หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ว่าด้วยศิษย์เก่าและการบูรณาการกิจกรรมของคณะนิติศาสตร์


ดูเหมือนจะขับเคลื่อนด้วยรูปแบบการบริการวิชาการแบบดั้งเดิมที่เน้นกระบวนการถ่ายทอดเป็นหัวใจหลัก แต่กระบวนการก็มีความเด่นชัดในเรื่องของศิษย์เก่าและความเป็นรูปธรรมของการบูรณาการกิจกรรมหลากรูปแบบร่วมกับภารกิจมหาวิทยาลัยและภาคส่วนภาคีต่างๆ โดยยึดประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนเป็นกรณีศึกษา








จุดเด่นโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมีหลายประเด็น เช่น การนำความรู้ หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาไปบริการวิชาการสังคม (บนความต้องการของชุมชน) การบริการวิชาการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างอาจารย์-นิสิต-ชุมชน รวมถึงการประสานพลังการทำงานร่วมกับภาคส่วนอันเป็นภาคีอื่นๆ ครอบคลุมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ “ศิษย์เก่า” ได้มีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนด้วยเช่นกัน







บูรณาการการบริการสังคมผ่านศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบัน :

ประเด็น “ศิษย์เก่า” ปรากฏเด่นชัดผ่านการขับเคลื่อนของ “คณะนิติศาสตร์” ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาร่วมๆ จะสามปี โดยปีการศึกษา 2558 จัดขึ้นในชื่อโครงการ “ให้ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินในชุมชนบ้านโนนคัดเค้า ตำบลแห่ใต้ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม” มี ผศ.สุภาพร พิทักษ์เผ่าสกุล” เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ การถ่ายทอดความรู้เรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ถูกต้องแก่ชุมชน





กิจกรรมครั้งนี้มีศิษย์เก่าผนึกกำลังเข้ามาร่วมเป็นภาคีจำนวน 2 ราย คือ นายจรณิท์ แก้วแก่นคูณ (เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม) และนายธัชพล คำทุม ตำแหน่ง (เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน สคบ. จังหวัดมหาสารคาม) ทั้งต่างสำเร็จการศึกษาไปเมื่อปี 2557 และปี 2558 ตามลำดับ โดยทั้งสองได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรพบปะพูดคุยกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง บรรยายให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายที่สำคัญๆ ในชีวิตประจำวัน ร่วมตอบข้อซักถามว่าด้วยข้อกฎหมายที่ชาวบ้านสงสัย รวมถึงการแนะนำเกี่ยวกับหน่วยงานต้นสังกัดว่าให้บริการเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ตลอดจนการเปิดเวทีเชิงรุกเป็น “หน่วยเคลื่อนที่” รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ จากชาวบ้านโดยตรง สร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องกฎหมายที่จำเป็นต่อชาวบ้านได้เป็นอย่างดียิ่ง




มองในอีกมุม- ถือเป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการส่งเสริมให้ศิษย์เก่าได้รับการพัฒนาตนเองด้วยเช่นกัน เพราะทำให้ศิษย์เก่าได้นำองค์ความรู้มาสร้างประโยชน์ต่อสังคมร่วมกับมหาวิทยาลัย และช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้เกิด “เครือข่าย” การทำงานเชิงสาธารณะร่วมกันอย่างน่าสนใจ มิหนำซ้ำการออกมาเป็นวิทยากรนอกสถานที่เช่นนี้ ยังช่วยให้องค์กรต้นสังกัดของศิษย์เก่ามีเครือข่ายภาคชุมชนมากขึ้น ไม่ใช่การทำงาน "เชิงรับ" ติดยึดอยู่แต่ในสำนักงานเพียงอย่างเดียว









บูรณาการเรียนรู้ผ่านรายวิชาและกระบวนการของนิสิตอาสาสมัคร :


ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าว ดูเหมือนจะขับเคลื่อนด้วยรูปแบบการบริการวิชาการแบบดั้งเดิมที่เน้นกระบวนการถ่ายทอดเป็นหัวใจหลัก แต่กระบวนการก็มีความเด่นชัดในเรื่องของศิษย์เก่าและความเป็นรูปธรรมของการบูรณาการกิจกรรมหลากรูปแบบร่วมกับภารกิจมหาวิทยาลัยและภาคส่วนภาคีต่างๆ โดยยึดประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนเป็นกรณีศึกษา ยกตัวอย่างเช่น

  • เวทีเสวนาปัญหากฎหมาย
  • เวทีการบรรยายกฎหมาย
  • กิจกรรมการแสดงสินค้า OTOP
  • กิจกรรมการทอดผ้าป่าเพื่อสมทบทุนสร้างพระพุทธรูปในชุมชน





ในทางกระบวนการขับเคลื่อนนั้นได้บูรณาการผ่านรายวิชาการสำคัญๆ เช่น วิชากฎหมายการกระทำความผิดอาญาของเด็กและเยาวชน” เน้นกระบวนการเชิงรุกตามแนวคิด “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” โดยการมอบหมายให้ “นิสิต” ในรายวิชาการที่เกี่ยวข้องและนิสิตที่เป็นอาสาสมัครได้แบ่งกันเป็นกลุ่มลงไปฝังตัวอยู่กับชุมชนเป็นระยะๆ ตามแนวคิด “ชุมชนคือห้องเรียน : ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็น “ฮีตฮอย” (จารีต) ดั้งเดิมที่ชุมชนยึดเป็นครรลองดำเนินชีวิตร่วมกันมาตั้งแต่อดีตกาล ผ่านเครื่องมือสำคัญๆ เช่น

  • การสัมภาษณ์
  • การสังเกตการณ์
  • การทำแบบสอบถาม
  • การสร้างเวทีระดมความคิดเห็น


โดยแต่ละครั้งก่อนการขับเคลื่อน อาจารย์ที่เกี่ยวข้องจะประชุมกับนิสิต เพื่อชี้แจง ซักซ้อมความเข้าใจร่วมกันในเรื่องที่ต้องลงสู่ชุน มีการมอบหมายภารกิจตามความสันทัดและความสมัครใจของนิสิตแต่ละคน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็จะมีการประชุมสรุปผลร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ซึ่งนิสิตที่เข้าร่วมก็มีทั้งในรายวิชา นิสิตจิตอาสาทั่วไป รวมถึงกลุ่มนิสิตที่เป็นอาสาสมัครในชื่อ "นิติชน"





บูรณาการกิจกรรมผ่านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

โครงการ “ให้ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินในชุมชนบ้านโนนคัดเค้าฯ เป็นการขับเคลื่อนที่เน้นการสัมผัสตรงกับข้อมูลอันเป็น “ชะตากรรม” ที่ชาวบ้านกำลังแบกรับ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์จัดเป็นหมวดหมู่ร่วมกับอาจารย์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ “คืนข้อมูลให้กับชุมชน” พร้อมๆ กับการออกแบบกระบวนการของการสืบค้นความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการ “ออกแบบเวที/กิจกรรม” เพื่อถ่ายทอดความรู้ผ่านการเสวนา การบรรยาย และสื่อหลากชนิดที่เหมาะต่อการรับรู้และเข้าใจของชุมชน เช่น คู่มือ แผ่นพับ นิทรรศการ โดยยึดประเด็นสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนเป็นหัวใจหลักของ “โจทย์” ที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เช่น

  • ปัญหาเรื่องกฎหมายที่ดิน
  • ปัญหาเรื่องกฎหมายมรดก
  • ปัญหาเรื่องการซื้อขาย
  • ปัญหาเรื่องการจำนองอสังหาริมทรัพย์และการฝากขาย
  • ปัญหาเรื่องการทำสัญญาค้ำประกัน





เป็นที่น่าสังเกตว่ากระบวนการที่ดำเนินการนั้นเป็นกระบวนการขับเคลื่อนบนฐานวัฒนธรรมชุมชนทั้งสิ้น นับตั้งแต่ “ออกแบบกิจกรรม” ให้นิสิตลงเก็บข้อมูลชุมชนควบคู่กับการเก็บข้อมูลอันเป็นสถานการณ์เรื่องกฎหมายในชุมชน ซึ่งทำให้นิสิตได้เรียนรู้ “วิถีวัฒนธรรม” อันเป็นต้นทุนทางสังคม หรือกระทั่งความเป็นจริงทั้งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของชุมชนไปพร้อมๆ กัน


ในทำนองเดียวกันยังได้ออกแบบการเรียนรู้ชุมชนผ่านกิจกรรมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างง่ายงาม เช่น การจัดกิจกรรม “ทอดผ้าป่า” เพื่อสมทบทุนการสร้างพระพุทธรูปในชุมชน เสมือนการหนุนเสริมกิจกรรมที่กำลังมีขึ้นในชุมชน เป็นอีกหนึ่งของโจทย์การเรียนรู้ที่มุ่งให้นิสิตได้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องบทบาทการรับผิดชอบสังคมผ่านระบบและกลไกทางศาสนาสำคัญๆ ของชาติ







หรือแม้แต่กิจกรรมการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งให้อาจารย์และนิสิตได้ทำความเข้าใจกับต้นทุนของชุมชนเป็นฐานหลักอันเป็น “ศิลปะและภูมิปัญญาท้องถิ่น” ยึดโยงถึงต้นน้ำการก่อตั้งชุมชน การพัฒนาแปรเปลี่ยนของชุมชนผ่านยุคสมัย ต่างๆ รวมถึงปราชญ์ชาวบ้านและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งไม่เพียงแค่อาจารย์และนิสิตเท่านั้นที่เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน ชุมชนเองก็เกิดกระบวนการทบทวนตัวเองและร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนบนฐานอันเป็นรากเหง้าของตนเองด้วยเหมือนกัน




ทั้งปวง คือภาพสะท้อนความสำเร็จเล็กๆ ที่ง่ายงามของการเรียนรู้คู่บริการในมิติการบริการสังคมผ่านโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในประเด็นการผนึกกำลัง “ศิษย์เก่า” เข้ามาหนุนเสริมภารกิจของมหาวิทยาลัยฯ รวมถึงประเด็นการบูรณาการกิจกรรมในแบบ “สหกิจกรรม” ที่ยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวกันบนฐานวัฒนธรรม

โดยส่วนตัวผมมองว่าในอนาคตหากสามารถออกแบบกิจกรรมเพิ่มเติมเข้าไปอีก เช่น ละครเวที หนังสั้น การ์ตูน ระบบพ่อฮักแม่ฮัก ค่ายอาสาพัฒนา ฯลฯ เชื่อว่าจะช่วยให้งานบริการวิชาการแก่สังคมในมิติ “กฎหมายสู่ชุมชน” ของคณะนิติศาสตร์มีสถานะที่เด่นชัดและทรงพลังตามวิถีปรัชญาการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมอย่างแท้จริง




หมายเหตุ

ต้นเรื่อง: ผศ.สุภาพร พิทักษ์เผ่าสกุล ผศ.ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล
เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา
ภาพ : คณะนิติศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 609642เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2016 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2016 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ผศ.ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช

...สีสันและหัวใจสำคัญของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องของทุกหลักสูตร ใน มมส และทุกๆ ปี คือ การที่หลักสูตรแต่ละหลักสูตรเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง และการนำเอาทฤษฎีในห้องเรียนมาลงมือปฏิบัติจริงซึ่งถือเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ได้อย่างดียิ่ง และโครงการปีนี้ ปี59 ก็เช่นกันค่ะ

...ปีที่แล้ว งบประมาณปี 58 เป็นผู้รับผิดชอบโครงการหลักเกี่ยวกับการให้ความรู้ทางกฎหมายสิทธิผู้สูงอายุชุมชนบ้านหนองโจด มาปีนี้มาในฐานะวิทยากรและผู้เข้าร่วมโครงการที่ชุมชนโนนคัดเค้า เป็นประสบการณ์คนละแบบที่น่าจดจำและสนุกไม่แพ้กัน เพราะแต่ละชุมชนต่างมีความน่ารักและมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง รวมถึงปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งนักกฎหมายมีหน้าที่ให้ความรู้และตอบข้อสงสัยของชาวบ้านให้เกิดความกระจ่าง และทำให้เข้าใจวิธีใช่กฎหมายอย่างถูกต้องและป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ และลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสารัตถะของกฎหมายที่เกิดขึ้น เพราะภาษากฎหมายเป็นภาษาเทคนิค เมื่อได้รับการตีความอย่างถูกต้องก็ทำให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น

....นอกจากนี้ แม้จะเป็นโครงการที่จัดขึ้นต่างท้องที่กันจากปีทร่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่คณะนิติศาสตร์ มมส ยังคงมีอยู่เสมอคือ ความเป็นพี่น้อง คือ ศิษย์เก่าสัมพันธ์ โดยมีศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ปีนี้ได้แก่ นิติกรศูนย์ดำรงธรรม มหาสารคาม และศิษย์เก่าที่เป็นอาจารย์ นิติศาสตร์ รุ่น 6 และ 7 ตามลำดับมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจแก่รุ่นน้องในการก้าวต่อไปในสายวิชาชีพกฎหมายด้วย

...เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ผู้เข้าร่วมสนุกและประทับใจค่ะ ในครั้งนี้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ยังมีคำถามน่าตื่นเต้นให้ตอบคำถามชาวบ้าน และนิสิตเองบอกว่า" ถ้าหนูเป็นอาจารย์อยู่บนเวทีจะตอบชาวบ้านยังไงดี ต้องมีไหวพริบยังไง จะดูกลุ่มอาจารย์ซึ่งให้ความรู้เป็นแบบอย่าง การตอบคำถามสดๆ แบบนี้หนูหาไม่ได้จากห้องเรียนค่ะ" บทสนทนาตอนหนึ่งกับนิสิตผู้เข้าร่วมโครงการฯ "ชาวบ้านไม่กล้าถามคำถาม หนูจึงตัดสินใจเขียนใส่กระดาษส่งขึ้นไปถามอาจารย์ในเวทีค่ะ หนูรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ และได้ช่วยสังคมค่ะ" ที่สำคัญคือ "ประการณ์เหล่านี้หาไม่ได้จากห้องเรียนครับ ต้องมาสัมผัสเอง จึงเข้าใจเอง และเรียนรู้เอง"

... ขอขอบพระคุณ ผศ.สุภาพร พิทักษ์เผ่าสกุล ผู้รับผิดชอบหลักหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนปี 59 ที่ให้เกียรติเชิญมาร่วมงานนี้ และชื่นชมนิสิตคณะทำงาน นิสิตที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงวิทยากรทุกท่านที่ร่วมและดำเนินกิจกรรมได้จนสำเร็จลุล่วงอย่างดีค่ะสมกับคำกล่าวที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้ทรงกล่าวต่อนักกฎหมายว่า "My life is service." (ชีวิตฉันเกิดมารับใช้ประชาชน) และสอดคล้องกับปณิธานของ มมส อีกด้วยค่ะ

ผศ.ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช

อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สวัสดีครับ ผศ.ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช

ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณอาจรย์มากๆ นะครับที่แวะมาเติมเต็มข้อมูลในบันทึกเรื่องนี้ ผมมองเห็นวัฒนธรรมใคณะเกี่ยวกับการสร้างคน สร้างนักวิชาการเพื่อทำงานรับใช้สังคมในสังกัดคณะนิติศาสตร์บ้างแล้วว่า มีระบบปั้นคนผ่านการสลับหมุนเวียนกันรับผิดชอบโครงการในแต่ละปี แต่ทั้งหมดก็ยังคงให้การสนับสนุน มีส่วนร่วมหนุนเสริมเติมพลังกันอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นการแชร์พื้นที่การทำงานให้แต่ละคนได้เรียนรู้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม คล้าย "ผู้นำ-สร้างผู้นำ" นั่นเอง ครับ

เช่นกันนี้ ผมชื่นชอบกรณีศิษย์เก่ามากๆ ครับ เพราะเป็นกรณีน่าสนใจ เนื่องจากการทำงารบริการวิชาการ หรืองานวิชาการรับใช้สังคมนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำงานของอาจารย์ในคณะกับศิษย์ปัจจุบัน (ผู้เรียน) เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงศิษย์เก่าด้วย ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก อยากให้รัษาวัฒนธรรมนี้ไว้นานๆ และพันาให้เข้มแข็งครับ เพราะจะช่วยสร้างเครือข่ายศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบันไปในตัว ไม่ใช่มารอแค่จัดงานเลี้ยงคืนเหย้าเหมือนที่ใครๆ นิยมชมชอบกัน


อีกประการครับ--ปีหน้า ลองเพิ่มรูปแบบกิจกรรมให้หลากหลาย มีวิธีการที่ถ่ายทอดให้หลากหลาย จะน่าสนใจนะครับ โดยเฉพาะการนำศิลปะในท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดฯ

ชื่นชมและให้กำลังใจ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท