โครงการสภาปันน้ำใจ : อีกหนึ่งการเรียนรู้คู่บริการ (นอกห้องประชุม) ของสภานิสิต


การเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นทีมผ่านการลงมือทำจริงเช่นนี้จะก่อเกิดประสบการณ์ชีวิตที่ดีงามต่อนิสิต เป็นการแต่งเติมให้นิสิตมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ดีต่อการใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองของสังคมอย่างมีคุณค่าและมูลค่า

โดยปกติสภานิสิตมักมีหน้าที่หลักๆ ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการ ติดตามตรวจสอบ-หนุนเสริมการทำงานขององค์กรนิสิต แต่ด้วยการตระหนักถึงปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) หรือกระทั่งความเป็นอัตลักษณ์นิสิต (การเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ในระยะหลังๆ สภานิสิต จึงไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพาตัวเองออกไป "เรียนรู้คู่บริการ" นอกมหาวิทยาลัยฯ ผ่านการออกค่ายแบบง่ายๆ ๒ วัน ๑ คืนในชื่อ โครงการสภาปันน้ำใจ



โครงการสภาน้ำใจ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ โรงเรียนบ้านโนนคอม ตำบลโนนคอมอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ประกอบวัตถุประสงค์การดำเนินงาน ๓ ประการหลัก คือ

  • เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กที่อยู่ในชนบทได้มีห้องสมุดที่มีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
  • เพื่อเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในองค์กรและก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
  • เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและโรงเรียน




ภาพรวมกิจกรรม

๑.บำเพ็ญประโยชน์และสิ่งแวดล้อม :ด้วยความที่เป็นค่ายเล็กๆ ภายใต้เวลาอันจำกัดและมีหมุดหมายชัดเจนเรื่องของการเป็นค่ายเชิงวิชาการเพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับนักเรียน กิจกรรมที่ถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ที่เด่นชัดมากในระบบและกลไกนี้ก็คือการปรับปรุงห้องสมุดให้มีสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชน รวมถึงการจัดทำแปลงปลูกผักขึ้นมา เพื่อกระตุกเตือนให้นักเรียนได้ให้ความสำคัญกับการรับประทานผักและใช้เป็นพื้นที่ในสาระการเรียนรู้



๒.วิชาการและนิสิตสัมพันธ์ : อาจนับได้ว่าเป็นกิจกรรมหลักในค่ายครั้งนี้ มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หลากหลาย ผ่านประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นกระแสหลัก เช่น "ประชาคมอาเซียน" ที่มีทั้งการจัดบอร์ด (มุมอาเซียน) มอบสื่อการเรียนการสอน จัดฐานการเรียนรู้ให้นักเรียนเข้าไปเรียนรู้ในแบบ "บันเทิง เริงปัญญา" โดยเน้นการเรียนรู้แบบเป็นกลุ่มทีม และภายในซุ้มก็จะมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การสื่อสารให้ความรู้เรื่องภาพประเทศในกลุ่มอาเซียน มีใบงาน มีภาพ มีเกม และกิจกรรมนันทนาการเพื่อสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่สนุกสนาน




๓.เรียนรู้ชุมชนปลูกจิตอาสา :มีการออกแบบกิจกรรมโดยแบ่งกลุ่มนักเรียนแล้วให้แต่ละคนได้จับสลาก
เพื่อวาดรูปตามประเด็นที่อยู่ในฉลาก ประเด็นทั้งหมดจะเกี่ยวโยงกับเรื่องราวในชุมชนของนักเรียน วาดเสร็จ
ก็ให้นักเรียนช่วยกันร้อยเรียงเป็นเรื่องราว เสมือนการชวนนักเรียนให้ทบทวนเรื่องราวชุมชนตนเอง เป็นการปลูกฝังความเป็นเยาวชนจิตอาสา (เยาวชนรักษ์บ้านเกิด) ไปในตัว ส่วนนิสิตก็ได้เรียนรู้ "วิถีวัฒนธรรม"
หรือบริบทชุมชนไปพร้อมๆ กัน



๔.วอล์คแรลลี่ไนท์ : เป็นเสมือนการต่อยอดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ในภาคกลางวัน เป็นการประยุกต์แทนกิจกรรมนันทนาการรอบกองไฟชาวค่ายในอีกมิติ ประกอบด้วยกิจกรรม ๔ ฐานๆ ละ ๓๐ นาที เช่น

(๑) ฐานร่างทรง : นักเรียนที่เข้าฐานจะต้องแสดงความกล้า มีการตกแต่งสถานที่ให้ดูขรึมขลัง ร่างทรงจะตั้งคำถามกับนักเรียนในเรื่องต่างๆ มุ่งให้นักเรียนได้กล้าคิด กล้าตอบคำถาม ฝึกการรับมือกับสถานการณ์อันเครียดเคร่ง ต่อเมื่อร่างทรงได้คำตอบที่ถูกต้อง หรือเป็นที่พอใจแล้วจึงหมุนเคลื่อนไปยังฐานอื่นๆ



(๒) ฐานผจญภัยป่าลึกลับ : ให้นักเรียนปิดตาแล้วเดินเกาะเชือกไป ใช้ประสาทหูนำพาการเรียนรู้ และนักเรียนจะถูกตั้งคำถามในประเด็นอาเซียน เมื่อตอบถูกก็จะได้เดินต่อไปยังจุดหมาย

(๓) ฐานล้วงไห : นักเรียนจะล้วงลงไปในไห ภายในไหจะมีสิ่งของอยู่ ๔ อย่าง เพื่อให้นักเรียนนำกลับมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าสิ่งที่สัมผัสได้นั้นคืออะไร เป็นการฝึกการวิเคราะห์และแชร์ความคิดร่วมกันอย่างเป็นทีม




(๔) ฐานนางฟ้า : นิสิตจะแต่งกายตลกๆ และออกมาแสดงละครออกแนวขำขัน จากนั้นจะตั้งคำถามแต่ละกลุ่มว่าพี่นิสิตต้องการสื่อสารเรื่องราว หรือประเด็นอะไร เพื่อมุ่งเน้นการวิเคราะห์-สังเคราะห์ หรือตีความ คล้ายๆ การถอดรหัสความรู้ไปในตัว

๕.เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม : เป็นค่ายที่สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของการบูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วม นับตั้งแต่การผนึกเครือข่ายนิสิตมาทำงานร่วมกัน โดยไม่จ่อมจมและยึดติดอยู่แต่กับเฉพาะสภานิสิต เช่น ชมรมครูอาสา (สังกัดคณะศึกษาศาสตร์) ชมรมรุ่นสัมพันธ์ (สังกัดองค์การนิสิต) รวมถึงนิสิตจิตอาสาทั่วไป เช่นเดียวกับการพยายามประสานการมีส่วนร่วมอื่นๆ เป็นต้นว่า ขอรับการบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนจากคณะ ห้างร้านและเทศบาลตำบลภูผาผ่าน ตลอดจนงบประมาณด้านอาหารที่โรงเรียนและชุมชนขันอาสาเป็นเจ้าภาพตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านได้พร้อมใจกันลงแขกจับปลาในชุมชนมาเป็นสวัสดิการในค่าย เพื่อให้นิสิตและชุมชนได้รับประทานร่วมกัน เป็นการลดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไปอย่างเสร็จสรรพ




เหนือสิ่งอื่นใด

จะว่าไปแล้วภายใต้เวลาอันจำกัด ๒ วัน ๑ คืน คงยากยิ่งต่อการทำงานเชิงรุกได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ด้วยการออกแบบกิจกรรมอันง่ายงามบนฐานความต้องการของชุมชน (โรงเรียน) ได้กลายเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้การงานในค่ายดำเนินไปได้อย่างไม่สะดุดและล้มเหลว...

ผมชอบกระบวนการเรียนรู้ผ่าน "ฐานการเรียนรู้" เช่นนี้เสมอ เพราะเป็นการเรียนรู้แบบเป็นทีม เป็นการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน ได้ทบทวนทุนชีวิตตนเอง ได้ทบทวนความเป็นทีม และอื่นๆ อีกจิปาถะ และการทบทวนที่ว่านั้นก็ฝึกทักษะของนิสิต และนักเรียนไปในตัว



เช่นเดียวกับการชื่นชอบกระบวนการประเมินผลกิจกรรมที่มุ่งไปยังนักเรียนโดยตรง เช่น มีการประเมินผลนักเรียนก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมและเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมก็มีการประเมินผลการเรียนรู้ว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง ได้รู้จักความเป็นประชาคมอาเซียนมากขึ้นแค่ไหน มีใบงานและมีค่าคะแนนในเชิงบุคคลและกลุ่มทีม หรืออื่นๆ ที่กระตุ้นให้นักเรียนตื่นตัว กระหายต่อการเรียนรู้อยู่เนืองๆ

หรือกระทั่งกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนที่ให้นักเรียนได้วาดภาพเรื่องราวในชุมชนแล้วมาช่วยกันร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ผมก็ถือว่ากิจกรรมนี้เป็นการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์มากๆ ก่อเกิดทักษะหลายประการตามมาอย่างไม่ต้องกังขา




ไม่มีการงานใดปราศจากปัญหาและอุปสรรค


ไม่มีอะไรที่ลงมือทำแล้วจะปราศจากปัญหาหรืออุปสรรค งานค่ายเล็กๆ ครั้งนี้มีประเด็นให้นิสิตได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาไม่แพ้เรื่องอื่นๆ นับตั้งแต่สมาชิกค่ายขาดประสบการณ์การออกค่าย เพราะสมาชิกส่วนหนึ่งมาค่ายครั้งนี้เป็นครั้งแรก เลยออกอาการ "ไปไม่เป็น" จึงจำต้องมี "พี่เลี้ยง" คอยประกบอยู่อย่างใกล้ชิดเป็นระยะๆ

เช่นเดียวกับบุคคลภายนอกสนใจใคร่เรียนรู้กับนิสิตและนักเรียน ถึงขั้นอยากเข้าสู่ฐานเรียนรู้ต่างๆ แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการ จึงจำต้องมีการทำความเข้าใจและออกแบบกิจกรรมอย่างอื่นรองรับ หรือการมุ่งให้เข้าใจถึงหลักคิดของการ "สังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม" ผ่านการเชื่อมประสานของคนในชุมชนที่เป็นทั้งคณะครูและแกนนำชาวบ้าน นี่ก็ชี้ให้เห็นว่านิสิตได้เรียนรู้หลักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีได้เช่นกัน

นอกจากนั้นยังประสบปัญหาจากความผันผวนของธรรมชาติที่อยู่ในสภาวะลมมรสุม มีฝนตกเป็นระยะๆ จึงจำต้องปรับเปลี่ยนการทำกิจกรรมจากกลางแจ้งเข้าสู่ตัวอาคาร ส่งผลให้กิจกรรมในบางกิจกรรมขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ เพราะติดขัดด้วยขนาดของพื้นที่ ...




แต่ทั้งปวงนั้นล้วนเป็นสิ่งท้าทายต่อการเรียนรู้ในค่ายครั้งนี้แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะการท้าทายต่อการเรียนรู้ของสภานิสิตที่หลักๆ แล้วมักทำงานอยู่แต่ในสำนักงานในมหาวิทยาลัยฯ จนขาดประสบการณ์จริงในการจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการสังคมในภาคสนาม

นี่คืออีกหนึ่งการเรียนรู้ของสภานิสิตตามครรลองปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) หรือกระทั่งความเป็นอัตลักษณ์นิสิต (การเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นทีมผ่านการลงมือทำจริงเช่นนี้จะก่อเกิดประสบการณ์ชีวิตที่ดีงามต่อนิสิต เป็นการแต่งเติมให้นิสิตมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ดีต่อการใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองของสังคมอย่างมีคุณค่าและมูลค่า




เสียงจากนิสิต

การออกค่ายสภาปันน้ำใจครั้งนี้อาจจะแตกต่างจากปีก่อน ซึ่งในปีที่แล้วสภานิสิตได้รับเป็นเจ้าภาพโครงการ สัมมนาสภาห้าเทาสัมพันธ์ครั้งที่ ๘ จึงได้มีการจัดพร้อมกัน หรือควบรวมพร้อมกันกับโครงการสภาปันน้ำใจ ในปีก่อนเป็นการปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรียนและทำกิจกรรมสานความสัมพันธ์ แต่ในปีนี้เกิดปัญหาหลายๆอย่าง ทั้งการสอบกลางภาคของสมาชิกสภา ปิดเทอมของน้องๆ โรงเรียน กว่าจะสำรวจค่ายและออกค่ายได้ก็ยากพอควร เราจึงมองคำว่า "สภาปันน้ำใจ" ออกเป็นหลายๆ ความหมาย ว่าเราจะไปทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด เราจึงคิดในรูปแบบของการ "พี่สอนน้อง" เน้นภาษาอาเซียน เน้นการกระตุ้นการเรียนรู้ด้านอาเซียน ซึ่งน้องๆ ให้ความสนใจกับภาษาที่แปลกใหม่พอควร

ส่วนปัญหาของสมาชิกสภานิสิต ก็มีบ้าง เช่น การเตรียมความพร้อมต่างๆ มองอีกมุมหนึ่งเป็นการเรียนรู้แก่สมาชิกสภานิสิตเลยก็ว่าได้ ทุกๆคนเรียนรู้ภาษาไปพร้อมๆ กัน พูดเล่นทักทายกับน้องๆ ในค่าย ในกิจกรรมนั้นก็จะมีเสริมขึ้นมาอีกอย่างคือการทำแปลงเกษตร ตอนสำรวจค่าย คุณครูแจ้งกับทางผมว่าน้องๆ โรงเรียนไม่ค่อยได้ปลูกผักกัน จากการสำรวจ โรงเรียนมีที่ดินที่สามารถปลูกผักทำแปลงเกษตรได้ บริเวณนั้นมีหญ้าขึ้นรกนิดหน่อย ช่วงบ่ายของวันที่จะกลับ เราจึงพาน้องๆโรงเรียนทำแปลงเกษตรปลูกผัก ด้วยเมล็ดที่ทางสภาเตรียมไป บ้างส่วนก็จะไปจัดห้องสมุด เพราะห้องนั้นคุณครูแจ้งว่าน้องไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่มีหนังสือตรงตามวัยของน้องๆ

(นายสิริพันธ์ ขุนทอง : ประธานสภานิสิต)



หมายเหตุ : ภาพโดยสภานิสิต


หมายเลขบันทึก: 589814เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2015 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์

เด็กๆน่ารักทุกคนเลยนะคะ

สวัวดีครับ พี่มนัสดา

เป็นอีกแผนงานที่น้องนสิตจาก "สภานิสิต" ได้ออกไปเรียนรู้ประสบการณ์นอกชั้นเรียน ฝึกการทำงานเป็นทีม ฝึกเรื่องจิตอาสา - จิตสาธารณะ หรือกระทั่งการได้ฝึกทบทวนความทรงจำสัมยที่นิสิตเองเคยเป็นนักเรียนมาก่อน กิจกรรมเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้คู่บริการที่จะช่วยในการเติบโตของนิสิตได้เป็นอย่างดีครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท