ทฤษฎี Tobin’s Q (Tobin’s Q theory)


Tobin’s Q เป็นอัตราส่วนระหว่างราคาหรือมูลค่าของบริษัท (มูลค่าการลงทุนที่ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการหรือตั้งเป้าหมายว่าควรจะเกิดขึ้นในกิจการ) ในตลาดหุ้นกับต้นทุนทดแทนใหม่ (replacement cost new) ซึ่งหมายถึง จำนวนเงินที่ประมาณไว้ว่า สามารถจ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรใหม่เพื่อนำมาทดแทนเครื่องจักรเดิม โดยอย่างน้อยต้องมีความใกล้เคียงหรือทัดเทียมในด้านเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ประสิทธิภาพ และกำลังการผลิต ซึ่งต้องรวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ผลกำไร ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง และค่าธรรมเนียมด้วย แต่ยกเว้นค่าล่วงเวลา หรือเงินตอบแทนค่าจ้างพิเศษและราคาชดเชย

ต้นทุนทดแทนใหม่ของสินทรัพย์บริษัท เมื่ออัตราส่วนนี้มากกว่า 1 (ราคาหุ้นแพงกว่าต้นทุนหรือมูลค่าทางการเงินของสินทรัพย์ที่ต้องซื้อมาใหม่เพื่อทดแทน) บริษัทสามารถหากำไรได้ด้วยการขายหุ้น เพื่อเพิ่มทุนแล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อสินทรัพย์อย่างเดียวกันของบริษัทเพิ่ม เพราะเมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นย่อมดึงดูดให้นักลงทุนมีการลงทุนในภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าอัตราส่วนดังกล่าวมีค่าน้อยกว่า 1 บริษัทต้องนิ่งดีกว่าลงทุนเพิ่ม แนวคิดนี้ช่วยให้เข้าใจบทบาทของตลาดหุ้นต่อภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น ได้ประโยชน์ระหว่างตลาดการเงินและตลาดสำหรับสินค้าและบริการ (Tobin & Brainard, 1976, pp. 1-5)

ผลจากการวิจัย พบว่า บริษัทส่วนใหญ่มีค่า Q ประมาณ 1.0 ส่วนบริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีผลการดำเนินงานดี จะมีค่ามากกว่า 1 โดยต้องเก็บตัวเลขย้อนหลัง 3 ปี และถ้าค่า Q ต่ำ (ระหว่าง 0 และ 1) หมายความว่า ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสินทรัพย์ของบริษัท มีค่ามากกว่าราคาหุ้นของบริษัท แต่ถ้าค่า Q สูง (มากกว่า 1) หมายความว่า ราคาหุ้นของบริษัทมีราคาแพงกว่าค่าทดแทนสินทรัพย์ (overvalued)

Tobin’s Q เป็นการประเมินมูลค่าหุ้น ที่เป็นปัจจัยผลักดันการตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหุ้น พิจารณาได้จากผลของนโยบายการเงินที่มีต่อราคาหลักทรัพย์ หรือTobin’s Q กับการใช้จ่ายลงทุน ซึ่งสำนักการเงินเสนอว่า เมื่อปริมาณเงินเพิ่มขึ้นหรือมีเงินมากกว่าที่ต้องการ และต้องการจะลดปริมาณเงินโดยการเพิ่มการใช้จ่าย ส่วนหนึ่งจะนำเงินที่เกินความต้องการไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เกิดเป็นอุปสงค์ส่วนเพิ่มและราคาปรับสูงขึ้น ส่วนสำนักเบคคุลส์เสนอว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงจากผลของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ความต้องการตราสารหนี้ (พันธบัตร) มีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับหลักทรัพย์ ทำให้ราคาหลักทรัพย์สูงขึ้น เมื่อนำแนวคิดของสำนักการเงินและสำนักเบคคุลส์มาพิจารณาร่วมกัน สรุปได้ว่า ทฤษฎี Tobin’s Q นั้น คือ เมื่อราคาของหลักทรัพย์สูงขึ้น (P) ทำให้ Q มีค่าสูงขึ้น ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนมากขึ้น (I) ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว (Y) เพิ่มขึ้นจากเดิม

สรุปว่า Tobin’s Q หมายถึง อัตราส่วนระหว่างราคาหรือมูลค่าของบริษัทในตลาดหุ้นกับต้นทุนของสินทรัพย์ บริษัทส่วนใหญ่มีค่า Q ประมาณ 1.0 บริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีผลประกอบการดี จะมีค่ามากกว่า 1 หรือเกิน 1

หมายเลขบันทึก: 600687เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท