Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เชิญรับรู้ความกังวลของพี่ชายไร้สัญชาติถึงน้องๆ ไร้สัญชาติ ... พวกเขาเป็นเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กของประเทศไทย


ตอบคุณหลี่ชิงเรื่องโอกาสที่จะได้สัญชาติไทยของเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กของประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10154159419888834

----------------

ความเป็นมา

----------------

เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๙.๕๒ น. คุณหลี่ชิง อีเมลล์ถึงผู้เขียนโดยตั้งชื่อหัวข้อว่า “สวัสดีครับ อาจารย์พันธุ์ทิพย์ ผมอยากขอคำปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับการขอบัตรประชาชนให้น้องหน่อยครับ” และอีเมลลืมีใจความว่า “คือน้องสาวผม ไม่มีใบเกิดไม่มีว่าเกิดที่ไหน แต่มีผู้ที่สามารถรับรองได้ว่าเกิดที่ โรงพยาบาลเวียงแหง และอีกอย่างคือน้องสาวเขาอยู่เมืองไทย (เพราะมาอยู่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงเวียงพิงค์ ส่วนผมและน้องชายอีก ๓ คนก็อยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่) มามากกว่า ๑๐ ปีแล้ว สามารถใช้เงื่อนไขที่ว่าอยู่ในการอุปการะกับทางสถานสงเคราะห์เด็กมากกว่า ๑๐ ปีเพื่อที่จะยื่นขอบัตรประชาชนได้หรือเปล่ารับได้หรือเปล่า”

---------------------------

ความแห็นของผู้เขียน

-------------------------

ผู้เขียนอ่านอีเมลล์ฉบับนี้แล้วก็มีความประทับใจมาก เข้าใจว่า เป็นครอบครัวของเด็ก ๕ คนที่พลัดพรากจากบุพการีจนต้องมาอาศัยอยู่ในความดูแลของบ้านสงเคราะห์ ซึ่งเด็กหญิง ๑ คนต้องไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงเวียงพิงค์ ในขณะที่เด็กชาย ๔ คนต้องแยกไปอยู่สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่ และอยู่กันมากว่า ๑๐ ปี ซึ่งน่าจะเริ่มต้นในราว พ.ศ. ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๙

แต่อย่างไรก็ตาม คุณหลี่ชิง ซึ่งเป็นพี่ชาย ก็ยังมีความเป็นห่วงน้องมาก จึงตั้งชื่อหัวข้ออีเมลล์ให้เราสนใจที่จะแสวงหาบัตรประชาชนให้แก่น้องของเขา

ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๔.๑๘ น. ผู้เขียนจึงตอบอีเมลล์ของคุณหลี่ชิงว่า “พวกคุณเกิดเมื่อไหร่ อายุเท่าไหร่ ตอนนี้ทำอะไรอยู่คะ ลองอ่านแนวทางที่แนบมาของกระทรวงมหาดไทยซิคะ คุณเคยอ่านมาตรา ๑๒/๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติไหมคะ อ.แหววค่ะ” และผู้เขียนก็ไม่ลืมแนบแผนผังแสดงนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งจัดทำโดยปลัดกระทรวงมหาดไทยในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙

เรามารอคำตอบจากคุณหลี่ชิง และรับรู้เรื่องราวของครอบครัวของเขา ซึ่งผู้เขียนใคร่จะใช้เรื่องราวของพวกเขาเพื่อทำความเข้าใจกับทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

กระทรวงมหาดไทยนั้น เป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ และมาตรา ๑๒/๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ บัญญัติว่า

“ในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๒ นั้น บุคคลอื่นอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้อนุบาลตามคำสั่งของศาลอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่คนไร้ความสามารถซึ่งมีหลักฐานแสดงให้เชื่อได้ว่าเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ (๓) และ (๕) และรัฐมนตรีจะยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิญาณตนก็ได้

(๒) ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ของรัฐตามที่รัฐมนตรีกำหนด เมื่อได้รับความยินยอมของผู้เยาว์แล้วอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่ผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์มาไม่น้อยกว่าสิบปี โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๓)

(๓) ผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีและมีหลักฐานแสดงให้เชื่อได้ว่าเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๓)

การขอแปลงสัญชาติเป็นไทยแทนบุคคลอื่นตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงต้องผลักดันให้ “ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ของรัฐตามที่รัฐมนตรีกำหนด” ทำคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่ผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์มาไม่น้อยกว่าสิบปี เมื่อได้รับความยินยอมของผู้เยาว์แล้ว ซึ่งผู้เยาว์ดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๓) จึงสรุปว่า ผู้เยาว์ดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) มีความประพฤติดี (๒) มีภูมิลำเนาในประเทศไทยมาแล้ว ๕ ปี และ (๓) มีความรู้ภาษาไทยในระดับฟังและพูดได้ ไม่จำเป็นต้องเขียนได้

ในส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็คงต้องร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยที่จะขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่เด็กซึ่งอาศัยอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ต่างๆ ในประเทศไทยมากว่า ๑๐ ปี

เราคงตระหนักได้ว่า ความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงนี้ย่อมทำให้ประเทศไทยสามารถที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ ซึ่งผูกพันประเทศไทยแล้ว ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรา ๑๒/๑ ดังกล่าว ย่อมจะทำให้ประเทศไทยได้รักษาพันธสัญญาตามข้อ ๗ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า

“๑. เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จัก และได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน (The child shall be registered immediately after birth and shall have the right from birth to a name, the right to acquire a nationality and. as far as possible, the right to know and be cared for by his or her parents.)

๒. รัฐภาคีจะประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิเหล่านี้ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีของรัฐภาคี ที่มีอยู่ภายใต้ตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ”

เรามารอคอบคำตอบจากคุณหลี่ชิงกันค่ะ

หมายเลขบันทึก: 606224เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2016 05:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2016 05:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท