วิพากษ์เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘



กระทรวงศึกษาธิการประกาศ เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๘เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘และ แนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘เป็นเรื่องน่าชื่นชม ทำให้เกณฑ์ทันสมัยขึ้นมาก ไล่ตามพัฒนาการด้านการจัดการเรียนรู้ ที่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ดำเนินการล่วงหน้าไปแล้ว

เพื่อช่วยกันออกความเห็น ให้คุณภาพอุดมศึกษาไทยดียิ่งขึ้น ผมจึงขอให้ความเห็นดังต่อไปนี้

  • การมีเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา ที่ออกโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐาน เป็นสิ่งดี และเกณฑ์ใหม่นี้ ดีกว่าเกณฑ์เก่าอย่างมากมาย แต่มหาวิทยาลัยต่างๆ พึงตระหนักว่า นี่เป็น “เกณฑ์ขั้นต่ำ” มหาวิทยาลัยที่ต้องการพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก น่าจะต้องใช้เกณฑ์ที่สูงกว่านี้อย่างมากมาย
  • นี่คือกลไกประกันคุณภาพ คำหลักคือ คุณภาพ (Quality) ซึ่งผมคิดว่ามี ๓ มิติคือ

Quality in Regulation ซึ่งก็คือในประกาศ ๓ ฉบับนี้ เป็นการมองคุณภาพ อย่างกลางๆ ทั่วๆ ไป

Quality in Practice เป็นเรื่องของการปฏิบัติ แต่ละมหาวิทยาลัยต้องกำหนด ของตนเอง ให้ชัดเจนจำเพาะยิ่งกว่าในประกาศ เพื่อบรรลุผลที่จำเพาะตาม เป้าหมายของแต่ละมหาวิทยาลัย

Quality in Results เป็นเรื่องของผลลัพธ์ที่ตัวผู้เรียน ข้อพึงระวังคือ แม้จะปฏิบัติตามที่กำหนดโดยหวังผลลัพธ์คุณภาพสูง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดจริง อาจไม่เป็นไปตามที่คาด จึงต้องมี M&E (Monitoring & Evaluation System) ของตนเอง เพื่อนำมาใช้ปรับ Quality in Practice M&E System นี้เราเรียกกันว่า Internal Quality Control แต่เรามักหลงผิดทำตามที่หน่วยเหนือกำหนดให้ทำ ไม่เน้นทำเพื่อปรับปรุงวิธีดำเนินการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลลัพธ์

  • ถ้อยคำต่างๆ ในประกาศ มองการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ (บรรยาย) ไม่ใช่เน้นการเรียน โดยการสร้างความรู้ขึ้นในตนผ่านการปฏิบัติ (เช่น PBL) ตามด้วยการสะท้อนคิด
  • ยังเน้นที่คุณวุฒิ ของอาจารย์มากเกินไป ผมมีความเชื่อว่า สมรรถนะ สำคัญกว่าคุณวุฒิ แต่ก็ยอมรับว่าวัดยาก แต่ก็ยังอยากให้ประกาศนี้ให้น้ำหนักแก่สมรรถนะที่สะท้อน จากผลงาน มากกว่าคุณวุฒิ
  • เกณฑ์นี้ไม่เอ่ยด้านลักษณะนิสัย หรือด้านความเป็นคนดีเลย เป็นเกณฑ์ด้าน cognitive dimension ล้วนๆ และตามแนวทางบริหารเกณฑ์ฯ ข้อ ๑๒ เรื่อง plagiarism ก็สะท้อนแนวทางที่หย่อนเกินไปต่อเรื่องนี้ คือไม่แนะนำให้ถอนปริญญา


วิจารณ์ พานิช

๕ ก.พ. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 602806เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2016 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2016 05:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์ ต้องเน้นสมรรถนะมิใช่คุณวุฒิเพราะทุกวันนี้มีแต่คุณวุฒิ(กระดาษ)ใบเดียว ดังนั้นจึงมีอาจารย์มหาวิทยาลัยในหลายคณะไม่สามารถพัฒนาผลงานทางวิชาการออกมาได้ เพราะไม่มีสมรรถนะในการสอน การวิจัย อาจารย์ลองถามข้อมูลรายละเอียดในแต่ละคณะที่ท่านไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่ อาจารย์จะรู้เองว่าทำไมคุณภาพการศึกษาจึงถึงยุควิกฤติค่ะ ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท