พัฒนาการทางกาย มิใช่ดูแค่กายเติบโตมีกำลังแข็งแรง



ในเรื่องพัฒนาการเด็กเรื่องการศึกษา/การเรียนรู้และเรื่อง “ภาวนา” ในทางพุทธมีเรื่องพัฒนากาย ที่ทางพุทธเรียกว่า “กายภาวนา” ที่ผมคิดว่ามีความซับซ้อนกว่าที่เราคิดจึงลองปะติดปะต่อความเข้าใจ เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไม่รับรองว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง


หนังสือ บทนำสู่พุทธธรรม ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์ โดยพระธรรมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต) ตอนที่ ๓ หัวข้อ พัฒนาคน จนกว่าเป็นภาวิต ๔ น่าจะตรงกับเรื่อง human development ในคติพุทธการพัฒนาเพื่อการเป็นภาวิต ๔ อยู่ในหน้า ๒๙ - ๔๕ หนังสือเล่มนี้ ดาวน์โหลดได้ฟรีนะครับ


“ภาวิต” แปลว่า ผู้พัฒนาแล้ว ภาวิต ๔ จึงแปลว่า ผู้พัฒนาแล้ว ๔ ด้าน ได้แก่ด้าน กาย ศีล จิต ปัญญา การพัฒนานี้ได้จาก “ภาวนา” ซึ่งหมายถึงกระบวนการพัฒนา ที่ผมตีความว่าเป็นสิ่งเดียวกันกับ สิกขา/ศึกษา หรือการเรียนรู้ซึ่งต้องทำโดยการฝึกปฏิบัติ


คนเราจะพัฒนาได้โดยการฝึกปฏิบัติ


ในคติพุทธ สิ่งที่ต้องพัฒนามี ๔ ด้าน คือ กาย ศีล จิต ปัญญาการพัฒนาแต่ละด้านมีความซับซ้อน และมีคนเข้าใจถูกเข้าใจผิดหลากหลายแง่มุมที่น่ามีการจะตีความเอามาทำความเข้าใจกันวันนี้จะเน้นที่ “การพัฒนากาย” (physical development)


ในหนังสือดังกล่าว หน้า ๓๐ ระบุว่า พัฒนาการทางกาย มิใช่ดูแค่กายเติบโตมีกำลังแข็งแรง ซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวใจของการมี “สุขภาวะ” หรือชีวิตที่ดี


ท่านเจ้าคุณอธิบายว่า “กายภาวนา (พัฒนากาย) หมายถึง พัฒนา ‘เบญจทวารกาย’ ” อ่านแล้วสะกิดว่า นี่คือการพัฒนา “๕ ประตูใจ ตามที่ผมติดใจมานาน นั่นเอง


ห้าทวารกาย คือ ห้าประตูใจกายกับใจเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกัน


ท่านเจ้าคุณอธิบายว่า “กายภาวนา (พัฒนากาย) หมายถึง พัฒนาเบญจทวารกาย แปลว่า พัฒนาตัวคน ซึ่งเป็นที่รวมของ ผัสสทวาร คือช่องทางรับรู้ ๕ ประตู (จักขุทวาร ฯลฯ กายทวาร , =ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส) ให้ใช้ช่องทางเหล่านั้นติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับโลกแห่งสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผลดีให้เกิดความเจริญงอกงาม ที่เป็นฐานเป็นต้นทางของการพัฒนาชีวิตในด้านอื่นๆ ทั้งหมด”


ตรงกับศาสตร์ด้านการเรียนรู้สมัยใหม่ (21st Century Learning) พอดีเลยนะครับสมองมนุษย์พัฒนา ขึ้นจากสิ่งเร้าภายนอก ๕ ประการ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสหากขาดการกระตุ้นจากผัสสะทั้ง ๕สมองเด็กจะไม่พัฒนาหากการกระตุ้นบกพร่อง น้อย หรือกระตุ้นผิดๆ พัฒนาการของเด็กจะบกพร่องหรือผิดทางการเป็นคนฉลาด คนดี หรือคนเลว ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก ๕ ประการ เป็นปัจจัยสำคัญ


ปัจจัยด้านพันธุกรรมมีอยู่ด้วย แต่ไม่สำคัญเท่าปัจจัยด้านการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตัวเด็กทางช่องทางทั้งห้าสำหรับเข้าไปกระตุ้นสมองให้เจริญเติบโต สร้างเครือข่ายใยสมองที่แข็งแรงครบถ้วน ซึ่งต้องเข้าใจว่าเด็กไม่ได้รับรู้เฉพาะส่วนที่ผู้ใหญ่บอกหรือทำให้ดูเท่านั้น เด็กรับรู้ทุกเรื่องที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งที่ผู้ใหญ่สอนและไม่สอน ทั้งที่ผู้ใหญ่อยากให้รับรู้และที่ไม่อยากให้รู้เพราะประสาทรับรู้ของเด็กไวมาก


เด็กจึงเรียนรู้ทั้งสิ่งกระตุ้นสมองด้านเป็นคนดี และสิ่งกระตุ้นความชั่วร้ายโดยไม่เลือกอนาคตของเด็ก จึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่เด็กรับเข้าไปทางทวารทั้งห้านี่แหละ


ครอบครัวระบบการศึกษาสังคม/ชุมชนและระบบสื่อมวลชน จึงพึงตระหนักเรื่องการสร้าง สภาพแวดล้อมที่เป็นคุณต่อการพัฒนาเด็ก ให้เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ


ผมขอแนะนำให้ท่านที่สนใจเรื่องกลไกการเรียนรู้จริงๆ อ่านหนังสือหน้า ๓๑ - ๓๒ อย่างถ้วนถี่จะเห็นว่า ฝึกให้รับรู้เก่งยังไม่พอต้องฝึกให้รู้จักเลือกรับรู้ (อินทรียสังวร) ด้วย ซึ่งในช่วงที่เป็นเด็กต้องการผู้ใหญ่ช่วยเหลือการฝึกอินทรียสังวรนี้ ผมเชื่อว่าต้องฝึกตลอดชีวิตและหลายส่วน ฝึกจากชีวิตจริง/ประสบการณ์ตรงโดยการได้รับรู้ผลดีจริงหรือผลร้ายจริงต่อชีวิตของตนเอง หรือของผู้อื่นนำมาเป็นข้อเรียนรู้


มนุษย์ต้องฝึกรับสิ่งที่เป็นคุณไม่รับ (แต่รู้เท่าทัน) สิ่งที่เป็นโทษ การฝึกที่สำคัญคือการปฏิบัติ ในช่วงที่เป็นเด็ก มี “โค้ช” คอยช่วยเหลือ ได้แก่ พ่อแม่ ญาติ ครู ผู้ใหญ่ที่เป็นกัลยาณมิตร และระบบพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่สังคม /ชุมชน จัดให้แก่เด็ก ตัวอย่างเช่น สนามเด็กเล่น, สวนสาธารณะ, พิพิธภัณฑ์, กิจกรรมเยาวชน


ยามเป็นผู้ใหญ่ เราต้องช่วยตัวเอง หาโค้ชเองกลไกหนึ่งคือสถาบันศาสนาประเทศไทยคนส่วนใหญ่ ถือพุทธแต่วัดส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นที่ฝึกอินทรยสังวรหรือไม่ ผมยังสงสัยแต่ผมมั่นใจว่า แนวทางของวัดธรรมกาย และเครือข่ายเป็นที่ฝึกไปในทางตรงกันข้ามดังในวีดิทัศน์ที่ผมลิ้งค์ไว้ใน บันทึกนี้


ศาสตร์ด้านประสาทวิทยาว่าด้วยการเรียนรู้ (cognitive neuroscience) บอกว่า เมื่อแรกเกิด สมองของทารกค่อนข้างว่างเปล่า แต่ที่ไม่ว่างเปล่าคือศักยภาพในการรับรู้ผ่านทวารทั้งห้า สำหรับเอาไปกระตุ้นสมองให้ เจริญเติบโต สร้างและเชื่อมต่อใยประสาท


และในขณะเดียวกันประสาทรับรู้ผ่านทวารทั้งห้า ก็ยังต้องได้รับการฝึกฝนให้รับได้ครบถ้วนและลึกซึ้งคือฝึกเป็นคนช่างสังเกตนั่นเองซึ่งถ้าได้ฝึกในช่วงเป็นเด็กก็จะเป็นคุณแก่ชีวิตอย่างยิ่ง การฝึกนี้ รวมอยู่ในเป้าหมายเพื่อพัฒนากาย (physical development) หรือกายภาวนาและยังมีมิติส่วนของการรับรู้และรู้เท่าทัน (อินทรียสังวร) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากายด้วยแต่เป็นส่วนที่โยงไปสู่ใจแล้ว


จะเห็นว่า กายกับใจแยกกันไม่ออก กายเป็นประตูสู่ใจและยังเป็นหน้าต่างดูใจอีกด้วยคือดูที่พฤติกรรม และแววตาท่าทาง (ของกาย) และพฤติกรรมของตนเอง เมื่อเกิดผลอย่างไรแล้ว ก็มีวงจรป้อนกลับ สู่สมอง เพื่อการเรียนรู้จากการปฏิบัติอีกด้วยขั้นตอนการเรียนรู้เหล่านี้ ฝึกฝนได้ทั้งสิ้นและระบบการศึกษา ต้องเอาใจใส่พัฒนาวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ในขั้นตอนเหล่านี้แต่ระบบการศึกษาไทยยังละเลย


การเรียนรู้แบบรับความรู้สำเร็จรูป เอามาท่องจำ อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะไม่เกิด “กายภาวนา” ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดได้ การเรียนรู้ต้องเน้นเรียนจากการปฏิบัติ (Learning by Doing) ตามด้วยการไตร่ตรอง สะท้อนคิด (Reflection) โดยมีครูและผู้ปกครองเป็นโค้ช ไม่ใช่ผู้สั่งสอน


กายภาวนาอีกแบบ เรียกว่า พลศึกษา เน้นเป้าหมายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อ ระบบการ เคลื่อนไหวและความแข็งแรงของร่างกายทั้งหมดรวมทั้งเพื่อทักษะในการเล่นกีฬามีความสำคัญต่อชีวิตที่ดี และต่อสุขภาวะ อย่างแน่นอน


แต่ความรู้จากศาสตร์ด้านประสาทวิทยาว่าด้วยการเรียนรู้บอกว่าการเคลื่อนไหวร่างกายมีผลเปลี่ยน สมองอย่างซับซ้อน ดังวิชา Eurhythmy ที่มีเป้าหมายใช้การเคลื่อนไหวที่คล้องจองกับเสียงและจังหวะเพื่อการเรียนรู้ด้านใน ที่ผมเล่าไว้ตอนไปเยี่ยมโรงเรียนแนว รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ที่ประเทศนอร์เวย์ ที่นี่ และความรู้ที่ลึกขึ้นอีก บอกว่า แม้แต่นึกเรื่องการเคลื่อนไหว หรือนึกถึงสิ่งดีๆ มีคุณค่า ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่การทำหน้าที่ของสมอง


พัฒนาการทางกาย มิใช่ดูแค่กายเติบโตมีกำลังแข็งแรงแต่ต้องพัฒนาให้กายรับรู้ผัสสะทั้งห้า ได้อย่างแม่นยำ ว่องไวลึกซึ้งและครบถ้วนรวมทั้งรับรู้อย่างมีสติรู้เท่าทัน


ซึ่งหมายความว่า เชื่อมโยงสู่การพัฒนาพฤติกรรมทางกาย (กายกรรม) อย่างมีสติกำกับผ่าน Executive Function and Self Regulation ของสมอง ด้วยผมเขียนบันทึกเรื่อง EF ไว้มากมาย อ่านได้ ที่นี่



วิจารณ์ พานิช

๗ ส.ค. ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 613807เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2016 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2016 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท