ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ


การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ: เริ่มจากเครื่องมือวัดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

เครื่องมือที่ถือว่าเป็นหัวใจของการวัดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ คือ ข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต (historical loss data) เพราะช่วยบอกเราได้ว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาเกิดข้อบกพร่องจนนำไปสู่ความเสียหายตรงจุดไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งเราสามารถใช้เป็นบทเรียนในการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต เช่น พนักงานทอนเงินหรือใส่ข้อมูลผิดพลาด อาจแก้ไขโดยการจัดทำคู่มือหรือสร้างกระบวนการทำงานที่รัดกุมสำหรับจุดที่เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความเสียหายอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในองค์กรหรือจากเหตุการณ์ภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่นภัยธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้น การใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่ให้มุมมองที่กว้างไกลและมองไปข้างหน้าควบคู่กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในการวัดและประเมินความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

โดยจะขอยกตัวอย่างครื่องมือที่ว่าเหล่านี้ เริ่มจาก เหตุการณ์ภายนอก (external event) —เป็นการนำเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นมาใช้ในการพิจารณากระบวนการบริหารความเสี่ยงของเราเช่น กรณีการโจรกรรมสาขาของ ธพ. อื่น ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับเรา จะเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ว่าระบบการรักษาความปลอดภัยของเรามีประสิทธิภาพเพียงพอรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่และจะมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอย่างไร ตัวชี้วัดความเสี่ยง (risk indicator) — อาจทำในรูปแบบง่ายๆ ด้วยสมมติฐานว่า ถ้ามีกระบวนการหรือการทำงานเกิดขึ้นมาก โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย จึงอาจวัดได้ด้วยตัวเลข เช่น ปริมาณธุรกรรม จำนวนพนักงาน ข้อมูลในงบการเงิน หรือรายได้/กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งหากอยู่ในระดับที่สูงแสดงว่าเรามีปริมาณธุรกิจมากขึ้น โอกาสที่เกิดความผิดพลาดในการทำงานก็จะสูงขึ้นด้วย และการวิเคราะห์จากสถานการณ์จำลอง (scenario) — เป็นการอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจมาจำลองสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในภาวะวิกฤต (stress scenario) ซึ่งแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยก็ตาม แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบที่มีต่อตัวเราหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เช่น หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นในปี 2554 หรือหากเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวซึ่งส่งผลให้ระบบการชำระเงินของประเทศหยุดชะงักจะส่งผล กระทบต่อการดำเนินงานธุรกิจขององค์กรของเราอย่างไร

การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากการวัดความเสี่ยงแล้ว การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการก็เป็นเรื่องที่ยากไม่แพ้กันด้วยเหตุผลที่ว่า การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการไม่ได้สร้างกำไรในระยะสั้น (แต่ให้ผลดีในระยะยาว) และขาดแรงผลักดันเพื่อให้เกิดความร่วมมือ โดยเฉพาะการรายงานข้อมูลความเสียหาย เนื่องจากเป็นเครื่องชี้ว่ามีข้อผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้น ทำให้เกิดการลังเลที่จะรายงานข้อมูลดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการบริหารความเสี่ยงในภาพรวมได้ ในกรณีนี้ ผมเห็นว่า key person ที่จะขจัดข้อจำกัดเหล่านี้ได้ คือ ผู้บริหารขององค์กร ที่จะต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมที่ทุกคนในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ รวมทั้งจะต้องสร้างกลไกที่จะช่วยให้เครื่องมือที่ใช้ในการวัดและบริหารความเสี่ยงทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดให้มีสิ่งจูงใจ (incentive) สำหรับผู้ที่รายงานข้อมูลความเสียหาย เป็นต้น

แหล่งที่มา http://www.ryt9.com/s/bot/1607562

หมายเลขบันทึก: 601324เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2016 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2016 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท