เมื่อมีจุดหมายยังไงก็ต้องไปให้ถึง :")


“เมื่อได้ลองเป็น จึงได้เข้าใจ”

“เมื่อมีจุดมุ่งหมายยังไงก็ต้องไปให้ถึง

เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ในคาบเรียนวิชา PTOT333 กิจวัตรประจำวันและการฟื้นฟูสมรรถภาพ ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายงานให้รับบทบาทเป็น นักกิจกรรมบำบัด และผู้รับบริการที่เป็นโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) ที่ต้องใช้รถเข็นเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งการเดินทางนั้นเริ่มจาก คณะกายภาพบำบัด โดยเริ่มแรกข้าพเจ้าได้รับบทบาทเป็นนักกิจกรรมบำบัดก่อน เพื่อคอยดูแลเพื่อนที่ได้รับบทเป็นผู้รับบริการ

การเดินทางนั้นถ้าเดินทางแบบปกติโดยใช้จักรยาน หรือเดินไป ถือว่าเป็นระยะทางที่ไม่ไกลเลยถ้าเทียบกับตอนที่เราปกติ แต่เมื่อต้องมารับบทบาทผู้รับบริการแล้วนั้น ทำให้ระยะทางที่ใกล้ๆกลับไกลเป็นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว แต่เมื่อได้รับมอบหมายงานมาแล้ว เราก็ต้องทำให้สำเร็จ แต่เมื่อออกเดินทางไปได้ไม่ถึงครึ่งทางเราก็พบเจอกับอุปสรรคที่ถือว่าวัดใจกันเลยทีเดียว


เพราะเป็นทางที่ต้องข้ามถนนใหญ่ 2 เลน ถึงแม้จะดูไม่ไกลมาก แต่เมื่อต้องมาใช้รถเข็นกลับทำให้เพื่อน และข้าพเจ้ารู้สึกกลัว เพราะเป็นทางที่ไม่มีสัญญาณไฟบอกให้ข้ามถนน ต้องรอให้ทั้ง 2 เลนของถนนโล่งก่อน แต่ข้าพเจ้าและเพื่อนก็ข้ามมาได้จนสำเร็จ แม้ตอนนั้นข้าพเจ้าจะรับบทบาทเป็นนักกิจกรรมบำบัด แต่ก็รับรู้ได้ถึงความรู้สึกของเพื่อนที่ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นได้


พอผ่านมาได้นั้นก็ยังพบกับอุปสรรคหนึ่งก็คือถนนที่ขรุขระ ซึ่งถ้าไม่มองให้ดี ก็อาจจะทำให้รถตกหลุม และผู้รับบริการอาจจะล้มจากรถเข็นได้ ข้าพเจ้าจึงพาเพื่อนหลบทางนั้นมาและเมื่อเดินทางไปได้สักพัก


ก็ได้พบกับอุปสรรคอีกอย่างซึ่งก็คือ ตอม่อที่เอาไว้กั้นไม่ให้รถยนต์ขับเข้ามา ซึ่งก็มีระยะทางที่พอดีกับรถเข็นแต่เนื่องจากเพื่อนของข้าพเจ้ายังไม่ชำนาญในการใช้รถเข็นจึงเกือบเลี้ยวไม่ได้ แต่ก็ช่วยเข็นจนผ่านมาได้อีกครั้ง


ตลอดทางเราใช้ทางเลนจักรยานซึ่งก็เป็นทางที่เรียบและไปได้ง่าย แต่พอถึงครึ่งทางก็พบอุปสรรคจากเลนจักรยานตรงข้างๆสนามเปตอง เพราะเป็นทางที่มีฝาปิดท่อระบายน้ำ เลยทำให้เพื่อนที่รับบทเป็นผู้รับบริการเกือบล้มจากรถเข็น


พอผ่านจุดนั้นมาได้ เราก็มาได้เกือบจะถึงคณะสัตวแพทย์แล้ว แต่ก็เจอกับอุปสรรคอีกจนได้ เพราะเป็นทางที่เป็นเนินสูงขึ้นมากว่าปกติ ตอนแรกข้าพเจ้าและเพื่อนคิดว่าต้องผ่านไปไม่ได้แน่ๆ แต่ด้วยคำที่อ.วินัยย้ำไว้ก่อนจะลงมาทำกิจกรรม ว่าให้ผู้รับบริการลองทำด้วยตัวเองให้มากที่สุด ข้าพเจ้าจึงพูดให้เพื่อนลองทำด้วยตนเองดูก่อน และเพื่อนก็ใช้มือหมุนล้อขึ้นเนินนั้นมาได้จนสำเร็จ


พอผ่านจุดนั้นมาได้ เราก็ถึงตรงข้ามคณะสัตวแพทย์แล้ว เหลือเพียงข้ามถนนอีกรอบ แต่คราวนี้ดูจะยากกว่าเดิมเพราะตรงนี้อยู่ใกล้บริเวณประตู 6 ซึ่งจะมีรถขับเข้าออกเกือบตลอดเวลา และค่อนข้างใช้ความเร็ว แต่แล้วข้าพเจ้ากับเพื่อนก็สามารถผ่านจุดนั้นมาได้


แต่พอถึงแล้วกลับเจออุปสรรคที่โหดที่สุดนั้นก็คือทางขึ้นของโรงพยาบาลสัตว์นั้น ไม่มีทางลาดขึ้น มีแต่เพียงบันไดที่สูงมากๆ ประมาน 5-6 ขั้น ข้าพเจ้ากับเพื่อนจึงตกลงกันว่าให้เพื่อนเลิกแสดงบทบาทสักครู่แล้วยก วีลแชร์ขึ้นทางสูงนั้น


และก็ให้เพื่อนนั่งอีกครั้ง แล้วเข็นขึ้นทางลาดข้างๆประตู ซึ่งจริงๆแล้วทางลาดนั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้รถเข็นขึ้น แต่น่าจะสร้างมาเพื่อเป็นทางให้รถเข็นสัตว์เข็นลงมาจากโรงพยาบาล ทางนั้นจึงค่อนข้างสูงชัน แต่ด้วยภารกิจที่ต้องทำ ทำให้เราทั้งสองคนช่วยกันเข็นรถให้ขึ้นมาอยู่ที่ประตูทางเข้าได้สำเร็จ


ระหว่างที่ข้าพเจ้ากำลังถ่ายรูปนี้อยู่ ก็มีคนแถวนั้นเข้ามาถามไถ่และให้การช่วยเหลือ เราก็ได้แต่ขอบคุณและบอกว่า มาทำงานกันค่ะ แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจที่ไม่เคยหายไปของคนไทยเลยจริงๆ ขอขอบคุณพี่คนนั้นอีกครั้งนะคะ :")


พอถ่ายรูปเสร็จก็ถึงเวลาที่ข้าพเจ้าต้องมารับบทบาทเป็นคนไข้บ้างแล้ว แวบแรกแอบคิดว่าน่าจะสบายนะ ก็แค่นั่งๆเอาแขนเข็นล้อเอง ไม่น่าจะเหนื่อย แต่พอได้ลองจริงๆแล้วกลับยากกว่าที่คิดมากๆเพราะต้องใช้กำลังแต่การใช้แขนไถรถเข็น แล้วไม่ใช่แค่เพียงการออกแรง ยังต้องบังคับทิศทางรถให้ตรงไม่เบี้ยวไปทางอื่นอีก บอกได้เลยว่ากว่าจะถึงคณะเล่นเอาเหงื่อตกกันเลยทีเดียว แต่แล้วเราก็ผ่านอุปสรรคต่างๆและมาถึงคณะจนสำเร็จ

สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ในวันนี้ไม่เพียงแต่การฝึกทักษะการใช้รถวีลแชร์ แต่ยังเป็นการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นอีกด้วย

ความรู้สึกแรกที่ได้ลองนั่งรถเข็นและได้ลองเข็นนั้น รู้สึกว่ายากลำบากในการบังคับทิศทางของรถเข็นมาก และรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น แต่ด้วยหน้าที่ที่จะต้องไปให้ถึง เพื่อนที่รับบทบาทเป็นนักกิจกรรมบำบัดก็ได้ช่วยดูแล ช่วยเข็นไปในทางที่ลำบาก ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้เหนื่อยอยู่คนเดียวนะ และพยายามเข็นไปให้ถึงจุดหมาย

จากที่ได้เล่าเรื่องราวไปข้างต้น ว่าต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง เหตุผลที่ทำให้มาถึงโรงพยาบาลสัตว์ได้ ก็คือได้นึกถึงบทบาทของผู้รับบริการว่ามีสัตว์เลี้ยงที่ป่วย และต้องการนำมาให้คุณหมอรักษา แม้ว่าทางจะลำบากหรือร้อนก็อยากที่จะทำให้สำเร็จ สิ่งที่ควรแก้คือปรับทางขรุขระ และเพิ่มสัญญาณไฟให้คนข้ามถนน เพื่อให้สามารถเดินทางมาได้สะดวกยิ่งขึ้น

ผู้รับบริการที่ได้รับบทบาทนั้นป่วยเป็นโรคปลอกประสาทอักเสบที่ไขสันหลังส่วนล่าง ทำให้ร่างกายส่วนล่างชา และต้องใช้รถเข็นในการเคลื่อนย้ายตนเอง ซึ่งผู้ที่รับบทบาทเป็นนักกิจกรรมบำบัดก็จะต้องคอยดูแล คอยให้กำลังใจ และสอนการใช้รถเข็นที่ถูกวิธีแก่ผู้รับบริการและผู้ดูแลผู้รับบริการ

จากการเรียนรู้ในวันนี้ทำให้เห็นถึงหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัดที่ไม่เพียงแต่ดูแลรักษาผู้รับบริการ แต่ยังต้องเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้รับบริการอีกด้วย ทำให้ได้เข้าใจถึงความรู้สึกผู้รับบริการจริงๆว่ารู้สึกอย่างไร และเมื่อเจอกับอุปสรรคต่างๆเราจะจัดการกับสิ่งนั้นยังไง เพราะสุดท้ายแล้ว

“เมื่อมีจุดมุ่งหมายยังไงก็ต้องไปให้ถึง” :")

หมายเลขบันทึก: 613820เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2016 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2016 01:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทความดีมากครับ ขอบคุณสำหรับการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท