วันที่สี่ เมล็ดพันธ์แห่งการเติบโต (19 พฤษภาคม 2559)


วันนี้เริ่มเหนื่อยล้าจัดกาแฟเช้า ๆ สักแก้วก่อนเลย...

เช้านี้อากาศเป็นใจสบาย ๆ ไม่ร้อนมากทำกิจกรรมหน้าเสาธงได้อย่างราบรื่น เด็ก ๆ นักเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตั้งเเต่การเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ เเผ่เมตตา บางทีสภาพอากาศก็เป็นใจมีผลต่อพฤติกรรมของนักเรียน


กองทัพเดินด้วยท้อง...มีให้เห็นไม่มากกับโรงเรียนที่อยู่ในเมืองเเล้วเลี้ยงอาหารกลางวันเป็น ข้าวเหนียว ไก่ทอด เพราะส่วนมากโรงเรียนในเมืองจะเป็นข้าวจ้าวกับอาหารอีก 1 - 2 อย่าง เป็นส่วนมาก เลยรู้สึกเเปลกใจไปอีกแบบ ที่ได้ทานอาหารสไตล์คนเหนือที่โรงเรียน ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้งนักเรียนต้องท่องบทสวดข้าวทุกจาน เพื่อให้ระลึกถึงคุณค่าของข้าวกว่าที่จะได้มาแต่ละเม็ดยากเย็นเเสนเข็นเพียงใด บาง เราไม่ควรที่จะกินทิ้งกินขว้างหรือทานไม่หมด เพราะ เด็กบางคนไม่มีเเม้เเต่ข้าวที่จะกิน

"ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า คนจนคนยาก ลำบากหนักหนา สงสารบรรดา เด็กตาดำดำ"


เริ่มออกฤทธิ์... หลังจากทานข้าวเหนียวไปได้ไม่นาน หนังท้องตึง หนังตาเริ่มหย่อน...ต่อไปนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่าง Caffeine Vs. Sleepiness ฝ่าย Sleepiness ชนะ Caffeine ไปได้อย่างเฉียดฉิว แต่ครูฝึกสอนยังมีภาระกิจอีกมากมายที่ต้องสะสาง...

"เมล็ดพันธ์เเห่งการเติบโต"

วันนี้จัดไปกับการสอนวิทยาศาสตร์ ป.2 ในการบันทึกผลการทดลองการปลูกต้นถั่วเขียว เพื่อศึกษาน้ำที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของพืชหรือไม่ จากการที่ครั้งเเล้วได้ทดลองปลูกทั่วเขียว ผ่านไปแล้ว 2 วัน ตอนนี้เราจะมาดูความคืบหน้าของมันกันเถอะ (การทดลองปลูกถั่วเขียวในครั้งที่แล้วสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/606729)


เด็กก็เปรียบเสมือนเมล็ดพันธ์ที่เป็นเพียงเม็ดเล็ก ๆ การที่เมล็ดพันธ์จะเจริญเติบโตขึ้นได้อย่างสวยงามต้องมีการดูแลเอาใจใสรดน้ำ พรวนดินให้สารอาหารเเร่ธาตุอยู่เสมอ เหมือนกับที่ครูต้องคอยดูเเลส่งเสริมจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กได้เติบโตเเละมีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคมเเละประเทศชาติ


หากเเต่ปล่อยปะละเลยไม่สนใจดูเเลเอาใจใส่ไม่รดน้ำ ปล่อยให้ดินเเห้งกรัง ถั่วเขียวก็ไร้ซึ่งการเติบโต เด็กก็เช่นกันหากไม่สนใจ ให้สิ่งใหม่ ๆ เเก่เด็ก เด็กก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น เเม้ว่าวันเวลาผ่านไปนานเท่าใดต้นถั่วก็ไม่มีการเจริญเติบโต


ต้นถั่วบางต้นสูง บางต้นก็ต่ำ บางต้นก็หัวเมล็ดโผล่พ้นดินมาเล็กน้อย บางเมล็ดยังอยู่ในดินไม่ขึ้น เด็กก็เช่นกันที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล เรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน เรียนในเรื่องเดียวกัน บางคนเรียนได้มาก บางคนเรียนรู้ได้น้อย บางคนเรียนไม่ได้อะไรเลย ครูก็ควรที่จะใส่ใจกับเด็กที่เรียนรู้น้อยเเละเด็กเรียนรู้ไม่ค่อยได้ ให้เกิดการเรียนรู้ให้เท่าทันเพื่อน ส่วนเด็กที่เรียนรู้ได้มากก็พัฒนาเด็กต่อไปให้สูงสุด


วันนี้ได้เริ่มบันทึกการทดลองกันเเล้ว เด็ก ๆ จำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะในการสังเกตลักษณะของต้นถั่วเขียวตั้งเเต่วันที่ปลูกจนวันนี้ผ่านไป 2 วัน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรระหว่างกระถางที่รดน้ำและกระถางที่ไม่รดน้ำ ไปพร้อมกับการวัดความสูงของต้นถั่วเขียวที่เด็กจะต้องใช้ทักษะการวัดและเครื่องมือการวัดให้ถูกต้อง และร่วมกันสรุปลักษณะต้นถั่วเขียวลงในตารางบันทึกผล

ปัญหาที่มักจะพบคือเด็กเขียนตัวบรรจงไม่ค่อยได้บางคนเขียนตัวใหญ่เกินไปจนเขียนเลยเส้นบรรทัดที่กำหนดไว้ให้ บางคนเขียนสะกดผิด บางคนขนาดครูเขียนให้เป็นแบบอย่างบนกระดานยังจดลองในแบบบันทึกผิด ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่เอาการทีเดียว เพราะว่า เด็กอ่านไม่ค่อยออกเขียนไม่ค่อยได้ จะเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับทุก ๆ รายวิชาเลยทีเดียว


ปิดท้าย...วันนี้ด้วยงานตรวจการส่งสมุดจดการบ้านของเด็กว่า เด็กได้บันทึกการบ้านลงไปในสมุดหรือไม่ บันทึกได้ถูกต้องครบทุกวิชาหรือไม่ โดยที่ครูจะต้องคอยตรวจในทุก ๆ วัน ทีละเลขที่ให้ครบ และต้องเซ็นต์ชื่อครูกำกับลงไปในสมุดทุกวันและต้องให้เด็กเอากลับบ้านไปให้ผู้ปกครองเซ็นต์ชื่อรับทราบทุกวันด้วยเช่นกันว่า ในวันนี้นักเรียนมีการบ้านอะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง โรงเรียนมีสิ่งใดแจ้งไปบ้าง ให้ผู้ปกครองรับทราบ เพื่อจะให้ลูกของตนทำการบ้านหรืองานตามที่ครูสั่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความใส่ใจของผู้ปกครองเเต่ละคน บางคนก็ปล่อยปะละเลย ไม่สนใจว่าลูกตนเองมีการบ้านบ้างไหม ลูกต้องทำอะไรบ้างเลยก็มี



หมายเลขบันทึก: 606879เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2016 02:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2016 02:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท