ต้นกำเนิด PBL ในเขตรั้วศรีตรัง



ต้นกำเนิด PBL ในเขตรั้วศรีตรัง

วิจารณ์ พานิช

..................


ผมขอแสดงความชื่นชมที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือ กว่าจะถึงวันนี้ ….PBL 25 ปี ที่คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เล่มนี้ เพื่อบันทึกประวัติความเป็นมา การเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า และความสำเร็จ เพื่อเผยแพร่เป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ และขอขอบคุณ ที่กรุณาให้เกียรติผมเขียนประวัติตอนเริ่มต้น ในฐานะที่ในตอนนั้น ผมดำรงตำแหน่งคณบดี

ผมเขียนบทความนี้ด้วยความจำ ไม่มีเอกสารอื่นใดประกอบ ยกเว้นเอกสาร ๒ ชุดที่คณะแพทยศาสตร์กรุณาส่งไปให้ ได้แก่ สำเนาเอกสารสรุปผลการประชุมอบรมแพทยศาสตรศึกษาของชาติ ครั้งที่ ๕ “เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมการศึกษาแพทยศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสาธารณสุขของประเทศ ปัญหาและแนวทางแก้ไข” ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๒ กันยายน ๒๕๒๙ ณ อาคารคุ้มเกล้า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช บางเขน กรุงเทพมหานคร และเอกสารสำเนารายงานประจำปี 2530 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน้า ๓๐ - ๓๑ หัวข้อ แนวทางการพัฒนาการเรียน การสอน และการพัฒนาด้านอื่นๆ ของคณะแพทยศาสตร์ ในระยะ ๕ - ๑๐ ปี และเนื่องจากผมเป็นคนที่ความจำไม่ดี จึงต้องขออภัยที่เขียนเล่าได้ไม่มาก

ผมดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๘ - ๒๕๓๒ จำได้ว่า ในช่วงนั้นได้มีกระแสการเผยแพร่วิธีจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่เรียกว่า Problem-Based Learning (PBL) ขึ้นในวงการศึกษาแพทยศาสตร์ของโลก และของไทย การเรียนการสอนแนวใหม่นี้เริ่มที่มหาวิทยาลัย McMaster แคนาดา ในคริสตทศวรรษที่ ๑๙๖๐ ตามข้อเขียนในวิกิพีเดีย (https://en.wikipedia.org/wiki/Problem-based_learning) มีวิทยากรมาบรรยายเล่าหลักการและประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบใหม่นี้จากมหาวิทยาลัย McMaster, มหาวิทยาลัย Maastricht เนเธอร์แลนด์ และอื่นๆ

สาระสำคัญของกระแสการเปลี่ยนแปลงคือ เพื่อเอาชนะปัญหาข้อมูลความรู้ล้นเกิน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยากแก่การสอนให้ครบถ้วนในการสอนแบบบรรยายโดยอาจารย์ และเป็นภาระเกินความสามารถ ของนักศึกษาแพทย์ ในการจดจำ แต่การเรียนรู้รูปแบบใหม่เป็นการเรียนแบบกลุ่มย่อย และนักศึกษาเรียนโดยการร่วมกันแก้ปัญหา ในด้านเนื้อหานั้น นักศึกษาช่วยกันค้นคว้า อ่านจากตำรา หรือศึกษาจากวัสดุประกอบการเรียนเอาเอง โดยอาจารย์ไม่ต้องสอน อาจารย์เปลี่ยนจากทำหน้าที่สอน มาทำหน้าที่ facilitator โดยมีเป้าหมายคือ แพทย์ที่มีสมรรถนะ เจตคติ และจิตวิญญาณเหมาะสม ต่อการทำงานในระบบสุขภาพของประเทศนั้นๆ

ในประเทศไทย มีการทำความเข้าใจหลักการ วิธีการ และคุณค่าของการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ในหลากหลายโอกาส เช่นในการประชุมคณะแพทยศาสตร์ในส่วนภูมิภาค (ซึ่งมีการจัดหมุนเวียนเจ้าภาพโดยคณะแพทยศาสตร์ในต่างจังหวัดซึ่งขณะนั้นมี ๓ แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และในการประชุมอบรมแพทยศาสตรศึกษาของชาติ ครั้งที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นต้น

โครงสร้างทางการบริหาร รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยงข้องอีกมากมายเกี่ยวกับการเรียนการสอน ในคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ จัดไว้สำหรับการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ หรือ Lecture-Based Teaching ทั้งสิ้น และที่ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมความเคยชินในความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์คือการสอน แบบถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ความพยายามเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ จากรูปแบบเดิมสู่ PBL จึงเป็นเรื่องยากในคณะแพทยศาสตร์ที่ดำเนินการมานาน คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในขณะนั้นถือเป็นคณะแพทยศาสตร์น้องใหม่ จึงอยู่ในฐานะที่จะประยุกต์ใช้การเรียรู้แบบ PBL ได้ง่ายกว่า

โชคดีที่คณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ได้มีมติเรื่องแนวทางพัฒนาการเรียนการสอน ในระยะ ๕ - ๑๐ ปีไว้ และท่านคณบดีท่านต่อๆ มา ก็ได้ดำเนินการตามแนวทางที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ทำให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่ในแนวหน้าของประเทศไทย ในเรื่อง PBL จนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3rd Asia-Pacific Joint Conference on Problem-Based Learning (APJC-PBL) 2014 : Past, Present and Prospect ที่ภูเก็ตระหว่างวันที่ ๔ - ๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ซึ่งผมได้บันทึกการไปร่วมประชุมไว้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/584226

เมื่อมีรายงาน Health professionals for a new century : transforming education to strengthen health systems in an interdependent world (http://www.thelancet.com/commissions/education-of-health-professionals) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า PBL เป็นรูปแบบการเรียนรู้สำคัญที่จะนำไปสู่ transformative learning ซึ่งผู้เรียนจะงอกงามมิติภาวะผู้นำ เพื่อออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพ ที่ตนรับใช้ การดำเนินการ PBL ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงสอดคล้องกับแนวทาง ในรายงานดังกล่าว

ผมขอย้ำจากประสบการส่วนตัวว่า การเรียนรู้แบบ PBL ซึ่งเป็นการเรียนจากการปฏิบัติ และเรียนเป็นทีม ผลลัพธ์การเรียนรู้จะลึกและเชื่อมโยง เป็น mastery learning ได้ ต้องตามด้วยกิจกรรมไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection / AAR) อาจารย์จึงต้องฝึกทักษะการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (facilitator) ของกิจกรรม reflection / AAR โดยการตั้งคำถาม ให้ศิษย์เกิด critical reflection ต่อประเด็นการเรียนรู้ที่เป็นเป้าหมายหลัก

PBL ที่ปราศจาก critical reflection จะได้ผลลัพธ์การเรียนรู้แบบผิวเผินเท่านั้น

ทฤษฎีว่าด้วยการเรียนรู้ และรูปแบบการเรียนรู้มีการพัฒนายกระดับขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ก็มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการออกไปหลายหลายแนวทางในรายละเอียด ดังบันทึก https://www.gotoknow.org/posts/581599 ผมจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่คณะแพทยศาสตร์จัดทำหนังสือ เล่มนี้ขึ้น เพื่อบันทึกประสบการณ์การประยุกต์ใช้ PBL ออกแลกเปลี่ยนเผยแพร่แก่สังคมไทย และขอตั้งความหวังว่า คณาจารย์และนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะร่วมกันสร้างนวัตกรรมของ PBL ต่อเนื่องเรื่อยไป


……………………..


หมายเลขบันทึก: 601744เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2016 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2016 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท