Problem-Based Learning : Past, Present and Prospect



คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3 rd Asia-Pacific Joint Conference on Problem-Based Learning (APJC-PBL) 2014 : Past, Present and Prospect ที่ภูเก็ตระหว่างวันที่ ๔ - ๗ ธันวาคม ๒๕๕๗

ผมได้รับเชิญไปพูด Keynote เรื่อง PBL as a Transformative Learning จึงนำ Narrated Ppt มา ลปรร. ที่นี่

ผมได้อยู่ร่วมการประชุมตลอดวันที่ ๕ และวันที่ ๖ ครึ่งวันเช้า ได้ความรู้มากมาย

  • งานวิจัย PBL in Asia ศึกษาสถานภาพของ PBL ใน ๖ ประเทศ น่าเสียดายที่ไม่มีประเทศไทย งานวิจัยนี้ดำเนินการโดย Virginie Servant นักศึกษาปริญญาเอกสาขา Education Psychology ที่มหาวิทยาลัย Erasmus ประเทศเนเธอร์แลนด์ คุณ Virginie Servant เรียนมาทางด้านประวัติศาสตร์และปรัชญา น่าสนใจที่คนในสาขามนุษยศาสตร์หันมาสนใจสาขาสังคมศาสตร์ และทำวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง คือเปลี่ยนการศึกษาจากระบบ conventional คือเน้นถ่ายทอดความรู้ มาเป็นเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่เรียกว่า student-centered learning หรือ student-active learning ซึ่ง PBL จัดอยู่ในกลุ่มนี้

ที่น่าสนใจคือ มีการใช้ PBL ในสาขาวิชา ด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และจิตวิทยา

และการประยุกต์ใช้ PBL ก็ทำ ๒ แบบ คือแบบทำอย่างเป็นระบบ เป็นทางการ กับแบบมีคนอยากทำอยู่คนเดียว ทำเป็น pilot project ซึ่งแบบหลังนี้ก็จะหมดแรง ตายจากไปในที่สุด

  • การนำเสนอ และอภิปราย PBL ในประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และไทย โดยมีคนที่ทำเรื่อง PBL จากแต่ละประเทศ มานำเสนอคนละ ๑๐ นาที ให้ความรู้มากจริงๆ โดยผมสรุปว่าประเทศที่มีการจัดการ เปลี่ยนการศึกษาจาก conventional เป็น PBL อย่างเป็นระบบที่สุดคือไต้หวัน รองลงมา คือมาเลเซีย แต่ของมาเลเซียดีกว่าตรงที่กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาดำเนินการในอุดมศึกษา ทั้งระบบ คือในทุกสาขาวิชา ให้เป็น outcome-based education และมีการใช้ flipped classroom เข้ามาผสมด้วย ส่วนของไต้หวันเน้นที่ การศึกษาแพทย์

ประเทศที่นำเสนอแล้วให้ความรู้มาก แม้กิจการ PBL ไม่เข้มแข็ง คือฟิลิปปินส์ เพราะผลการวิจัยของเขาพบว่า มี ๙ โรงเรียนแพทย์จากทั้งหมด ๔๐ แห่งที่เคยใช้ PBL และเวลานี้เหลือ ๖ แห่ง โดยเหตุผลของแห่งที่เลิกใช้ คือเพราะผลการสอบกลาง ของประเทศตกต่ำ และแห่งที่ชอบ PBL และใช้ต่อ ก็บอกว่าเพราะทำให้ผลการ ทดสอบกลางได้คะแนนสูงขึ้น ผมตีความว่า น่าจะเป็นเพราะ โรงเรียนแพทย์สองกลุ่มนั้น ใช้ PBL คนละแบบ คือให้ความหมายของ PBL ในทางปฏิบัติแตกต่างกัน

ข้อมูลของฟิลิปปินส์ บอกว่า ปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อ PBL คือจำนวนนักศึกษาต่อชั้น ที่ใหญ่มาก โรงเรียนแพทย์ที่เคยใช้ PBL แล้วเลิกไปนั้นแห่งหนึ่งรับนักศึกษา ๕๒๕ คน อีกแห่งหนึ่ง ๔๐๐ คน

ออสเตรเลียมีโรงเรียนแพทย์ ๑๘ แห่ง กระแสการเปลี่ยนแปลงคือรับนักศึกษา เข้าเรียนจากคนที่จบปริญญาตรีแล้ว ที่เรียกว่า graduate entry มากขึ้น เวลานี้มี ๑๐แห่ง มีการเปลี่ยนจากหลักสูตร MB BS ไปเป็น MD ส่วน PBL มีการใช้ทุกโรงเรียนแพทย์ บางแห่งปรับไปเป็น CBL (Case-Based Learning) และบางแห่งใช้ SBL (Scenario-Based Learning) รวมทั้งเอา eLearning เข้ามาใช้ด้วย เขาบอกว่า Key Success Factor ของ PBL คือ (๑) ทำเป็นระบบ (๒) graduate entry (๓) ฝึกอาจารย์ ที่เขาเรียก tutor และผมคิดว่า เรียก facilitator น่าจะเหมาะกว่า ซึ่งทางเดนมาร์คก็เรียก facilitator

แพทยสภาออสเตรเลียกำหนดว่า Interprofessional Skills เป็นส่วนหนึ่งของ competency ที่ต้องประเมิน ในการ accredit หลักสูตรแพทย์ แต่จัดการฝึกอย่างไร ให้ได้ผลนั้น ยังต้องมีการวิจัย

หลักการที่ถูกต้องในสายตาของผมคือ ใช้ outcome-based, integrated curriculum คือตั้งเป้าว่าต้องการให้บัณฑิตมีสมรรถนะอะไรบ้าง และเอา PBL เข้าไปสนอง (ไม่ใช่เอา PBL เป็นตัวตั้ง) แล้วประเมินผลด้วย competency-based assessment โดยต้องมีระบบจัดการ ประเมินผลการดำเนินการ และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยที่วิธีการ PBL ก็ไม่หยุดนิ่ง มีการปรับตัว ดังกรณีประเทศออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ที่มาเล่าก็เอา eLearning และ Flipped classroom เข้ามาผสม เรียกว่า hybrid PBL ที่หมายความว่า ใช้ PBL ผสมกับวิธีสอนแบบเดิมด้วย

  • สอง Keynote ในเช้าวันที่ ๖ ธันวาคม ตามด้วยการอภิปรายกลุ่มในตอนสาย ทำให้ผม ได้เห็นว่า ต่างประเทศที่เขาใช้ PBL อย่างชาญฉลาด เขาปรับปรุงพัฒนาเครื่องมือนี้ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละบริบท นำเอานวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ เข้ามาผสม ได้เห็นว่าในสิงคโปร์ และมาเลเซีย คนทางการศึกษาเข้ามาเป็นผู้นำวงการ PBL อย่างเป็นระบบ รศ. ดร. ประศักดิ์ ถาวรยุติการต์ แห่ง มช. เล่าให้ผมฟังว่า ประมาณปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลเดนมาร์ค เชิญผู้บริหารจากหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ไปดูงาน PBL ในประเทศเดนมาร์ค ที่มหาวิทยาลัย Aalborg และอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง ร่วมกับประเทศมาเลเซีย และอีกหลายประเทศในเอเซีย ประเทศมาเลเซียไปแล้วจับประเด็นได้ และกลับมา ดำเนินการจริงจังในระดับประเทศ เห็นได้ชัดเจนว่าคุณภาพการศึกษาของเขาก้าวหน้า ไปไกล ของไทยเราไปแล้วกลับมาไม่ทำอะไร
  • ศาสตราจารย์ C.Y. Kwan แห่ง China Medical University บอกว่า การเรียนแบบ PBL มีเป้าหมายเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน คือ To Know (Cognitive Attributes), To Be (Affective Attributes), และ To Do (Psychomotor Attributes) โดยในผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้ง ๓ ด้าน ต้องบรรลุขั้นสูงตาม Bloom Triangle)
  • ศาสตราจารย์ Anette Kolmos จากมหาวิทยาลัย Aalborg เดนมาร์ค และเป็นผู้อำนวยการ ของ Aalborg Centre for Problem Based Learning in Engineering Science and Sustainability under the auspoces of UNESCO ด้วย เล่าเรื่อง PBL ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะโน้มไปทาง Project-Based Learning มากกว่า อาจารย์กำหนดโครง ของกิจกรรม (structure) น้อยกว่า และมีการออกไปเรียนนอกมหาวิทยาลัยมากกว่า ท่านชี้ให้เห็นวิธีมอง PBL อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการเรียน ๓ ด้าน คือ เรียนวิธีเรียน เรียน socialization กับเพื่อนและอาจารย์ และเรียน content ระหว่างนั่งฟัง ผมนึกในใจว่า การศึกษาไทยมุ่ง content อย่างเดียว ไม่สนใจฝึก learning skills และ social skills

ท่านเสนอวิธีดำเนินการ PBL ๓ แบบ คือ (๑) แบบนำไปเสริมวิธีการแบบเดิม (add on strategy) (๒) วิธีการนำไปใช้อย่างบูรณาการเป็นระบบ (integration strategy) (๓) วิธีสร้างระบบขึ้นใหม่ (re-building strategy) ใช้ในกรณีสร้างสถาบันใหม่ (ดูรูปที่ ๖)

มีการนำเสนอ PBL ในสาขามนุษยศาสตร์ จากมาเลเซีย สาขาครุศาสตร์จากสิงคโปร์ และในวิชา General Education (นศ. คละคณะวิชา) จากไต้หวัน และฮ่องกง

ผมตีความว่า การนำ PBL มาใช้ ก็เพื่อบรรลุ 21 st Century Learning นั่นเอง และได้เสนอต่อ รศ. ดร. จุฑามาส ศตสุข รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ของมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ และต่อ รศ. นพ. สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ให้ตั้งหน่วยพัฒนาการเรียนการสอน (Teaching and Learning Development Center) มีเจ้าหน้าที่ประจำระดับปริญญาโท หรือเอก ส่งคนไปเรียนต่อต่างประเทศ และทำงานร่วมมือกับต่างประเทศ

ผมเชื่อว่าหน่วยงานในทำนองนี้ในมหาวิทยาลัย จะมีส่วนช่วยฟื้นฟูคุณภาพ การศึกษาพื้นฐานด้วย

และที่สำคัญ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังจะเปิด หลักสูตรแพทยศาสตร์แบบใหม่ที่จังหวัดตรัง เป็นหลักสูตร community-based คือมีฐานการฝึกปฏิบัติทางคลินิกในโรงพยาบาลชุมชนเป็นหลัก ผมเสนอให้ จัดการเรียนแบบ PBL แนว re-building strategy



ผลลัพธ์ของการศึกษา ๓ ด้าน


ต้องบรรลุผลลัพธ์ขั้นสูงตาม Bloom Pyramid ทั้ง ๓ ด้าน


ลักษณะของ PBL คือ 6S


ห้าขั้นตอนของ PBL


วิธีนำเสนอ PBL อีกแบบหนึ่ง


วิธีนำ PBL ไปใช้ ๓ แบบ



วิจารณ์ พานิช

๖ ธ.ค. ๕๗


คำสำคัญ (Tags): #580120#pbl#psu#มอ.#ภูเก็ต
หมายเลขบันทึก: 584226เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2015 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2015 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท