​หนึ่งในความภาคภูมิใจของศิษย์ศิริราช รุ่น ๗๑


แพทย์ นักดนตรี นักวิชาการ นักบริหาร นักสันติวิธี ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตสูงยิ่ง

หนึ่งในความภาคภูมิใจของศิษย์ศิริราช รุ่น ๗๑

ศิษย์ศิริราช รุ่น ๗๑ จบการศึกษา ปี ๒๕๐๙ กำลังจะฉลองครบรอบ ๕๐ ปี และรวบรวมข้อเขียนสำหรับทำหนังสือที่ระลึก วันนี้ได้รับข้อเขียนของเพื่อนคนหนึ่ง ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองมากมาย คือ ศ. นพ. วันชัย วัฒนศัพท์ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ

ชีวิตความเป็นลูกศิริราชไม่ใช่แค่ลูกศิษย์

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าคุณแม่ของผม คุณแม่วิมล วัฒนศัพท์ เล่าให้ฟังว่าแม่คลอดผมที่โรงพยาบาลศิริราชและผู้ที่ทำคลอดก็คือ คือ ท่านศาสตราจารย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ ปรมาจารย์ทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์ ซึ่งต่อมาผมก็ได้เข้ามาเรียนวิชานี้กับท่านอาจารย์ ก่อนข้ามฟากมาผมกับเพื่อนๆเรียนที่แผนกวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ภายใต้การกำกับดูแลของ ท่านศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุขซึ่งผมยังจำคำพูดของท่านอาจารย์สตางค์จนทุกวันนี้ว่า จะเอาพวก “ฉลาดๆ” มาเรียนวิทยาศาสตร์ ส่วนพวก “โง่” ให้ไปเรียนแพทย์ ก็เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ คนเก่งๆไม่ค่อยเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยจึงยังล้าหลังประเทศอื่นๆ ส่วนพวกที่อาจจะเก่งแต่ไม่เข้าใจคำพูดของท่านอาจารย์ที่มีนัยสำคัญว่า ไม่อยากให้คนเก่งๆไปเรียนแต่แพทย์ ประเทศชาติจึงขาดคนเก่งมาเรียนทั้งวิทยาศาสตร์ ทั้งรัฐศาสตร์ และอีกหลายๆศาสตร์ครับ การข้ามฟากมาศิริราชกลุ่มพวกรุ่น หนึ่งคือ Sc.1 ก็โชคดีที่ไม่ต้องสอบข้ามฟาก แต่โชคไม่ดีที่ถูกรุ่นพี่ๆ มองว่าเป็นรุ่น “อภิสิทธิ์” ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้ใช้สิทธิ์อะไรพิเศษ แต่ในที่สุดพี่ๆก็ยอมรับเราเป็นลูกศิริราช หลังจากเดินตัวลีบมาเกือบปี

ผลงานและวีรกรรมของรุ่น 71

หลังจากหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ผมก็ได้มีโอกาสร่วมทีมบริหารของสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช (สศ.) และสโมสรมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (สมพ.) ได้มีกิจกรรมในฐานะประธานดนตรีและรื่นเริงของ สพศ. และประธานดนตรีของ สมพ. ได้ร่วม จัด ดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งแรกสุด ร่วมกับอีก สี่มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นห้ามหาวิทยาลัย โดยมีทั้งศิริราชร่วมรุ่นคือ นศพ. วิเชียร ทองแตง มือซอและอีกหลายๆคน และ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าทีมใหญ่และมีชื่อปรากฏของ นายวันชัย วัฒนศัพท์ เป็นกรรมการร่วมจัด ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สกุลไทย ซึ่งจัดต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และผมยังระลึกถึงครูดนตรีไทย คือ ครู เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศลที่ได้ประสิทธิ์ประศาสตร์เพลง ราตรีประดับดาว ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่เจ็ด อันไพเราะยิ่ง โดยเฉพาะการขับกล่อมโดย นศพ.จริยา ชุ่มราศรี ศิษย์ศิริราชรุ่น 72 ใครไม่เคยฟังต้องไปหาโอกาสฟังครับ วงดนตรีไทยได้มีโอกาสแสดงออกวิทยุ อส.สวนอัมพร หลายครั้ง และอีกหนึ่งวีรกรรมที่สำคัญที่ชาวศิริราชรุ่น 71 ฝากไว้อย่างสำคัญ ก็คือ การรวมพลังหลั่งเลือดเพื่อสร้างหอกีฬา หรือ โรงยิมเนเซียมหลังแรกของศิริราช ด้วยการร่วมบริจาคเลือดโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งสมัยนั้นสภากาชาดยังอนุญาตให้มีการ “ขายเลือดได้” ครั้งนั้นพวกเรามีความต้องการจะได้โรงยิมเนเซียมที่จะใช้เล่นกีฬา แต่แทนที่เราจะกดดันให้ผู้บริหารไปของบประมาณแผ่นดิน เราตัดสินใจโดยอาสาบริจาคเลือด นำหน้าโดยอุปนายกสโมสรหญิง คือ นศพ.พรสม หุตะเจริญ บริจาคเป็นรายแรก ตามด้วยนายกสโมสร นศพ.สมประสงค์ ส่งเจริญน่าสนใจว่าเลือดนักศึกษาซีซีละหนึ่งบาทครับ ทำให้เรามีจุดเริ่มต้นที่ ครู อาจารย์เห็นความตั้งใจและได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ งานราตรีลีลาศ “ศิริราชสัมพันธ์ซึ่งผมก็ได้ไปขอร้องให้ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” แต่งเพลงให้ศิริราช ชื่อ “ศิริราชสัมพันธ์ในจังหวะควิก สเต็บและเพลง “ศิริราชขวัญ” จังหวะแทงโก้ มาบรรเลงในงานและยังได้รวบรวมเพลงสถาบันทั้งหลายลงเทปคาสเซ็ท ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีดิจิตอลไฟล์ ออกจำหน่ายเพื่อหาทุนช่อมเครื่องดนตรีของวงดนตรี สพศ. รวมทั้งการจัดหนังเร่มาฉายที่หอประชุมราชแพทย์ ค่าดูคนละห้าบาท ได้ “งบ” มาพอซ่อมและซื้อเครื่องดนตรีนอกจากนั้นยังจัดให้มีการ “ร้องประสานเสียง” ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของแพทย์รุ่นพี่ โดยทางสำนักพระราชวังอนุญาตให้พวกเรานักศึกษาแพทย์ขึ้นไปร้องบนพื้นยกระดับด้านหลังหอประชุมราชแพทย์ ได้ร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” รับเสด็จในหลวงของเรา และได้ร้องประสานเสียงเพลงเพราะๆกล่อมบัณฑิตก่อนพิธี รวมทั้งพากันไปร้องรับเสด็จงานวางพวงมาลาวันมหิดล ในเวลาต่อมาผมยังได้นำการร้องประสานเสียงมาเผยแพร่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในช่วงที่เป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและในการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวในอีกหลายปีต่อมานอกจากนั้นยังได้นำเพลง “ราตรีประดับดาว”มาร่วมบรรเลงระนาดเอกในวงดนตรีไทยของคณาจารย์ พนักงานและนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกโทรทัศน์ช่อง 11 โอกาส วัน มหิดล

ความท้าทายที่ปลุกให้เกิดความมุมานะสู่ความสำเร็จ

ก่อนจบแพทย์ที่ศิริราชฝันอยากเป็นหมอผ่าตัด สมัยที่ยังไม่มีการฝึกอบรมศัลยแพทย์ และแพทย์สาขาอื่นๆของแพทยสภาพวกเรา ศิริราชรุ่น 71 ก็เกือบจะเหมาลำไปสหรัฐอเมริกาทีเดียว พอดีมีอาจารย์ท่านหนึ่งได้อเมริกันบอร์ดกลับมา เลยไปขอใบRecommendation เพื่อไปเทรนเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดที่อเมริกา แต่พอท่านอาจารย์เห็น Transcript ของผมที่มีเกรดไม่สูงนักเนื่องจากผู้เขียนผมเป็นนักกิจกรรม ต้องไปทั้งซ้อมดนตรี ทั้งลอกโน้ตให้นักดนตรีขณะที่คนอื่นท่องหนังสือ และสมัยนั้นก็ไม่มีเครื่อง Xerox ผมต้องลอกnoteแต่ละเพลงสำหรับเครื่องทุกเครื่อง ก็สาหัสพอสมควรครับ ซึ่งอาจทำให้คะแนนตกลงมาเรื่อยๆ แล้วท่านอาจารย์ท่านนั้นก็ไม่เขียนใบ recommend ให้ จากความท้าทายนี้ที่ท่านอาจารย์บอกว่า “อย่างหมออย่าไปเลยสอบบอร์ดมันยากมากให้พวกนักเรียนเหรียญเขาไปดีกว่า รู้ไหมกว่าอาจารย์จะสอบได้ก็ไม่ใช่ง่ายนะ คำพูดที่ท้าทายทำให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึกว่าต้องเอาชนะอาจารย์ให้ได้ ก็เลยไปขออาจารย์อีกท่านที่เป็นศัลยแพทย์ ที่มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านอาจารย์คือ .นพ.พิสิฏฐ์ วิเศษกุล ซึ่งได้กรุณาเขียนให้ จึงได้ไปเทรน ด้วยความมุ่งมั่นพอตอนจะสอบก็เลยสมัครสอบทั้งอเมริกันบอร์ดและแคนาเดียนบอร์ด ความจริงต้องการสอบเผื่อไว้ แต่โชคดีสอบได้ทั้งสองบอร์ดทั้ง American Board of Surgery และของ Royal College of Surgeons of Canada สำเร็จในการสอบครั้งเดียวทั้งสองบอร์ด ก็ต้องขอบคุณคำท้าทายของท่านอาจารย์ที่ปลุกให้ผมเกิดความมุ่งมั่น เป็นอุทาหรณ์ว่า อย่ามองคำพูดของคนอื่นเป็นคำตัดสินชีวิตเรา ให้มองเป็นความท้าทาย

จากเมืองนอกสู่บ้านนอก

อยากกลับเมืองไทย อยากอยู่โรงเรียนแพทย์ท่าน ศาสตราจารย์ นพ.กวี ทังสุบุตรผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตอบจดหมายสมัครงานของผู้เขียนและเกลี้ยกล่อม ให้มาอยู่ขอนแก่น และก็ต้องขอบใจหมอสว่างวงษ์ วิโรจน์รัตน์ ศิริราชรุ่น 71 รุ่นเดียวกัน ที่ย้ำยืนยันว่าขอนแก่นน่าอยู่ กำลังเจริญ เดี๋ยว “อั้ว” สอบบอร์ดสูติฯได้จะตามไป ก็ลองเชื่อแล้วมาอยู่ ต้องขอบใจสว่างวงษ์แม้จะไม่ได้ตามมาตามสัญญา และเกือบจะไปตามคำชวน ของ .นพ.วิจารณ์ พาณิช ศิริราข 71 เหมือนกันให้ไปอยู่สงขลาแต่รู้สึกว่าไกลมากๆครับ ทุกวันนี้ลูกสาว นางสาววรานุช วัฒนศัพท์ บอกขอบใจพ่อที่เลือกมาอยู่ขอนแก่นเพราะไม่มีน้ำท่วมเหมือนกรุงเทพฯ ไม่มีแผ่นดินไหวเหมือนภาคเหนือ และไม่มีความวุ่นวายรุนแรงเหมือนภาคใต้ รถก็ไม่ติดมากเหมือนกทม.

จากอาจารย์น้อยธรรมดา สู่ความเป็นนักวิจัย นักวิชาการ และผู้บริหารทุกตำแหน่งในมหาวิทยาลัย

ความที่มาบุกเบิกกับรุ่นพี่ๆ รุ่นอาจารย์ จึงมีโอกาสทำงานบริหารมาตลอด ซึ่งดูเหมือนจะมีอยู่สองสามปีแรกเท่านั้นที่ไม่ได้บริหาร เพราะได้ถูกใช้ให้เป็นตั้งแต่ผู้ช่วยคณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยอธิการบดี จึงได้เรียนรู้วิทยายุทธการบริหารจากพี่ๆและอาจารย์ ในที่สุดได้รับเลือกให้เป็นคณบดี เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นรองอธิการบดี และได้รับเลือกตั้งจากประชากรในมหาวิทยาลัยทุกสาย คือ ทั้งอาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษาโดยมีคะแนนนำทุกสายให้เป็น อธิการบดี ทำให้ต้อง accountableต่อประชากรของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ accountable ต่อสภามหาวิทยาลัยอย่างเดียว จึงมีความเชื่อว่าการเลือกผู้บริหารมหาวิทยาลัยน่าจะใช้การเลือกตั้งไม่ใช่หยั่งเสียงแล้วก็ให้อีกไม่กี่คนมาเลือกที่ใช้คำว่าสรรหา และโชคดีที่สามารถทำงานวิจัยไปด้วยตลอด โดยเฉพาะทำวิจัยเรื่องข้อมูลมะเร็ง ทำให้มีผลงานที่คนที่ศึกษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งตับ ต้องอ้างอิง v.vatanasapt ในสถิติเชิงระบาดวิทยา และตีพิมพ์เผยแพร่ โดยพบว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่มีมะเร็งตับท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) สูงที่สุดในโลก ซึ่งได้ใช้หลักสถิติคำนวน Age-standardized Incidence Rate ที่มีการรวบรวมและวิเคราะห์ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและทำให้ข้อมูลมะเร็งของประเทศไทยได้รับการยอมรับจาก International Agency for Research on Cancer ขององค์การอนามัยโลกและ International Association of Cancer Registries ยอมรับข้อมูลมะเร็งของประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่มีสถิติของเชียงใหม่ และขอนแก่นที่มีคุณภาพและตีพิมพ์ใน Cancer Incidence In Five Continents Volume VII เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ข้อมูลประเทศไทยได้รับการยอมรับเพียงตีพิมพ์ใน Cancer Incidence In the Developing Countries เท่านั้น และ IARC ก็ได้สนับสนุนการพิมพ์หนังสือ Cancer In Thailand มีข้อมูลมะเร็งที่ได้มาตรฐานเป็นฉบับแรกที่องค์การอนามัยโลกยอมรับและจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นเอกสารของ IARC, WHO, Lyon ประเทศฝรั่งเศส

ศิริราช ช่วยสร้างทายาท ทั้งความเป็นแพทย์และดนตรีสู่การเกิดศาสตร์ที่ diversify ออกไปสร้างสังคมแห่งความสันติสุข

จากความเป็นทั้งแพทย์และความพยายามเป็นนักดนตรี ทำให้สนใจทั้งสองเรื่องไปพร้อมๆกัน เมื่อมาอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านคณบดีผู้ก่อตั้งได้เขียนหลักสูตรแพทย์ให้มีวิชา “Music Appreciation” ตั้งแต่ชั้น พรีคลินิก ทีแรกก็ตั้งคำถามในใจ แต่ต่อมาเมื่อมาทำเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งจึงค่อยๆเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าหากแพทย์ใช้แต่สมองซีกซ้ายเพื่อ “คิดวิเคราะห์”อย่างเดียว ก็อาจจะทำให้ขาดความละมุนละไมมัยขาดการฟังแบบ การฟังอย่างเข้าใจ” การพัฒนาสมองด้านขวาโดยใช้ศิลปะและดนตรีทำให้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “Empathy” คือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ที่แพทย์จะต้องรู้จัก เอาใจคนไข้มาใส่ใจหมอ แทนที่จะเอาใจหมอไปใส่ใจคนไข้ จึงได้พยายามให้ลูกๆเรียนดนตรี จนลูกคนโต “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์ พัฒนาทั้งด้านความรู้ในวิชาแพทย์และความสามารถในดนตรี จนได้รับเลือกจาก “International Association for Music and Medicine” เป็น President ของสมาคม มีงานวิจัยที่เอาดนตรีไปใช้กับการรักษาอย่างลงตัว ส่วนลูกคนที่สอง นายวิชญ วัฒนศัพท์ จากสถาปนิกมาเป็น Music Director ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ จนได้รับรางวัล สุพรรณหงส์ทองคำ สองปีติดต่อกัน และลูกคนเล็ก นส.วรานุช วัฒนศัพท์ เปิดโรงเรียน “HUG School of Creative Arts” ที่ขอนแก่น ก็ได้อิทธิพลจากการที่พ่อได้มาเป็นลูก ศิริราชครับ

กำเนิดสถาบันลุ่มน้ำโขงที่เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างมิตรภาพของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ความภาคภูมิใจสองสามอย่างในช่วงเป็นอธิการบดี ก็คือ การผลักดันให้เกิดศูนย์ประชุมของมหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานชื่อเป็นว่า ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ที่มีหลังคาเป็นเอกลักษณ์แบบประทุนเกวียนอีสานจุคนได้ถึงห้าพันคน และอีกเรื่องคือการที่ได้ขอและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ 12 ล้านเหรียญสหรัฐสร้างสถาบันลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Institute เพื่อใช้ในการฝึกอบรมผู้นำจากหกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนจาก Central Command Economy เป็น Market Economy และจากการมาอยู่ร่วมกันมาเรียนร่วมกันในสถานที่เดียวกันเป็นระยะเวลานานพอสมควรก่อให้เกิด จิตวิญญาณของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS Spirit ที่สร้างความเข้าใจกัน สร้างมิตรภาพ ลบรอยร้าวแห่งความขัดแย้งในอดีตของประเทศเพื่อนบ้านไปได้อย่างดี ต่อมาได้พัฒนาเป็นสถาบันนานาชาติซึ่งได้รับสัตยาบันจาก Head of States ของทั้ง ไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และ จีนตอนใต้ คือ ยูนนาน และกวางสี ผลจากการที่ผู้นำมาเรียนอยู่ด้วยกัน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ อย่างยั่งยืน น่าสนใจว่าแม้ผมจะเป็นผู้ของบประมาณแต่ความสำคัญของสถาบันลุ่มนำโขงทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้มอยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ New Zealand Order of Merit (ONZM) ในพระปรมาภิไธยพระนางเจ้าอลิซาเบธแห่งประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งถือเป็นเครื่องราชฯระดับสูงที่ผู้รับต้องเป็นคนนิวซีแลนด์หรือหากเป็นคนต่างชาติต้องทำงานอยู่ในนิวซีแลนด์ไม่ตำกว่า 3 ปีและทำคุณประโยชน์ให้นิวซีแลนด์อย่างมากและเมืปีพ.ศ. 2558 ยังได้มอบรางวัลให้ผมอีกฐานะเป็นผู้ที่ทำให้นิวซีแลนด์มีบทบาทในความร่วมมือ นิวซีแลนด์กับ ASEAN

จากผู้บริหารมหาวิทยาลัยสู่ผู้บริหารองค์กรการกุศลนานาชาติประธานสภาผู้ว่าการไลออนส์สากลภาครวม310 ประเทศไทย

ภาคเอกชนในขอนแก่นได้เชิญให้ร่วมกิจกรรมการกุศลในองค์กรระดับโลก คือ สโมสรไลออนส์สากล และได้รับเลือกตั้งให้เป็นตั้งแต่กรรมการสโมสร เป็น นายกสโมสร เป็นผู้ว่าการไลออนส์สากล ภาค 310 E จนถึง ประธานสภาผู้ว่าการไลออนส์สากลภาครวมที่ 310 ดูแลไลออนส์สากลแห่งประเทศไทย ในปี พ.. 2542-2543 ได้สัมผัสกับการทำการกุศลระดับนานาชาติทั่วโลก

แสดงความเป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์แบบ

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเป็นทั้งตำแหน่ง บริหารและตำแหน่งวิชาการถึงระดับสูงสุด ได้แสดงความเป็นพลเมืองไทย โดย อาสาลงสมัครทั้งผู้แทนราษฎรและ สมาชิกวุฒิสภา แม้จะไม่ได้รับเลือก ก็รู้สึก ภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ พลเมือง ของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และ ลงสมัครถึงแม้จะไม่ได้รับเลือก แต่คะแนนที่ได้รับเสียงจากพี่น้องประชาชน ก็อยู่ในอันดับเกือบได้ และได้เรียนรู้การเดินหาเสียงและเรียนรู้กลไก การเลือกตั้งว่าถ้าขาดปัจจัย คือ “เงิน” หรือ “หัวคะแนน” ก็ยากที่จะได้รับเลือก

ความภาคภูมิใจของบทบาทการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

จากการที่ได้รับคำแนะนำที่ดีจากท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ที่ได้บอกกับผู้เขียนขณะเป็นอธิการบดี ขณะที่ท่านอาจารย์เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยแนะนำให้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง พร้อมกับกล่าวว่า ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ทำก็จะไม่มีใครทำ และคนไทยครึ่งค่อนประเทศ ก็จะหันมาประหัตประหารกันซึ่งก็ได้ดำเนินการตามที่ท่านอาจารย์แนะนำ ได้ค้นคว้า ได้เข้ารับการอบรมได้แปลและเขียนหนังสือด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านนี้ออกมากกว่า 32 เล่ม ไม่นับรวมบทความ และ เอกสารอื่นๆ และบรรยายรวมทั้งจัดอบรมให้เกือบทุกกระทรวง ทบวงกรม ทุกวงการ ทุกหลักสูตร ระดับสูงสุดถึงระดับต้น รวมถึงอบรมผู้พิพากษา ตุลาการ เกือบทุกหลักสูตรรวมถึงได้ก่อตั้งสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ก่อตั้ง สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำโครงการและนำรณรงค์ กระบวนการสานเสวนาหาทางออก (Deliberation) ในช่วงวิกฤตการเมืองเหลืองแดง จนสามารถลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่งที่เดียวจากการประเมินโดยสื่อ นอกจากนี้ยังสร้างต้นแบบของโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนให้สามารถอยู่ด้วยกันในรูปแบบอารยะอุตสาหกรรม (Eco-Industry) เช่น โรงงาน IRPC เป็นต้น

ความคาดหวังต่อไปด้านการศึกษาและการสร้างสันติวัฒนธรรม

จากที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ด้าน “แพทยศาสตร์ศึกษา” ได้ร่วมกับคณะแพทย์จัดตั้งหน่วยแพทยศาสตร์ศึกษา และร่วมผลักดันให้เกิด “Problem-based Learning” ในคณะแพทยศาสตร์ขอนแก่น ทำให้สนใจด้านจัดการให้การศึกษาเห็นว่า ประเทศไทยขาดต้นแบบการศึกษาระดับพื้นฐาน จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขอนแก่นวิเทศศึกษาไบลิงกัวสคูล (Khon Kaen Vithes Suksa Bilingual School) ซึ่งจะครบรอบ 20 ปี ในปี พ.ศ.2560 นี้โดยมีผู้อำนวยการเป็นนักการศึกษาและอดีตพยาบาลศิริราช อาจารย์รัตนาภรณ์ วัฒนศัพท์ ซึ่งบริหารจนสามารถสร้างเยาวชนของชาติให้รู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เป็นต้นแบบของการศึกษาระดับพื้นฐานมีลูกศิษย์จบออกไปอยู่ในแถวหน้าไม่ว่าจะเป็น นายณเดชน์ คูกิมิยะ ดารายอดนิยมอันดับหนึ่ง นายแบงค์ ธิติ ดาราจากภาพยนตร์ซีรี่ย์ฮอร์โมน รวมถึงนักธุรกิจ วิศวกร แพทย์ที่สามารถสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ เป็นต้น และก็สร้างต้นแบบการอบรมให้การศึกษาด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การเจรจาไกล่เกลี่ยตั้งโรงเรียนที่มีการอบรมให้เกิดสันติวัฒนธรรมและขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆอีกด้วย

ขอขอบพระคุณ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเป็นอย่างสูงที่ได้บ่มเพาะสอนพวกเราและยังกรุณาตามมาให้คำแนะนำจนนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ นอกจากวิชาแพทย์

.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์

ผู้บริหารโรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม รักสคูล (RUC School)

หมายเลขบันทึก: 612576เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2016 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2016 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท