สอนอาขยานต้องเข้าถึงคุณค่าของอาขยานก่อน


สอนท่องอาขยาน

สอนอาขยานต้องเข้าถึงคุณค่าของอาขยานก่อน

เฉลิมลาภ ทองอาจ,ค.ด.

ศิลปะของการใช้เสียงเป็นสิ่งที่ควบคู่กับมนุษย์มานาน เรารู้จักที่จะร้อง ขับ กล่อม เห่ หรือใช้เสียงในลักษณะต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างอารมณ์ ความรู้สึก ทั้งที่เกิดกับตัวเราเอง และที่เกิดกับผู้ฟัง หลายคนจึงเป็นผู้พอใจที่จะใช้เสียง และเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของการใช้เสียง ในขณะเดียวกัน หลายคนก็พึงใจที่จะรับฟังเสียงที่เกิดจากการประดิดประดอยเหล่านั้นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเสียงที่คนเราสามารถสร้างได้ง่ายด้วยตนเอง และสร้างสรรค์เป็นอย่างมากก็คือ เสียงของถ้อยคำ ที่ทำให้เกิดศิลปะประเภทกวีนิพนธ์ขึ้น




เมื่อกวีคิดและเรียงถ้อยคำให้เกิดความงามด้านภาษา กวีนิพนธ์ต่าง ๆ จึงมีความงามในด้านเสียงและความหมายที่ผสมกลมกลืนกันเป็นอย่างดี ด้วยถ้อยคำที่มีเสียงไพเราะประกอบกับเนื้อหาที่มีความหมายกินใจ
ก็ทำให้กวีนิพนธ์หลายบท มีความโดดเด่นจนถึงขึ้นเป็นสิ่งที่ควรจะจดจำ เหมือนดังภาพที่งดงามภาพหนึ่ง
ที่หลับตาคราใด ในความคิดของเรา ก็จะยังคงปรากฏภาพนั้น ดังเช่น บทประพันธ์ตอนหนึ่งจากอิเหนา ที่ว่า

“แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล

ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา”

การเปรียบเทียบที่คมคาย สอดคล้องกับการใช้เสียงสัมผัสที่ลงจังหวะ ในความหมายของการตัดพ้อของนางจินตะหรา สื่อให้เห็นความรู้สึกของการไม่ไว้วางใจ ความห่วงหาอาวรณ์ ที่พระนางมีต่อสามีคืออิเหนาที่มาลาไปรบ คำประพันธ์ข้างต้น จึงถือว่ามีความงาม คือ งามทั้งในด้านโวหารการเปรียบเทียบ และงามในด้านของภาษา ข้อความตรงนี้ ผู้อ่านหลายคนจึงจดจำ ถือเป็น “วรรคทอง” ตอนหนึ่งของผู้ศึกษาวรรณคดีเรื่องอิเหนา และที่สำคัญคือ กวีนิพนธ์นี้ให้ได้ข้อคิด โดยนำความเป็นจริงของธรรมชาติ มาเทียบกับความรัก ทำให้เป็นความรักได้ชัดเจน เป็นรูปธรรม และในขณะเดียวกันก็สื่อความหมายที่เศร้าหมอง หมดหวังและสิ้นกำลังใจที่จะอยู่ต่อ ผู้ที่กำหนดให้ศึกษาวรรณคดี จึงได้คัดเลือกให้คำประพันธ์นี้ เป็นบทอาขยานสำหรับนักเรียนผู้ศึกษาวรรณคดีท่องจำไว้

ดังจะเห็นได้ว่า วรรคทอง หรือช่วงตอนที่นำมาเป็นบทอาขยานนั้น ทั้งที่เป็นขนาดยาวหรือสั้น ย่อมเป็นบทที่มีความงามด้านภาษาอยู่แล้วเป็นพื้น คือ ใช้ถ้อยคำดี ใช้จังหวะวี และใช้เสียงที่สอดคล้องต้องกันดี แต่เหนืออื่นใด คือ เนื้อความของบทอาขยานบทนั้น มักเป็นบทที่คัดเลือกมาแล้ว่า จะต้องสื่อความหมายที่เป็นประโยชน์ แสดงให้เห็นสัจธรรม อันจะเป็นบทเรียนชีวิตให้แก่ผู้อ่าน ที่จะได้เตือนใจตนเอง เพื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
การท่องจำอาขยาน หรือการฝึกอ่านซ้ำ ๆ จะช่วยให้เนื้อหาของบทเข้าสู่ความทรงจำระยะยาว และเมื่อวันเวลาผ่านไป ผู้ท่องจำบทอาขยาน แม้เมื่อเจอเหตุการณ์ หรือปัญหาต่างๆ ก็สามารถที่จะระลึกข้อคิด หรือข้อเตือนใจจากบทอาขยานมาสอนหรือเป็นบทเรียนเพื่อเตือนสติตนเอง ตัวอย่างเช่น การเตือนตนไม่ให้ใส่ใจกับคำคนนินทาในโคลงโลกนิติต่อไปนี้

“ห้ามเพลิงไว้อย่าให้ มีควัน

ห้ามสุริยแสงจันทร์ ส่องไซร้

ห้ามอายุให้หัน คืนเล่า

ห้ามดังนี้ไว้ได้ จึ่งห้ามนินทา”

การซ้ำคำที่ย้ำให้ผู้อ่านเห็นความยากลำบาก กว่าที่จะห้ามมิให้คนอื่นมานินทาตนเอง ทำให้คำประพันธ์นี้มีความโดดเด่น และเมื่อพิจารณาต่อไปก็จะพบว่า สิ่งที่ห้ามก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่โตเกินกำลังความสามารถของมนุษย์ทั่วไป เพื่อที่จะมาเทียบว่า การนินทานั้น เป็นสิ่งที่มีอานุภาพยากเกินกว่าที่ห้ามได้ คติจากบทอาขยานนี้ ช่วยเตือนสติของเรา ไม่ให้เป็นผู้ที่ใฝ่ใจหมกมุ่นต่อคำพูดลับหลังของผู้อื่น ซึ่งในบางครั้ง อาจจะเป็นเหตุให้เราวิตกกังวล หรือการงานได้รับผลกระทบ การที่เข้าใจว่า การห้ามคนนินทาเป็นเรื่องที่ยากเย็น ทำให้เรารู้จักที่จะละวางความวิตกกังวลเหล่านั้นลงเสียได้ และใช้ชีวิตตามแนวทางของตนเอง โดยไม่ไขว้เขวไปตามคำพูดของคนอื่นในที่สุด

แนวคิดการฟื้นฟูการท่องจำบทอาขยานเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญมาก คือ การคัดเลือกบทอาขยานจากวรรณคดีหรือวรรณกรรมต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในแต่ละช่วงวัย และควรจะเลือกบทอาขยาน ที่มีความบริสุทธิ์ คือ แสดงให้เห็นความงามของภาษา เนื้อหาความ และปัญญาความคิดในด้านคุณธรรม มากกว่าบทที่จะเน้นไปเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง หรือในด้านที่เป็นประโยชน์เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พื้นที่ของการนำบทอาขยานจะต้องว่าด้วยการท่องจำอาขยานในฐานะงานศิลปกรรมบริสุทธิ์ ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำความคิดของใครหรือกลุ่มใด ซึ่งหากสามารถคัดเลือกบทอาขยานที่มีคุณค่า แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกันกับนักเรียนเพื่อให้เห็นแนวคิดหรือคุณค่าที่ปรากฏอยู่ จากนั้นจึงท่องจำ ซึ่งเป็นการท่องจำอย่างมีความหมาย อาขยานก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และพวกเขาก็จะจดจำความหมายเหล่านี้ มาเป็นพื้นฐานความคิดในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง อาขยานจึงไม่ใช่กิจกรรมการท่องจำไปสอบหรือท่องประกอบการเรียน แต่เป็นตัวอย่างของความคิด ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้และนำไปออกแบบการดำเนินชีวิตของตนเองได้

________________________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 613817เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2016 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2016 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท