การเรียนรู้ในวัยเยาว์ : 3. พัฒนาการสมองด้าน Executive Function



        วารสาร Science ฉบับวันที่ ๑๙ ส.ค. ๕๔ มีภาคพิเศษชื่อ Investing Early In Education   และบทความที่ให้ความรู้เรื่อง Executive Function อย่างมากมายคือเรื่อง Interventions Shown to Aid Executive Function Development in Children 4 to 12 Years Old

          ส่วนที่ทำให้ผมได้ความรู้ชัดเจนคือข้อความในย่อหน้าที่สองของบทความ   ซึ่งอธิบายว่า Executive Function (EF) ของสมองคืออะไร  มันคือคุณสมบัติสำคัญของสมอง ๔ ประการที่มีผลต่อความสำเร็จในชีวิต ได้แก่

 ความริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity)  ซึ่งรวมการแก้ปัญหา และการมี working memory ที่ดี


 ความยืดหยุ่น (flexibility)   ที่จะช่วยให้สามารถค้นพบเรื่องใหม่ที่มีความสำคัญแบบค้นพบโดยบังเอิญ (serendipity) ได้

 การควบคุมตนเอง (self-control)  ที่จะไม่ตัดสินใจหรือมีพฤติกรรมแบบไม่ยั้งคิด หรือหุนหันพลันแล่น  ที่เมื่อทำแล้วจะเสียใจภายหลัง  รวมทั้งการควบคุมตนเองไม่ให้พ่ายแพ้ต่อสิ่งเย้ายวน


 การมีวินัย (discipline) ที่จะมีสมาธิอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ   จนทำเรื่องยากๆ ได้สำเร็จ   รวมทั้งการวางแผน

          ทั้งหมดนี้ เกี่ยวข้องกับไอคิวน้อยมากหรือไม่เกี่ยวเลย 

          สมองส่วนที่ควบคุม EF คือสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex)

          พัฒนาการของ EF มีความสำคัญต่อความพร้อมในการเรียน (ชั้นอนุบาล)   และมีผลต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคณิตศาสตร์ และด้านการอ่าน ตลอดช่วงการเรียนในโรงเรียน   และที่สำคัญคือ มีผลต่อความสำเร็จด้านต่างๆ ในชีวิต ได้แก่ด้านอาชีพ ชีวิตสมรส และต่อสุขภาวะทางกายและทางใจ  

          เด็กที่ในช่วงอายุ ๓ – ๑๑ ขวบ ที่ด้อยด้านการควบคุมตนเอง (ไม่อดทนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง  หุนหันพลันแล่น  และไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใด)   เมื่อเป็นผู้ใหญ่ใน ๓๐ ปีให้หลัง จะมีสุขภาพด้อยกว่า รายได้น้อยกว่า และก่ออาชญากรรมมากกว่า เด็กที่ไม่มีปัญหาด้านการควบคุมตนเอง 

          การดำเนินการเพื่อช่วยให้เด็กเล็กพัฒนาสมองส่วน EF จึงสำคัญยิ่งต่อความเจริญและสงบสุขของสังคม  และพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า เป็นการลงทุนที่ก่อผลคุ้มค่ามาก  และหากสังคมปล่อยปละละเลย ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจะแพงหรือสิ้นเปลืองมากต่อสังคม  

         วิธีการฝึกสมองส่วน EF มี ๖ กลุ่ม ได้แก่

๑. การฝึกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น CogMed


๒. ลูกผสมระหว่างเกมอื่นกับเกมคอมพิวเตอร์ 


๓. การออกกำลังแบบแอโรบิก  


๔. ศิลปะป้องกันตัวและการฝึกสมาธิ


๕. หลักสูตรในชั้นเรียน ได้แก่ Tools of the Mind  หลักสูตรแบบ Montessori


๖. กิจกรรมเสริมหลักสูตร ได้แก่ PATHS (Promoting Alternative Thinking Strategies), CSRP (Chicago School Readiness Project)  

 

           รายละเอียดอ่านเอาเองจากบทความฉบับเต็มนะครับ       

 

วิจารณ์ พานิช
๒๗ ส.ค. ๕๔

         
         
          
                  

หมายเลขบันทึก: 463212เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2011 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มารับอาหารเสริมปัญญาครับ

สมาธิสามารถเข้าไปแทรกได้ในทุกรายวิชาเลยนะครับ

ได้ข้อมูลอีกแล้ว..ต้องแบ่งปันต่อ ขอบพระคุณค่ะ

อ่านเกือบทุกเรื่องที่ท่านเขียน ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท