ชมรมรุ่นสัมพันธ์ : จุดประกายไฟใส่สีความฝัน (เปิดเรื่อง)


เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้ข้ามพ้นตัวเองไปสู่ศาสตร์อื่นๆ ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเป็นทีม ฝึกฝนให้เรียนรู้ด้วยตนเองและทีมอย่างหลากหลายรูปแบบ แถมยังสนับสนุนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบกิจกรรม ฝึกวิเคราะห์ข้อมูล ฝึกการสกัดข้อมูลออกมาเป็นสื่อและการสื่อสารสร้างพลัง

สารภาพกันอย่างไม่อายตรงนี้เลยว่า ก่อนหน้านี้หากจำต้องพูดถึงกิจกรรมชมรมรุ่นสัมพันธ์ ผมมักให้ความสำคัญกับโครงการ “ความรู้นี้พี่ให้น้อง” มากกว่าโครงการอื่นๆ

แต่เอาเข้าจริง- ครั้นมีโอกาสได้สัมผัสลึกกับโครงการอื่นๆ ถึงกลับอยากตบกะโหลกกะลาตัวเองแรงๆ เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีชื่อว่า “จุดประกายไฟใส่สีความฝัน” นั้นพอได้เปิดใจศึกษาจริงๆ จังๆ กลับสัมผัสได้ว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้โครงการอื่นๆ




โครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝัน ถือเป็นกิจกรรมเชิงประเพณีนิยมอีกกิจกรรมหนึ่งของชมรมรุ่นสัมพันธ์ที่ถูกขับเคลื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่มากับโครงการความรู้นี้พี่ให้น้อง จากวันนั้นจวบจนปีนี้ (2558) โครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝันได้แตกเนื้อหนุ่มและเป็นสาวเต็มตัว เพราะมีอายุถึง 14 ปี – หรือ 14 อีกครั้งแล้วนั่นเอง

ล่าสุดโครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝัน ครั้งที่ 14 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการแนะแนวการศึกษาแก่นักเรียนและการพัฒนาศักยภาพ หรือทักษะชีวิตของสมาชิกในชมรมผ่านกิจกรรมการบริการสังคมตามครรลองจิตสาธารณะที่เชื่อมโยงกับปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) และอัตลักษณ์นิสิตที่ว่า “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน”




กิจกรรมครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักคือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

การแนะแนวการศึกษาที่ว่านี้ไม่ได้มุ่งเน้นว่าให้นักเรียนต้องทะลักเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเสียทั้งหมด หากแต่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดมุมมองต่อการพัฒนาชีวิตผ่านระบบและกลไกของการศึกษาตามความสนใจของตนเองเป็นสำคัญ

เรียกได้ว่าสนใจอะไรก็เลือกที่จะขีดเส้นชีวิตตนเอง หรือเรียนรู้ที่จะตั้งเป้าหมายชีวิตตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบวันต่อวันไร้แรงบันดาลใจและไร้เป้าหมายชีวิต

ในทำนองเดียวกันก็รวมถึงการแนะแนวเพิ่มเติมในสาระวิชาต่างๆ เพื่อสร้างกระบวนการของการทบทวนความรู้ และกระตุ้นให้เกิดการเตรียมความพร้อมในนักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างจริงๆ จังๆ

เช่นเดียวกับการสอดแทรกสาระความเป็นชีวิตของวัยรุ่น หรือเยาวชนไทยให้กับนักเรียน เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะพลเมืองของสังคม โดยเริ่มตนจากการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด





สร้างคน สร้างงาน สร้างการเรียนรู้ข้ามสายวิชาชีพ


ด้วยเหตุที่กิจกรรมหลักคือการแนะแนวการศึกษา จึงมองได้ว่าทีมงานย่อมมอบหมายให้นิสิตแต่ละคณะ ได้รับผิดชอบการแนะแนวการศึกษาในวิชาชีพตนเองเป็นหลัก

แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น-


โครงการนี้ได้กำหนดให้นิสิตที่สมัครเข้าร่วมโครงการทุกคนได้แสดงความสามารถของตนเองในด้านต่างๆ โดยไม่เจาะจงด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อคัดเลือกเข้าสู่ “สายงาน” ของการเป็น “พี่บอร์ด” เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บรรยาย หรือผู้แนะแนวการศึกษา ซึ่งหลักๆ แล้วจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี พูดจาฉะฉาน มีวาทศิลป์ กล้าแสดงออก มีไหวพริบในการสื่อสารและตอบคำถาม รวมถึงมีอัธยาศัยที่ดี

และที่สำคัญคือ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นพี่บอร์ดหาใช่จะได้แนะแนวการศึกษาในวิชาชีพตนเอง ตรงกันข้ามกลับต้องทำหน้าที่แนะแนวการศึกษาเกี่ยวกับคณะอื่น หรือวิชาชีพอื่น !



ใช่ครับ-มองในมุมอีกมุม เหมือนการ “ใช้คน ไม่ตรงกับงาน” สุ่มเสี่ยงต่อการล้มเหลวไม่ใช่ย่อย มันเหมือนพัฒนาคนบนฐานที่ไม่ใช่ตัวตนของเขานั่นเอง

แต่ก็อย่างว่า - ทุกๆ กิจกรรมย่อมมีปรัชญาการเรียนรู้เป็นของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดใจเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมของกิจกรรม หรือองค์กรนั้นๆ แค่ไหน

ประเด็นดังกล่าวนี้ เหล่าบรรดาแกนนำชมรมฯ ได้อธิบายถึงหลักคิดของการออกแบบกระบวนการดังกล่าวให้ผมฟังอย่างตรงไปตรงมาประมาณว่า ...

  • “เหตุที่ไม่ให้นิสิตได้แนะแนวในเรื่องที่เป็นคณะต้นสังกัดของตนเอง เพราะต้องการให้ทุกคนได้เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง ไม่ใช่จ่อมจมอยู่กับตัวตนของตนเอง ไม่ใช้รู้แค่ว่าตนเองเรียนคณะอะไร แต่ควรต้องรู้ให้มากกว่านั้นว่าในมหาวิทยาลัยของตนเองมีคณะอะไร มีวิชาชีพอะไรบ้าง”


ครับ-ฟังดูก็เข้าท่าไม่ใช่ย่อย เสมือนการฝึกให้คนเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆที่อยู่รายรอบตัว เหมือนการเรียนรู้แบบองค์รวมและไม่แยกส่วน เหมือนให้รู้ว่าโครงสร้างของต้นไม้ประกอบด้วยรากแก้ว –รากฝอย-ลำต้น –กิ่งก้าน-ใบ-ดอก-ผล ฯลฯ

ยิ่งฟังก็ยิ่งดูเหมือนว่า ทุกสิ่งอย่างล้วนมีเหตุผลของตัวเองจริงๆ






เสาะหาความรู้สู่การเผยแพร่ : การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนิสิตที่ชวนประทับใจ

ภายหลังการคัดเลือก “พี่บอร์ด” เสร็จสิ้นแล้ว บรรดารุ่นพี่ หรือคณะกรรมการบริหารชมรมจะมอบหมายให้แต่ละคนได้รับผิดชอบคณะ/วิชาชีพที่ต้องแนะแนวการศึกษา กล่าวคือแต่ละคนจะไม่ได้นำเสนอเรื่องราวคณะต้นสังกัดของตนเอง พร้อมๆ กับการจัดกลุ่มจัดทีมให้กับน้องๆ อย่างเสร็จสรรพเพื่อป้องกันมิให้แต่ละคนเกาะกลุ่มอยู่แต่กับเพื่อนเก่าจนไม่เปิดพื้นที่สู่การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ กับเพื่อนใหม่ๆ

หรือกระทั่งการไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้เรื่องเก่าๆ กับเพื่อนใหม่ๆ

ใช่ครับ-ฟังดูก็คงไม่มีผิดไม่มีถูกอีกตามเคย ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลในตัวเองเสมอ

ถัดจากนั้นแต่ละกลุ่มจะเริ่มต้น “เสาะหาความรู้” (ข้อมูล) ของคณะที่ตนเองได้รับมอบหมายร่วมกัน โดยทีมงานหลักจะไม่ได้ชี้เป้าว่าต้องเสาะแสวงหาความรู้จากที่ใด หรือใช้กระบวนการใดในการเสาะหาความรู้ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว แต่ละกลุ่มจะใช้วิธีการที่ไม่ต่างกันนัก เป็นต้นว่า

  • สัมภาษณ์/สอบถามข้อมูลจากอาจารย์และนิสิตในสังกัดคณะนั้นๆ
  • ค้นคว้าเพิ่มเติมจากระบบอินเทอร์เน็ต
  • ติดต่อสอบถามข้อมูลและสื่อต่างๆ จากหน่วยงานสังกัดคณะและมหาวิทยาลัย เช่น กองบริการการศึกษา งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย



ครั้นได้ความรู้ หรือข้อมูลมาแล้ว แต่ละกลุ่มจะมา “โสเหล่” (เสวนา) จัดกระทำต่อข้อมูลเป็นหมวดหมู่ ออกแบบการทำงานนับตั้งแต่การออกแบบสื่อทั้งที่เป็นนิทรรศการ แผ่นพับ วีดีทัศน์ powerpoint รูปแบบการนำเสนอ มอบหมายภารกิจคนในกลุ่มว่าใครต้องทำอะไร รวมถึงการฝึกซ้อมภายในกลุ่มอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ยังไม่จบเท่านั้น- ไม่ใช่แค่ฝึกซ้อมภายในกลุ่มเท่านั้น แต่ต้องยกทีมมานำเสนอให้เหล่าบรรดารุ่นพี่และคณะกรรมการบริหารชมรมฯ ที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการของการแนะแนวการศึกษา ทั้งในมิติที่เป็นข้อมูล – สื่อ - รูปแบบการนำเสนอ รวมถึงบุคลิกภาพ

โดยส่วนตัวผมมองว่ากระบวนการเช่นนี้น่าสนใจมาก เนื่องเพราะเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้ข้ามพ้นตัวเองไปสู่ศาสตร์อื่นๆ ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเป็นทีม ฝึกฝนให้เรียนรู้ด้วยตนเองและทีมอย่างหลากหลายรูปแบบ แถมยังสนับสนุนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบกิจกรรม ฝึกวิเคราะห์ข้อมูล ฝึกการสกัดข้อมูลออกมาเป็นสื่อและการสื่อสารสร้างพลัง ฯลฯ

และยิ่งมีการทดลอง/ทดสอบก่อนการปฏิบัติจริงร่วมกัน ยิ่งช่วยตอกย้ำถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้บนฐานคิดของ PDCA การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การจัดการความรู้ร่วมกัน ฯลฯ

มิหนำซ้ำการได้เรียนเชิญวิทยากรจากกองบริการการศึกษามาช่วยแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการแนะแนวการศึกษาและบุคลิกภาพของนักแนะแนวการศึกษา ยิ่งทำให้ผมเห็นภาพของการพัฒนาตัวตนของนิสิตผ่านกิจกรรมนี้อย่างน่าประทับใจ




ใช่ครับ- แปลกแต่ก็น่าสนใจ ... ไม่มีผิด ไม่มีถูก ทุกอย่างมีเหตุผลและครรลองของตัวเองเสมอ

สำหรับบันทึกนี้เอาไว้แค่นี้ก่อน ... ไว้จะมาเล่าต่อ อีกครั้งนะครับ




หมายเหตุ : ภาพและเรื่องราว โดยชมรมรุ่นสัมพันธ์
และปากคำแห่งการแบ่งปัน โดย เมธี ชุ่มนาเสียว (ศึกษาศาสตร์) เพชราภรณ์ เชื้อไพบูลย์ (การบัญชีและการจัดการ) ชฏาพร อันสนั่น (วิทยาลัยการเมืองการปกครอง) อ้อมฤดี วิเศษวุฒิ (สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) ปรัชญาพร วิชโย (วิทยาศาสตร์) รุ่งศจี คุปวานิชพงษ์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)


หมายเลขบันทึก: 607270เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2016 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีกิจกรรมที่หลากหลายมาก

แต่ไปไกลเหมือนกันนะครับ

คิดถึงตอนเป็นนิสิตแล้วไปที่พัทลุงเลย

ครับ ดร. ขจิต ฝอยทอง


เดิมผมมองว่าโครงการนี้ คงเหมือนแนะแนวการศึกษาทั่วๆ ไป เหมือนที่เราเคยเป็นนักเรียนแล้วมีรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยฯ มาช่วยแนะแนวการศึกษา สร้างแรงบันดาลใจให้เราได้รู้สึกอยากเรียนต่อให้สูงขึ้น

แต่พอมาดูจริงๆ ประเด็น กระบวนการทำงานน่าสนใจดีครับ มีที่ไหนให้พูดในเรื่องที่ไม่ใช่วิชาชีพตนเอง 5555 แต่พอเปิดใจฟัง กลับเห็นกระบวนการสร้างคน สร้างงานอย่างน่าสนใจ มันยิ่งตอกย้ำให้ผมเชื่อและให้ความเคารพว่า ทุกสิ่งอย่างมีเหตุผล มีครรลองของมันเองจริงๆ ....



ขอบพระคุณ อ.ดารนี ชัยอิทธิพร มากๆ นะครับ

ผมใช้เวลาพูดคุยกับนิสิตกลุ่มนี้ นานพอสมควร แต่ใช้เวลาเขียนเรื่องนี้นานกว่า ถึงตอนนี้ก็ยังเขียนไม่จบ บันทึกถัดไปจะเขียนเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรม การเลือกพื้นที่ การสร้างการมีส่วนร่วม และผลลัพธ์ของกิจกรรม ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท