แนะนำหนังสือ สัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง 24


โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (15/4/2558)

เขียนโดย เสมอชัย พูลสุวรรณ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากคุณรักในประวัติศาสตร์ศิลปกรรมโดยเฉพาะงานจิตรกรรมไทยประเพณี คุณจะสนุกสนานไปกับการสืบค้นความหมายของจิตรกรรมพุทธศิลป์ในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง 24 รวมถึงจิตรกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านนา ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแต่ภาพเขียนตกแต่งศาสนสถานเพียงเท่านั้น แต่ยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์บางประการแอบซ่อนไว้อีกด้วย

อาจารย์เสมอชัยได้เสนอการแบ่งยุคทางจิตรกรรมประเพณีไทยเอาไว้ 3 ยุคในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 - 24 ดังนี้คือ

1. จิตรกรรมในพระปรางค์

1.1 จิตรกรรมระยะแรกในพระปรางค์ อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 จิตรกรรมทั้งหมดจะเขียนในรูปอดีตพระพุทธเจ้าเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อันหมายถึงพระพุทธเจ้าจำนวนมากอันนับไม่ถ้วน ตามคติพระพุทธศาสนามหายาน แหล่งที่พบเช่น พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ราชบุรี และอยุธยา รวมถึงพระปรางค์วัดพระราม อยุธยา สันนิษฐานว่ารูปแบบแนวคิดการวาดมาจากพุกามและเขมรโบราณ

1.2 จิตรกรรมระยะที่สองที่พบในพระปรางค์ ช่วงตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 20 พบตัวอย่างเดียวที่พระปรางค์วัดราชบูรณะ เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา พบในผนังห้องกรุใต้ฐานรากขององค์พระปรางค์ ภาพแสดงพุทธเจ้า 24 พระองค์กำลังประธานพุทธพยากรณ์ให้กับพระพุทธเจ้าศากยมุนี ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท รวมถึงภาพพุทธประวัติ ภาพชาดก ภาพพระอสีติมหาสาวก 80 รูป นอกจากนี้ยังมีภาพลักษณะแบบเดียวกัยในล้านนาและในสุโขทัยอีกด้วยแต่ไม่ได้อยู่ในพระปรางค์

2. จิตรกรรมภายในพระอุโบสถ ในช่วงสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนรัชกาลที่ 3 อายุระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงปลาย 24 ส่วนใหญ่พบในพระอุโบสถ นับเป็นต้นแบบของรูปแบบภาพจิตรกรรมที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันคือ ผนังสกัดหน้าพระประธานเป็นภาพมารผจญ ด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ ด้านข้างทั้งสองแนวหน้าต่างหรือระดับสายตาเป็นภาพพุทธประวัติ เหนือขึ้นไปจะเป็นภาพเทพชุมนุม

3. จิตรกรรมฝีมือช่างหลวงสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 24 งานจิตรกรรมปรากฎในพระวิหารหลวง พระอุโบสถ หมู่อาคารพุทธสถาน เช่นวัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตพนวิมลมังคลาราม รูปแบบคล้ายกับมนสมัยอยุธยา แต่มีการวาดภาพอื่นด้วย เช่นที่วัดพระเชตุพนฯ มีการวาดภาพที่เกี่ยวกับตำรายา แม่ซื้อเป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย รวมถึงการตีความคติสัญลักษณ์จำนวนมากท่านผู้อ่านต้องอ่านเพิ่มจากในหนังสือครับ

ข้อสังเกตหนึ่งคือ หนังสือจำแนกยุคสมัยของจิตรกรรมไทยประเพณีโดยอาศัยจากแหล่งที่ภาพปรากฎ ซึ่งแนวคิดในการจำแนกยุคสมัยหรือร๔ปแบบนั้นมีหลายวิธี เช่นจำแนกตามภูมิภาค ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ เมืองหลวง กลวิธีหรือเทคนิคการวาด ลวดลาย เป็นต้น หากศึกษาในหลาย ๆ ด้านนับว่าเป็นเรื่องดี

สำหรับผมแล้วหนังสือสัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง 24 เป็นหนังสือที่ดี หากจะนับว่ายากเกินไปสำหรับผู้เริ่มศึกษา เพราะศัพท์ที่ยากจึงต้องมีความรู้พื้นฐานมาบ้างจึงจะอ่านแล้วเข้าใจ อย่างไรก็ตามอ่านเล่นก็เข้าท่า ใช้เป็นตำราก็เหมาะ ส่วนรูปเล่มนั้นนับว่าดีเยี่ยม กระดาษหนาพิมพ์สี่สี มีภาพประกอบเยอะ ระบบอ้างอิงดี

หนังสือได้รับรางวัลขั้นดีมากจากโครงการส่งเสริมสร้างตำรา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2538

ราคาปก 245 บาท แต่ผมซื้อในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติต้นปี 2559 บูธสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลดราคาเพียง 74 บาท ถูกมากครับ

หมายเลขบันทึก: 605068เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2016 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2016 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท