การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่านและเขียน ด้วยสื่อการสอน Infographic


สื่อนวัตกรรม


ชื่อ BP ที่ส่งเข้าคัดเลือก “การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่านและเขียน ด้วยสื่อการสอน Infographic”

ข้อมูลทั่วไปของผู้พัฒนา BP

2.1 ชื่อผู้พัฒนา BP นายพิเชษฐ์ ใจปวน

2.2 โรงเรียนวชิรป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 35

เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของการพัฒนา BP

1) เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ด้านการอ่าน และการเขียน ของเด็กชายพิพัฒน์ สมบุญโสด ด้วยสื่อการสอน Infographic

2) เพื่อนำสื่อการสอน Infographic มาพัฒนาความบกพร่องทางการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น

3) เพื่อให้นักเรียนสามารถผลิตสื่อ Infographic โดยใช้โปรแกรม photoshop และการออกแบบวาดด้วยตนเอง

นโยบาย ภารกิจ จุดเน้นของหน่วยงาน

1. ดำเนินการตามจุดเน้น สพฐ. ในด้านการขยายโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการเรียนร่วม

2. สนองตอบตามเป้าหมายการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรฐานที่ 5 การพัฒนาของนักเรียนในด้านการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร

3. เพื่อเกิดผลด้านการปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน: กระทรวงศึกษาธิการ) มาตราที่ 5 เรื่อง สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 8 สาระสำคัญคือ ให้สถานศึกษาในทุกสังกัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลโดยสอดคล้องกับความต้องการพิเศษของคนพิการ และต้องมีการปรับปรุงแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล รวมทั้งบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตอิสระ การฝึกอาชีพบริการอื่นใด

4. สนองตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2542 ในด้านความเสมอภาพในโอกาสรับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี

สภาพปัญหา

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ เพื่อพัฒนาระบบและยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้เท่าทันต่อสถานการณ์การศึกษาของนานาประเทศ

ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช (2555) ได้กล่าวไว้ว่าการศึกษาของไทยถึงทางตันแล้ว เมื่อถึงทางตันไม่เพียงแต่ไปต่อไม่ได้ ลำพังการหยุดนิ่งอยู่กับที่แปลว่า ก้าวถอยหลัง นานาประเทศจะแซงหน้าเราขึ้นไป แล้วเยาวชนของเราก็จะอยู่ข้างหลัง ในโลกไร้พรมแดนที่วัดกันด้วยความสามารถในการทำงาน มิใช่ความสามารถในการท่องจำ ก็พอทำนายได้ว่า เยาวชนของเราก็จะได้งานที่ใช้ความสามารถต่ำกว่านานาประเทศความสามารถในการทำงานมิได้ขึ้นกับรู้มากหรือรู้น้อย แต่ขึ้นกับทักษะการเรียนรู้ พร้อมเรียนรู้ ใฝ่เรียนรู้ อยากเรียนรู้ สนุกกับการเรียนรู้ เรียนรู้ได้ตลอดเวลาจากทุกสถานที่ มีทักษะชีวิตที่ดีปรับตัวได้ทุกครั้งเมื่อพบอุปสรรค ยืดหยุ่นตัวเองได้ทุกรูปแบบเมื่อพบปัญหาชีวิต นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 เด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ต้องการทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อจะดำรงชีวิตได้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการศึกษาไทยปัจจุบันไม่ได้ให้และให้ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร

จากกรอบแนวคิดของท่าน ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้เขียนหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษ ที่21 มีแนวคิดที่ชัดเจนกับสถานการณ์การศึกษาไทยในปัจจุบัน ที่ยังรอการตอบโจทย์ในการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ยังมีการพัฒนาหลักสูตร และกำหนดนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น โดยมีจุดประสงค์หลักไปที่ตัวของผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในด้านต่างๆ เพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์การศึกษาของนานาประเทศ ครูเองจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ ส่งเสริม และพัฒนาความสามารถของผู้เรียนในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเช่น การผลิตสื่อ หรือนวัตกรรมที่สามารถสะท้อนถึงการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 พัฒนานักเรียนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่เป็นเด็กปกติ หรือนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษเรียนรวม ซึ่งเด็กกลุ่มพิเศษยิ่งจะต้องหาวิธีการ กระบวนการหรือนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้สามารถเรียนรู้กับกลุ่มเด็กปกติได้ และสามารถเข้าแข่งขันในเวทีต่าง ๆ พัฒนาองค์ความรู้ได้อย่างสมบูรณ์

จากหลักการดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่านและเขียน โดยบูรณาการกับวิชาสังคมศีกษา ด้วยสื่อการสอน Infographic ด้วยธรรมชาติของวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสาระความรู้ที่กว้างขวาง ต้องหมั่นศึกษา หมั่นทบทวน เพราะข้อมูลต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จากการจัดการเรียนการสอนพบว่า ผู้เรียนไม่เข้าใจ สับสน ในเนื้อหาวิชาทั้งในบทเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอน เนื่องจากเนื้อหาไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากที่จะเรียนรู้ และผู้เรียนจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจครูผู้สอนต้องใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อเสริมให้นักเรียนได้เข้าใจในบทเรียน อีกทั้งผู้เรียนมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ สื่อการสอนธรรมดาทั่วไป เช่น ใบงาน ใบความรู้ บทเรียนสำเร็จรูป ก็อาจจะยังไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนในการเรียนรู้ หรือฝึกทักษะ การคิด เขียน อ่าน ของผู้เรียนที่ความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้

ทั้งนี้จากปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนได้นำนวัตกรรมที่สามารถสร้างแรงจูงใจ และสร้างความพึงพอใจให้นักเรียนอยากที่จะเรียนรู้และ เข้าใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น ครูผู้สอนจึงสร้างสื่อการสอน Infographic เป็นการแสดงผลของข้อมูล หรือ ความรู้ที่มีความซับซ้อนด้วยภาพ ให้สามารถอธิบายได้อย่างรวดเร็ว และชัดเจน เป็นการนำข้อมูลที่เข้าใจยากหรือข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือจำนวนมากมานำเสนอ ในรูปแบบต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ให้สามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวเอง มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ หัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้เพียงพอ แล้วนำมาสรุป วิเคราะห์ เรียบเรียง แสดงออกมาเป็นภาพจึงจะดึงดูดความสนใจได้ดี ช่วยลดเวลาในการอธิบายเพิ่มเติม กราฟิกที่ใช้อาจเป็นภาพ ลายเส้น สัญลักษณ์ กราฟ แผนภูมิ ไดอะแกรม ตาราง แผนที่ ฯลฯ จัดทำให้มีความสวยงาม น่าสนใจ เข้าใจง่าย สามารถจดจำได้นาน ทำให้การสื่อสาร มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมาะสำหรับการนำมาพัฒนาผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอ่าน และเขียนได้ดีขึ้น เกิดทักษะที่แฝงมากับสื่อการเรียนรู้ อินโฟกราฟิก (Infographic) ทำให้ผู้เรียนที่ความบกพร่องทางการเรียนรู้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

แนวทางพัฒนา

วงจรคุณภาพ

PDCA

......ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก https://sites.google.com/site/socialstudiesbykrupichet/..............................................................................................

รางวัลผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) การจัดการเรียนรวม ด้านสื่อ นวัตกรรม ชื่อผลงาน “การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่านและเขียน ด้วยสื่อการสอน Infographic” ซึ่งได้รับรางวัลในระดับต่างๆดังนี้

- ระดับจังหวัด “รางวัลเหรียญทองชนะเลิศ”

- ระดับภาคเหนือเครือข่ายที่ 8 “รางวัลเหรียญทองชนะเลิศ”

- ระดับประเทศ “รางวัลเหรียญทองอันดับที่ 3” ผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) ระดับประเทศ ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ในงานการจัดการเรียนรวมในศตวรรษที่ 21 การนำเสนอนิทรรศการ และผลงานทางวิชาการ (Symposium) ระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน 2559 ณ จังหวัดขอนแก่น





หมายเลขบันทึก: 613796เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2016 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2016 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท