สภาปันน้ำใจจากพี่สู่น้อง : บันเทิงเริงปัญญาและการนำวิชาชีพประยุกต์สู่ค่ายอาสาฯ


เริ่มเห็นกระบวนการทำงานเชิงเครือข่าย และการประยุกต์วิชาชีพไปสู่การบริการสังคมผ่านค่ายอาสาฯ รวมถึงการรังสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญาที่ง่ายงามและสร้างสุขต่อทุกภาคฝ่ายที่เกี่ยวข้อง



จากบันทึกก่อนนั้น ที่นี่ (สภาปันน้ำใจฯ)ผมได้บอกเล่าถึงกิจกรรมค่ายอาสาในห้วงเวลาสั้นๆ ของสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามในชื่อ สภาปันน้ำใจจากพี่สู่น้องฯ โดยมีประเด็นหลัก 2 ประเด็น คือ

  • การจัดกิจกรรมบนความต้องการ (โจทย์) ของชุมชนที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงการบูรณาการระหว่างความต้องการของชุมชนและนิสิตเข้าด้วยกัน ตลอดจนวิธีการได้มาซึ่งค่ายอาสาผ่านการนำเสนอข้อมูลเพื่อพิจารณากลั่นกรองร่วมกัน รวมถึงการลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินความเป็นไปได้
  • การจัดกิจกรรมบนสถานการณ์เฉพาะกิจที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า โดยยึดข้อมูล “หน้างาน” แล้วปรับแต่งกันใหม่บนบริบท หรือสถานการณ์จริง


มาครานี้ ผมมีประเด็นมาบอกเล่าเก้าสิบเพิ่มเติม ดังนี้ นะครับ–




ฐานการเรียนรู้ : เติมเต็มการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา

ด้วยเหตุที่สภานิสิตอาจไม่ใช่ “ขุนพล” ที่เก่งกล้าและจัดเจนเรื่อง “ค่ายอาสา” มากนัก การออกแบบกิจกรรมในมิติเรียนรู้คู่บริการที่ใช้ชุมชนเป็นฐานจึงดูเหมือนจะสุดโต่งไปสู่กิจกรรมหลักมากเป็นพิเศษ กล่าวคือเน้นกิจกรรม “ติวเตอร์” เป็นหลัก เป็นการติวเตอร์ในชั้นเรียน ไม่มีกิจกรรมการเรียนรู้เป็น “ฐานๆ” มาหนุนเสริมให้ผ่อนคลายฮาเฮเท่าใดนัก

ใช่ครับ-ไม่มีทั้งๆ ที่ปีที่แล้วก็มีกิจกรรมเหล่านี้เหมือนกัน มิหนำซ้ำการถอดบทเรียนที่ผมดำเนินการและสรุปไว้ก็แจ่มชัดว่ากิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่างๆ คือกลไกสำคัญในการหนุนเสริมให้กิจกรรมทั้งปวงลุล่วงไปได้ด้วยดี ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานครบรส “บันเทิงเริงปัญญา”

แต่พอจะเคลื่อนงานใหม่อีกครั้ง กลับดูประหนึ่งว่านิสิตให้ความสำคัญกับชุดความรู้เดิมกันน้อยมาก เหมือนทำงานแต่ไม่ให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลเดิมๆ ที่มีอยู่ หรืออาจจะเป็นเพราะทำงานเสร็จแล้วแต่ไม่มีระบบและกลไกผ่องถ่ายความรู้จากรุ่นสู่รุ่นอย่างจริงจังก็เป็นได้ –

และนั่นก็คือสิ่งที่ผมเฝ้ามองและตั้งคำถามอย่างเงียบๆ มาโดยตลอดกับทุกองค์กร (บันทึกย้อนหลัง)



ครั้งนี้- พอมีการประชุมอีกรอบ จึงเกิดการ “โสเหล่” ร่วมกันอีกหนในหมู่สมาชิกสภานิสิตและแกนนำค่าย กล่าวคือคนที่มีประสบการณ์มาก่อนได้แนะนำให้บรรจุกิจกรรมในแบบ “ฐานการเรียนรู้” เข้าไปด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เน้นความเพลิดเพลินในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” เพื่อหลีกหลบจากภาวะความอิ่มเบื่อที่ต้องก้มหน้าก้มตา ติวๆๆๆๆๆ –

ใช่ครับ- ติวและติว ... ติวเอาเป็นเอาตายจนถึงขั้น “ง่วงเหงาหาวนอน” และเกิดภาวะ “โอเวอร์” ทางการเรียนรู้อย่างน่าเจ็บใจ

แน่นอนครับ- ผมไม่ได้ปฏิเสธว่ากิจกรรมติวเตอร์ไม่ดี แต่เรื่องราวระหว่างทางก่อนการไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการติวเตอร์ก็สำคัญ เพราะกระบวนการอื่นๆ ในระหว่างทางอาจเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่หนุนให้การติวเตอร์เป็นมรรคเป็นผล ซึ่งหมายถึงได้ทั้งความรู้และความเป็นชีวิตไปพร้อมๆ กัน




โดยส่วนตัวผมมองว่าฐานการเรียนรู้ที่เพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น หัวใบ้ท้ายบอด ลอดซุ้ม อาเซียนหรรษา ล้วงไห ภาวะผู้นำ ฯลฯ ล้วนมีสถานะเป็นเสมือนการสร้างชุดการเรียนรู้ใหม่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชุดความรู้ที่จะได้จาการติวเตอร์ เพราะเป็นการเรียนรู้นอกชั้นเรียนอีกรูปแบบหนึ่งของค่ายอาสาฯ แถมยังเป็นการเรียนรู้ในแบบเป็นทีม สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ระหว่างนิสิตกับนิสิต หรือกระทั่งระหว่างนิสิตกับนักเรียน

ในทำนองเดียวกัน “ฐานกิจกรรม” เหล่านี้ล้วนมีพลังพอที่จะหนุนให้เกิดทักษะการเรียนรู้อย่างหลากหลาย มิใช่ทักษะที่เกิดจากเรียนรู้ผ่านกิจกรรม “ติวเตอร์” แบบ “สุดขั้ว” ที่เต็มไปด้วยการ “บรรยาย-ท่องจำ-ทำแบบฝึกหัด” จากนั้นก็ทำการ “วัดผล” ในชั้นเรียน - ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้คงยากมากที่จะบันดาลให้เกิดทักษะชีวิต ซึ่งก็แน่นอนว่าได้ความรู้แน่ๆ แต่อาจจะไม่รู้เรื่องของการ “เรียนรู้” และเรื่องของ “ชีวิต” อย่างที่ควรจะเป็น




ถึงอย่างไรก็เถอะต้องชื่นชมเป็นพิเศษ เพราะการเปิดเวทีโสเหล่เช่นนี้ คือการจัดการความรู้บนฐานแห่งการเป็นประชาธิปไตยร่วมกัน อีกมุมหนึ่งก็เป็นการหวนกลับไปทบทวนความรู้เดิม หรือชุดความรู้เก่า เพื่อนำกลับมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ –

การนำกลับมาใช้ใหม่เช่นนี้ ผมถือว่าเป็นกระบวนการยกระดับความรู้ดีๆ นั่นเอง มิใช่เรียนรู้แล้วเพิกเฉยและทิ้งร้างแบบไม่ใยดีที่จะนำมาขยายผลต่อไป มันเหมือนวกวนและย่ำเท้าอยู่กับเรื่องเดิมๆ ที่ข้ามไม่พ้นสักที เฉกเช่นกับการพายเรืออยู่ในฝั่งเดิมๆ เพราะไม่รู้จะไปในทิศทางใด

แน่นอนครับ ผมกำลังหมายถึง “ไม่สำเร็จและข้ามไม่พ้นความล้มเหลว” ทั้งๆ ที่การงานเหล่านี้วนกลับมาให้ทำเป็นประจำในทุกปี และทุกปี






บูรณาการทีม : ขับเคลื่อนแบบเครือข่ายจิตอาสา

  • ว่าด้วยเครือข่ายจิตอาสา

สภาปันน้ำใจจากพี่สู่น้องฯ เริ่มเห็นวิถีการทำงานในแบบบูรณาการ "เครือข่าย" ที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ไม่ใช่ “ไปค่าย” กันแต่เฉพาะสมาชิกสภานิสิตเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการประชาสัมพันธ์เปิดกว้างเพื่อชวนเชิญผู้สนใจเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง - ไม่จำกัดกลุ่มคน-ไม่จำกัดสาขาวิชาชีพ

ค่ายครั้งนี้ มีนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมฯ เข้าไปช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมภายในห้องสมุดอย่างโดดเด่น แทนที่จะมีแค่การมอบหนังสือ อุปกรณ์การเรียน ก็นำไปสู่การจัดตกแต่งห้องหับให้น่าเรียนรู้

เช่นเดียวกับนิสิตจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ -คณะพยาบาศาสตร์ ได้เข้ามายกระดับกิจกรรมห้องพยาบาล จากเดิมแค่มอบหยูกยาซ่อมเตียงปูผ้า ฯลฯ ก็ทำหลายสิ่งอย่างผสมปนเปเข้าไป ซึ่งทั้งสองกิจกรรมก็มีกิจกรรมย่อยหลากหลายในเนื้องานนั้นๆ มีทั้งที่เป็นสื่อความรู้ การถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน หรือแกนนำนักเรียน เพื่อ “เดินต่อ” ด้วยตนเอง

ขณะที่นิสิตจากคณะศึกษาศาสตร์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม และวิทยาลัยการเมืองการปกครองก็เข้ามาเป็นเรี่ยวแรงอันแข็งขันในกิจกรรมที่เหลืออย่างเป็นรูปธรรม เช่น การติวเตอร์ นันทนาการ ฐานการเรียนรู้ พิธีเทียน ฯลฯ

กรณีเช่นนี้ผมถือว่าเป็นการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรในรูป “เครือข่ายจิตอาสา” (อาสาสมัคร) ที่น่าชื่นใจ สภานิสิตประสบความสำเร็จบนวิถีผู้นำที่สะท้อนภาพการเป็นนักบริหาร (บริหารงาน-บริหารคน) และการสร้างเครือข่ายอย่างมีเครดิตและบารมี โดยใช้เป้าหมายเชิงสาธารณะ (จิตอาสา-จิตสาธารณะ) เป็นตัวชูโรงให้นิสิตรู้สึกคล้อยตาม หรือมีแรงจูงใจที่จะรับใช้สังคมตามครรลองอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) และค่านิยมนิสิต ว่า “พึ่งได้” อันหมายถึง พึ่งพาตนเองได้และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้





  • ว่าด้วยวิชาชีพ (จากชั้นเรียนสู่นอกชั้นเรียน)

การบูรณาการทีมดังกล่าว มิได้มีแต่เฉพาะประเด็นเครือข่ายจิตอาสาเท่านั้นที่ควรค่าต่อการกล่าวถึง ทว่าประเด็น “วิชาชีพ” ก็ชวนค่าต่อการขบคิดและบอกเล่าในเวทีนี้เหมือนกัน –

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่ากิจกรรมครั้งนี้ นิสิตหลายกลุ่มได้นำองค์ความรู้ในวิชาชีพของตนเองไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมบริการสังคมได้อย่างน่าสนใจ เสมือนการแปลงจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ เสมอเหมือนการแปลงทฤษฎีจากชั้นเรียนไปสู่นอกชั้นเรียนอย่างไม่ผิดเพี้ยน หากไม่นับค่าว่าผู้รับที่หมายถึง ชุมชนหรือนักเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากกิจกรรมในครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุดในกรณีของนิสิตก็ย่อมเกิดการตกผลึก หรือแจ่มชัดในความรู้อันเป็นวิชาชีพตนเองบ้างละ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น

  • นิสิตสถาปัตย์ฯ : ฝึกการออกแบบโครงการในห้องสมุด ได้ฝึกการประดับตกแต่งห้องสมุดและอาคารเรียน
  • นิสิตสาธารณสุขศาสตร์ -พยาบาลศาสตร์ : ฝึกการถ่ายทอดความรู้ว่าด้วยโรคและยาแก่นักเรียน (ยุวเภสัช)
  • นิสิตศึกษาศาสตร์ : ฝึกทักษะการสอน หรือการออกแบบการเรียนการสอนผ่านกิจกรรมติวเตอร์และฐานการเรียนรู้ร่วมกับนิสิตจากสภานิสิตและคณะต่างๆ เช่น วิทยาลัยการเมืองการปกครอง คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม




ในทุกๆ กิจกรรม ผมเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ใช่แค่การจัดการหน้างานอย่างเดียว แต่ย่อมหมายถึงการตระเตรียมความพร้อมล่วงหน้าร่วมกันในระดับหนึ่ง ทั้งประเด็นอันเป็นเนื้อหา รูปแบบวิธีการถ่ายทอด การจัดทำเอกสารและสื่อประกอบ กลยุทธการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน การมอบหมายภารกิจรายกลุ่มรายบุคคล การค้นคว้าเพิ่มเติมในประเด็นกิจกรรมเพื่อการถ่ายทอด ทั้งก่อนเดินทางสู่พื้นที่และขณะจัดกิจกรรม –

ใช่ครับ - ผมว่านี่แหละคือเสน่ห์แห่งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกชั้นเรียนในโครงการนี้ฯ ที่เริ่มเห็นกระบวนการทำงานเชิงเครือข่าย และการประยุกต์วิชาชีพไปสู่การบริการสังคมผ่านค่ายอาสาฯ รวมถึงการรังสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญาที่ง่ายงามและสร้างสุขต่อทุกภาคฝ่ายที่เกี่ยวข้อง




เหนือสิ่งอื่นใด

ถึงแม้ว่าค่ายสภาปันน้ำใจพี่สู่น้อง ครั้งที่ 8 จะใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน 2 คืน ทว่าเมื่อใคร่ครวญถึงเจตนารมณ์ที่สภานิสิตหลีกหลบงานประจำที่คุ้นชินกับการนั่งโต๊ะพิจารณาโครงการฯ ในห้องประชุมไปสู่การจัดกิจกรรมบริการสังคมเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่านิสิตเดินทางมาถูกทางแล้ว ถึงแม้จะยังไม่สามารถหยั่งรากลึกลงในแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” อย่างแท้จริง -- ผมก็ถือว่าทำดีและมาถูกทางแล้ว

แน่นอนครับ มาถูกทางของการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา -เยาวชนสำนึกรักษ์บ้านเกิด หรือการพยายามที่จะเรียนรู้กระบวนการของการเป็น "อาสาสมัคร" ซึ่งดีกว่าลงชุมชน เก็บข้อมูลชุมชน เก็บแล้วเก็บอีก วิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีก ไม่ทำอะไรสักอย่าง มันเหมือนมวยซ้อมแล้วไม่ต่อย หรือขึ้นเวทีต่อยแล้วเอาแต่จดๆ จ้องๆ แถมยังเต้นวนรอบเวทีโดยไม่ยอมแลกมัด !

ชื่นชมและให้กำลังใจครับ



ภาพ/ข้อมูล


หมายเลขบันทึก: 603661เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2016 01:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2016 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท