การลงโทษอาญาตามกฎหมายมังรายศาสตร์ กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ พระวินัย (กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น) และกฎหมายอาญา


บทคัดย่อ

การเขียนบทความทางวิชาการในครั้งนี้เพื่อจะศึกษาเนื้อหาสาระกระบวนการพิจารณาและบทลงโทษของกฎหมาย ๔ ฉบับ คือ มังรายศาสตร์ (กฎหมายพระเจ้ามังราย) กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2535 พระวินัยปิฎก (กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น) และกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายมีระบบการไต่สวนพิจารณาความที่สอดคล้องกันอย่างรอบคอบ มีการอ้างสักขีพยานบุคคล หรือพยานวัตถุ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการเปรียบเทียบตัดสินโดยอาศัยหลักธรรมและตัวอย่างในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก มีการแนะนำหลักของพิจารณาตัดสิน และกำหนดลักษณะของผู้ไต่สวนหรือตัดสินด้วย นั้นก็คือผู้ตัดสินไต่สวนต้องมีความเป็นกลาง มีความเที่ยงตรง และมีคุณธรรมประจำใจ

ABSTRACT

Writing articles in this study to be substantive procedures and penalties of the law No. 4 is oriented Mang (Mang divine law) law governing clergy 2505 (as amended) May. Prof. 2535 Vinaya (Buddha enacted law) and criminal law. A legal system to determine the corresponding probe carefully. I have witnessed people Or evidence Involved Comparisons have been judged by the principles and examples of Buddhist scriptures into the mainstream. With the introduction of the decision. And given the nature of the inquiry or judge. The trial judge is required to be neutral. Fidelity And goodness of heart

๑.บทนำ

มังรายศาสตร์ (กฎหมายพระเจ้ามังราย) กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2535 พระวินัยปิฎก (กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น) และกฎหมายอาญา กฎหมายคือกฎ กติกา และข้อบังคับ ซึ่งถือว่าเป็นกติกาทางสังคมทุกคนจะต้องรับรู้และปฏิบัติตาม จะอ้างมิได้ว่าไม่รู้กฎหมายไม่ปฏิบัติตามทำไม่ได้ กฏหมายเป็นธรรมนูญอันสูงสุด เพื่อนำมาใช้ควบคุมบุคคลทั่วไปที่กระทำผิดหรือล่วงละเมิดกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่าคนไทยทุกคนหรือคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยพึ่งบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในผืนแผ่นดินไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย แม้แต่สมัยพระเจ้ามังรายเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ใน ปี พ.ศ. 1835 ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อขุนรามคำแหงทรงปกครองอาณาจักรสุโขทัย พระองค์ก็ทรงบัญญัติกฎหมายขึ้นปกครองประชาชนของพระองค์ ที่เรียกว่า มังรายศาสตร์ คือกฎหมายของพระเจ้ามังรายผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ สาระสำคัญของเนื้อหาของกฎหมายมังรายศาสตร์ เป็นการกล่าวถึงวิธีพิจารณาความและตัดสินความในแง่มุมต่าง ๆ ของคนในสมัยนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละรูปคดี คล้ายกับเป็นคู่มือการพิจารณาของศาลมากกว่าการตัดสิน โดยมีบทกำหนดโทษตั้งแต่เบาที่สุด ถึงหนักที่สุด โทษเบาที่สุดก็ให้ขอขมาซึ่งกันและกัน โทษหนักที่สุดก็ให้ประหารชีวิต ส่วนโทษขนาดกลางก็คือให้ปรับหรือริบทรัพย์สิน

๒.ประวัติและความเป็นมาส่วนของคัมภีร์

ในคัมภีร์ใบลานฉบับนี้ไม่ได้แยกประเภทของกฎหมายออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจนนัก คงกล่าวปะปนกันไปเป็นเรื่อง ๆ ติดต่อกันไป นอกจากจะบอกวิธีตัดสินพิจารณาความแล้วยังมีการยกตัวอย่างจากคัมภีร์ต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนามาเปรียบเทียบตัดสินด้วย ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง กฎหมายมังรายศาสตร์จะมีลักษณะสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ[๑]

1.ส่วนที่เป็นความผิดทางอาญา

2.ส่วนที่เป็นความผิดลักษณะการลงโทษ

การกำหนดโทษทางอาญาสถานหนัก มีอยู่ 3 สถานคือ

1.ประหารชีวิต

2.ตัดเท้าตัดมือ

3.นำไปขายต่างเมือง

จะเห็นได้ว่าโทษสถานหนักทั้งสามข้อ จะลงโทษผู้ที่กระทำความผิดเฉพาะสาเหตุที่ทำความผิดทั้ง 12 ข้อ

1. ฆ่าผู้ไม่มีความผิด

2. ฆ่าท่านเอาทรัพย์

3. ทำลายกุฏิ,วิหาร,พระพุทธรูป

4. รุกล้ำที่

5. ชิงทรัพย์

6. ขโมยของพระสงฆ์

7. ลูกฆ่าพ่อ

8. ลูกฆ่าแม่

9. น้องฆ่าพี่

10.ฆ่าเจ้า

11.เมียฆ่าผัว

12.รับผู้คนของท้าวพระมาพักในบ้าน

จะเห็นได้ว่ากฎหมายมังรายศาสตร์ จะมีลักษณะการลงโทษจากเบาไปหาหนัก ตามโทษานุโทษ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายอาญาในปัจจุบัน สิ่งที่น่าสังเกตว่าในสมัยก่อนความผิดที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวจะมีการลงโทษเด็ดขาด เช่น มารดามีอำนาจเหนือบุตรจะฆ่าทิ้งหรือขายเสียก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าลูกฆ่าพ่อหรือฆ่าแม่จะได้รับโทษสถานหนัก เช่นเดียวกันกับเมียฆ่าผัว ต้องถูกลงโทษสถานหนักเช่นกัน

สิ่งที่น่าสังเกตว่า ตัดสินคดีความเพื่อความยุติธรรมของกฎหมายมังรายศาสตร์ เมื่อเกิดคดีขึ้น ก็จะมีการไต่สวนพิจารณาความกันอย่างรอบคอบ มีการอ้างสักขีพยานบุคคล หรือพยานวัตถุ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการเปรียบเทียบตัดสินโดยอาศัยหลักธรรมและตัวอย่างในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก มีการแนะนำหลักของพิจารณาตัดสิน และกำหนดลักษณะของผู้ไต่สวนหรือตัดสินด้วย นั้นก็คือผู้ตัดสินไต่สวนต้องมีคุณธรรมประจำใจ ฉลาดทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ในกฎหมายมังรายศาสตร์ ได้ใช้คำว่า เป็นผู้ฉลาดในศาสตระศิลป์ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นจะมีการซื้อขายทาสกันอยู่ แต่สังคมในสมัยนั้นก็ยังให้เกียรติและเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินพิจารณาบทลงโทษหรือการแบ่งทรัพย์สินจะมีการให้เกียรติและเห็นความสำคัญของผู้หญิงมากเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือว่าผู้หญิงเป็นเพศแม่และเป็นเพศที่อ่อนแอ

๓. กฎหมายปกครองคณะสงฆ์

ส่วนของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ หมวดที่ 4 ที่ว่าด้วยนิคหกรรมและการสละสมณเพศ จะมีการลงโทษพระสงฆ์ไปตามลำดับขั้นตอนตามความผิดที่ได้กระทำลงไป จากโทษเบาไปหาโทษสถานหนักเช่นเดียวกัน คือต้องสละสมณะเพศ(สึกจากความเป็นพระภิกษุ)ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ว่า “พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายใน ยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น”

คำว่า”นิคหกรรม” คือ การลงโทษตามพระธรรมวินัยหรือสังฆกรรมประเภทลงโทษผู้ทำความผิด มีทั้งหมด 6 ข้อ คือ[๒]

1.ตัชชะนียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่ เช่น พระภิกษุก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร

2. นิสยกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้ไร้ยศได้แก่การถอดยศเป็นชื่อนิคหกรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่สมควร โดยปรับให้ถือนิสัยใหม่อีก
3. ปัพพาชนียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสียหรือการไล่ออกจากวัดกรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลและประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่หรือแก่ภิกษุผู้เล่นคึกคะนองอนาจารลบล้างพระบัญญัติและมิจฉาชีพ
4. ปฏิสารณียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุให้ไปขอขมาคฤหัสถ์ เช่น ภิกษุด่าคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นทายกอุปฐากสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่เป็นทางจะยังคนผู้ยังไม่เสื่อมใสมิให้เลื่อมใส จะยังคนผู้เลื่อมอยู่แล้วให้เป็นอย่างอื่นไปเสีย
5. อุกเขปนียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย เช่นวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติหรือไม่ยอมทำคืนอาบัติหรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วมไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลายพูดง่ายๆว่าถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว
6. ตัสสปาปิยสิกากรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม

กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพพูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซักพูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิดแม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง

๔.กฎหมายอาญา เป็นกฎหมายมหาชน มีลักษณะการใช้บังคับดังนี้[๓]

๔.๑ ต้องมีบทบัญญัติโดยชัดแจ้งกฎหมายอาญาจะต้องมีบทบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยบัญญัติความผิดและโทษไว้ในขณะกระทำ และบทบัญญัตินั้นต้องชัดเจนปราศจากการคลุมเครือมิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้ เพราะการลงโทษเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลโดยตรง ฉะนั้น ลักษณะการใช้บังคับกฎหมายอาญาจึงถือหลักไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ไม่มีกฎหมาย โดยเคร่งครัด

๔.๒ ต้องตีความโดยเคร่งครัดบางกรณีการตีความตามตัวอักษรแต่เพียงอย่างเดียวยังไม่อาจทำเข้าใจความหมายที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย นอกจากนี้ การตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดดังกล่าว มีความหมายเฉพาะการเคร่งครัดในด้านที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำเท่านั้น มิใช่ในทางที่จะเป็นโทษแก่ผู้กระทำ ในการตีความกฎหมายอาญานั้น จะนำหลักการเทียบกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง มาใช้บังคับให้เป็นผลร้ายแก่ผู้กระทำมิได้ หลักการเทียบเคียงนั้น ใช้เฉพาะในกฎหมายแพ่งดังที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 อย่างไรก็ดีหลักการเทียบเคียงดังกล่าวอาจนำมาใช้เพื่อเป็นคุณหรือเป็นประโยชน์แก่ผู้กระทำได้

๔.๓ ย้อนหลังเป็นผลร้ายมิได้ แต่หากการใช้บังคับกฎหมายอาญาย้อนหลังแล้วเกิดผลดีแก่ผู้กระทำผิดนั้นสามารถใช้บังคับได้ กรณี คือ

1. กรณีกฎหมายใหม่ยกเลิกความผิดตามกฎหมายเก่า

2. กรณีกฎหมายใหม่แตกต่างจากกฎหมายเก่า

ความรับผิดทางอาญา ในการรับผิดทางอาญา ต้องมีครบทั้ง 2 องค์ประกอบ คือ

1. องค์ประกอบภายนอก

2. องค์ประกอบภายใน

ข้อสังเกตมีเพียงบางความผิดเท่านั้น ที่ต้องรับผิดแม้ไม่ครบองค์ประกอบ กล่าวคือ มีแต่องค์ประกอบภายนอกเท่านั้น ก็ถือเป็นความผิด (รายละเอียดขอให้ติดตามในเนื้อหา)

๑.องค์ประกอบภายนอกคือ องค์ประกอบภายนอกของความผิดแต่ละฐาน เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย (มาตรา 288) จะประกอบด้วย ผู้กระทำ การกระทำและวัตถุแห่งการกระทำ คือ 1. ผู้ใด 2. ฆ่า3. ผู้อื่น

2. องค์ประกอบภายใน

๑.เจตนา พอแบ่งได้ 2 ความหมายคือ

๑.๑ เจตนาประสงค์ต่อผลหมายความว่า มุ่งหมายหรือประสงค์ต่อผลโดยตรง ในความผิดต่อชีวิต และความผิดต่อร่างกาย ในการวินิจฉัยต้องใช้หลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาเป็นแนวทางในการพิจารณา เช่น ถ้าผู้กระทำใช้ปืนยิงไปที่ผู้เสียหาย โดยยิงไปที่อวัยวะสำคัญ ๆ ต้องถือว่าประสงค์หรือมุ่งหมายให้ผู้เสียหายตาย แต่ถ้าใช้มีดเล็กๆ แทงทีเดียวในเวลาค่ำมืด ขณะที่มองเห็นไม่ถนัด อาจต้องถือว่าประสงค์หรือมุ่งหมายต่ออันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายเท่านั้นก็ได้

๑.๒ เจตนาเล็งเห็นผลหมายความว่า ผู้กระทำไม่ประสงค์ต่อผลแต่เล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลอย่างแน่นอน เท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นเดียวกับผู้กระทำโดยปกติเล็งเห็นได้ในการวินิจฉัยนั้น ให้พิจารณาถึงเรื่องประสงค์ต่อผลก่อน หากพิจารณาเห็นว่าผู้กระทำไม่ประสงค์ต่อผล จึงค่อยมาพิจารณาต่อไปว่าผู้กระทำเล็งเห็นผลหรือไม่ เจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลก็มีผลทางกฎหมายอย่างเดียวกันกล่าวคือ ถ้าเป็นเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผล ผู้กระทำก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามปอ. มาตรา 288 ถ้าเป็นเจตนาฆ่าประเภทเล็งเห็นผล ผู้กระทำก็ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตาม ปอ. มาตรา 288 เช่นเดียวกัน

๒.เจตนาพิเศษ

เจตนาพิเศษคือ มูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด เจตนาพิเศษเป็นคนละกรณีกับเจตนาธรรมดา เจตนาธรรมดาคือประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ความผิดใดกฎหมายต้องเจตนาพิเศษ ก็จะบัญญัติถ้อยคำที่แสดงว่าเป็นเจตนาพิเศษไว้ในองค์ประกอบของความผิดนั้น ๆ โดยตรง เช่น คำว่า โดยทุจริต ถือว่าเป็นเจตนาพิเศษของความผิดฐานลักทรัพย์(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา334) คำว่า เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เป็นเจตนาพิเศษของความผิดฐานปลอมเอกสาร(มาตรา 264) ในการพิจารณาถ้อยคำนั้น ๆ เป็นเจตนาพิเศษหรือไม่ให้สังเกตที่คำว่า เพื่อ………..หรือคำว่า โดยทุจริต เป็นต้น ความผิดที่กฎหมายต้องการเจตนาพิเศษ เช่น ความผิดฐานปลอมเอกสาร (มาตรา 264) หากผู้กระทำมีแต่เจตนาธรรมดา เช่น ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลเท่านั้น ผู้กระทำก็ยังไม่มีความผิด โดยถือว่าขาดองค์ประกอบภายใน แต่ถ้าความผิดมาตรา นั้น ๆ กฎหมายไม่ต้องการเจตนาพิเศษ เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตาม มาตรา 288 เพียงแต่ผู้กระทำมีเจตนาธรรมดา กล่าวคือ ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ผู้กระทำก็มีความผิดแล้ว

๓. ประมาท

การกระทำโดยประมาทตามปอ. มาตรา 59 วรรค 4 มีหลักเกณฑ์ดังนี้

๑. มิใช่เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา

๒. กระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์

๓.ผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

ส่วนกฎหมายอาญาที่มีความสอดคล้องและสัมพันธ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ พระภิกษุที่บัญญัติในกฎหมายอาญาตามมาตรา 29 ว่า ”พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควร ให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุมหรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุมหรือพระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่งให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณะเพศเสียได้”

จะเห็นได้ว่า กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ มีการกำหนดโทษพระภิกษุที่ได้กระทำผิดพระธรรมวินัย เป็นอาจิณ จนไม่สามารถอยู่ในวงศ์จรของสังคมสงฆ์หรือหมู่สงฆ์ได้ จะต้องได้รับการลงโทษสถานหนัก คือการสละสมณะเพศจากความเป็นพระภิกษุ มาเป็นคฤหัสถ์ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองที่จะลงโทษบุคคลนั้นให้เป็นไปตามกฎหมายอาญา ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 29 ของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ข้างต้น สิ่งที่น่าสังเกตว่ากฎหมายปกครองคณะสงฆ์ในมาตรา 26 ที่พระภิกษุทำความผิดและได้รับนิคหกรรมให้สึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงถือว่าเป็นการลงโทษสถานหนักสำหรับพระภิกษุ แต่ว่าสึกมาแล้วเป็นคฤหัสถ์ ปรับปรุงตนเอง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเก่าๆที่เคยกระทำมา ถ้ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็สามารถเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุใหม่ได้ เพราะว่ามิใช่ความผิดทางอาญา ถึงขั้นศาลสั่งจำคุก หรือต้องอาบัติปาราชิกสี่

๕. พระวินัยบัญญัติ

สำหรับกฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (พระวินัยบัญญัติ) พระองค์จะไม่ทรงบัญญัติข้อห้ามก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์การกระทำความผิดเกิดขึ้น พระองค์ก็ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้ภิกษุรูปต่อไปกระทำความผิดซ้ำ ๆ อีก เป็นการปรามภิกษุรูปอื่น ๆ ที่จะกระทำความผิดในกรณีเช่นเดียวกันในอนาคต ส่วนสาระสำคัญของพระวินัยหรือศีล คือ ข้อห้ามสำหรับพระภิกษุ มีทั้งหมด 227 ข้อ ส่วนที่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับกฎหมายอาญาของบ้านเมือง มีอยู่ 4 ข้อ ที่เรียกว่า ปาราชิกสี่ ส่วนข้อที่สำคัญหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญา มีอยู่ 3 ข้อคือ

1.เสพเมถุน (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)

2.ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ (ขโมย)

3.พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน)

จะเห็นได้ว่า พระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เพื่อเป็นการห้ามปรามพระภิกษุหัวดื้อ ที่จะล่วงละเมิดพระธรรมวินัย โดยเฉพาะข้อห้ามทั้ง 3 ข้อ ถ้าพระภิกษุรูปใด ไปกระทำความผิดในข้อใดข้อหนึ่ง จะต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ถึงแม้ว่าพระภิกษุรูปอื่นหรือบุคคลทั่วไปไม่รู้ว่าพระภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาราชิกสี่ ข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นขาดจากความเป็นพระภิกษุโดยทันที (เป็นคฤหัสถ์) โดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าพระภิกษุรูปนั้นรู้ตัวว่าตนเองมิใช่พระภิกษุ ยังดื้อ ไม่มีความละอาย ยังดื้อดึงเข้าร่วมสังฆกรรมนั้น จะทำให้ สังฆกรรม (กิจกรรมที่พระสงฆ์จัดทำขึ้นจำนวนสี่รูปขึ้นไป) ไม่สมบูรณ์หรือด่างพร้อย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายกับภิกษุรูปนั้นที่ต้องอาบัติปาราชิกสี่โดยเฉพาะข้อที่สาม คือ การฆ่าคน ตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ตามความผิดจากโทษเบาไปหาโทษสถานหนัก คือ ประหารชีวิต สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า พระภิกษุที่ต้องอาบัติหนักคือปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง ถูกสั่งให้สึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ ไม่สามารถเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุใหม่ได้ เปรียบเสมือนต้นตาลยอดด้วน ไม่งอกงามในพระพุทธศาสนา.

กล่าวโดยสรุป กฎหมายทั้ง ๔ ฉบับ คือ กฎหมายมังรายศาสตร์กฎหมายการปกครองคณะสงฆ์ 2505 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2535) พระวินัยบัญญัติ (กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น) และกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายมีระบบการไต่สวนพิจารณาความที่สอดคล้องกันอย่างรอบคอบ มีการอ้างสักขีพยานบุคคล หรือพยานวัตถุ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการเปรียบเทียบตัดสินโดยอาศัยหลักธรรมและตัวอย่างในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก มีการแนะนำหลักของพิจารณาตัดสิน และกำหนดลักษณะของผู้ไต่สวนหรือตัดสินด้วย นั้นก็คือผู้ตัดสินไต่สวนต้องมีความเป็นกลาง มีความเที่ยงตรง และมีคุณธรรมประจำใจ

บรรณานุกรม

มังรายศาสตร์ใบลานฉบับวัดหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, หน้า 125. สาระสำคัญของกฎหมายอาญา, base.bcnpy.ac.th/elearning/laws/C001.htm



[๑] มังรายศาสตร์ใบลานฉบับวัดหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

[๒]พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, หน้า 125.

[๓] สาระสำคัญของกฎหมายอาญา, base.bcnpy.ac.th/elearning/laws/C001.htm



หมายเลขบันทึก: 616238เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2016 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2016 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท