วิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ว่าด้วย "พี่พบน้อง" ในชั้นเรียน (คณะวิทยาการสารสนเทศ)


กระบวนการเตรียมความพร้อมว่าด้วยหลักคิดการ “เรียนรู้คู่บริการ” เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่อง “แนวคิดและเครื่องมือการเรียนรู้ชุมชน" หากนิสิต หรือกระทั่งอาจารย์ผู้สอนไม่หยั่งรากลึกถึงแก่นสารข้อนี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลชุมชนได้ เมื่อไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึง จึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดกิจกรรม หรือออกแบบกระบวนการเรียนรู้คู่บริการร่วมกับชุมชนได้




วันนี้-ปัจจุบันนี้ คำว่า “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” (1 หลักสูตร 1 ชุมชน) ไม่ได้ถูกนิยามความหมายเป็นแค่ “การบริการวิชาการแก่สังคม” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเหมือนที่ผ่านมา หากแต่ปีนี้ (ปีการศึกษา 2558) ยังหมายถึงการเป็นวิชาเรียนในหมวดศึกษาทั่วไปด้วย !

ดังนั้นนิสิตใหม่ชั้นปีที่ 1 รหัส “48” จึงเป็นนิสิตกลุ่มแรกที่ได้ลงทะเบียนเรียน –



ภายใต้หลักคิดอันมากมายมหาศาล อย่างน้อยคณะทำงานก็เชื่อมั่นและมีเป้าหมายที่หนักแน่นร่วมกัน คือการนำพานิสิตออกไปสู่การเรียนรู้ชุมชน อันหมายถึงเป็นการนำองค์ความรู้ในแต่ละหลักสูตรออกไปบูรณาการเพื่อการ “รับใช้สังคมแบบมีส่วนร่วม” ตามครรลอง “เรียนรู้คู่บริการ”

แน่นอนครับ, การเรียนรู้ตามหลักคิด “เรียนรู้คู่บริการ” บนฐานวิชาชีพเฉพาะทางและบนความต้องการของชุมชน ย่อมก่อเกิดมรรคผลหลายอย่าง ที่แน่ๆ นิสิตได้เรียนในแบบ “ลงมือทำ” อย่างไม่ต้องสงสัย เรียนกันแบบเป็นทีม ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน รวมถึงการเรียนรู้ “ความเป็นจริงของชุมชน” อย่างหลากมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ



ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนออกสู่การเรียนรู้ชุมชน กระบวนการเตรียมความพร้อมว่าด้วยหลักคิดการ “เรียนรู้คู่บริการ” เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่อง “แนวคิดและเครื่องมือการเรียนรู้ชุมชน" หากนิสิต หรือกระทั่งอาจารย์ผู้สอนไม่หยั่งรากลึกถึงแก่นสารข้อนี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลชุมชนได้ เมื่อไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึง จึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดกิจกรรม หรือออกแบบกระบวนการเรียนรู้คู่บริการร่วมกับชุมชนได้

ที่สุดแล้วจึงอาจไม่ต่างอะไรกับการ “เกาไม่ถูกที่คัน”



ล่าสุดการเตรียมความพร้อมของนิสิตที่ลงทะเบียนของคณะวิทยาการสารสนเทศ มีประเด็นน่าสนใจค่อนข้างมาก เนื่องเพราะคณะผู้สอนได้เชิญ (มอบหมาย) ให้คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิต และเหล่าบรรดาแกนนำชมรมในสังกัดคณะได้มาพบปะกับน้องๆ นิสิตใหม่ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชา “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”

บรรดาผู้นำที่ว่านี้ใช้กระบวนการง่ายๆ ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” -

กล่าวคือ มีการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ควบคู่กับการบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของ “คนทำกิจกรรม” หรือกระทั่ง “การเรียนและการใช้ชีวิต” อย่างสมดุลในแบบ “เรียนดี...กิจกรรมเด่น” –

นอกจากนั้นยังรวมถึงการประชาสัมพันธ์ “แผนงาน” ขององค์กรต้นสังกัด เพื่อชักชวนให้นิสิตใหม่ใส่ใจใคร่รู้และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมนอกหลักสูตร ทั้งในสังกัดคณะและในภาพรวมของมหาวิทยาลัย มิใช่จ่อมจมบ้าบอคอแตกในแบบ “บ้าเรียนแต่ไม่เข้าสังคม”



ถึงตรงนี้ต้องปรบมือให้คนในระดับต้นน้ำทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่คณบดี คณะผู้บริหารคณะไล่เรียงมาจนถึงคณะผู้สอน หรือกระทั่งผู้นำนิสิต เพราะต่าง “เปิดใจ” และ “กล้าหาญ” ด้วยการนำพานิสิตใหม่ให้
รับรู้ถึง “รสชาติชีวิต” ที่จำต้องเรียนรู้และฝังตัวควบคู่กันทั้งการเรียนในหลักสูตร (ในชั้นเรียน) และนอกหลักสูตร (นอกชั้นเรียน)

ผมเชื่อเหลือเกินว่า กระบวนการเช่นนี้ ไม่เพียงให้นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนได้รู้จักวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังสามารถกระตุ้นให้ “นิสิตรุ่นพี่” ทั้งหลายได้หันกลับไปทบทวนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนที่ประกอบด้วยงานบริการวิชาการแก่สังคมของคณะ –ของหลักสูตร –ของมหาวิทยาลัยฯ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตด้วยเช่นกัน

รวมถึงการผูกโยงให้นิสิตใหม่กับนิสิตรุ่นพี่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในแบบบูรณาการศาสตร์ของทุกสาขาเข้าด้วยกัน รวมถึงการท้าทายต่อการผนึกกิจกรรมนอกหลักสูตรเข้ากับกิจกรรมในหลักสูตรอย่างมีตัวตน ---



โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าหากออกแบบการเรียนรู้ดีๆ และทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงคราวนิสิตใหม่ต้องเรียนรู้คู่บริการจริงๆ กับชุมชน กลุ่มผู้นำนิสิตที่เป็นรุ่นพี่เหล่านี้นี่แหละคือ “พี่เลี้ยง” ของพวกเขา หรือเป็น “ผู้ช่วยภาคสนาม” ให้กับคณาจารย์ได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังจะหนุนเสริมให้นิสิตหลายๆ คน ได้หันกลับไปเข้าร่วมกิจกรรมบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของหลักสูตรตนเองอย่างจริงๆ จังๆ มากขึ้นก็เป็นได้

เช่นเดียวกับการเชื่อมสะพานให้นิสิตใหม่ได้เห็น “ต้นแบบ” ของกลุ่ม “จิตอาสา” ที่มี “จิตสาธารณะ” ในการเป็นส่วนหนึ่งต่อการช่วยเหลือสังคม เสมือนพี่พาน้องทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตนเองและสังคมดีๆ นั่นเอง

บางทีบรรยากาศกิจกรรมนอกหลักสูตรภายในคณะอาจถูกพลิกฟื้นให้ตื่นตัว คึกคักและเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นด้วยก็เป็นได้

ในทำนองเดียวกันนี้ ผมมองว่านี่คือกระบวนการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ในชั้นเรียนอันแสนดีและท้าทาย – นี่คือกระบวนการแนะแนวการศึกษาในวิชาชีพและวิชาชีพผ่านปากคำของรุ่นพี่ - นี่คือกระบวนการบ่มเพาะความเป็นตัวตนของสถาบันและคณะอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งช่วยให้นิสิตทั้งคณะได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นศาสตร์ของแต่ละหลักสูตรที่มีอยู่ในคณะต้นสังกัด ฯลฯ



แน่นอนครับ, ไม่ใช่แค่รุ่นพี่มาดูน้องแบบผิวเผิน (เอาความฮาแต่ไม่มีสาระ)
แต่เชื่อว่าพี่ๆ เองก็ย่อมทำการบ้านมาก่อน ทั้งการการทำความเข้าใจกับความเป็นหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน การมอบหมายงาน สร้างทีมในแบบบูรณาการศาสตร์ที่ไม่ใช่แยกขั้ว แยกฝ่าย แต่หมายถึง “ทำงานร่วมกัน” ของแต่ละหลักสูตร

ถึงแม้จะเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่ถ้าเราใส่ใจและจริงใจต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่แค่การพัฒนาแค่นิสิตใหม่เท่านั้น ทว่าย่อมเป็นการพัฒนาทั้งอาจารย์และนิสิตรุ่นพี่ไปพร้อมๆ กัน เพราะเท่าที่ดู ขณะที่นิสิตรุ่นพี่จัดกระบวนการ อาจารย์ก็เฝ้ามอง เก็บข้อมูล ประเมินการเรียนรู้ของนิสิตทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องไปพร้อมๆ กัน


สรุปคือ –ชื่นชม และให้กำลังใจ นะครับ



ภาพ : ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา

หมายเลขบันทึก: 600263เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2016 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พี่พบน้อง....กิจกรรมที่น่ารัก

พี่จะเป็นผู้ช่วยน้องได้เป็นอย่างดีจ้ะ


ครับ พี่ มะเดื่อ

การที่พี่มีโอกาสมาพบน้องในชั้นเรียนผ่านวิชาการเรียนการสอนเช่นนี้ คือการบูรณาการกิจกรรมในหลักสูตรและนอกหลักสูตรเข้าด้วยกัน เป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายในคณะไปในตัว และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่จะทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ร่วมกันได้หลายอย่าง

ยังไงๆ ก็ยังเป็นระยะแรกเริ่ม คงยังต้องทำไปเรียนรู้ไป....ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท