HS
นางสาว หทัยรัตน์ เส็งนา

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน


นอกจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการลดทอนคิวอี (การพิมพ์เงินใหม่มาซื้อพันธบัตร) ของธนาคารกลางสหรัฐแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องกังวลของนักลงทุนคือการชะลอตัวลงของประเทศจีน ซึ่งยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ ซึ่งพอจะสรุปประเด็นได้ดังนี้

ฝ่ายที่มองแง่ดี

1.เศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างต่ำ 7-7.5% ดังนั้นวันนี้จึงใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว

2.นายกรัฐมนตรีลี คู เชียงจะปฏิรูปเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradualist) โดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจในช่วงที่รัฐบาลใหม่กำลังอยู่ในช่วง "ตั้งตัว"

3.รัฐบาลจะผ่อนปรนบ้างโดยมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเล็กน้อยในครึ่งหลังของปีนี้ แต่นโยบายการเงินจะยังเข้มข้นโดยเน้นเสถียรภาพ

ฝ่ายที่มองแง่ร้าย

1.เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงไปกว่านี้อีกอย่างฉับพลันจากปัญหาหนี้เสีย

2.นายกฯลี จะรีบเร่งการปรับโครงสร้างและดำเนินการกับปัญหาหนี้เสีย โดยการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” แม้เศรษฐกิจจะต้องชะงักงันบ้างก็เสี่ยงได้

3.รัฐบาลไม่ต้องการขยายปัญหาฟองสบู่โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเข้มงวดกับสภาพคล่องระยะสั้นที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. ก็อาจเกิดขึ้นได้อีก

ดังนั้น นักลงทุนและนักวิเคราะห์คงจะติดตามพัฒนาการต่างๆ ในประเทศจีนอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะคำพูดของผู้นำของจีน เช่นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังของจีนกล่าวในการเจรจาแบบสองฝ่ายกับสหรัฐเป็นนัยว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ 7% นั้นไม่ใช่ตัวเลขขั้นต่ำที่จะต้องยึดติด ซึ่งต่อมาสำนักข่าวซินหัวออกรายงานแก้ข่าวว่าที่จริงแล้วรัฐมนตรีคลังกล่าวยืนยันเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้เศรษฐกิจจีนขยายตัว 7.5% ในปีนี้ ซึ่งตลาดก็รู้สึกคลายความกังวลไปในระดับหนึ่งเมื่อรัฐบาลจีนรายงานว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัว 7.5% ในไตรมาส 2 ตามคาดจริงๆ แม้ว่าตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกซึ่งเป็นตัวเลขรายเดือนออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ค่อนข้างมาก เช่น ตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายนนั้นเดิมตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3% และปรากฏว่าหดตัว 3% แต่การเดินดุลการค้าเป็นไปตามคาดเพราะการนำเข้าก็ต่ำกว่าการคาดการณ์อย่างมากเช่นกัน

หากจะถามว่าการชะลอตัวลงของจีนนั้นมีผลกระทบมากมายเพียงใด ก็ต้องตอบว่าคงจะมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญโดยเฉพาะกับประเทศในเอเชีย และเมื่อการชะลอตัวลงดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นพร้อมกับการลดทอนมาตรการคิวอีของสหรัฐ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะเริ่มต้นในเดือนกันยายนปีนี้ และธนาคารกลางสหรัฐจะยุติการพิมพ์เงินใหม่เพื่อนำมาซื้อพันธบัตรในกลางปีหน้า ตรงนี้ผมมองว่าหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมากและสหรัฐก็ลดทอนคิวอีอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือการคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีไทยในปีหน้า ไม่ใช่ตัวเลขของปีนี้เพราะตัวเลขปีนี้ที่ประมาณ 4.5% นั้นผมว่าหลายคนกำลัง “ทำใจ” รับได้แล้ว แต่หากเศรษฐกิจจะยังแย่ลงต่อไปอีกถึงปี 2014 ซึ่งหลายฝ่ายยังหวังว่าจีดีพีจะขยายตัว 5% ก็น่าจะเป็นเรื่องที่จะทำให้ผิดหวังได้อย่างมาก

เรื่องนี้ผู้ที่มองโลกในแง่ดีก็อาจมีประเด็นแย้งได้ 2 ข้อคือ

1.) รัฐบาลจีนซึ่งเป็นรัฐบาลที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่คงจะต้องประคับประคองสถานการณ์อย่างเต็มความสามารถ คงไม่ต้องการเผชิญปัญหาที่เกิดจากความชะงักงันของเศรษฐกิจเร็วเกินไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองต่างมุมว่าหากปล่อยให้ฟองสบู่โตต่อไปเรื่อย ก็มีความเสี่ยงว่าฟองสบู่จะไปแตกสลายใน 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนั้นผลกระทบจะรุนแรงอย่างยิ่งและจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ (และจะส่งผลต่อการต่ออายุของรัฐบาลไปอีกสมัยหนึ่งคืออีก 5 ปี) แต่หากจัดการกับปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จในวันนี้ก็พอที่จะอ้างได้ว่าเป็นปัญหาที่คั่งค้างมาจากสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้าได้สร้างเอาไว้

2.) การลดทอนคิวอี ซึ่งนายเบอร์นันเก้กล่าวอย่างชัดเจนว่าจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะต้องฟื้นตัวอย่างชัดเจนและมั่นคง และหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวคิวอีก็จะดำเนินต่อไปได้อีกหรือจะปรับเพิ่มขึ้นก็ยังมีความเป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้ผมมีความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐมีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับการเพิ่มหรือลดคิวอี เพราะเศรษฐกิจสหรัฐไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ กล่าวคือหากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางสหรัฐก็จะถูกกดดันให้ลดคิวอีลงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

"นอกจากนั้นก็จะต้องไม่ลืมว่าธนาคารกลางสหรัฐจะดูแลผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นหลักและไม่สนใจที่จะรับผิดชอบผลกระทบข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น กล่าวคือหากการลดทอนคิวอีของสหรัฐส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่นทำให้เงินไหลออก ค่าเงินอ่อนตัวและเร่งปัญหาเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นทั้งๆ ที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ก็อย่าหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐจะให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าว เว้นแต่การชะลอตัวลงของประเทศตลาดเกิดใหม่จะฉุดเศรษฐกิจโลกจนกระทั่งส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ"

กลับมาเรื่องการชะลอตัวลงของจีนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ว่ามีนัยที่สำคัญเพียงใดกับเศรษฐกิจโลก รายงานพิเศษของ Asian Wall Street Journal เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม สรุปความสำคัญของจีน ดังนี้

1. เศรษฐกิจจีนเคยขยายตัวเฉลี่ย 10.5% ต่อปีในช่วง 2002-2010 แต่จาก 2010 เป็นต้นมาการขยายตัวของจีดีพีไหลลงมาตลอดจาก 10% ในปี 2010 มาเป็น 9% ในปี 2011 และ 8% ในปี 2012 โดยคาดว่าจะขยายตัว 7.5% ในปี 2013

2. ในช่วงเดียวกันที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง จีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือเมื่อปี 2000 เศรษฐกิจจีนคิดเป็น 4% ของเศรษฐกิจโลก (สหรัฐ 31% ญี่ปุ่น 15% เยอรมัน 6%) แต่มาวันนี้เศรษฐกิจจีนคิดเป็น 12.5% ของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่สัดส่วนของสหรัฐเหลือ 22% ญี่ปุ่น 7% และเยอรมัน 5% ของจีดีพีโลก

3. ปัจจุบันจีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ โดยจีนำเข้า 10% ของการนำเข้าของโลก (สหรัฐ 12.5%) ทั้งนี้ในปี 2000 การนำเข้าของจีนเคยเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของการนำเข้าของโลก

4. จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย (29% ของการส่งออกทั้งหมดไปที่จีน) เกาหลีใต้ (24%) ชิลี (24%) ญี่ปุ่น (18%) ไทย (12%) สหรัฐ (7%) และเยอรมัน (5%)

5. การชะลอตัวลงของการนำเข้าสินค้าบางประเภทของจีน

แหล่งอ้างอิง : http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/blog/518212

แหล่งอ้างอิงรูปภาพ : http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2015/07/act01300758p1.jpg

หมายเลขบันทึก: 605557เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2016 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2016 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท