ชีวิตที่พอเพียง : 2744. พลังความชอบระดับหลงใหลและความมุมานะบากบั่น



หนังสือ GRIT : The Power of Passion and Perseveranceโดย Angela Duckworth ศาสตราจารย์ ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียให้ความรู้เรื่อง Growth Mindset ในภาคปฏิบัติ และภาคขยายหนังสือเล่มนี้เมื่อออกวางจำหน่าย ก็เป็น New York Time’s Bestseller ทันที


ชื่อหนังสือบอกชัดเจนว่า ความมุมานะ (Grit) มี ๒ องค์ประกอบ คือ พลังความชอบระดับหลงใหล (passion) กับความอดทนมานะพยายามไม่ท้อถอย (perseverance) ความหมายเบื้องหลังคำว่า Grit คือความมุมานะต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในระยะยาว


อ่านไปได้หน่อยเดียว (บทที่ ๒) ผมก็จับได้ว่า ผู้เขียนใช้วิธีเล่าเรื่อง เล่าแบบที่ไม่มีใครทำเทียบเทียมได้เพราะเดินเรื่องด้วยชีวิตของตนเองและที่เยี่ยมยอดคือเขียนแบบตั้งคำถาม แล้วตอบด้วยข้อมูลหลักฐาน จากผลงานวิจัยและตัวอย่างเรื่องจริงทำให้เป็นหนังสือที่มีชีวิต และมีชีวิตชีวา


เรื่องแล้วเรื่องเล่า ของคนที่เรียนไม่เก่งตอนเป็นเด็ก แต่กลายเป็นนักวิชาการชั้นยอดเด็กที่สอบตก คณิตศาสตร์ แต่จบปริญญาเอกจาก UCLA และกลายเป็นวิศวกรอวกาศ


ความแปลกใหม่ของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การคิดทฤษฎีที่แสดงพลังของ Grit ต่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ (Achievement) คิดออกมาเป็นสมการดังนี้



talent x effort = skill; skill x effort = achievement



ความพยายาม (effort) ที่มาจาก Grit เป็นตัวคูณสองครั้ง ในสมการของความสำเร็จยิ่งใหญ่


คนที่ผ่านชีวิตมาไม่มาก มักหลงเข้าใจผิดว่า passion หรือความชอบหลงใหลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องฟ้าประทาน มาได้ง่ายๆ ในชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น มันจะมาหรือเราค้นพบ หลังจากเราได้ทำงานหรือสิ่ง ต่างๆ แล้วหลายอย่างหรือมาจากความบังเอิญ แต่ที่สำคัญคือ เราต้องพัฒนา passion ของเราเองคำสำคัญคือ หมั่นพัฒนา passion ของเราเองอย่างจริงจัง


ผมคิดว่า passion มาได้สองทางคนที่โชคดีในชีวิต ได้พัฒนา Chickering’s Seven Vectors of Identity Development จนรู้จักตัวเองดี รู้ว่าตัวเองชอบอะไรก็เรียนและทำงานไปตามแนวทางนั้น ผมเรียกแนวทางนี้ว่า ทางที่เลือก


ทางที่สอง เรียกว่า ทางที่ไม่ได้เลือก คือชะตาชีวิตพาไปพบเพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ ก็ต้องเรียนและหางานทำ และชะตาชีวิตพาไปทำงานนั้นผมคิดว่าผมอยู่ในกลุ่มนี้


ไม่ว่าจะได้ passion มาจากทางไหนปัจจัยร่วมคือ การค้นหา “คุณค่า” ของงานที่ทำ ค้นหาจนพบคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ ตรงกับความเชื่อหรือพลังภายในของตนเองที่เป็น intrinsic motivation


อ้าว!!! นั่นคือ “การเรียนรู้” นี่นา มนุษย์เราเรียนรู้หลายมิติจากการกระทำของตนเอง ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดเพื่อค้นหาความเชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง และค้นหาคุณค่าลึกๆ ของสิ่งที่ตนเผชิญ เมื่อค้นพบคุณค่าก็เกิดความรักความหลงใหล (passion) ในสิ่งนั้น


การเรียนรู้แนวทางนี้ จะงอกงามทั้ง passion และ perseverance นี่ผมว่า เองนะครับ


Angela Duckworth บอกว่า คนมักเข้าใจผิดว่า พลังของ Grit มาจาก “จำนวน”หรือการใช้เวลามาก กับการฝึกฝนซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถูกเพียงส่วนเล็กๆพลังของ Grit ส่วนใหญ่มาจาก “คุณภาพ” หรือวิธีการฝึกฝนที่ถูกต้อง


ฝึก (practice) เฉยๆ ไม่เพียงพอที่จะให้เกิดความสำเร็จยิ่งใหญ่ ต้องฝึกและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา (deliberate practice) ในกรณีนี้แหละ โค้ชที่ดีหรือกัลยาณมิตร จะช่วยได้มาก


เขาบอกว่า deliberate practice มี ๔ องค์ประกอบ


  • มีเป้าหมายที่ยากแต่ชัดเจน
  • ฝึกอย่างมีสมาธิ และพยายามเต็มที่
  • มี feedback ทันที และอย่างมีข้อมูลหลักฐาน
  • ฝึกซ้ำโดยมีการไตร่ตรองสะท้อนคิดและหาทางปรับปรุง


การฝึกฝนจะเกิดผลยิ่งใหญ่ หากระหว่างฝึกผู้ฝึกเข้าสู่สภาพจิตที่ลื่นไหล (flow) ตามที่เสนอไว้ โดย Mihaly Csikszentmihalyi


หนังสือบอกว่า Grit เป็นสิ่งที่งอกงามขยายตัวและมีธรรมชาติงอกงามตามอายุ เขาแนะนำวิธีพัฒนา Grit ว่ามี ๒ แนวทางคือแนวทางเติบโตจากภายในตนเอง กับแนวทางสนับสนุนโดยปัจจัยภายนอก


แนวทางเติบโตจากภายในมี ๔ วิธี คือ (๑) ความสนใจ และได้รับประโยชน์ - interest(๒) การฝึกปฏิบัติ- practice(๓) มีเป้าหมายเชิงคุณค่า - purpose(๔) มีความหวัง - hope ส่วนแนวทางสนับสนุนจากปัจจัย ภายนอกได้แก่(๑) การเลี้ยงดูของพ่อแม่ - parenting(๒) การมีพื้นที่ให้ Grit ทำงาน - Grit playing field(๓) มีวัฒนธรรมที่ส่งเสริม Grit – Grit culture

ในหัวข้อ hope คำที่ตรงกันคือ Growth Mindset ฝึกให้ตั้งความหวัง หรือตั้งเป้าหมายคิดบวกแล้วฝึกฝนฟันฝ่า เพื่อบรรลุให้ได้ จะเห็นว่า หนังสือเล่มนี้จัด Growth Mindset เป็นส่วนหนึ่งของ Grit


เรื่องการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เขาแนะนำให้ทำตัวเป็น “พ่อแม่ที่ฉลาด” ที่ตั้งความหวังไว้สูง และให้การสนับสนุนในเวลาเดียวกันพ่อแม่ที่ไม่ดี ๓ แบบคือ พ่อแม่ที่ตั้งความหวังแต่ไม่เอาใจใส่ลูก, พ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูกแต่ไม่ตั้งความคาดหวังให้สูง, กับพ่อแม่ที่ทั้งไม่เอาใจใส่และไม่ตั้งความหวัง


การมีพื้นที่ให้ Grit ทำงานหรือออกกำลัง คือการส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกฝนเรียนรู้สิ่งที่ยากที่จะต้องใช้ ความพยายาม และมานะอดทนซึ่งผมคิดว่าการเรียนแบบ Project-Based Learning เป็นพื้นที่เพื่อการนี้ได้ เป็นอย่างดีโดยที่ครูต้องมีทักษะในการมอบหมายงานที่ยากและท้าทายในระดับที่เหมาะสม


การศึกษาที่ดี เป็นการสร้าง Grit ไปในตัวไม่ต้องไปฝึก Grit โดยการเรียนพิเศษ


สาระสำคัญคือ Grit สำคัญกว่า talent


Angela Duckworth พูด Ted Talk เรื่อง Grit ชมได้ ที่นี่ และพูดเรื่องหนังสือเล่มนี้ ที่ Google ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่นี่



วิจารณ์ พานิช

๘ ส.ค. ๕๙



หมายเลขบันทึก: 613528เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2016 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2016 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท