ภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 1


ภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 1

28 เมษายน 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ความหมาย “สาธารณภัย”

ภารกิจประการหนึ่งของท้องถิ่นที่สำคัญ คือ “การรักษาความมั่นคงภายใน” หรือจะเรียกให้แคบลงก็คือ ภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งรวมถึงภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยด้วย นั่นเอง หน้าที่ดังกล่าวเดิมเคยเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง ได้แก่ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มิได้หมายรวมถึงท้องถิ่นแต่อย่างใด แม้ในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะเทศบาล จะได้บัญญัติไว้ให้เทศบาลตำบลมีหน้าที่ การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และ การให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง [2] ซึ่งหมายถึง “การรักษาความสงบเรียบร้อย” และ “การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” ในพื้นที่เท่านั้น สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามกฎหมายจัดตั้งฯ มิได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ “การรักษาความสงบเรียบร้อย” ไว้แต่อย่างใด

ตามนิยามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 [3] คำว่า “สาธารณภัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต้อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทําให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย

และ มาตรา 41 บัญญัติให้ นายก อบต. นายกเทศมนตรี นายกเมืองพัทยา (ผู้อำนวยการท้องถิ่น) จัดให้มีอาสาสมัคร อปพร. ในพื้นที่ด้วย ฉะนั้น จากบทบัญญัตินี้ จึงกำหนดอำนาจหน้าที่ของ อปท. ให้มีหน้าที่เกี่ยวกับ “สาธารณภัย” โดยตรง ซึ่งพิจารณาตามคำนิยามแล้วมีความหมายที่ครอบคลุมกว้างมาก

เมื่อมีการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น โดยการยกฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ยกฐานะสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2537 รวมไปถึงการยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล รวมถึงการปรับยกฐานะเทศบาลจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง หรือ เทศบาลนคร และได้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 ขึ้น โดยมีการถ่ายโอนภารกิจของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ให้แก่ อปท. มากขึ้น ฉะนั้น จึงมีการพัฒนาสถานะบทบาทอำนาจหน้าที่ของ อปท. ที่มีแนวโน้มมากขึ้น

แต่เดิมก่อน ปี พ.ศ. 2542 หน้าที่ดังกล่าวเป็นของฝ่ายปกครองในพื้นที่ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีเฉพาะในเขตพื้นที่นอกเขตเทศบาลเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีความเจริญเติบโตของเมือง สภาพ “สังคมชนบท” (Rural Society) แบบท้องทุ่งท้องไร่ท้องนาหายไป เกิดสภาพบ้านเมืองเป็นชุมชน เป็นย่านอุตสาหกรรม มีสภาพเศรษฐกิจสังคมแบบ “สังคมเมือง” (Urban Society) มากขึ้น ประกอบกับมีการยกฐานะ อปท. เป็นเทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ถูกจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ลง โดยการยุบเลิก ตามมาตรา 12 [4] แห่ง พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2546

กฎหมายหลักด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย

ภารกิจด้านนี้เดิมเป็นของฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ดังนั้น กฎหมายหลักที่เกี่ยวข้อง จึงได้แก่ กฎหมายตำรวจ และ กฎหมายฝ่ายปกครอง ที่สำคัญได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 (ยกเลิก พระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522) พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 [5] (ยกเลิก พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521) พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 [6] ซึ่งต่อมาจะรวมไปถึง พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 [7] พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554 [8] เป็นต้น

กลุ่มมวลชนด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย

ฉะนั้น จึงปรากฏว่ามีอาสาสมัครต่าง ๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามระเบียบกฎหมายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ อปท. ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล และมีชื่อเรียกซ้ำ ๆ กัน หรือเปลี่ยนถ้อยคำเล็กน้อย ในที่นี้จะหมายถึงอาสาสมัครทางด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และ ด้านการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย รวมอุบัติภัย เท่านั้น อาทิเช่น อาสาสมัครช่วยเหลือกิจการตำรวจ (อส.ตร.) [9] หรือเรียกอีกอย่างว่าตำรวจบ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่ (ชรบ.) [10] หน่วยกู้ภัยตำบล (OTOS) หรือหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ภัย [11] อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อปพร.) [12] หน่วยกู้ชีพหรือหน่วยปฏิบัติการ EMS [13] หรือแม้แต่อาสาพิทักษ์ป่าไม้ ป่าชุมชน [14] เป็นต้น

อาสาสมัครเหล่านี้เป็นราษฎรที่ถูกจัดตั้งในทุกพื้นที่ ด้วยมีเหตุจำเป็นในช่วงเวลานั้น และเป็นการจัดตั้งโดยหน่วยงานของทางราชการที่มีกฎหมายบัญญัติรองรับ หรือในกรณีมีปัญหาเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ จึงมีการจัดตั้งราษฎรเป็นอาสาสมัครกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือภารกิจของหน่วยงานราชการที่มีอยู่ในพื้นที่ หรือเข้าไปสมทบการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามช่วงเวลาที่กำหนด เช่น การตั้งด่าน ตั้งจุดบริการประชาชน ซึ่งบรรดาอาสาสมัครเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาทำงานด้วยความสมัครใจหรือถูกชักชวนก็ตาม ล้วนเป็นราษฎรในท้องถิ่นที่เป็นบุคคลเดิม ซ้ำๆ กัน กล่าวคือ ราษฎรดังกล่าวมักผ่านการฝึกอบรมในการเป็นอาสาต่าง ๆ มาแล้วหลายชุด โดยไม่มีเงินเดือนค่าจ้างแต่อย่างใด แตกต่างจากกลุ่มอาสาสมัครทางด้านการสาธารณสุข เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีค่าตอบแทนเป็นรายเดือน

ภารกิจมีแต่ไม่เข้มแข็งและต่อเนื่อง เป็นภาระงบประมาณแก่ อปท.

การแต่งตั้งและการเรียกใช้อาสาสมัครราษฎรเหล่านี้ จึงเป็นภาระของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่จัดตั้งกลุ่มราษฎรอาสาสมัครนั้น ๆ ต้องรับผิดชอบในเรื่องงบประมาณ ที่ไม่แน่นอนว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทางราชการหรือไม่ อย่างไร รวมไปถึงค่าเครื่องแต่งกายเครื่องแบบและเครื่องมืออุปกรณ์ประจำตัวที่จัดหาให้แก่กลุ่มราษฎรอาสาเหล่านี้ได้มีใช้ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะสั่งใช้ต้องรับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมด้วย เรียกว่าต้องจัดหาเงินนอกงบประมาณหรือขอรับการสนับสนุนเอกชน เพื่อช่วยเหลือเงินหรือวัสดุ ให้มีให้ได้ตามที่หน่วยงานนั้น ได้ดำเนินการ

แม้หน่วยงานทางราชการที่รับผิดชอบจะได้เป็นผู้คิดริเริ่ม โดยมีกฎหมายรองรับภารกิจนั้น ๆ และได้มีการฝึกอบรมราษฎรให้เป็นกลุ่มอาสาสมัครในนามหน่วยราชการของตน เป็นอาสาสมัครต่าง ๆ ขึ้นในชุมชน หมู่บ้าน แม้การดำเนินการจัดตั้งและฝึกอบรมจะสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ก็ตาม แต่ในเรื่องของความต่อเนื่องทั้งในเรื่องของการปฏิบัติงาน และเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานกลับไม่เป็นไปตามแผนนัก ความรับผิดชอบในภารกิจต่าง ๆ เหล่านี้จึงตกมากองอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นผู้ช่วยเหลือรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่

ตัวอย่างการบริหารจัดการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)

ตัวอย่างการจัดตั้งและฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของเทศบาล ที่มีมานานแล้ว เนื่องจากแต่เดิม อบต. ไม่มีหน้าที่บริหารกิจการ อปพร. มีคำนิยมว่า “เมตตา กล้าหาญ” เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ กฎหมายเดิมคือพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 ต่อมาได้ตรากฎหมายป้องกันและระงับอัคคีภัยและกฎหมายป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนรวมเข้าไว้ด้วยกันเรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550” หน่วยงานหลักผู้รักษาการตามกฎหมายคือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อมา พ.ศ. 2545 ได้แยกเป็นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

ได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในพื้นที่ให้ได้ร้อยละ 2 [15] ของจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของพื้นที่ ฉะนั้น งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดสำนักปลัด หรือ “งานดับเพลิง(เทศบาล)” ตามภาษาชาวบ้าน จึงมีหน้าที่จัดการฝึกอบรมเพื่อให้มี อปพร.ได้ตามจำนวนที่กำหนด โดยใช้วิทยากรครูฝึกจากเทศบาลใหญ่ ที่มีความพร้อมด้านวิทยากรกลุ่มครูฝึกและอุปกรณ์เครื่องมือสนับสนุนการฝึก วิทยากรด้านระเบียบกฎหมายจาก หน่วยป้องกันจังหวัด ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข อำเภอ ไฟฟ้า สุดแล้วแต่จะประสานมาได้ โดยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของท้องถิ่นนั่นเอง

โครงการฝึกอบรม อปพร. เป็นรายจ่ายประเภทรับรองและพิธีการ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างทุ่มเทต่างมุ่งมั่นช่วยเหลือกันอย่างตั้งใจ จนการฝึกอบรมจวนจะแล้วเสร็จ มีปัญหาตามมาว่า จะหางบประมาณจากส่วนใดเพื่อมาจ่ายเป็นค่าชุดเครื่องแบบ อปพร. และเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงานที่จำเป็นอื่น เช่น เครื่องวิทยุสื่อสาร เครื่องหมายอุปกรณ์สัญญาณต่าง ๆ ในกิจการ อปพร. ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่มีระเบียบสั่งการให้ท้องถิ่นจัดซื้อชุดแจกให้แก่สมาชิก อปพร.ได้

กลุ่มผู้รับผิดชอบได้ปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ควรขอรับการสนับสนุนเป็นเงินส่วนตัวจากนายกเทศมนตรี ประธานสภาและสมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัดในพื้นที่ หรือ แม้กระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สส.ในพื้นที่ รวมทั้ง ผู้รับเหมาบ้าง นักธุรกิจ ร้านค้า แม้บางครั้ง กลุ่มสมาชิก อปพร.เองก็ยังช่วยกันจัดงานผ้าป่า งานวัด หารายได้เอง เพื่อมาจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ให้มีให้ได้ใช้ เรียกได้ว่า กว่าจะเป็น อปพร.โดยสมบูรณ์แบบก็ต้องพึ่งพิงผู้ที่พอจะช่วยเหลือได้ ทั้งด้วยความเต็มใจหรือขัดเสียมิได้ก็ตาม เพราะเพียงลำพังงบประมาณจากทางราชการที่ไม่เพียงพอ

การแตกหน่อขยายพันธุ์ของกลุ่ม อปพร.

เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่ม อปพร. เป็นผลสำเร็จ ยังมีการเพิ่มขยายภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกไปเป็นทีมต่าง ๆ มากมาย อาทิ อปพร. ทีมกู้ภัยตำบล ทีมจัดงานฌาปนกิจศพ ทีมอาสาจราจร ทีมช่วยเหลือจับสุนัขและแมวจรจัดเพื่อให้วัคซีนหรือทำหมัน ทีมช่วยพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย ทีมช่วยเหลือคุ้มครองการจัดงานต่าง ๆ หรือตั้งด่านบริการลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลบ้าง ซึ่งถือว่าการสั่งใช้อปพร.เหล่านี้เป็นการเพิ่มขยายภารกิจอำนาจหน้าที่จากหน้าที่เดิมที่บัญญัติไว้คือ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือเป็นแค่ผู้แจ้งเตือนภัยและช่วยเหลือยามเกิดสาธารณภัยเท่านั้น

ปัญหาการบริหารจัดการในเรื่องสาธารณภัยของ อปท. นี้ยังมีประเด็นที่เคลือบแคลงสงสัย ไม่ชัดเจน มีข้อถกเถียงกันอยู่มาก เพราะการสร้างกลุ่มราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นภารกิจหน้าที่งานมวลชนอย่างหนึ่งที่ท้องถิ่น ต้องรับหน้าที่นี้ แม้จะยังมีระเบียบกฎหมายที่ไม่ชัดเจนก็ตาม


[1] Phachern Thammasarangkoon & Vajarin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 23012 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 32 วันศุกร์ที่ 29 เมษายน – วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2559, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 50 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้

(1) รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ...

(5) ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง ...

(9) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล ...

(มาตรา 50 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 336 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 และ มาตรา 50 (9) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542)

[3] พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 52 ก วันที่ 7 กันยายน 2550, http://www.dnp.go.th/Rules/ProtectAct.pdf

[4] มาตรา 12 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 การเปลี่ยนชื่อเทศบาลหรือการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ให้กระทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย

ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงเขตเป็นเทศบาลตามความในวรรคหนึ่งสิ้นสุดอำนาจหน้าที่เฉพาะในเขตที่ได้เปลี่ยนแปลงนั้นเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลใช้บังคับเป็นต้นไป (มาตรา 12 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546)

[5] พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547, สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121/ตอนที่ 18 ก/หน้า 1/14 กุมภาพันธ์ 2547, http://complaint.police.go.th/pdf/police_law54.pdf

[6] พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457, สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31/-/หน้า 229/17 กรกฎาคม 2457, http://www.law.moi.go.th/law/group4/group4_law4.pdf

[7] พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 44 ก วันที่ 6 มีนาคม 2551, http://www.mua.go.th/users/bhes/front_home/Emergency%20Doctor/ems01.pdf

[8] พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 4 ก วันที่ 17 มกราคม 2554, http://www.fio.co.th/p/document/safetyfio/law5.pdf

[9] ระเบียบสํานักงานตํารวจแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตํารวจ พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 45 ง วันที่ 3 มีนาคม 2551, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/E/045/13.PDF

[10] คู่มือ ชรบ. (คู่มือแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ. 1551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554), ส่วนกิจการมวลชน สำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง, ตุลาคม 2556, เผยแพร่สไลด์แชร์ เมื่อ 22 กรกฎาคม 2557, http://daily.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNakEyTVRBMU9BPT0=§ionid=Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBeE5TMHhNQzB3Tmc9PQ==

[11] ความเป็นมาหน่วยกู้ภัย ตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย (One Tambon One Search and Rescue Team : OTOS), คู่มือผู้บริหารท้องถิ่นในการบริหารจัดการสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, 2550

[12] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2553, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 109 ง วันที่ 14 กันยายน 2553 หน้า 1-33, http://www.lumkao.go.th/dnm_file/news/1050_center.PDF

& ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2553, http://www.kknontat.com/wp-content/uploads/2014/09/ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วย-อปพร.ปี-2553.pdf

[13] ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS= Emergency Medical System), https://dep.kpo.go.th/cdc/PDF/ems1.pdf

[14] ดู โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.), http://www.pttreforestation.com/ForestProjectview.cshtml?Id=3

& wirawut buaroy, ที่มา รสทป., โครงการพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต, 25 สิงหาคม 2557, http://www.forest.go.th/forestprotect_people/index.php?option=com_content&view=article&id=463&Itemid=511&lang=th

กองทัพภาคที่ 2 และ กองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ได้เล็งเห็นถึงปัญหา การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ ที่ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ ตามแนวชายแดน ลำพังเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ คงเกินขีดความสามารถ ที่จะรักษาไว้ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุน จากหน่วยงานอื่น และประชาชนในพื้นที่ จากปัญหาดังกล่าว กองทัพภาคที่ 2 และ กองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 2 จึงได้ริเริ่ม "โครงการ ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)" ขึ้น เพื่อกระตุ้น และสร้างจิตสำนึก ให้กับประชาชน ที่อยู่ใกล้กับแนวเขตป่า ให้เห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของป่าไม้ เลิกการตัดไม้ทำลายป่า แล้วหันมาช่วยกันดูแลรักษาป่า

ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 8 อำเภอ 80 หมู่บ้าน เมื่อต้นปี พ.ศ.2537 โดยกรมทหารราบเฉพาะกิจที่ 6 ร่วมกับ จังหวัดอุบลราชธานี ป่าไม้เขตอุบลราชธานี และป่าไม้จังหวัดอุบลราชธานี โดยกรมป่าไม้ ได้สนับสนุนงบประมาณ ในการฝึกอบรม จำนวน 912,000 บาท มีราษฎรเข้ารับการฝึกอบรม ทั้งสิ้น 16,000 คน

[15] ตามบันทึกข้อความ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย ที่ มท 0620/ 10749 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2555 เรื่อง นโยบายเน้นหนักกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปี 2556, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2013/2/11786_2.pdf?time=1360458167606

หมายเลขบันทึก: 605539เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2016 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2019 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท