เกาแก้คัน แต่โรคไม่หาย : ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนใน กทม.



ข่าวนี้ บอกผมว่า ความหวังที่จะให้ผลลัพธ์คุณภาพการศึกษาไทยกระเตื้องขึ้นอย่างจริงจัง ยังริบหรี่ เพราะผู้บริหารประเทศในระดับต่างๆ ของการศึกษายังแยกไม่ออกระหว่างอาการคัน กับตัวโรค เกาที่คันเท่าไร โรคก็ไม่หาย เพราะโรคมันอยู่ลึกกว่าอาการคัน และอยู่คนละที่กับจุดที่คัน

ที่จริงจะไปโทษเฉพาะท่านรองผู้ว่า กทม. ก็ไม่ถูก เพราะจริงๆ แล้วผู้บริหารการศึกษาทั้งหมด ของประเทศ ก็ตกอยู่ในภพภูมิเดียวกัน คือภพภูมิของการมุ่งยกระดับมาตรฐานการศึกษา ซึ่งจะได้ผลน้อยถึงไม่ได้ผลเลย เพราะนั่นเป็นการ “เกาที่คัน” ในขณะที่โรคไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันอยู่ในระบบ และในกระบวนทัศน์ที่เคยถูกต้อง แต่เวลาและยุคสมัยได้ทำให้มันกลายเเป็นกระบวนทัศน์และระบบที่ผิดพลาด

การเรียกร้องเอาจากครู ทั้งๆ ที่ครูอยู่ในระบบที่ผิดพลาด ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ในที่นี่ระบบที่ผิดพลาด (ทั้งประเทศ) คือระบบการจัดการกำลังคน (human resource management) เกี่ยวกับครู ที่ครูที่สอนด้วยวิธีการที่ถูกต้องแห่งศตวรรษที่ ๒๑ และศิษย์บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ครบถ้วนทุกคน กับครูที่ยังสอนตามแนวทางเดิมๆ แห่งศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ และศิษย์ส่วนใหญ่สอบตก ต่างก็ได้รับค่าตอบแทนต่างๆ พอๆ กัน จะแตกต่างบ้างก็นิดๆ หน่อยๆ

ในระบบเช่นนี้ ครูจะไม่ขวนขวายพัฒนาตนเอง การพัฒนาครูตามที่ท่านรองผู้ว่า กทม. เสนออย่างตั้งใจดี จะไม่ได้ผล และในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการก็ใช้เงินมากมาย ในการพัฒนาครูตามแนวทางดังกล่าว และพิสูจน์แล้วว่าสูญเงินเปล่า ไม่เกิดผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน

เพราะระบบให้คุณให้โทษครู ไม่ผูกพันกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์

เพราะหลงผิดว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้คือผลสอบ

การศึกษาไทยจึงยังไม่ได้แก้ที่ตัวโรคอย่างแท้จริง


วิจารณ์ พานิช

๑ ก.พ. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 602805เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2016 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2016 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท