CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_15: ค่ายพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านความ "พอเพียง" (๒)


บันทึกที่ (๑)

หากเป็น AAR (After Action Review) ด้านการศึกษา น่าจะแบ่งพิจารณาเป็น ๓ ด้านตามเป้าหมายการศึกษา ได้แก่ ด้านความรู้ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านเจตคติ และจะให้ดีควรมีกิจกรรมให้สะท้อนทั้ง ๒ ระดับ คือ ระดับคิด (cognitive) ระดับระลึกรู้ (meta-cognitive) บันทึกนี้ขอ AAR เฉพาะด้านความรู้ระดับคิด ที่นิสิตใหม่ชาวค่ายทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน

ฟังบรรยายจากวิทยากรจากศูนย์ประสานงานมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ

วันที่ ๔ เมษา ศูนย์ประสานงานปิดทองฯ ใช้บริเวณด้านหน้าศูนย์ฯ เป็นพื้นที่บรรยายให้ความรู้ ตอนนี้ศูนย์ประสานงานกำลังปรับปรุงใหม่ ให้มีศาลาพิธีการสูงโปร่ง และสำนักงานประสานกับชุมชน ดังรูป


(เอารูปให้ดูเผื่อคุณครูจะพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ภาคสนามใกล้บ้านครับ)

"นักเรียน" พร้อม....

วิทยากรก็พร้อมครับ ... ขอบคุณท่านทั้งสองครับ ให้ความรู้กับน้องๆ อย่างไม่กั๊กความรู้ และยังดูแล จัดให้วิทยากรเกือบทั้งหมด ๗ ท่าน ไปอธิบายให้ความรู้ที่แปลงสาธิตทั้ง ๓ แปลงด้วย ต่อไปนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ท่านบรรยาย


  • มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มาทำงานในลักษณะประสานให้หน่วยงานอื่นๆ ทำงานกันอย่างเป็นองค์รวม
  • โดยนำเอาหลักการทรงงานมาใช้ในการทำงาน คือ เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา โดยเน้นที่สุดคือเรื่องการ "ระเบิดจากภายใน" คือ ทำเรื่องพัฒนาคนเป็นหลัก และเน้นองค์ความรู้ ๖ มิติ ได้แก่ น้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
  • เป้าหมายของมูลนิธิปิดทองฯ ในการทำงานในพื้นที่แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ
    • ขั้น "อยู่รอด" คือช่วง ๑-๒ ปีแรกที่เข้าทำงาน มุ่งให้พ้นจากความอดอยาก ไม่ต้องกู้กินกู้ใช้ มีอาหารกิจตลอดปี พ้นจากเจ็บไข้ แต่ยังมีหนี้เดิมอยู่
    • ขั้น "พอเพียง" คือ ช่วงปีที่ ๓ - ปีที่ ๔ ใช้หนี้หมด มีรายได้สม่ำเสมอ มีสาธารณูปโภค มีการศึกษาดีขึ้น ชีวิตสบายขึ้น
    • ขั้น "ยั่งยืน" คือ ช่วงปีที่ ๕ - ปีที่ ๖ มีเงินออม พัฒนาตนเองได้อย่างดี มีภูมิคุ้มกัน เป็นเจ้าของกิจการ
  • เป้าหมาย ๓ ขั้นนี้ สอดคล้องกับการนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓ ระดับมาประยุกต์ใช้ในเห็นเป็นตัวอย่างนั่นเอง กล่าวคือ
    • ระดับครอบครัว ต้อง "อยู่รอด"
    • ระดับชุมชน ต้อง "พอเพียง"
    • ระดับภูมิภาค พื้นที่ ประเทศชาติ ต้อง "ยั่งยืน"
  • ตอนนี้ที่หนองเลิงเปือยกำลังจะก้าวจากขั้น "อยู่รอด" ไปสู่ความ "พอเพียง" เกษตรกรต้นแบบรุ่นแรกที่ได้ผ่านการฝึกอบรมกำลังเข้มแข้งและขยายผลไปสู่คนอื่นๆ

แปลงเกษตรตัวอย่าง ๓ แปลงที่นำมาแสดงให้นิสิตได้เรียนรู้นี้ เป็นแปลงล่าสุดที่ทางวิทยากรจากปิดทองเป็นผู้เลือกให้ มีเพียงแปลงสุดท้าย ๑ ไร่ ๑ แสนของพ่อเรืองศิลป์ที่เราร้องขอให้เพิ่มเติมเข้ามา

หลังจากฟังบรรยายได้เห็นภาพรวมและวัตถุประสงค์แล้ว ต่อมาเป็นการพานิสิตลงพื้นที่สำรวจรอบที่ ๑ ให้ทุกคนใด้เห็นแปลงเกษตรทั้งหมด ... ขอเล่าด้วยภาพนะครับ ผู้สนใจโปรดเดินทางไปพื้นที่โครงการฯ จะดีกว่า

แปลงที่ ๑

พ่อเกษตรกรท่านนี้ แต่ก่อนเคยมีหนี้สินพ้นตัว อยู่บ้านหลังกระต๊อบ แต่มีรถกระบะขับ นอกจากทำนาแล้ว ยึกอาชีพเอารถไปรับของมาขาย โชคร้ายเจออุบัติเหตุรถคว่ำ ทำให้ตนเองขาเจ็บ ต้องพักรักษาตัว ไม่สามารถหาเงินมาผ่อนค่างวดรถได้ (พอเล่ามาถึงตรงนี้ น้ำตาพ่อก็เอ่อไหลออกมา... ผมจึงถามตรงๆ ได้ความว่า เพราะน้อยใจในโชคชะตา) เหลือเพียง 6 งวด จะได้เป็นเจ้าของรถ ... พ่อต้องจำใจขายรถราคาถูกกว่าครึ่ง ตัดสินใจนำเงินที่ได้มาลงทุนกับ "เกษตรผสมผสาน" โชคดีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ มาเจอ ได้เข้าช่วยเหลือด้านความรู้และหลักวิชา จึงมาถึงวันนี้ วันที่ท่าน "อยู่รอด" และ "พออยู่พอกิน"

ท่านอยู่รอดเพราะในสวนของท่าน มีผักพืชหลากหลายชนิด ไม่ต้องซื้อกินทั้งหมดเหมือนแต่ก่อน


พออยู่พอกิน มีรายได้ต่อเนื่องจากการเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงจิ๊งหรีด


แปลงที่ ๒

แปลงที่นี้เป็นของพ่อเรืองศิลป์ ยุบลมาตย์ หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง ท่านทำแปลงเกษตรผสมผสาน (๑ ไร่ ๑ แสน) บนเนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน


นักเรียนทุนพอเพียง ได้ถอดบทเรียนชีวิตของพ่อเรืองศิลป์ไว้อย่างน่าอ่าน ผมสรุปคัดลอกไว้ในรายงานตามบันทึกนี้ครับ

แปลงที่ ๓

แปลงนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับน้ำที่หนองเลิงเปือย แต่เป็นเกษตรกรที่มีศักยภาพซึ่งอยู่ห่างออกไปจากหนองเลิงเปือยหลายกิโล แปลงสาธิตนี้สะท้อนเห็นลักษณะการทำงานของมูลนิธิฯ ที่เน้นส่งเสริมคนที่มีศักยภาพ คนขยัน ไม่ใช่เข้าไปช่วยเหลือแบบ "เอาปลาไปให้" แต่เป็นการเข้าไปช่วยฝึกให้หาปลา

ช่วยหนุนให้มีบ่อน้ำ

ช่วยให้มีความรู้หลักวิชาการ และช่วยหนุนสร้างโรงเรือน


ให้ความรู้และช่วยวางระบบน้ำ

ให้ความรู้และช่วยให้กล้าทดลองปลูกพืชใหม่ๆ

เมื่อครบ ๓ แปลง เราก็กลับที่พัก และรวมกันหลังอาหารเย็นเพื่อสรุปและแบ่งกลุ่ม

สุดท้ายคือ AAR ประจำวันของเหล่าชาวพี่เลี้ยงค่าย


หมายเลขบันทึก: 606149เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2016 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2016 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท