ระบบเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ ลดวิ่งรอก แก้เหลื่อมล้ำ ... จริงหรือ?


กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันมาตลอดหลายทศวรรษสำหรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของไทยซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะการปรับระบบการคัดเลือกแต่ละครั้ง ก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง แต่นำไปสู่อีกปัญหาหนึ่งแทน


ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ระบบเอ็นทรานซ์Žที่เกิดขึ้น เมื่อปี ๒๕๐๔ โดยเปิดรับนักเรียนที่จบชั้น ม.๖ หรือเทียบเท่า สมัครคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้สิทธิเลือกคณะ/สาขา/มหาวิทยาลัย ได้ ๖ อันดับ ต่อมาลดลงเหลือ ๔ อันดับ โดยนักเรียนจะสอบได้เพียงครั้งเดียวตามวิชาบังคับของคณะ สอบได้หรือไม่ได้ ไปลุ้นวันประกาศผลสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เด็กเครียด หรือถ้าบางคนไม่สบายในวันสอบ จะถูกตัดสิทธิการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปีนั้น ๆ ทันที ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นระบบที่ไปตัดสินชีวิตเด็ก และบางคนเมื่อเอ็นทรานซ์ไม่ติด ก็ถึงขั้นฆ่าตัวตาย


นำไปสู่การปรับรูปแบบเป็น เอ็นทรานซ์ระบบใหม่Ž ในปี ๒๕๔๒ ที่เปิดโอกาสให้สอบได้ ๒ รอบ โดยใช้

๑.ผลการเรียนตลอดหลักสูตรชั้นมัธยมปลาย (GPAX) มีค่าน้ำหนัก ๑๐% และจะเพิ่มค่าน้ำหนักขึ้นในปีต่อ ๆ ไป และ

๒.ผลการสอบวิชาหลักและวิชาเฉพาะ มีค่าน้ำหนัก ๙๐% ซึ่งจัดสอบปีละ ๒ ครั้ง แล้วเลือกคะแนนที่มากที่สุดมาประมวลผล

แต่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าระบบดังกล่าวทำให้นักเรียนเครียดจากการที่ต้องสอบถึง ๒ ครั้ง และโรงเรียนต้องเร่งสอนเนื้อหาให้จบโดยเร็ว ส่งผลเสียต่อการเรียนการสอนปกติ ทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งทิ้งห้องเรียน มุ่งกวดวิชา เพื่อทำคะแนนสอบวิชาหลักและวิชาเฉพาะให้ได้มากที่สุด เด็กบางคนเร่งกวดวิชาตั้งแต่ชั้น ม.๔ ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก


จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดการปรับระบบการคัดเลือกครั้งใหญ่อีกรอบในปี ๒๕๔๙ โดย ยกเลิกŽ ระบบการสอบเอ็นทรานซ์ และเปลี่ยนเป็น ระบบแอดมิสชั่นส์Ž หรือ ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ โดยยังคงใช้ GPAX เป็นหนึ่งในองค์ประกอบการคัดเลือก เพื่อให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้อง แต่ยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานการให้เกรดของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน และบางโรงเรียนถึงขั้นปล่อยเกรด ที่สำคัญ ไม่ได้ช่วยให้การกวดวิชาลดน้อยลง ทำให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องปรับรูปแบบของระบบแอดมิสชั่นส์ ซึ่งเป็นการปรับเล็กอีกหลายรอบ โดยเฉพาะในส่วนขององค์ประกอบในการคัดเลือก แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยที่มีความต้องการนิสิตนักศึกษาที่หลากหลายตามปรัชญาของแต่ละแห่ง จนทำให้มหาวิทยาลัยใช้เป็นข้ออ้างในการเปิด รับตรงŽ ในระดับคณะและมหาวิทยาลัยเองมากมาย ทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง และสร้างความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษา เพราะคนรวยจะมีโอกาสสมัครสอบได้มากกว่า ส่วนคนจนก็มีโอกาสน้อยกว่า


ล่าสุด ศธ.จึงได้หารือกับ ทปอ.อีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เคยเปรยๆ เรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะยกเลิกระบบแอดมิสชั่นส์และระบบรับตรงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และเปลี่ยนมาเป็น ระบบสอบตรงร่วม หรือ เคลียริ่งเฮ้าส์ ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ โดยระบบใหม่จะจัดช่วงเวลาการสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา หลังนักเรียนเรียนจบชั้น ม.๖ ช่วงประมาณกลางเดือนมีนาคม จากนั้นจะเปิดมหกรรมการสอบ ทั้งการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) การสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และการสอบวิชาสามัญ ๙ วิชา ซึ่งเป็นวิชาที่ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยจะใช้เวลาในการจัดสอบวิชาต่างๆ ประมาณ ๖ สัปดาห์ ถึง ๒ เดือน หลังนักเรียนรู้คะแนนแล้ว จะเปิดรับสมัครเลือกสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าเรียนได้ ๔ อันดับ เมื่อเด็กเลือกแล้ว มหาวิทยาลัยจะคัดเลือกเด็กตามลำดับคะแนน และแจ้งผลการคัดเลือกกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ แต่หากไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก นักเรียนก็มีโอกาสสมัครสอบในรอบ ๒ เนื่องจากเคลียริ่งเฮ้าส์จะเปิดโอกาสให้นักเรียนยื่นสมัครได้ถึง ๒ รอบ


ภาวิช ทองโรจน์ อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ข้อดีอย่างเดียวของระบบนี้คือลดปัญหาการรับตรง ไม่ให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ แต่เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเอง ส่วนข้อเสียที่น่ากังวลคือ ถ้าไม่เอา GPAX เข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย เด็กจะไม่สนใจห้องเรียน และมุ่งกวดวิชา ทำให้มหาวิทยาลัยโดนข้อหาว่าทำลายระบบการศึกษาขั้น


ขณะที่นักการศึกษาอย่าง สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บอกว่า เห็นด้วยที่จะให้จัดสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพียงรอบเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ เพราะจะช่วยแก้ปัญหามหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเอง ทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งระบบรับตรงที่ผ่านมา มีแต่มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ เพราะจะมีรายได้เยอะขึ้นจากค่าสมัครของเด็ก แต่ระบบการรับเด็กเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาไม่ควรคิดถึงประโยชน์ของมหาวิทยาลัย แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก เท่าที่ดูระบบนี้จะคล้ายกับการรับตรง เพียงแต่ใช้ข้อสอบเดียวกัน และให้เคลียริ่งเฮ้าส์ ๒ รอบ ซึ่งปัจจุบันจำนวนเด็กลดลง เท่ากับว่าเด็กทุกคนจะมีที่เรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่แล้ว เพียงแต่จะเป็นที่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคะแนนสอบของแต่ละคน


ก็ต้องรอดูว่า ระบบ เคลียริ่งเฮ้าส์Ž จะเป็นยาวิเศษที่แก้สารพัดปัญหาได้หรือไม่!!




อ้างอิง : http://www.kroobannok.com/article-79879-%E0%B8%A3%...



.................................................................................................................................


อ่านข่าววิวัฒนาการของระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ก็ปวดหัวตุ๊บ ๆ
คงไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุด และแย่ที่สุดแน่นอน
อยู่ที่การผสมผสานให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทยมากที่สุด เท่านั้นเอง

ติดตามกันต่อไป

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...



.................................................................................................................................


หมายเลขบันทึก: 613213เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2016 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2016 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มีทั้งข้อดีและเสีย

แต่ผมเชียร์ระบบเดิมครับ

555

สอนแบบ เอนทรานสมัยก่อน

ติดตามต่อกันค่ะคุณครูเงา รุ่นลูกหลาน อิ อิ

ว่าแต่ รุ่นประมาณ อ.ขจิต นานนนนนนนน มาก ๕ ๕ ๕ ๕ ^_,^

  • มีข้อดีข้อเสียครับ..
  • พยายามอย่าเปลียนบ่อยครับ

ติดตามต่อครับ คุณหมอ ธิ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท