อิสระกับพลังคิดสร้างสรรค์


การจัดการศึกษาหรือการพัฒนาคน น่าจะเป็นเช่นเดียวกับการสร้างให้แตกต่าง โดยพื้นฐานสิ่งมีชีวิต รวมทั้งคนเรามีความหลากหลายทางพันธุกรรมหรือมีความต่างกันเป็นพื้นฐาน ความเหมาะสม ความพอดี ความปรารถนา หรือแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตแต่ละคนมีความแตกต่าง

เหมือน..ไม่ใช่คล้าย ตรงข้ามกับต่าง ถ้าเป็นวัตถุ รูปทรง ขนาด สีสัน หรือสมบัติต่างๆ ต้องตรงกันทุกประการ แต่ความหมายทั่วไป เหมือนอาจแค่คล้ายเป็นส่วนใหญ่ก็ได้ ถ้าในเรื่องพันธุศาสตร์ของคน ต้องเป็นแฝดแท้ แฝดเทียมแค่คล้าย แต่ทั่วๆไปแล้ว รูปร่าง หน้าตา นิสัยใจคอ อากัปกิริยา ตลอดจนความคิดความอ่านในการตัดสินใจ หรือลงมือทำอะไรสักอย่าง เหล่านี้เป็นเกณฑ์ใช้บอก ว่าคนนั้นเหมือนหรือต่างกัน


ทำวัตถุให้เหมือน ทำโดยพิจารณาส่วนสัด องค์ประกอบต่างๆของวัตถุนั้นให้เข้าใจ แล้วคัดลอกตามทีละชิ้น ทีละส่วน หรือแต่ละองค์ประกอบ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างมากมายในปัจจุบัน ทั้งคอมพิวเตอร์ กล้อง แสง รังสีที่สามารถทำได้แม้แต่ถ่ายรอดผ่านเข้าไปในตัววัตถุ สร้างความง่าย ความสะดวก ให้แก่การคัดลอกยิ่งขึ้น

ถ้าเป็นงานศิลปะหรือภาพวาด การคัดลอกให้เหมือน ไม่ต้องมีเทคนิคหรือฝีมืออะไรมาก แค่ตีตารางวัดเทียบอัตราส่วน ร่างเส้นที่มีในตารางตามให้ครบ เท่านี้ก็ได้โครงร่างเหมือนแล้ว สีสันก็ค่อยแกะเทียบ แล้วค่อยระบายเลียนแบบตามไปเป็นจุดๆจนเต็มทั้งพื้นที่ แค่นี้ภาพเหมือนจากการคัดลอกก็บังเกิด


กระบวนการทำให้เหมือน ไม่ยุ่งยากซับซ้อน แม้อาจต้องใช้ความสามารถในการพิจารณา ความพิถีพิถันในการสังเกต อาจต้องใช้ฝีมือในเชิงศิลปะบ้าง แต่สิ่งหนึ่งใช้น้อยมากหรือไม่ต้องใช้เลย ก็คือความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างสิ่งใหม่ การคัดลอกหรือการทำให้เหมือนจะได้วัตถุแบบเดิมๆ เคยมีดีเท่าไหร่ ก็จะมีดีอยู่แค่นั้น หรือเคยมีตำหนิแบบไหน ที่ใด ตำหนินั้นก็จะยังคงอยู่แบบนั้นตลอดไป

ถ้าเป็นชีววิทยา จะเรียกไม่มีวิวัฒนาการ เพราะเป็นเพียงกระบวนการผลิตซ้ำ ดังการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้ได้ลูกหลานที่มีพันธุกรรมแบบเดิมๆเท่านั้น


สร้างหรือผลิตวัตถุให้มีความต่าง จะว่าไปมีกระบวนการคล้ายกับการทำให้เหมือนอยู่เหมือนกัน แต่ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากราวฟ้ากับดินเลย เป็นความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ต่างอาศัยความคิดสร้างสรรค์อย่างเอกอุ เพื่อให้ใหม่ขึ้น ให้แปลกขึ้น หรือให้ดีกว่า เกิดประโยชน์กว่า หมายถึงตำหนิหรือริ้วรอยเดิมจะเลือนจางหายไปจากความแตกต่าง ซึ่งถือกำเนิดจากความคิดสร้างสรรค์

การจัดการศึกษาหรือการพัฒนาคน น่าจะเป็นเช่นเดียวกับการสร้างให้แตกต่าง โดยพื้นฐานสิ่งมีชีวิต รวมทั้งคนเรามีความหลากหลายทางพันธุกรรมหรือมีความต่างกันเป็นพื้นฐาน ความเหมาะสม ความพอดี ความปรารถนา หรือแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตแต่ละคนมีความแตกต่าง ถ้าใช้วิธีพัฒนาคน ด้วยเบ้าหลอมเดียวกัน บางคนอาจพึงพอใจ ขณะที่อีกหลายคนอาจคับข้องใจ อย่างนี้อารมณ์อยากเรียนรู้ของผู้คน มิหายหมดดอกหรือ?


คนเป็นพ่อแม่หรือเป็นครูจะรู้ดี ว่าลูกหลานหรือเด็กๆมีความแตกต่างระหว่างบุคคลอยู่ ความฉลาดก็มีอย่างหลากหลาย ดังนักการศึกษาเรียกว่า พหุปัญญา จะอบรม สั่งสอน หรือจัดการเรียนรู้ให้ได้ผล ต้องใช้หลากหลายวิธีการ ไม่มีวิธีใดดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด แต่ละคนพึงพอใจในแบบของตน ถ้าตรงใจก็จะเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน มีความสุข แต่ถ้าคับข้องใจหรืออึดอัด นอกจากความพยายามในการเรียนรู้จะลดน้อยถอยลงแล้ว หนักเข้าอาจงอแง สร้างปัญหาให้กับห้องเรียน หรือสังคมส่วนรวมได้ด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ครูหรือโรงเรียนที่จะประสบความสำเร็จในการคิด สรรหา สรรสร้าง วิธีการต่างๆอย่างหลากหลาย เพียงพอ ครอบคลุมกับการพัฒนาเด็กทุกคนบนความแตกต่าง จำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ..

ถ้าไม่อิสระ เต็มไปด้วยกรอบ กฎ กติกา หรือรูปแบบ พลังที่จะคิดสร้างสรรค์ เพื่อสรรสร้าง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?



หมายเลขบันทึก: 609939เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2016 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2016 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

-สวัสดีครับอาจารย์ฺ

-ตามมาอ่านบันทึกครับ

-อาจารย์สบายดีนะครับ

-วันก่อนไปติดต่อภารกิจที่ห้องทะเบียนอำเภอฯ เจอกับ"พี่สุพรรณ"และได้พูดคุยกันถึงอาจารย์ด้วยครับ

-ผมเป็นคนต่างจังหวัดแต่มาอาศัยอำเภอพรานกระต่ายเพื่อทำงานเลี้ยงชีพตน...และกำลังสานฝันเล็ก ๆในอำเภออบอุ่นแห่งนี้ครับ...

-เอกลักษณ์ภาษาถิ่น หินอ่อนเมืองพราน ตำนานถ้ำกระต่ายทอง เห็ดโคนดองรสดี....ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจครับ...

-หากมีโอกาสคงได้ต้อนรับอาจารย์ที่บ้านไร่ของผมบ้างนะครับ..

-ขอบคุณครับ


ใช่ค่ะ ถ้าเด็กได้เรียนที่ ตรงใจก็จะเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน มีความสุข ... และเรียนได้ดี นะคะ


ชอบภาพนี้จังเลย ค่ะ ขอบคุณค่ะ


ชีวิต..ปั้นไม่ได้....พลังงานสร้างสรรค์รูปแบบ..ของ..ชีวิต...คือ..จินตนาการ..(ที่มีลักษณะ..เฉพาะตน..)

เกิดจาก..ไม่รู้..กลับไปสู่..ความไม่รู้...(ดับ จิต)..

เด็ก..ควรมีชีวิตอยู่กับพ่อแม่..และบ้าน..ครอบครัว..เป็น.โรงเรียนแรกที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายเพื่อนบ้าน..สิ่งแวดล้อม..เป็นครู..เบื้องต้น...

ครู..คือ..ปรัชญา..ศาสนา..ที่สร้างศรัทราความเชื่อมั่น..พลัง..ในองค์รวม..อันมี..อิสระ.(สุข..ที่ต้องการ..เข้าใจตามข้อเขียนในบันทึกนี้..

อย่างนี้ใช่ไหม..เจ้าคะ)....ยายธี

การจัดการศึกษาต้องหลากหลาย

การทำงานจะพัฒนาได้ดีครับ

ขอบคุณพี่ครูมากครับ

เริ่มจากคุณครูต้องคิดต่าง ชอบคิดอิสระอย่างคุณครูธนิตย์ให้มีจำนวนมาก ๆ ด้วยนะคะ

งามทั้งภาพและเนื้อหาที่น่าสนใจ ขอบคุณค่ะ

  • ถามไถ่คุณสุพรรณถึงเรื่อยเหมือนกันครับ..
  • ชื่นชมผลงานมาโดยตลอด โอกาสดีๆต้องไปรบกวนอย่างแน่นอนเลยครับ!
  • ขอบคุณเพชรน้ำหนึ่งมากๆครับ
  • ความคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องสอนเด็กๆนี่แหละครับ(ฮา)
  • ขอบคุณDr.Pleมากครับ
  • ข้ัอความของยายธีเหมือนง่ายๆ แต่ลึกซึ้งเสมอเลยครับ!
  • ขอบคุณความรู้มากๆเลยครับ
  • งานครู งานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ อันเนื่องมาจากความหลากหลายของเด็กๆนี่เองนะครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ขจิตมากครับ
  • ฟุ่งซ่านอยู่กับเรื่องราวที่โรงเรียนนี่แหละครับ ชีวิตครู.. (ฮา)
  • ขอบคุณทพญ.ธิรัมภามากครับ

เพิ่มมาติดตาม อ่านแล้วได้รู้ว่า ผมเองยังต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆอีกมากมาย ขอบคุณที่มีวิธีคิดหลากหลายเผยแพร่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท