชีวิต แนวทางประพฤติสำหรับสามเณร สามเณรี สิกขมานา พระภิกษุและภิกษุณี เช่น ศีล ๑ มีเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นข้อต้น เว้นจากการับทองและเงินเป็นข้อสุดท้าย ปาติโมกขสังวรศีล อินทริย-สังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจยสันนิสิตศีล

พระพุทธเจ้าก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตรัสกับพระอานนท์ว่า ธรรมและวินัยที่แสดงไว้ บัญญัติไว้ จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไป

๕.พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เป็นพระราชบัญญัติที่ตราไว้ในพุทธศักราช ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนที่เกี่ยวข้อกับการปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้

๑. กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ ตามมาตรา ๘ ความว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม”

๒. กำหนดให้มีมหาเถรสมาคม เป็นคณะกรรมการบริหาร มีองค์ประกอบตามมาตรา ๑๒ ความว่า “มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่รูป และไม่เกินแปดรูป เป็นกรรมการ”

๓. กำหนดการปกครองคณะสงฆ์ โดยมีมาตรา ๒๐ กล่าวถึงการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม มาตรา ๒๑ แบ่งการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ออกเป็น ภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล และให้มีพระภิกษุผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับดังนี้ (มาตรา ๒๒) เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล

๔. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษ ตามความผิดของพระภิกษุสามเณรที่ละเมิดพระธรรมวินัย โดยมีการกำหนดลงโทษสูงสุดคือสละสมณเพศ

กล่าวโดยสรุป พระวินัย คือ กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันการละเมิดและการกระทำผิดในครั้งต่อไปของพระภิกษุ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยในกรณีที่พระภิกษุรูปนั้น ๆ กระทำผิดที่เป็นสาเหตุให้พระพุทธศาสนาของพระองค์มัวหมอง ทำให้พุทธศาสนิกชนขาดศรัทธาที่จะทำนุบำรุง และขาดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของพระองค์ จึงทรงบัญญัติข้อห้ามไว้เพื่อป้องปรามพระภิกษุรูปอื่นที่จะละเมิดและกระทำผิดในอนาคตเช่นนั้นอีก พระองค์จะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นบังคับก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น จะบัญญัติพระวินัยเพื่อลงโทษพระภิกษุรูปนั้น ๆ หลังกระทำผิดแล้ว เพื่อไม่ให้ภิกษุรูปอื่นยึดถือเป็นเยื้องอย่างในการกระทำผิดต่อไป แต่ในยุคต่อมา จนถึงยุคปัจจุบัน การจะควบคุมพระภิกษุ สามเณร ที่ละเมิดพระวินัย โดยอาศัยพระวินัยอย่างเดียวมาควบคุมลงโทษคงไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยกฎหมายของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาควบคุมพฤติกรรมของพระภิกษุที่ละเมิดพระวินัยและกฎหมายต่อไป

บรรณานุกรม

พระธรรมปิฎก, พจนานุกรมพุทธศาสน์, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า ๓๔๕

ประจักษ์ พันธ์ชูเพชร. การเมืองการปกครองไทย : มิติทางประวัติศาสตร์ และสถาบันทางการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. (กรุงเทพมหานคร: มายด์ พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๓), หน้า ๑๙๙.

ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. รัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. (กรุงเทพมหานคร: ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๙), หน้า ๑๕๓.

สุรพล สุยะพรหม, ดร. การเมืองการปกครองของไทย. (กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาบรรณาคาร, ๒๕๔๘), หน้า ๘๐.

ธโสธร ตู้ทองคำ, ผศ. “อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร” ใน ชุดวิชาการเมืองการปกครองไทย หน่วยที่ ๑๑-๑๕. พิมพ์ครั้งที่ ๓. (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๙), หน้า ๑๒๐-๑๒๑.

ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. รัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. หน้า ๑๖๑-๑๖๓.

สุรพล สุยะพรหม, ดร. การเมืองการปกครองของไทย. หน้า ๑๒๓.

ปรีชา ช้างขวัญยืน, ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา, (กรุงเทพมหานคร: สามัคคีสาส์น, ๒๕๔๐), หน้า ๙๑-๙๔.

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก, หน้า ๑๔๐–๑๔๑.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๙, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๔๓๖-๔๓๗.

พระครูกัลป์ยาณสิทธิวัฒน์, พุทธบัญญัติ ๒๒๗ เพื่อความเข้าใจวินัยให้ถูกต้อง, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬา

ลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙), หน้า ๑๑.

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก, หน้า ๑๔๑ - ๑๔๒.

พระธรรมปิฎก, นิติศาสตร์แนวพุทธ, (กรุงเทพมหานคร: สหธรรมิก, ๒๕๔๑), หน้า ๖๘.

พระครูกัลยาณสิทธืวัฒน์, พุทธบัญญัติ ๒๒๗ เพื่อความเข้าใจวินัยให้ถูกต้อง, หน้า ๓๙๒-๓๙๔.

รุจิร์ ภู่สาระและจันทรานี สงวนนาม,๒๕๔๕:๔-๕

https://www.gotoknow.org/posts/323090

ที.สี.อ.(บาลี) ๑/๖๑ และดูเพิ่มเติมใน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๑๘๙.

ที.ม.(ไทย) ๑๐/๑๖๕/๑๑๐.

ม.มู.(ไทย) ๑๒/๑๖๑/๑๖๔-๕.

ที.ม.(ไทย) ๑๐/๑๘๙/๑๓๗-๑๔๗.

ที.ม.(ไทย) ๑๐/๑๓๒/๗๗, ส .ม.(ไทย) ๑๙/๑๐, ๔๘/๕๗๑.

องฺ.เอกก.(ไทย) ๒๐/๖๔/๒๕๐.



[๑]ประจักษ์ พันธ์ชูเพชร. การเมืองการปกครองไทย : มิติทางประวัติศาสตร์ และสถาบันทางการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. (กรุงเทพมหานคร: มายด์ พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๓), หน้า ๑๙๙.

[๒]ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. รัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. (กรุงเทพมหานคร: ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๙), หน้า ๑๕๓.

[๓]สุรพล สุยะพรหม, ดร. การเมืองการปกครองของไทย. (กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาบรรณาคาร, ๒๕๔๘), หน้า ๘๐.

[๔]เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๐.

[๕]ธโสธร ตู้ทองคำ, ผศ. “อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร” ใน ชุดวิชาการเมืองการปกครองไทย หน่วยที่ ๑๑-๑๕. พิมพ์ครั้งที่ ๓. (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๙), หน้า ๑๒๐-๑๒๑.

[๖]ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. รัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. หน้า ๑๖๑-๑๖๓.

[๗]สุรพล สุยะพรหม, ดร. การเมืองการปกครองของไทย. หน้า ๑๒๓.

[๘]อ่านเพิ่มเติมในบทที่ ๔

[๙]ปรีชา ช้างขวัญยืน, ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา, (กรุงเทพมหานคร: สามัคคีสาส์น, ๒๕๔๐), หน้า ๙๑-๙๔.

[10]พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก, หน้า ๑๔๐–๑๔๑.

[11]พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๙, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๔๓๖-๔๓๗.

[12]พระครูกัลยาณสิทธืวัฒน์, พุทธบัญญัติ ๒๒๗ เพื่อความเข้าใจวินัยให้ถูกต้อง, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬา

ลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙), หน้า ๑๑.

[13] พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก, หน้า ๑๔๑ - ๑๔๒.

[14] พระธรรมปิฎก, นิติศาสตร์แนวพุทธ, (กรุงเทพมหานคร: สหธรรมิก, ๒๕๔๑), หน้า ๖๘.

[15] พระครูกัลยาณสิทธืวัฒน์, พุทธบัญญัติ ๒๒๗ เพื่อความเข้าใจวินัยให้ถูกต้อง, หน้า ๓๙๒-๓๙๔.

[16] กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. วินัยมุข เล่ม ๑. (กรุงเทพมหานคร: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๓), หน้า ๘-๙.

[17]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑-๔.

[18]พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๙, หน้า ๔๔๙-๔๕๐.

[19]พระครูกัลยาณสิทธืวัฒน์, พุทธบัญญัติ ๒๒๗ เพื่อความเข้าใจวินัยให้ถูกต้อง, หน้า ๕.

[20] พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๙, หน้า ๔๔๘-๔๔๙.

[21] สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ, พระมหา. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๗๙-๘๒.

หมายเลขบันทึก: 616242เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2016 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2016 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หลักนิติบัญญัติบริหารและตุลาการตามแนวพระพุทธศาสนา โดย…คนอง วังฝายแก้ว สาขาวิชารัฐศาสตร์ มจร.วข.พะเยา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท