ชีวิตบนพื้นฐานจริยธรรม


ชีวิตบนพื้นฐานจริยธรรม

โดย ดร. อุทัย เอกสะพัง

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

1.เกริ่นนำ

มนุษย์โลกนับวันจะมีจำนวนมากขึ้น การแย่งชิงทรัพย์สมบัติของกันและกัน การเอาเปรียบกันทางสังคมคงมีมากขึ้นเป็นแน่ ตราบใดที่มนุษย์ในโลกนี้ไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมและโลกนี้คงไม่น่าอยู่อาศัยถ้ามนุษย์โลกไม่มีคุณธรรมจริยธรรมดังกล่าว เพราะสิ่งชั่วร้ายจะเข้ามามีบทบาทก่อเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก

2.หลักการคิด

เพื่อร่วมกันสร้างสังคมชาวโลกให้น่าอยู่อาศัยจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง แนวทางหนึ่งมนุษย์ต้องสนใจใฝ่รู้ดูให้เป็นเห็นให้แจ้งชัดตามแบบพาหุสัจจะคือความเป็นคนที่ได้เล่าเรียนมามากจนมีประสบการณ์มีความรู้ความเข้าใจที่เรียกว่าพหุสูตร ซึ่งหมายถึง การเป็นผู้คงแก่เรียนเป็นผู้มีความรู้มาก หลักการศึกษาของมนุษย์ที่ดีในทางหนึ่งควรเกิดมาจากหลักการคิด 4 แนวทาง ดังคาถาบทหนึ่งซึ่งถือกันว่า หัวใจนักปราชญ์ ได้แก่

สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กะถัง โส ปัญฑิโต ภะเว. แปลว่า ผู้เว้นจากการฟัง คิด ถาม เขียน แล้วจะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร ( ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 )

คำศัพท์ในคาถาบทหนึ่งดังกล่าวนั้นสามารถนำมาอธิบายความหมายได้ว่า

สุ ย่อมาจาก สุตตะ หมายถึง การฟัง

จิ ย่อมาจาก จินตะ หมายถึง การคิด

ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา หมายถึง การถาม

ลิ ย่อมาจาก ลิขิต หมายถึง การเขียน

สำหรับการฟังนั้น ควรเป็นการฟังอย่างตั้งใจเป็นการฟังเรื่องราวต่าง ๆ อย่างลุ่มลึก ฟังอย่างตั้งใจให้ชัดเจนจนหายสงสัยด้วยการเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังมาแล้ว สำหรับการคิดนั้นก็หมั่นตริตรองให้ถี่ถ้วนในทุกสิ่งที่ต้องการอยากรู้อยากเข้าใจด้วยการคิดตามเหตุตามผลแยบยลด้วยกลวิธีต่าง ๆ จนเข้าใจแจ่มแจ้งหายสงสัยแล้ว แต่เมื่อใดยังสนใจใคร่รู้เพื่อความกระจ่างแจ้งอย่างแท้จริงก็ต้องใช้กระบวนการถามตอบกับท่านผู้รู้ในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดีจนไม่มีปัญหาที่สงสัยนั้นอยู่ในใจแล้ว ทีนี้ก็ต้องใช้วิธีจดบันทึกในเรื่องที่ตนเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งนั้นลงในสมุดเพื่อจดจำนำไปใช้ประโยชน์สืบต่อไป

ด้วยเหตุนี้ท่านผู้รู้ได้นำมาเป็นคำโคลงโลกนิติ ที่ว่า

เว้นวิจารณ์ว่างเว้น สดับฟัง

เว้นที่ถามอันยัง ไป่รู้

เว้นเล่าลิขิตสังเกต ว่างเว้นนา

เว้นดั่งกล่าวว่าผู้ปราชญ์ได้ ฤามี

( ที่มา http://www.facebook.com/permalink.php?id สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 )

หลักการคิดในการดำเนินชีวิตของชาวโลกนั้นล้วนนานาจิตตัง แต่ก็มีหลายคนที่ยึดถือตามคติธรรมที่ว่า อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ. แปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ( ที่มา http://www.watmoli.com/nanasara/ สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 )

การอธิบายความหมายโดยใช้หลักการคิดพิจารณาใคร่ครวญตามเหตุตามผลในอีกมุมมองหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ตนตัวแรกกับตนตัวสุดท้ายนั้นเป็นคนละตนกันได้หรือไม่ ทำไมจะว่าอย่างนั้น เราลองพิจารณาตามหลักการคิดอย่างนี้ว่า สมมุติมีช้างโขลงหนึ่งกำลังมุ่งไปที่ป่าพรุแล้วมีช้างตัวหนึ่งตกล่มโคลนตมไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ขึ้นมาจากที่นั้น ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีช้างจ่าโขลงดูอยู่ใกล้ ๆ แล้วมันก็มาเอาหางมัดกับต้นไม้ใกล้ ๆ ริมป่าพรุแล้วยื่นงวงไปจับงวงของช้างตัวติดล่มโคลนนั้นแล้วดึงช่วยช้างให้ขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่าช้างเชือกที่หนึ่งกับช้างเชือกที่สองนั้นคนละตัวกันจึงสามารถช่วยเหลือกันและกันได้คือกำลังจะให้เหตุผลว่า ตนตัวแรกกับตนตัวสุดท้ายนั้นคนละตนกันอย่างนี้

นอกเสียจากว่า บุคคลนั้นได้ฝึกฝนอบรมตนจนข้ามพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้วเท่านั้นจึงจะพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ดังคำกล่าวเป็นพุทธสุภาษิตว่า อัตตา หิ สุทันเตนะ นาถัง ละภะติ ทุลละภัง. แปลว่า ผู้มีตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นที่พึ่งที่หาได้ยาก ( ที่มา http://saochingcha.blogspot.com/ สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 )

อย่างไรก็ตาม การที่มนุษย์อยู่กันเป็นสังคมหมู่มากย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นมาในแต่ละวัน ปัญหาอย่างหนึ่งที่ก่อเกิดความขัดแย้งกันในหมู่มนุษย์คือปัญหาต้องการเอาแพ้เอาชนะในทุกเรื่องก่อให้เกิดความไม่เข้าใจจนเป็น

สาเหตุการทำลายล้างกันห่างไกลจากศีลธรรมทางศาสนา การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับมุมคิดของมนุษย์ ถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมก็แก้ปัญหาไปในทางที่ดี แต่ถ้าเป็นคนไม่ดีก็แก้ปัญหาไปในทางที่เลวร้าย

ด้วยในทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี สมดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 9 ทรงชี้แนะว่า

“....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)

(ที่มา http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI... สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 )

3.ความหมายของจริยธรรม

เรื่องจริยธรรมถือว่าเป็นเรื่องการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกัน เพื่อต้องการให้ทุกคนมีความตระหนักรู้เข้าใจในวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามกาลเทศะของสังคม แต่ละสังคม จึงอาจจะกล่าวได้ว่า จริยธรรมเปรียบเหมือนเสื้อผ้าถือว่าเป็นอาภรณ์เครื่องประดับร่างกายของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ นับเป็นการบ่งบอกเอกลักษณ์ของกลุ่มบุคคลนั้น ๆ ทีมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่โดดเด่นเห็นเป็นศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายจริยธรรมว่า ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม (ราชบัณฑิตยสถาน. 2539 : 216)

คำว่าจริยธรรม หมายถึงธรรมชาติหรือหลักธรรมที่บุคคลควรประพฤติจัดว่าเป็นคุณธรรมที่แสดงออกทางร่างกายในลักษณะที่ดีงามถูกต้อง อันเป็นสิ่งที่ประสงค์ของสังคมและจริยธรรมจะมีได้จำต้องอาศัยหลักคำสอนทางศาสนา อันได้แก่ ศีล (Precept) อันหมายถึงหลักหรือเกณฑ์การประพฤติเพื่อดัดหรือฝึกหัดกาย และวาจาให้เรียบร้อยให้เป็นปกติ กล่าวคือจะพูดหรือทำสิ่งใดให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าให้ผิดปกติ ( ผิดศีล ) เช่นพูดให้ถูกต้องให้เป็นธรรม เมื่อพูดหรือกระทำถูกต้องเป็นธรรมย่อมมีความสุขความสบาย เยือกเย็นไม่เดือดร้อน ดังกล่าวจึงเป็นผลของการมีศีลหรือเป็นผลแห่งการมีคุณธรรมในจิตใจ เมื่อมีคุณธรรมในจิตใจแล้วก็เป็นเหตุให้ประพฤติจริยธรรมได้ถูกต้อง ดังนั้นคุณธรรมและศีลจึงเป็นโครงสร้างของจริยธรรม ( บุญมี แท่นแก้ว. 2541 : 1 )

คำว่าจริยธรรม คือกิริยามารยาท การประพฤติปฏิบัติที่สังคมปรารถนา เป็นแนวทางเพื่อบรรลุสภาพชีวิตดีงามทั้งทางร่างกาย วาจา ใจ ( ทำ พูด คิด ) เป็นไปในทางที่ดีและละเว้นสิ่งที่ผิดต่อปทัสถานของสังคม ( Social Norm ) ( พิภพ วชังเงิน. 2546 : 4 )

คำว่าจริยธรรม มาจากรากศัพท์ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตดังนี้ จริยะ+ธรรมะ จึงเป็นจริยธรรม ด้วยจริยะหมายถึงความประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเป็นพฤตกรรมที่แสดงออกมาจากการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ส่วนธรรมะ หมายถึง คำสั่งสอนในทางศาสนาที่มนุษย์นำมาเป็นสื่ออุปกรณ์เพื่อก้าวข้ามไปสู่เป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม

ด้วยจริยธรรม ถือว่า เป็นพื้นฐานสำคัญของทุกคนและทุกวิชาชีพที่ทุกคนควรใส่ใจจดจำนำมาปฏิบัติ ให้ก้าวเดินไปบนถนนของบุคคลผู้ทำดี ละเว้นความชั่วแล้วหมั่นทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสอยู่เสมอซึ่งถือว่าเป็นหลักการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานจริยธรรมของมนุษย์โลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณธรรมที่สำคัญอันเป็นพื้นฐานของชีวิตของชาวโลกนั้นได้แก่ การรักษาศีล 5 ข้อ คือ

  • งดเว้นจากการฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์
  • งดเว้นจากการลักทรัพย์สิ่งของอันเป็นของผู้อื่น
  • งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  • งดเว้นจากการกล่าวคำไม่จริง เป็นการโกหกหลอกลวงผู้อื่น
  • งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาที่ทำให้เสียสติสูญเสียความทรงจำ

หลักศีล 5 ประการดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานคุณธรรมของมนุษย์โลก เมื่อบุคคลใดหมั่นประพฤติ

ปฏิบัติธรรม ก็ ธรรมเหล่านั้นแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ไม่ให้หลงเพลินเดินไปในทางแห่งความเสื่อมซึ่งเปรียบเหมือนผี 6 ตัว เข้าสิงสู่จิตใจมนุษย์ โดยมีคำกล่าวเป็นบทกลอนสอนให้จดจำไว้ว่า

ผีที่หนึ่งชอบสุราเป็นอาจิณ ไม่ชอบกินข้าวปลาเป็นอาหาร

ผีที่สองชอบเที่ยวยามวิกาล ไม่รักลูกรักบ้านรักเมียตน

ผีที่สามชอบดูการละเล่น ไม่ละเว้นบาร์คลับละครโขน

ผีที่สี่คบคนชั่วมั่วกับโจร หนีไม่พ้นอาญาตราแผ่นดิน

ผีที่ห้าชอบเล่นม้ากีฬาบัตร สารพัดถั่วโปไฮโลสิ้น

ผีที่หกเกียจคร้านการทำกิน รวมทั้งสิ้นหกผีอัปรีย์....... เอย.....

ด้วยผีทั้งหกตัวนี้เข้าสิงสู่ในจิตใจของผู้ใดแล้วเหมือนหลงเพลินเดินอยู่ในเส้นทางแห่งความเสื่อมซึ่งกล่าวได้ว่าคือ อบายมุข

อย่างไรก็ตาม ในหลักธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้มนุษย์โลกมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นถือได้ว่าเป็นธรรมคุ้มครองโลก 2 ประการคือ ความละอายใจต่อการทำความชั่ว และความเกรงกลัวต่อความชั่ว ( พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตโต ). 2538 : 75 )

4.ทฤษฎีทางจริยศาสตร์

แนวคิดสุขนิยม ( Hedonism ) เป็นแนวคิดที่ยึดถือว่าความสุขเท่านั้นเป็นสิ่งดีที่สุดของมนุษย์ ด้วยมุมคิดที่ว่าอะไรก็ตามที่เรียกว่าสิ่งที่ดีสิ่งนั้นต้องพามนุษย์เดินทางไปหาความสุข โดยทดลองถามตนเองหรือสอบถามใคร ๆ ก็ได้ในวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอยู่ทุกวันนี้ว่า คนเราต้องการอะไรและคำตอบท้ายสุดของคนเราก็จะออกมาว่า ต้องการความสุข เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ตามทัศนะของซิกมัน ฟรอยด์ ( Sigmund Freud : 1856-1939 )ได้สนับสนุนมุมคิดที่ว่า มนุษย์แสวงหาความสุข เขาต้องการได้รับความสุขและธำรงมันไว้ตราบนานเท่านาน แม้แต่ทัศนะของ เจเรมี เบ็นธัม (Jeremy Bentham : 1748-1832 ) ก็สนับสนุนมุมคิดที่ว่าความสุขเท่านั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์เราต้องการเช่นเดียวกันดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และมีความต้องการในชีวิตเป็นอย่างยิ่งเหนือกว่าสิ่งอื่นใด ๆ

สำหรับอีกแนวคิดหนึ่ง คือ ประโยชน์นิยม (Utilitarianism ) ด้วยเกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยศาสตร์นี้มีหลายแนวความคิดในแนวความคิดหนึ่งให้เหตุผลการกระทำของมนุษย์ไปในทางที่ได้รับผลประโยชน์ เพราะการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดในตัวของมันเองก็ไม่มีสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด แต่มันขึ้นอยู่กับความหมายที่แท้จริงว่า สิ่งเหล่านั่นเมื่อมนุษย์กระทำลงไปแล้วมันก่อให้เกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ( วิทย์ วิศทเวทย์. 2530 : 99 )

ดังนั้นแนวคิดทางประโยชน์นิยมจึงยึดถือว่ามนุษย์จงทำประโยชน์ให้กับมหาชนเพราะผลที่เกิดจากการทำประโยชน์ให้กับมหาชนนั้นมันมีความสำคัญมากกว่าเจตนา ด้วยแนวคิดทางประโยชน์นิยมนี้ดังเราได้ยินพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงตรัสในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในวันนั้น ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม (ที่มา www.manager.co.th / Politics / ViewNews.aspx? สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 )

5.บทสรุป

การจะเป็นผู้รอบรู้ได้ของคนเราต้องอาศัยหลักการคิดใคร่ครวญดังคาถาบทหนึ่งว่า สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กะถัง โส ปัณฑิโต ภะเว. ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจนักปราชญ์ และด้วยการเป็นที่พึ่งของตนเองนั้นจะสามารถนำพาชีวิตให้ก้าวเดินไปตามเส้นทางแห่งคุณธรรมจริยธรรมได้ ถึงแม้ว่าหลักการคิดของชาวโลกตะวันตกกับชาวโลกตะวันออกจะมีฐานคิดที่ต่างกันโดยอิงอาศัยหลักการคิดแบบคณิตศาสตร์ที่มองเห็นชัดเจนเช่นการนับเลข ศูนย์นั้นจะปรากฏหรือไม่ปรากฏมันก็มีค่าของมันอยู่ดีในสังคมตะวันออก เหมือนสิ่งของบางอย่างไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริงแต่ผู้คนทางตะวันออกก็ยังมีความนิยมเชื่ออยู่อย่างนั้นกรณีผีเป็นตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับเลขศูนย์คือจะปรากฏหรือไม่ปรากฏมันก็มีค่าของมันอย่างนั้น แต่สังคมตะวันตกนั้นมองในฐานคิดแบบเลขโรมันคือไร้เลขศูนย์บ่งบอกถือสิ่งใดที่พิสูจน์ไม่ได้ก็ไม่เชื่อดังนั้นสังคมตะวันตกจึงนิยมสิ่งที่จับต้องได้และชัดเจน

หลักการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานจริยธรรมนั้นที่จริงแล้วคือชาวโลกนับถือศีล 5 ประการได้ก็ทำให้สังคมชาวโลกมีความสงบสุขสันติได้ เพราะถือว่าศีล 5 ประการเป็นกฎพื้นฐานของมนุษย์โลกด้วยคนเราเมื่อรักษาธรรมอยู่ในจิตใจได้ก็ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมอยู่แล้ว ธรรมชาติจึงต้องการให้มวลมนุษย์มีความเป็นอยู่สอดคล้องไปกับธรรมชาติดังจะเห็นบุคคลผู้เข้าถึงหลักธรรมมักจะมีชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ต่ำต้อยติดดิน แต่มีมุมคิดสูงส่งเท่าเทียมฟ้าอย่างนั้น.

6.บรรณานุกรม

บุญมี แท่นแก้ว. 2541 . จริยธรรมกับชีวิต . กรุงเทพ ฯ : โอ เอส . พริ้นติ้งเฮาส์ .

โคลงโลกนิติ พร้อมแปล. หัวใจนักปราชญ์. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 . จาก

http://www.facebook.com/permalink.php?id.

ผู้จัดการออนไลน์ . พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. ( อินเตอร์เน็ต ) . สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 จาก

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI... .

ผู้จัดการออนไลน์ . พระราชพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ. ( อินเตอร์เน็ต ) . สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์

2559 จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=

พระธรรมปิฎก ( ป. อ. ปยุตฺโต ). 2538. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 8.

กรุงเทพ ฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พุทธภาษิต. อัตตา. ( อินเตอร์เน็ต ). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 . จาก

http://saochingcha.blogspot.com/

พิภพ วชังเงิน. 2546. จริยธรรมทางธุรกิจ. กรุงเทพ ฯ : อมรการพิมพ์.

ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์.

วัฒนธรรมท้องถิ่น. จริยธรรมคืออะไร. ( อินเตอร์เน็ต ). สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. จาก

http://www.gotoknow.org/posts/283222.

วัดโมลี. อัตตา. ( อินเตอร์เน็ต ). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 . จาก http://www.watmoli.com/nanasara/.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. พาหุสัจจะ. ( อินเตอร์เน็ต ). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559 . จาก

https://th.wikipedia.org/wiki .

วิทย์ วิศทเวทย์ . 2530. จริยศาสตร์เบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์ .

หมายเลขบันทึก: 601995เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2016 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้เรียนรู้มากเลยครับ

อาจารย์สบายดีไหมครับ

ขอบคุณครับ ท่าน ดร. ขจิต ฝอยทอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท