สภาปันน้ำใจจากพี่สู่น้อง : กิจกรรมบนความต้องการของชุมชนและการปรับแต่งสถานการณ์หน้างาน


นิสิตและชุมชนทำการปรับแต่งหน้างานเพิ่มเติม ระดมแรงทำแปลงผักรองรับการเรียนรู้และอาหารกลางวันร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ขุดแต่งหน้าดิน จัดหาเมล็ดพันธุ์ ติดต่อประสานปราชญ์ชาวบ้านและวิทยากรในชุมชนเข้ามาให้ความรู้และทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ในการ “ทำจริง” ร่วมกัน ซึ่งที่ปลูกๆ กันก็มีหลายชนิด เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักชี ผักกาดขาว เห็ดฝาง



การเรียนรู้นอกห้องเรียน สำคัญเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้นอกชั้นเรียนผ่าน “กิจกรรมในหลักสูตร” หรือแม้แต่ “กิจกรรมนอกหลักสูตร” ก็ล้วนสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะนี่คือกระบวนการอันทรงพลังของการบ่มเพาะ “ความเป็นชีวิตและสังคม” ให้กับนิสิต (ผู้เรียน)

โครงการสภาปันน้ำใจจากพี่สู่น้อง ครั้งที่ 8 ที่จัดโดยสภานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมเฝ้ามองและกำลังจะกล่าวถึงในครรลองการ “เรียนรู้คู่บริการ” ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม



โครงการสภาปันน้ำใจจากพี่สู่น้อง ครั้งที่ 8 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงเรียนบ้านมะยาง ตำบลเมืองน้อย อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ การจัดกิจกรรมบริการสังคมควบคู่กับการเรียนรู้ชุมชนและการสานสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชน โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้ เช่น

  • การติวเตอร์ O-net และสาระการเรียนรู้ในระดับชั้น ป.6-ม.3
  • การปรับปรุงห้องสมุด
  • การปรับปรุงห้องพยาบาล
  • การจัดทำแปลงเกษตรปลูกพืชผักและโรงเลี้ยงสัตว์ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  • การสร้างสื่อการเรียนรู้ และการมอบอุปกรณ์กีฬา และของเล่น
  • กิจกรรมบันเทิงเริงปัญญา เช่น ฐานการเรียนรู้ กีฬา
  • ฯลฯ




จุดเริ่มต้น : จะไปทำค่ายที่ไหนกันดี ?

ประเด็นแรกที่อยากหยิบจับมากล่าวถึงคงหนีไม่พ้นเรื่อง “การเลือกชุมชน” หรือ “การพัฒนาโจทย์” บนฐานความต้องการของชุมชน อันหมายถึง โรงเรียนและชุมชน เพราะนี่คือการค้นหาพื้นที่ของการ “ไปค่าย” หรือ “ออกค่าย”

สภานิสิตมีกระบวนการของการคัดเลือกพื้นที่ในการ “ออกค่าย” ครั้งนี้ที่ไม่ซับซ้อนนัก กล่าวคือมอบหมาย หรือเชิญชวนให้สมาชิกสภานิสิต ตลอดจนอนุกรรมการแต่ละคนได้สรรหาพื้นที่ที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งชุมชนตนเอง หรือที่อื่นๆ –




เบื้องต้น-เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็นำมาเสนอกันในที่ประชุมว่าชุมชนที่ว่านั้นคือ “ที่ไหน – บริบทชุมชนเป็นอย่างไร-ชุมชนต้องการอะไร-สัมพันธ์กับศักยภาพนิสิต/องค์กรอย่างไร” ซึ่งครั้งนั้นมีการนำเสนอพื้นที่เข้าสู่การพิจารณาร่วมกันถึง 3 พื้นที่เลยทีเดียว

จากนั้นจึงคัดกรองเหลือ 2 พื้นที่ – และถัดจากนั้นได้มอบหมายภารกิจ “จัดทีม” ไปยังชุมชนนั้นๆ เพื่อพบปะหารือร่วมกับชุมชน

กระบวนการเช่นนี้เป็นเสมือนการสำรวจข้อมูลและสอบถามถึงความต้องการอันแท้จริงของชุมชนอีกรอบ หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือการ “ปรับความคาดหวัง” ร่วมกันดีๆ นั่นเอง




โจทย์ : กิจกรรมบนความต้องการของชุมชน

กรณีการจัดค่าย ณ โรงเรียนบ้านมะยางฯ เริ่มต้นจากทีมสภานิสิตลงพื้นที่สำรวจค่ายด้วยตนเอง มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้-โสเหล่กับคณะครู ผู้อำนวยการ และผู้แทนชุมชน ซึ่งเบื้องต้นทางชุมชนโดยเฉพาะโรงเรียนมีความต้องการหลักๆ เลยก็คือการจัดกิจกรรม “ติวเตอร์” เพราะเป็นกิจกรรมที่ยังไม่เคยจัดขึ้นเลยก็ว่าได้ รวมถึงสภาวะที่นักเรียนยังขาดโอกาสของการเติมเต็มองค์ความรู้และทักษะการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ดังนั้นการติวเตอร์ จึงเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนฯ หมายมาดปรารถนา !




ผมชื่นชมกระบวนการนี้มากเป็นพิเศษ เพราะมันคือการพัฒนาโจทย์บนความต้องการของชุมชน มิใช่เอากิจกรรมที่นิสิตคิดอยากจะจัดไปยัดเยียดให้กับชุมชน

ที่สำคัญคือ ขณะที่ลงพื้นที่และหารือกับชุมชนนั้น สภานิสิตไม่ได้เพิกเฉยต่อการเฝ้ามองไปยังประเด็น “หน้างาน” อื่นๆ ที่อาจบูรณาการเพิ่มเติมเป็นกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการได้อีก เช่น ห้องสมุด ห้องพยาบาล สนามกีฬา แปลงเกษตรกรรม ฯลฯ

กระทั่งกลับมาสู่มหาวิทยาลัยฯ จึงประชุมกันอีกรอบ ทำการพิจารณาคัดเลือกและคัดกรองกิจกรรมบนความต้องการของชุมชนและบนแรงกายและแรงใจที่นิสิตพึงกระทำได้ เสมอเหมือนการ “สนธิโจทย์กิจกรรม” ของทั้งสองส่วน (นิสิตกับชุมชน) เข้าด้วยกัน พร้อมๆ กับการแจ้งกลับไปยังชุมชน เพื่อให้ชุมชนตัดสินใจว่า “รับได้ไหมกับกิจกรรมที่จะมีขึ้น” !





ห้องสมุด ห้องพยาบาล : ปรับแต่ง “หน้างาน”


เบื้องต้นกิจกรรมที่ว่าด้วยห้องสมุดและห้องพยาบาลนั้น หลักๆ คือการมอบหนังสือ จัดเรียงหนังสือเข้าชั้น รวมถึงการซ่อมแซมเตียงในห้องพยาบาลเป็นหลัก แต่พอไปเจอ “หน้างาน” คณะทำงานก็หารือโยกย้ายถ่ายเทกิจกรรมกันบน “สถานการณ์จริง” อีกรอบ


ถือเป็นจุดเด่นของการ “ออกค่าย” ที่ต้อง “ยืดหยุ่น” หรือเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์จริงเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้คู่บริการ และถือว่าค่ายอาสาครั้งนี้โชคดีเอามากๆ เพราะมีนิสิตที่ไม่ใช่สมาชิกสภานิสิตเข้าร่วมด้วย แถมยังเป็นนิสิตจากคณะสถาปัตย์ และนิสิตจากคณะพยาบาลฯ อีกต่างหาก ยังผลให้กิจกรรม หรือ “โจทย์หน้างาน” กลายเป็นความท้าทายใหม่ในทันที




ด้วยเหตุนี้กิจกรรม “หน้างาน” จึงถูกรังสรรค์ขึ้นในฉับพลัน มีการออกแบบกิจกรรมเพิ่มเติม บริหารเงิน บริหารงบกันใหม่ มีการจัดบอร์ดให้ความรู้ว่าด้วยเรื่องยา การล้างมือ การกำจัดเหาและเห็บ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือโรคต่างๆ รวมถึงการให้ความรู้ต่อแกนนำนักเรียนในกลุ่มที่มาช่วยงานห้องพยาบาล (ยุวเภสัช) เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องหยูกยา ทั้งเพื่อตนเองและการบริการคนอื่นๆ

รวมถึงกิจกรรมที่ตระเตรียมมาก่อนหน้านี้ เช่น ตกแต่งห้องพยาบาลใหม่ให้เป็นสัดส่วนและมีสุขลักษณะที่เหมาะต่อการใช้ประโยชน์ เปลี่ยนฟูก เปลี่ยนผ้าปูเตียง เปลี่ยนหมอน เปลี่ยนผ้าม่าน ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการจัดมุมการเรียนรู้ใหม่ในห้องสมุดอย่างเป็นสัดส่วน เพราะก่อนนี้ห้องดังกล่าวรองรับทั้งเก็บของ เก็บเครื่องดนตรี หรือแม้แต่ใช้เป็นห้องประชุม ซึ่งครั้งนี้ชาวค่ายได้เติมเต็มเข้าไปใหม่หลายกิจกรรม เช่น มอบหนังสือและสื่อการเรียนรู้ คัดแยกหนังสือสู่ชั้นและตู้หนังสือ ซ่อมชั้นหนังสือ วาดการ์ตูนประดับห้อง จัดบอร์ดให้ความรู้ จัดมุมอ่านหนังสือขึ้นมาใหม่ ฯลฯ

มิหนำซ้ำยังนำเอาวัสดุเหลือใช้ในโรงเรียนมาจัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้หรือสื่อประดับเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ภายในห้องสมุด เช่น นำแผงไข่ไก่มาระบายสีให้ดูโดดเด่น มีสีสันงดงาม จากนั้นก็นำไปประดับตกแต่งไว้ในห้องสมุด เสมือนสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้ดูน่าเรียนรู้มากขึ้นกว่าในอดีต




แปลงผัก : มากกว่า “หน้างาน” คือการเรียนรู้ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน

การจัดทำแปลงผักและปลูกผัก เป็นกิจกรรมหนุนเสริมกิจกรรมหลักที่ว่าด้วยการ “ติวเตอร์” เพราะสภานิสิตได้เล็งเห็นพื้นที่ว่างเปล่าตรงนั้นไว้เงียบๆ ตั้งแต่ตอนที่ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชน

ครั้นเมื่อถึงวันเวลาจริงของการจัดกิจกรรม นิสิตและชุมชนทำการปรับแต่งหน้างานเพิ่มเติม ระดมแรงทำแปลงผักรองรับการเรียนรู้และอาหารกลางวันร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ขุดแต่งหน้าดิน จัดหาเมล็ดพันธุ์ ติดต่อประสานปราชญ์ชาวบ้านและวิทยากรในชุมชนเข้ามาให้ความรู้และทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ในการ “ทำจริง” ร่วมกัน ซึ่งที่ปลูกๆ กันก็มีหลายชนิด เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักชี ผักกาดขาว เห็ดฝาง

ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้มาก ถึงขั้นขอเวลาเว้นวรรคการติวเตอร์ พื่อนำนักเรียนเข้าร่วมการเรียนรู้เรื่องนี้ร่วมกันทุกคน จากนั้นจึงแบ่งกลุ่มลุยงานภาคสนามที่ว่าด้วยแปลงผักและการปลูกผัก ส่วนกลุ่มที่ว่าด้วยการติวเตอร์ ก็หวนกลับสู่ห้องเรียนไปติวเตอร์ต่อไป




ว่าไปแล้ว กิจกรรมนี้ก็สำคัญ ผมไม่ได้มองว่าผลลัพธ์ของพืชผักจะเติบโตผลิบานตอบโจทย์ข้างต้นหรือไม่ เพราะยังไงเสียชุมชนยังต้องออกแบบการดูแลและใช้แปลงผักเป็นโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชนต่อไปอยู่วันยังค่ำ

ตรงกันข้าม ผมสนใจประเด็นนี้เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน – ชุมชนอันหมายถึงโรงเรียนและหมู่บ้าน หรือกระทั่งองค์กรที่ยึดโยงและให้ความอนุเคราะห์ทรัพยากรมาหนุนเสริมกิจกรรมนี้ รวมถึงการสะกิดให้ชุมชนได้ใช้พื้นที่อันว่างเปล่าตรงนั้นให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าทิ้งร้างไปกับกระแสธารของกาลเวลา –

ดีไม่ดียังสามารถยกระดับกิจกรรมนี้เข้าสู่สาระการเรียนรู้อย่างจริงจังได้ไม่อยาก เพราะเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ภายใต้หลักคิด “กิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้” และเรียนรู้อย่างเป็น “ทีม” หรือแม้กระทั่งการได้เรียนรู้ “รากเหง้า” ตัวเองบนสังคมแห่งความเป็นเกษตรกรรม ที่มิใช่สังคมเมืองที่เต็มไปด้วยอุตสาหกรรมอันหลากรูป

แถมยังกระตุกกระตุ้นให้โรงเรียนและชุมชน ได้ทบทวนคลังความรู้ที่ว่าด้วยปราชญ์ชุมชนร่วมกัน ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงการจัดการจัดการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ด้วยการเรียนเชิญปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาช่วยสอน หรือกระทั่งใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ของโรงเรียนไปในตัว—





ท้ายที่สุด

ท้ายที่สุดแล้ว ผมจะยังไม่ด่วนสรุปว่ากิจกรรมนอกห้องเรียนในมิติ “นอกหลักสูตร” ของ “สภานิสิต” เป็นเช่นใด ตอบโจทย์การเรียนรู้คู่บริการ หรือมิติอื่นๆ อย่างไร เพราะยังมีเรื่องที่จะเขียนถึงอีกสักสองสามประเด็น

แต่ที่แน่ๆ ในเรื่องเล่าครั้งนี้ ผมเพียงต้องการสื่อสารให้เห็นว่าสภานิสิตที่มีภารกิจหลักของการกลั่นกรองโครงการและกำกับติดตามการบริหารงานขององค์กรนิสิตอื่นๆ มิได้จ่อมจมอยู่กับภารกิจเช่นนั้นเสียทั้งหมด หากแต่ยังไม่ละเลยที่จะขยับตัวออกมาจัด “กิจกรรมนอกห้องเรียน” ในวิถี “ค่ายอาสา” กับเขาด้วยเหมือนกัน

ถึงแม้จะไม่ใช่ขุนพลค่ายอาสาโดยแท้ และถึงแม้ค่ายอาสาครั้งนี้จะใช้เวลาน้อยนิด แต่ก็พอจะมองเห็นกระบวนการของการพยายามที่จะเรียนรู้ศาสตร์ของการจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการแบบง่ายๆ ด้วยการกลั่นกรองพื้นที่อย่างเป็นระบบ จัดกิจกรรมบนฐานความต้องการของชุมชน การปรับเปลี่ยนหน้างานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งตรงนี้แหละสำคัญมากๆ เพราะหมายถึง การเรียนรู้จากการลงมือทำจริงอย่างเป็นทีม การเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้าและแก้ปัญหากับสถานการณ์เฉพาะกิจที่โถมถั่งเข้ามาอย่างไม่ให้รู้ตัว -



ค่อยเจอกันใหม่ ครับ

ภาพ/ข้อมูล
  • นายวัฒนา พวงศรีแก้ว (ประธานสภานิสิต)
  • นายนเรนทร์ฤทธิ์ รักพร้า
  • นายวรวรรธน์ ปัดทุม
  • นางสาวสุนันทา กลางหล้า
  • สมาชิกสภานิสิต
  • จิรัฎฐ์ อภิวิชญ์ทีปกร
  • งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต



หมายเลขบันทึก: 603503เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2016 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2016 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นิสิตทำกิจกรรมได้ครอบคลุมงานทั้งหมดของโรงเรียน

แถมแบ่งงานกันทำได้ดีมาก

มาชื่นชมการทำงานครับ

กิจกรรมดีที่น่าชื่นชมยิ่งจ้ะ

ปรับหน้างาน คือ ทักษะเอาชีวิตรอด

เอ๊ย !!! เผชิญปัญหา วิเคราะห์สาเหตุรอบด้าน หาทางออก เลือกที่เหมาะสมตามสถานการณ์

เชื่อว่านิสิตพลิกพลิ้วทางเดินชีวิต .... ไม่ตันง่าย ๆ แน่นอน

ชื่นชมค่ะ

ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

ค่าย....
สอนชีวิตและทักษะชีวิตของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ผมมองว่าในค่ายนี้ มีภาพเหล่านี้อยู่บ้าง เลยนำมาเขียนไว้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

และมองว่า...
สภานิสิต ก็ใส่ใจกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเหมือนกัน แม้จะไม่กี่วัน และไม่ลึกซึ้งมากนักในมิติของการเรียนรู้ชุมชน แต่ก็ทำให้รู้ว่า สภานิสิต พยายามเรียนรู้ที่จะทำค่ายบนความต้องการของชุมชน มองปัญหา แล้วออกแบบวิธีการแก้ปัญหาเท่าที่สภานิสิตพอจะทำได้


ใช่ครับ พี่ มะเดื่อ

งานค่าย เพียงไม่กี่วันกี่คืน แต่มักมีพลังในการสอนให้คนเราได้เรียนรู้อะไรๆ อย่างมากมายก่ายกอง หากไม่นับว่าเรียนรู้การให้ต่อชุมชนอย่างไร ก็ยังหมายถึงได้เรียนรู้ตัวเองและคนรอบข้างนั่นเอง...

ใช่ครับ พี่หมอ ธิ

ผมชอบตรงพลิกสถานการณ์นี่แหละครับ
นี่คือทักษะการคิด และทักษะในการลงมือทำ
มันจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตในการเติบโตและก้าวเดินออกไปใช้ชีวิตจริงในสังคมแห่งการงานในอนาคต

ค่าย จึงยังมีสถานะของการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตในการเติบโตเป็นบัณฑิตสู่การรับใช้สังคม...ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท