HS
นางสาว หทัยรัตน์ เส็งนา

Federal Reserve Bank ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา


***ยังไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่

สหรัฐไม่ต้องการให้มีธนาคารกลางเพียงแห่งเดียวที่มีอำนาจรวมศูนย์ เพราะเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจาก Wall Street ได้ง่าย จึงได้แบ่งภาคเศรษฐกิจการเงินออกเป็น 12 มณฑล แต่ละมณฑลมีธนาคารกลาง 1 แห่ง คือ Boston, New York, Philadelphia, Cleveland, Richmond, Atlanta, Chicago, St. Louis, Minneapolis, Kansas City, Dallas, และ San Francisco ซึ่งธนาคารกลางทั้ง 12 แห่ง อยู่ภายใต้การกำกับของสภาผู้ว่าการ หรือ Board of Governors

ทั้งนี้ ธนาคารกลางแต่ละมณฑลจะมี Directors เป็นผู้บริหาร มีทั้งหมด 9 คน แบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทละ 3 คน โดยประเภท A มาจากอาชีพนักการเงินการธนาคาร ประเภท B มาจากอาชีพในภาคธุรกิจอื่นๆ ทั้งสองกลุ่มนี้มีธนาคารสมาชิกเป็นผู้สรรหา และประเภท C สภาผู้ว่าการเป็นผู้แต่งตั้ง โดย Directors ทั้ง 9 คน จะเลือก 1 คนทำหน้าที่เป็นประธาน

ซึ่งธนาคารกลางทั้ง 12 แห่ง บริหารงานโดยสภาผู้ว่าการ โดยมีจำนวนคณะกรรมการ 7 คน ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดยความเห็นชอบจากวุฒิสภา และประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้ง 1 ใน 7 คนนั้น เป็นประธานสภาผู้ว่าการ หรือ Chairman ตามความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่งตำแหน่งนี้เทียบได้กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับสภาผู้ว่าการชุดปัจจุบันประกอบด้วย Janet L.Yellen เป็นประธานสภาผู้ว่าการ (จาก San Francisco) Stanley Fischer เป็นรองประธานสภาผู้ว่าการ (จาก New York) Daniel K.Tarullo (จาก Boston) Jerome H.Powell (จาก Philadelphia) Lael Brainard (จาก Richmond) ในขณะที่อีก 2 ตำแหน่งว่างลง

เครื่องมือทางการเงินที่ Fed ใช้มี 3 ประเภท คือ อัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย ตลาดซื้อคืนพันธบัตร และหน้าต่างปรับสภาพคล่อง ซึ่งก็คล้ายๆ กับเครื่องมือของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามกฎหมายแล้วธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องเป็นสมาชิกธนาคารกลางประจำมณฑล ตามแต่มณฑลที่สังกัด ทั้งนี้ ธนาคารที่เป็นสมาชิกต้องถือเงินสำรองฝากไว้กับธนาคารกลางตามอัตราเงินสำรองตามกฎหมาย โดยสภาผู้ว่าการเป็นผู้กำหนด เพื่อที่ธนาคารกลางประจำมณฑลจะสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวในการเพิ่มหรือลดปริมาณเงิน

เครื่องมือที่สองคือตลาดซื้อคืนพันธบัตร แต่การดำเนินการของตลาดซื้อคืนพันธบัตรนั้น หน่วยงานที่ดูแลโดยตรงไม่ใช่ Fed แต่เป็นคณะกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์รัฐบาลกลาง หรือ Federal Open Market Committee (FOMC) ซึ่งการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่ใช่การประชุมของสภาผู้ว่าการแต่เป็นการประชุมของ FOMC

สำหรับผู้เล่นในตลาดอาจจะเป็น FOMC สถาบันการเงิน หรือวาณิชธนกิจ ก็สามารถซื้อขายพันธบัตรในตลาดได้ทั้งนั้น ซึ่งการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลแบบชั่วข้ามคืน (Overnight) ระหว่างสถาบันการเงินเอกชนด้วยกันเอง นับได้ว่ามีอิทธิพลต่อตลาดการเงินอย่างมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดขึ้นถูกใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate) ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่ Fed ประกาศก็คืออัตราดอกเบี้ยในการซื้อขายพันธบัตรชั่วข้ามคืน ดังนั้น FOMC จึงมีหน้าที่ในการกำหนดและรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรงไม่ใช่ Fed ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันก็คือ 0.25% (ณ วันที่เขียนบทความ)

เมื่อตลาดขาดสภาพคล่อง FOMC จะทำการแทรกแซงตลาดโดยการซื้อพันธบัตรจากสถาบันการเงิน เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง และหากตลาดมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง FOMC จะทำการขายพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง ทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจลดลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้น ในทางปฏิบัติการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล FOMC มอบหมายให้ผู้ว่าการธนาคาร New York เป็นผู้รับผิดชอบในการซื้อขายพันธบัตรในตลาดหลักทรัพย์ Wall Street

สำหรับคณะกรรมการ FOMC มี 12 คน โดยที่ 7 ใน 12 คน มาจากสภาผู้ว่าการโดยตำแหน่ง โดยประธานสภาผู้ว่าการต้องดำรงตำแหน่งเป็นประธาน FOMC โดยตำแหน่งด้วย ดังนั้น หากจะกล่าวว่า Fed เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มิผิดนัก เพราะเสียงส่วนใหญ่ใน FOMC ก็มาจาก Fed ทั้งสิ้น สำหรับอีก 5 ตำแหน่งมาจากการหมุนเวียนของผู้ว่าการธนาคารกลางประจำมณฑลต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ว่าการประจำมณฑล New York ต้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เพราะจะเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อขายหลักทรัพย์ดังที่กล่าวแล้ว

กรรมการชุดปัจจุบันของ FOMC ประกอบด้วย Janet L.Yellen เป็นประธาน FOMC โดยตำแหน่ง และกรรมการจากสภาผู้ว่าการ William C.Dudley ผู้ว่าการธนาคารกลาง New York เป็นรองประธาน FOMC และ Charles L.Evans (จาก Chicago), Jeffrey M.Lacker (จาก Richmond), Dennis P.Lockhart (จาก Atlanta), John C.Williams (จาก San Francisco) เป็นกรรมการ โดยทั่วไปจะจัดประชุมปีละ 8 ครั้ง เพื่อกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ย

สุดท้ายคือหน้าต่างปรับสภาพคล่อง นับตั้งแต่ก่อตั้ง Fed หน้าต่างปรับสภาพคล่องเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญที่สุด เพื่อปรับสภาพคล่องของระบบการเงินการธนาคาร ภายหลังถูกลดบทบาทลง และถูกแทนที่ด้วยตลาดซื้อคืนพันธบัตร การกู้ยืมเงินผ่านช่องทางนี้สถาบันการเงิน จะต้องเป็นคู่สัญญากับ Fed เท่านั้น โดยต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงิน ซึ่งหลักทรัพย์นั้นอาจจะเป็นตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ ลูกหนี้ภาคอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม ตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น ซึ่งประเภทของการกู้ยืมจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ Primary Credit, Secondary Credit, และ Seasonal Credit

การกู้ยืมแบบ Primary Credit คือการกู้ยืมเพื่อปรับสภาพคล่องชั่วข้ามคืน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่จะทำการกู้ยืมประเภท Primary Credit ได้ ต้องมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่องทางแบบ Primary Credit นับได้ว่าเป็นช่องทางหลัก แต่ถ้าธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการกู้ยืมนานกว่า 1 วัน ก็สามารถใช้การกู้ยืมประเภท Secondary Credit และประเภทสุดท้ายคือ Seasonal Credit เหมาะกับธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก และส่วนใหญ่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีการดำเนินกิจการตามช่วงฤดูกาล เช่น ธุรกิจการเกษตร หรือธุรกิจการโรงแรม ซึ่งความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการเหล่านี้ ขึ้นกับฤดูกาล เช่น ฤดูเก็บเกี่ยวหรือฤดูท่องเที่ยว เป็นต้น

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/634856

แหล่งอ้างอิงรูป :http://www.grandsuperrich.com/wp-content/themes/apex/functions/thumb.php?src=http://www.grandsuperrich.com/wp-content/uploads/2014/07/C02_movieb.gif&h=360&w=640&zc=1

หมายเลขบันทึก: 601990เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท