วิธีวัดความไม่เป็นธรรมในสังคม



บทความ Searching for a better way of measuring inequality ใน นสพ. บางกอกโพสต์ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ น่าจะดึงดูดความสนใจนักวิจัยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงหามุมมองใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่พฤติกรรมใหม่ๆ ที่นำไปสู่ความเป็นธรรม หรือความเท่าเทียม (equity) ในสังคม ซึ่งเป็นเรื่อง ซับซ้อนยิ่ง

ที่ร้ายคือ เมื่อความไม่เท่าเทียมกันมันสูงถึงขีดหนึ่ง สภาพของวงจรชั่วร้าย (vicious cycle) จะเกิดขึ้น

ผมคิดว่า วัดความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นผลสุดท้าย ไม่น่าจะเพียงพอ น่าจะต้องวัดตัวปัจจัยต้นเหตุ ที่เรียกว่า root cause ด้วย โดยที่ต้องตระหนักว่า root cause มันแทรกหรือซ่อนอยู่ตามหลืบตามมุม ที่มองไม่เห็นชัด

ยกตัวอย่าง เมื่อบ่ายวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๙ ผมไปฟังปาฐกฐาศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ ครั้งที่ ๙ เรื่อง Inequity starts in utero : Giving all children a chance to reach their potential โดยศาสตราจารย์ Kevin Kain จากแคนาดา ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านเวชศาสตร์เขตร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาลาเรีย ท่านได้ทำวิจัยชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อมาลาเรียจำนวนไม่น้อย ไม่มีอาการ และแม่ที่ติดเชื้อมาลาเรียตอนตั้งครรภ์ลูกคลอดออกมามีโอกาส เป็นโรคทางสมองและโรคจิต (neuro-psychiatric disorders) บ่อยกว่าปกติ

ผมสรุปเองว่าโรคมาลาเรียจึงเป็นต้นเหตุของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างหนึ่ง เพราะคน ในสังคมที่ติดเชื้อมาลาเรียตอนตั้งครรภ์มักเป็นคนชายขอบ

เรื่องด้อยโอกาสตั้งแต่ในครรภ์นี้ แม่ที่เครียดระหว่างตั้งครรภ์ ก็เป็นต้นเหตุให้ HPA Axis ของลูกอ่อนแอ ทำให้พัฒนาการของ EF ด้อย ดัง บันทึกนี้

ผมเคยบันทึกเรื่องความไม่เป็นธรรมทางการศึกษา และความไม่เป็นธรรมในห้องเรียน ไว้ ที่นี่

ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศ มีคนเขียนเรื่อง digital divide ไว้ ที่นี่ แต่ผมมีความเห็นว่า เรื่องนี้แฝงอยู่ในการเมืองเรื่องผลประโยชน์ ที่คนเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกก่อนคนอื่น ใช้เป็นโอกาสแสวงประโยชน์ส่วนตน หรือส่วนพวกตน ที่ผมถือว่าเป็นการหย่อนจริยธรรม ที่ผมบอกตัวเอง เตือนสติตนเองอยู่เสมอไม่ให้ทำ เช่นตอนทำงานบริหารที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รู้ว่ามหาวิทยาลัย จะขยายวิทยาเขตไปที่ไหน หากไปซื้อที่ดินเก็บไว้ ก็จะได้ผลประโยชน์มากมาย แต่ผมไม่ทำ และได้หมั่นเตือน คนที่ผมรัก ให้ระมัดระวังไม่ปฏิบัติด้วย

กลับมาที่บทความที่อ้างข้างบน เขาเน้นที่ประเด็นเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงพออย่างยิ่ง จึงเป็นโอกาสทำงานของนักวิชาการหลายสาขา ที่จะหาทางตั้งโจทย์วิจัย เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ของโลกชิ้นนี้


วิจารณ์ พานิช

๑ เม.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 605828เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2016 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2016 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท