คุณค่าของ Formative Assessment



รายงานผลการวิจัย เรื่อง A Case Study of Teacher Personal Practice Assessment Theories and Complexities of Implementing Formative Assessmentโดย Cathy Box, Lubbock Christian University; Gerald Skoog, Texas Tech University; และ Jennifer M. Dabbs, Lubbock Christian University ลงพิมพ์ในวารสาร American Educational Research Journal สะท้อนภาพความพยายามใช้การวิจัยและรายงานผลการวิจัย เป็นกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครู ในเรื่องการประเมิน ให้หันมาใช้พลังของ การประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ในการสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีของศิษย์ ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่ได้ใช้ ในการบริหารการศึกษาในประเทศไทย

บทความอ้าง CRESST Report 802. Knowing and Doing : What Teachers Learn from Formative Assessment and How They Use the Information ที่รายงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นรายงานที่น่าอ่านมาก สำหรับนักการศึกษา อ่านแล้วผมฝันเห็นการวิจัยประเมินวิธีการใช้ Formative Assessment ของครูไทยบ้าง สำหรับให้ผู้บริหารนำผลมาใช้พัฒนาระบบการศึกษา

หัวใจของ FA คือการทำความเข้าใจลึกๆ ว่าศิษย์มีความเข้าใจเรื่องที่กำลังเรียนอยู่ อย่างไร เข้าใจลึกในระดับไหน ใน CRESST Report 802 เขาเอาตัวอย่างจริงของข้อสอบ และคำตอบมาให้ดู และอธิบาย

และเมื่อเข้าใจศิษย์แล้ว ต้องเอามาใช้ในการให้ response เป็น action โดยเขาแบ่ง action ของครูเป็น ๓ ระดับ คือ Least Responsive, Moderate Responsive, และ Highly Responsive ตามลำดับ ตัวอย่างของพฤติกรรมของครูดีมาก ทำให้เราเข้าใจว่า การทดสอบที่ครูไม่เอามาพิจารณาใคร่ครวญทำความเข้าใจ ระดับการเรียนรู้ของศิษย์ และให้การตอบสนองที่ดี ไม่ถือเป็น Formative Assessment

ในหน้า ๓๒ ของ CRESST Report 802 เป็นหัวข้อ Comparison of Findings Across the Three Formative Assessment Systems ทำให้ผมได้รู้จัก Noyce, Freudenthal, และ Formative-P System ของการตั้งคำถามและเก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจระดับความเข้าใจของศิษย์ แต่ค้นเอกสารอ้างอิงระบบ Formative-P ไม่พบ

อ่าน CRESST Report 802 แล้วผมนึกถึงระบบ M&E (Monitoring and Evaluation) สำหรับขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งในที่นี้คือนโยบายใช้ Formative Assessment เป็นเครื่องมือพัฒนา Learning Outcome ของนักเรียน และเป็นเครื่องมือทำ Professional Developmemt ของครู หากครูเอาผลของ FA มาคุยปรึกษาหารือ ตั้งและตอบคำถามด้วยกัน เพื่อทำหน้าที่ครูได้ดียิ่งขึ้น นี่คือ PLC (Professional Learning Community) นั่นเอง

กลับมาที่รายงานผลการวิจัย Case Studyผมชอบนิยาม FA ว่าคือ กิจกรรมที่ครูทำ และนักเรียนทำ เพื่อประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน สำหรับใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับ นำไปใช้ปรับปรุงการเรียนของนักเรียน และปรับปรุงการสอนหรือทำหน้าที่ครู

การวิจัยนี้เป็นกรณีศึกษาในครูชีววิทยา ๓ คนเท่านั้น แต่ศึกษาลงลึกไปที่ความเชื่อ พฤติกรรมหรือวิถีปฏิบัติส่วนตัวของครู (PPT – Personal Practice Theories) เชื่อมโยงกับบริบทแวดล้อม

ดูจากรูปที่ ๑ เห็นชัดเลยว่า ทีมวิจัยเข้าไปทำวิจัยตรวจสอบ PDCA ของครู ว่าด้วย FA นั่นเอง แต่เขาศึกษาและอ้างอิงรายงานและทฤษฎีที่มีมาก่อนมากมาย และใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องเรียน สัมภาษณ์เชิงลึก และสัมภาษณ์หลังให้ดูวีดิทัศน์เหตุการณ์ในห้องเรียน เอาข้อมูลที่ได้มาปรับวงจร PDCA ของครูแต่ละคน เพื่อทำความเข้าใจทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังการจัดรูปแบบการเรียนรู้ และการใช้ FA ของครูแต่ละคน เห็นความแตกต่างชัดเจนมาก โดยดูได้จากรูปที่ ๒, ๓, ๔

อ่านรายงานนี้แล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า การวิจัยแบบนี้จะไม่เกิด หรือเกิดในเมืองไทยยาก เพราะเราไม่มีสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังการวิจัยนี้ ว่าเมื่อมีหลักวิชา มีนโยบาย แล้วครูเอาไปใช้จริงๆ ในห้องเรียนของตนอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างมาเกี่ยวข้องให้ครูใช้หลักการที่ดีนี้อย่างไรบ้าง จะหนุนให้ครูใช้เครื่องมือนี้อย่างทรงประสิทธิผลยิ่งขึ้นอย่างไร

อ่านเอกสารทั้งสองคร่าวๆ แล้ว ผมมองว่ามีช่องทางสร้างสรรค์เรื่อง Formative Assessment ได้ตลอดชีวิตการเป็นครูและผู้บริหารการศึกษาทีเดียว โดยที่ธงชัยอยู่ที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ และอยู่ที่พัฒนาการของชีวิตการเป็นครู ของตัวครูเอง ที่สามารถพัฒนาลงลึกและเชื่อมโยงไปสู่เรื่องใหญ่ คือชีวิตมนุษย์ กับสังคมที่ดี หรือเอาให้ทันสมัยก็เชื่อมเข้าสู่ SDG

และผมได้ตระหนักว่า Formative Assessment ไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าต่อการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งหมายความว่า รวมการพัฒนาครูด้วย

ผมเขียนเรื่อง Embedded Formative Assessment ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 600437เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2016 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2016 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท