​ปริศนาของรหัส(ไม่)ลับ “เนื้อดีและพิมพ์ถูกต้อง” ในการพิจารณา พระรอด กรุวัดมหาวัน


เพื่อง่ายต่อการใช้และเข้าใจ ผมจึงตัดคำอธิบายยาวๆ ให้เหลือสั้นๆ เป็นการใช้ “หินผุ + พุทธศิลป์”

********************************

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ผมได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพิจารณา แท้-เก๊ ในพระกลุ่ม จำนวนพระรอดทั้งหมดที่ผมมีมากพอจะเข้าหลักสถิติได้ โดยพุ่งเป้าไปที่พระรอดมหาวัน เพื่อเตรียมการจัดการความรู้ ให้ทันการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่อยุธยา ปลายเดือนนี้

และบัดนี้ ผมก็ได้เริ่มตกผลึกแนวคิด เข้าไปวิเคราะห์ที่มาของหลักการที่คนรุ่นก่อนได้กำหนดไว้ ทั้ง “ตำหนิ” “เนื้อมาตรฐาน” และ “พิมพ์มาตรฐาน” ว่าน่าจะมีที่มาอย่างไร

เนื่องจาก ทั้งสามหลักการดังกล่าวเป็นหลักที่เคยเป็นกำแพงที่ปิดกั้นระบบคิดวิเคราะห์ของผมมาตลอด ที่ผมต้องใช้ความพยายามอย่างมาก มาเป็นเวลาหลายปี ค่อยๆทะลวงแนวคิดออกมาทีละด้าน

  • โดยเริ่มจาก “เนื้อมาตรฐาน” เดิม ตำราเขียนว่า เป็นดินเผาแกร่ง ซึ่งตามผลการวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ของ ดิน หิน แร่ แล้ว น่าจะเป็นไปได้น้อยมาก ทั้งจากลักษณะความแข็งของเนื้อ สีเนื้อ สนิมที่เกิด และการผุกร่อน มิใช่ลักษณะดินเผา แต่น่าจะเป็นหินอัคนีสีต่างๆ ชนิดต่างๆ นำมาบด แล้วประสานด้วยสารเหนียว เช่น ดินเหนียวแบบด่านเกวียน (ที่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร) ปั้นเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ แล้วนำไปกดพิมพ์ เมื่อเนื้อแห้งแล้ว ก็นำไปเผาที่อุณหภูมิสูง ในระดับที่หินละลายมาเชื่อมกัน ที่มีหลักฐานลักษณะการสร้าง ปรากฏที่ในเนื้อและผิวพระรอดแทบทุกองค์
  • เมื่อหักด่านดินเผา มาเป็นหินเผาแล้ว ก็ต้องมาหักด่านความคิดเรื่อง “พิมพ์มาตรฐาน” ที่ในตำราเก่าๆ บอกว่ามี 5 พิมพ์ คือ ใหญ่ กลาง เล็ก ต้อ ตื้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริง พิมพ์ทรงมีความหลากหลายมากกว่านั้น และต่อเนื่องกันไป ผมจึงเข้าใจว่า น่าจะใช้คำว่า “กลุ่มพิมพ์” เพื่อการสื่อสารกันมากกว่า แบบเดียวกับการจำแนกชนิดพืชและสัตว์ ที่เป็นการกำหนดขึ้นเพื่อการสื่อสาร ทั้งๆที่ความจริง เป็นเพียงความหลากหลายของธรรมชาติ โดยเฉพาะในกรณีของพระรอดมหาวัน นี้ ดูตามลักษณะของตำหนิหลักๆแล้ว น่าจะมาจากพ่อพิมพ์เดียวมากกว่า เพราะทุกองค์มีตำหนิหลักๆตรงกันทั้งหมด เมื่อได้ข้อสรุปมาถึงจุดนี้ คำว่าพิมพ์ ทั้ง 5 ดังกล่าวนั้น ควรเปลี่ยนเป็น “กลุ่มพิมพ์” ที่พัฒนาต่อยอดมาจากพ่อพิมพ์เดียวกัน น่าจะเหมาะสมมากกว่า
  • สุดท้ายก็ต้องมาหักด่านเรื่อง “ตำหนิมาตรฐาน” ที่วงการใช้อยู่นั้น ปะปนกันในอย่างน้อย 3 ระดับ คือ (1)ระดับพุทธศิลป์ (2)ระดับพ่อพิมพ์ และ (3)ระดับแม่พิมพ์ ที่จะทำให้เกิดกลุ่มของตำหนิเป็นชุดๆ เกินกว่า 5 ชุดอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าไม่พิจารณาแยกลำดับชั้นเหล่านี้ออก ก็จะทำให้เกิดความสับสนในการพิจารณาตำหนินี้ได้

เมื่อหักผ่านกำแพงกั้นความคิด ทั้งสามด่านนี้แล้ว จึงนำความคิดและข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงใหม่ โดยเริ่มจากหลักการที่ควรจะเป็น ในการพิจารณา 5 ประเด็น คือ (1) เนื้อ (2) พุทธศิลป์ (3) กลุ่มพิมพ์ (4)แม่พิมพ์(บล็อก) และ (5)ตำหนิ ตามลำดับ

เพื่อง่ายต่อการใช้และเข้าใจ ผมจึงตัดคำอธิบายยาวๆ ให้เหลือสั้นๆ เป็นการใช้ “หินผุ + พุทธศิลป์”

กล่าวคือ ให้จำแนกให้ชัด โดยดูเนื้อว่าเหมือน “หินผุ” หรือไม่ โดยดูจาก เนื้อแกร่งแข็งแบบหิน มีผิวผุบางๆ พร้อมสนิมบางๆ ชั้นผิวหินผุอาจจะหนาบางไปตามชนิดของหินที่ใช้ ซึ่งจำเป็นจะต้องเรียนรู้จากการดูผิวหินอัคนีชนิดต่างๆ ในธรรมชาติ (ที่ไม่เคยหลอกใคร) ให้ชินตา จึงนับได้ว่า “ดูเนื้อเป็นแล้ว”

ในขั้นของพุทธศิลป์นั้น อาจจะต้องอาศัยความสนใจ ทักษะการจดจำ และทำความเข้าใจด้านศิลปะ แบบเดียวกับการจำลายมือของใครสักคนหนึ่งได้ จากการดูบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ ก็จะจำได้ไม่มีวันลืม ถึงแม้จะมีคนอื่นมีลักษณะลายมือใกล้เคียงกัน ก็อาจจะมีความแตกต่างให้เห็น หรือดูสำนวนการใช้ภาษา ที่น่าจะมีความแตกต่างกันแน่นอน ที่ในเชิงอุปมานี้ ก็คือการตรวจสอบกลับไปมาที่เนื้อและพุทธศิลป์นั่นเอง

นี่คือคำตอบที่ผมได้จากการวิเคราะห์เพื่อถอดรหัสของการดูพระรอด กรุวัดมหาวัน ที่ผมเคยหลงงมอยู่ในค่ายกลขององค์ความรู้แบบ “ครึ่งเสี้ยว” มานาน

หมายเลขบันทึก: 601844เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2016 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2016 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท