เถียง US NAS เรื่องการพัฒนาเด็ก



US National Academy of Sciences จัดพิมพ์หนังสือ Supporting Family and Community Investments in Young Children Globally ที่มาจากการประชุม ๓ วัน (๒๗ - ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘) ที่ประเทศเอธิโอเปีย มีคนร่วมประชุม ๔๕ คน จากหลายประเทศ มีทีมจดรายงานการประชุม ทำไปผ่านกระบวนการตรวจสอบ (review) โดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก แล้วจัดพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือจำหน่ายหนังสือเล่ม และให้ดาวน์โหลด pdf file ฟรี เป็นการทำงานที่รวดเร็วและเป็นมืออาชีพมาก

ยิ่งกว่านั้น เป้าหมายลึกๆ ของการประชุมคือ ต้องการหาทางใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน คือการระบาดของ โรคอีโบลา สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบ disruptive change ในชุมชนและครอบครัว ต่อการลงทุนพัฒนาเด็กเล็ก เป็นเป้าหมายที่ล้ำลึกมาก เน้นชุมชนในอัฟริกา

เมื่อผมอ่านไปถึงหน้า ๘ ผมก็ได้ประเด็นเอามาเถียงรายงานนี้ เพราะวิทยากรจากอูกานดา ระบุประเด็นการลงทุนพัฒนาเด็กในด้าน “peace and stability, food and nutrition, health, education, social protection services, safe water, sanitation, environmental hygiene, energy, among others” ซึ่งสำหรับสังคมไทย ไม่เพียงพออย่างยิ่ง

ในสายตาของผม การพัฒนาเด็กในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ต้องช่วยให้เด็กสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ขึ้นในตน เป็น internal social protection ที่ช่วยป้องกันตนจากเชื้อโรคทางสังคมที่มากับระบบการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ โซเชี่ยลมีเดีย และไอซีที ได้แก่โรคอ้วน โรคติดเกม ติดเน็ต ติดการพนัน ติดความฟุ้งเฟ้อ รักความสบาย ไม่อดทน ขาดความมุ่งมั่น หวังรวยลัด ซึ่งกล่าวในทางหลักวิชาการคือ ต้องเอาใจใส่พัฒนา EFให้แก่เด็ก

ข้อโต้แย้งของผมไปตรงกับข้อเสนอของผู้แทน UNICEF ในประเทศเอธิโอเปีย ว่าหัวใจคือการวาง รากฐานให้เด็กได้เป็นบุคคลเรียนรู้และพัฒนาตลอดชีวิต โดยต้องดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในโอกาส พัฒนาสมองและพัฒนาการในวัยเยาว์

แล้วในบทที่ 3 Financing Model ผมก็ประจักษ์ ว่าการพัฒนาเด็ก มันไม่แยกออกจากการพัฒนา ในภาพรวมของครอบครัว ชุมชน และสังคม เขายกตัวอย่างอุตสาหกรรมโกโก้หรือช็อกโกเลต ที่ความอยู่รอดหรือต่อเนื่องยั่งยืนอยู่ที่การมีเกษตรกรปลูกต้นโกโก้ (ทำให้ผมนึกในใจว่า เกษตรกรปลูกโกโก้ รายย่อย ไม่มีทางตั้งตัวได้ เพราะผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรขั้นปฐม ไม่ได้แปรรูปเพิ่มมูลค่า) เขาจัดตั้งมูลนิธิ เข้าไปส่งเสริมครอบครัวเกษตรกรเป็นแสนๆ คน ในประเทศไอวอรีโคสต์ และกานา ในลักษณะของ การพัฒนาชุมชน ที่มีมิติของการพัฒนาเด็กบูรณาการอยู่ด้วย เท่ากับเป็นโมเดลของความช่วยเหลือ

อีกโมเดลหนึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านจัดตั้ง “ธุรกิจเพื่อสังคม” (social enterprise) ขึ้นมาให้บริการกันเอง เพื่อให้มีบริการเลี้ยงเด็กให้แก่แม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และไม่มีคนดูแลลูกตั้งแต่หลังคลอดถึงอายุ ๖ ขวบ และเก็บเงินค่าบริการในราคาไม่สูง

โมเดลที่ ๓ มาจากอัฟริกาใต้ มีมูลนิธิเข้าไปส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายย่อย จัดการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ที่เขาเรียกว่า quality early learning ให้แก่ลูกคนจน ๔๐% ล่างของสังคม

ผมจ้องหาว่ามีการเอ่ยถึงโมเดลสมัยใหม่ในการพัฒนาเด็กหรือไม่ มาพบในโมเดลที่ ๓ ข้างบนก็โล่งใจ ผมชอบโมเดลที่ ๓ มากที่สุด แต่จริงๆ แล้วทำทั้งสามโมเดลในพื้นที่เดียวกันก็ได้

โครงการโภชนาการโรงเรียนของเอธิโอเปียก้าวหน้ากว่าไทยนะครับ ที่นั่นเขาต้องการให้เด็กดื่มนมวันละ ๒๐๐ ซีซี เขาก็เอาวัวนมไปให้โรงเรียนเลี้ยง ไม่ทราบว่ามีความยั่งยืนแค่ไหน ในเอกสารบอกว่า ทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนไปในตัว ซึ่งเป็นความคิดที่เยี่ยมยอด หากทำได้จริงในทางปฏิบัติ และต่อเนื่องยั่งยืน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อโภชนาการ ที่ไม่ใช่แค่เด็กในโรงเรียน

คนเอธิโอเปียแต่งงานเร็วหย่าเร็ว มองเป็นเรื่องอนามัยการเจิญพันธุ์ หรือเป็นเรื่องสุขภาพทางเพศ หรือเป็นเรื่องความเข้มแข็งของครอบครัว ก็ได้ รวมความแล้วเป็นเรื่องต้องพัฒนา ความสำคัญของวัยรุ่น ที่แต่งงาน อยู่ที่ความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรให้ถูกวิธี ให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพ เขาพัฒนาความรู้ ของแม่วัยรุ่นด้วย innovative group-based peer education model ผมอ่านผ่านๆ จับความได้ว่า เป็นกิจกรรมแบบ project based 1 ปี ซึ่งเป็นวิธีการที่ผมไม่ศรัทธา เพราะไม่ยั่งยืน

อ่านเรื่องเอธิโอเปียแล้วน่าเห็นใจ เพราะมีคนจำนวนมากมีระดับการศึกษาไม่ถึง ป. ๔ และรัฐบาลไม่มีระบบพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่สุดของการพัฒนาคุณภาพพลเมือง ที่จริงเรื่องนี้วงการนโยบายไทยก็เดินผิดทาง ที่ให้งบประมาณสนับสนุนการศึกษาระดับประถมจนถึงมัธยม ๖ แต่ไม่ถือว่าการพัฒนาเด็กเล็กกว่านั้นเป็นความรับผิดชอบสนับสนุนงบประมาณโดยรัฐ แต่ก็น่าดีใจว่า ความผิดพลากเชิงนโยบายนี้ กำลังจะได้รับการแก้ไข

อ่านเอกสาร ๑๑๙ หน้านี้แล้ว ผมเห็นว่า ชุมชนท้องถิ่นของอัฟริกา อ่อนแอกว่าชุมชนท้องถิ่นไทยมาก และฝรั่งที่เข้าไปประชุม ก็ไม่เข้าใจเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนขึ้นมาจัดการตนเองในเรื่องสุขภาวะ ประเทศไทยเราโชคดีมาก ที่บรรพบุรุษได้สร้างระบบอาสาสมัครสาธาณสุข (อสม.) ไว้ และในช่วงเวลา ๑๕ ปี ที่มี สสส. ได้สนับสนุนกลไกในชุมชนท้องถิ่นไว้มาก นอกจากนั้น ระบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของเรา ก็ค่อยๆ มีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ

แต่นางเอกอยู่ที่การฉวยจังหวะที่โรคอีโบลาระบาด สร้าง disruptive change ในสภาพที่มีเด็ก กำพร้าจำนวนมากเพราะแม่ตายทันทีหลังคลอด จากโรคอีโบลา โดยเอาบทเรียนมาจากผลงานวิจัย ที่ประเทศเซียราลีโอน ที่สงครามกลางเมืองทำให้มีเด็กกำพร้ามากมาย และผู้เข้าร่วมประชุมแบ่งกลุ่มกัน เพื่อระดมความคิดหาโมเดลของการดูแลเด็กในภาวะวิกฤติ ๓ แบบคือ (๑) ในภัยพิบัติทางธรรมชาติ (๒) ในภาวะสงคราม (๓) ในภาวะโรคระบาด

องค์การระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ใช้ UN Cluster System ในการทำงาน แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในพื้นที่ต้องมีระบบในระดับครอบครัว, ชุมชน, โรงเรียน, และระดับชาติ ผมแปลกใจที่เขาไม่เอ่ยเรื่องบทบาทของระบบสุขภาพเลย

ดูตามที่เสนอในเอกสารนี้ ระบบของไทยดีกว่ามาก เรามีบทบาทของนักระบาดวิทยาด้วย เขาไม่กล่าวถึงเลย



วิจารณ์ พานิช

๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 608030เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2016 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2016 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท