ชีวิตที่พอเพียง 2595. การศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา



เมื่อวานผมเอ่ยถึงศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา สังกัดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วจินตนาการก็พานิ้วและคีย์บอร์ดล่องลอยไปไกล วันนี้ขอกลับมาที่การศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา และบันทึกการสะท้อนคิดเรื่องนี้จากการอ่านรายงานประจำปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๖ และจากการเข้าเฟสบุ๊กของศูนย์ฯ ที่นี่

ผมตั้งคำถามใหม่ว่า การศึกษาชาติพันธุ์ในศตวรรษที่ ๒๑ ควรแตกต่างจากในศตวรรษที่ ๒๐ อย่างไร เพื่อสนองการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ควรร่วมกันศึกษาชาติพันธุ์ในประเทศประชาคมอาเซียนหรือไม่ อย่างไร

สิ่งที่ผมเตือนตนเองอยู่เสมอก็คือ โลกและสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และเปลี่ยนแบบพลิกผัน ในหลายกรณีเปลี่ยนแบบทำลายของเดิม แนวทางเดิม (disruptive change) หรือแบบที่แนวทางเดิมอยู่ไม่ได้

ดังนั้นคำถามต่อ การศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ก็คือ จะทำกิจกรรมนี้ ให้มีคุณค่า (และมูลค่า) คุ้มกับการลงทุนลงแรง ได้อย่างไร ต้องตั้งเป้าหมายสร้างคุณค่าอย่างไร และทำอย่างไร จึงจะบรรลุคุณค่านั้น

ประวัติของศูนย์ฯ นี้ย้อนกลับไป ๒๐ ปี ก่อตั้งขึ้นในสถาบันวิจัยสังคม ในปี ๒๕๓๘ เป้าหมายที่ผมอ่านและตีความจากรายงานประจำปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๖ คือปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคเหนือ แล้วต่อมาเป้าหมายปรับปรุงเป็น เพื่อต่อรองกับกระแสโลกาภิวัตน์

ศูนย์ฯ โอนไปสังกัดคณะสังคมศาสตร์ในปี ๒๕๕๒ เพื่อทำภารกิจที่กว้างขวางขึ้น คืองานด้านบัณฑิตศึกษา ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ศูนย์ศึกษาทำงานวิจัยโดยไม่เชื่อมโยงกับบัณฑิตศึกษา จะทำงานใหญ่และเชื่อมโยงต่อเนื่องยาวนานได้ยาก ศูนย์นี้มีฐานะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการของ มช. ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา

ในรายงานดังกล่าว มีการกล่าวถึงปัญหาความเป็นคนไร้รัฐของคนในกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในภาคเหนือ ประสบการณ์ของการทำงานใกล้ชิดกับคนในกลุ่มชาติพันธุ์ น่าจะนำมาร่วมมือกับกลุ่มของ รศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร ในการออกกฎหมายแก้ปัญหาคนไร้รัฐ

ผมมองว่า ในยุคที่ ไอซีที เป็นพลังลดทอนระยะทางอย่างชะงัด กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงหรือที่ห่างไกล น่าจะเปลี่ยนสถานะจากความด้อย มากลายเป็นมีจุดเด่น ที่อยู่ในที่สูง อากาศดี น้ำดี แถมยังมี cultural assets จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ การพัฒนา cultural tourism

แต่เป้าหมายของการวิจัยและพัฒนาด้านชาติพันธุ์และการพัฒนาน่าจะใหญ่กว่านั้น น่าจะมีมิติทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกว้างขวาง ที่ผมคิดว่าไม่มีมิติใดสำคัญเท่ากับมิติการเรียนรู้ หรือการศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจในตนเอง และสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชุมชนของแต่ละชาติพันธุ์ควรมีเป้าหมาย และแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวด้านการศึกษา เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ ของตน ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมไทย สังคมอาเซียน และสังคมโลก

การศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา จึงน่าจะมีดุลยภาพระหว่างมุมมองหรือโจทย์จากภายนอก กับมุมมองหรือโจทย์จากภายใน กลุ่มและชุมชนของชาติพันธุ์นั้นๆ เอง



วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 600679เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท