หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เรื่องเล่าสู่เพลง : เพลงสู่ละคร สื่อเรียนรู้หลากรูปแบบว่าด้วยเรื่องดินโพน


เมื่อค้นพบชุดความรู้แล้วก็ไม่ยอมหยุดนิ่งที่จะนำไปใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อ “ผู้รับ” ที่เป็นทั้ง “มหาวิทยาลัยและชุมชน” อย่างหลากหลายรูปแบบ


ว่าด้วยโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (การบริการวิชาการ) และโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (งานวิจัย) อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีจุดยืนการขับเคลื่อนที่ชัดเจน คือ

  • บูรณาการผ่านกระบวนการการเรียนและการสอน การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student--Centered Learning) และใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน (Community-Based Learning) ผ่านระบบและกลไกการเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียน (นิสิต) ผู้สอน (อาจารย์) และชุมชน (ชาวบ้าน-เครือข่าย ภาคี)


กรณีการขับเคลื่อนเรื่อง “ดินโพน” จาก ดร.ธายุกร พระบำรุง และคณะทำงาน (คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) เป็นอีกหนึ่งกรณีที่สัมพันธ์กับหลักการข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่าง “มหาวิทยาลัยกับชุมชน” จนก่อเกิดเป็น “สื่อ/งานสร้างสรรค์/นวัตกรรม” หลากรูปแบบที่สามารถนำกลับมาเผยแพร่ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนได้อย่างไม่เขินอาย ซึ่งทั้งปวงนั้นนิสิตได้มีบทบาทอย่างชัดเจนในการผลิต หรือขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์และชุมชน





ปีงบประมาณ 2557 เป็นปีแรกที่ ดร.ธายุกร และคณะทำงาน ได้ดำเนินงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนใน หัวข้อ “การศึกษาและปรับปรุงคุณภาพดินโพนในพื้นที่การทำสวนผัก บ้านดอนจำปา ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม”

ก่อนจะต่อยอดสู่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในชื่อ "การค้นหาแนวทางปรับปรุงคุณภาพของดินโพน เพื่อทดแทนต้นทุนทางธรรมชาติและมีใช้อย่างยั่งยืน สำหรับการทำสวนผัก บ้านดอนจำปา ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม”





แทบไม่น่าเชื่อว่าภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาที่ดูเหมือนอาจจะไม่มากมายนัก อาศัยพลังแห่งความเป็นทีมของคณะทำงาน ส่งผลให้งานบริการวิชาการและงานวิจัยก่อเกิดเป็นมรรคผลการเรียนรู้ตามครรลองการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมอย่างหลากหลาย ---

กล่าวคือ ดร.ธายุกร และนิสิต หรือกระทั่งชุมชน ได้ร่วมกันสร้าง “สื่อ/งานสร้างสรรค์” ขึ้นมาหลายชิ้น โดยเริ่มต้นจาก “เรื่องเล่าเร้าพลัง” (Storytelling) ที่นิสิตแต่ละคนได้เขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตผ่านการเรียนนอกชั้นเรียนบนฐานของการนำความรู้ไปให้บริการต่อสังคมร่วมกับอาจารย์ ตลอดจนการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการจัดการดินโพนของชาวบ้านควบคู่กันอย่างจริงจังและจริงใจ








ถัดจากนั้นไม่นานนัก นิสิตได้แปลงเรื่องเล่าเร้าพลังไปสู่การสร้างเป็น “เพลงดินโพน” ที่เขียนเนื้อร้องโดยนิสิตและอาจารย์ ประยุกต์เข้ากับท้วงทำนองเพลงที่กำลังโด่งดัง คือ “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” (ก้อง ห้วยไร่) และเพลง “ผู้บ่าวเฒ่ากับสาววัยทีน” (สนุ๊ก สิงห์มาตร) เพื่อใช้เป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้เรื่องดินโพนไปยังชุมชนในแบบฉบับ “ง่ายงาม-เข้าใจง่าย”

รวมถึงการจัดทำ “นิทรรศการ” อีกจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปจัดแสดงถ่ายทอดองค์ความรู้ในวาระต่าง ๆ ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานอื่นๆ อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง







นอกจากนี้แล้วยังพัฒนาต่อยอดเป็น “ชมรมรักษ์ดินโพน ณ สารคาม” ที่ประกอบด้วยนิสิต เด็กและเยาวชน ตลอดจนชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ที่เคยได้ร่วมขับเคลื่อนเรื่องดินโพนมาด้วยกัน โดยกำหนดเป้าหมายหลักคือการนำองค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูดินโพน รวมถึงการนำเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมไปเผยแพร่ต่อสังคม เพื่อบูรณาการสู่วิถีเกษตรที่ยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หรือกระทั่งล่าสุดได้ขับเคลื่อนการทำงานแบบ “ข้ามศาสตร์” หรือ “บูรณาการศาสตร์” ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ ด้วยการผลิตชุดความรู้เรื่อง “ดินโพน” ในรูปของ “ละคร” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้นำความรู้เรื่องดินโพนไปเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านวิถีการละครที่ครบครันในแบบ “ตีกลองร้องเต้น” หรือ “บันเทิงเริงปัญญา” เช่นเดียวกับการผนึกกำลังกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ “ดินโพน” ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบ




นี่คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์อันเป็นผลพวงของการเรียนรู้คู่บริการในแบบ 4 In 1 (บริการวิชาการ การเรียนการสอน วิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม) ที่บูรณาการภารกิจมหาวิทยาลัยสู่การรับใช้สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จากเมื่อค้นพบชุดความรู้แล้วก็ไม่ยอมหยุดนิ่งที่จะนำไปใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อ “ผู้รับ” ที่เป็นทั้ง “มหาวิทยาลัยและชุมชน” อย่างหลากหลายรูปแบบ

เหนือสิ่งอื่นใดยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่านอกเหนือจาก “เรื่องเล่าเร้าพลัง-บทเพลง-ละคร” เหล่านี้แล้ว ดร.ธายุกรและคณะทำงานจะยังคงนำพาองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องดินโพนออกสู่การรับใช้สังคมในรูปแบบเช่นใดได้อีก

แต่ที่แน่ๆ ต้องยอมรับว่านี่คืออีกหนึ่งของความสำเร็จที่ง่ายงามและเป็นรูปธรรมของ “งานวิชาการรับใช้สังคม” ที่ “กินได้” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม





หมายเหตุ

ต้นเรื่อง/ภาพ : ดร.ธายุกร พระบำรุง

เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 609637เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2016 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2016 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณดอกไม้สวยๆ นะครับ

พอดีเพิ่งกลับจากราชการอันแสนยาวยืด เบยพลอยได้มาทักทาเอาตอนนี้ครับ

ที่มหาสารคาม มีฟ้าครึ้มฝนอยู่เนืองๆ แต่ก็เหมือนว่าจะกำลังโบกมือลาไปพักตัวสักพัก ไม่นานก็คงได้หวนกลับมาพรำสายอีกรอบ

ทางโน้นละครับ ฟ้าฝนเป็นเช่นไรบ้างน๊อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท