การวิ่งงบประมาณของ อปท.ที่ “ไม่มีใบเสร็จ”


การวิ่งงบประมาณของ อปท.ที่ “ไม่มีใบเสร็จ”

21 มกราคม 2559

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

http://www.gotoknow.org/posts/599786

เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2 ประเภท

องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีปัญหางบประมาณไม่เพียงพอในการบริหารตามภารกิจ โดยเฉพาะเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 7,567 แห่ง (ร้อยละ 96) [2] เพราะมีงบประมาณรายได้ทั้งจากที่ อปท. เก็บเอง และที่รัฐจัดเก็บให้เป็นจำนวนน้อย จัดสรรงบประมาณแก่ อปท. ตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 [3] มี 2 ประเภท คือ

1. งบเงินอุดหนุนทั่วไป [4] ยอดเงินหารเฉลี่ยตามจำนวน อปท. และคิดจากจำนวนหัวประชากรเป็นหลัก เทศบาลและ อบต. แบ่งกันตามสัดส่วน แต่ อบจ. กทม เมืองพัทยา แยกต่างหาก งบอุดหนุนทั่วไปนี้รวม งบอาหารเสริมนม งบค่าอาหารกลางวัน เบี้ยผู้สูงอายุ (คนชรา) เบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งแต่เดิมเป็นงบที่เรียกว่า “งบอุดหนุนทั่วไประบุวัตถุประสงค์” ดูจากตัวเลขรวมแล้วจะมาก แต่หากเทียบภารกิจ อปท. แล้วเห็นว่า “งบไม่เพียงพอ” ประกอบกับรายจ่ายประจำในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เงินสวัสดิการ และเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นของพนักงาน ลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้งบอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาลไม่เพียงพอนำมาพัฒนา เพราะ อปท. ส่วนใหญ่ (ขนาดเล็ก) จะมีงบประมาณรายจ่ายเพื่อการพัฒนาเฉลี่ย อปท. ละ 3 ล้านบาทเท่านั้น

2. งบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เป็นงบประมาณที่จัดสรรตามความเดือดร้อนความจำเป็นในการพัฒนา โดยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเจ้าของงบในส่วนกลาง แหล่งงบประมาณส่วนใหญ่ก็คือ จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แก่ งบก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก งบก่อสร้างโรงเรียน งบกล้องวงจรปิด งบแหล่งน้ำ งบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ทาง เป็นต้น

เหตุใดท้องถิ่นต้องวิ่งงบประมาณ

เนื่องจาก อปท. ส่วนใหญ่เป็น “พื้นที่ชนบท” มีรายได้น้อยจากการจัดเก็บภาษีได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.) ภาษีป้าย (ภป.) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.) ค่าธรรมเนียมอากรฆ่าสัตว์ ค่าธรรมเนียมสาธารณสุขฯ ทำให้ อปท. มีงบประมาณรายได้ไม่เพียงพอ ประกอบกับที่ผ่านมา อปท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาลเพียงร้อยละ 27 [5] ของงบประมาณรายได้ของรัฐเท่านั้น หากเทียบกับภารกิจหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. [6] และ พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ ฯ แล้ว อปท.มีภารกิจบริการสาธารณะที่มากมาย อาทิ การจัดเก็บขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดการศึกษา การควบคุมโรคติดต่อ การส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม การจัดหาน้ำดื่มอุปโภคบริโภค การพัฒนาถนนหนทาง การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การสร้างกลุ่มอาชีพ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม [7] และอื่น ๆ

จากการประชาคมหมู่บ้านและชุมชนเป็นประจำทุกปี ทำให้นายก อปท. ในที่นี้คือ นายกเทศมนตรีตำบล และนายก อบต. ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการตามโครงการนั้นได้ เนื่องจากขาดงบประมาณ จึงเป็นภาระของ นายก อปท. ที่ต้องพยายามวิ่งหางบประมาณจากภายนอกมา เพื่อแก้ไขปัญหาฯ ตามที่ตนได้รับปากต่อชาวบ้านไว้แล้ว ซึ่งแหล่งงบประมาณที่สำคัญก็คือ “งบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” ดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง

ขั้นตอนการวิ่งงบประมาณ 

ลำดับขั้นตอน พอสังเขป เริ่มจากการทำประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาและความต้องการของประชาชน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 [8] มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มีการจัดทำโครงการฯ เพื่อการอนุมัติแผน และมีการแยกแยะแผนว่าจะดำเนินการเองตามงบประมาณของ อปท. เอง หรือจะดำเนินการเองบางส่วน สำหรับโครงการที่เหลือที่ไม่สามารถดำเนินการได้เรียกว่า “แผนชุมชนที่เกินศักยภาพของชุมชน” ต้องส่งแผนไปบรรจุที่ แผนพัฒนาของ อบจ. [9] และ ยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งแผนที่เกินศักยภาพนี้เอง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของราษฎรในฐานะตัวแทนของประชาชน หรือผู้อาสาเข้ามารับใช้ประชาชนให้เป็นผลสำเร็จ นายก อปท. จึงพยายามหาช่องทาง ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพื่อให้ได้งบประมาณมาพัฒนา อปท. ให้มากที่สุด เช่น การเข้าหาแหล่งงบประมาณ และผู้มีอำนาจอนุมัติงบประมาณ เป็นต้น จึงเกิดลักษณะของการของบประมาณโครงการที่เรียกว่า “การวิ่งงบประมาณ” ขึ้น

 

งบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

งบประมาณพัฒนา อบจ. จะจัดสรรเป็นโควตาตามจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ. หรือ สจ.) ในพื้นที่โดยหารงบประมาณเป็นสัดส่วนตามจำนวนคน สำหรับโควต้างบของนายก อบจ. จะลงโครงการในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียง มักไม่คำนึงถึงการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ส่วนใหญ่เป็นงบจัดซื้อ เพราะดำเนินการง่าย เช่น ซื้อสื่อการเรียนการสอน (แจกโรงเรียน) ซื้อเครื่องจักร งบวัสดุในการจัดงานประเพณีต่างๆ งบก่อสร้างโครงการมีน้อยมาก งบดังกล่าวจึงไม่ตอบสนองต่อปัญหาความต้องการ และไม่เพียงพอทั่วถึงแก่ประชาชน

 

งบประมาณยุทธศาสตร์จังหวัด และกลุ่มจังหวัด [10]

มีจำนวนงบประมาณที่ค่อนข้างสูง แต่การจัดสรรงบดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจ นโยบาย หรือตามสโลแกน นโยบาย คำขวัญที่ต้องการหรืออยากได้ อยากทำหรือรณรงค์ในสิ่งใด ของผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) แต่ละคน โดยมีสำนักงานจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการตามแผนฯ การบรรจุโครงการในท้องถิ่นใด ก็จะผ่านโครงการไปยังส่วนราชการประจำจังหวัด และอำเภอ เช่น พัฒนาชุมชนจังหวัด แขวงการทาง เกษตรจังหวัด ปกครองอำเภอ เป็นต้น

ลักษณะโครงการเป็นเช่นเดียวกับงบประมาณของ อบจ. ดังกล่าวข้างต้น ที่ตัวโครงการมักไม่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหากมีการโยกย้าย หรือ ผวจ. เกษียณราชการนโยบายหรือแนวทางดังกล่าวก็ยกเลิกหรือไม่ได้รับการสานต่อจาก ผวจ. คนใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นการปฏิบัตินโยบายที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล

นอกจากนี้ งบประมาณของกระทรวง ทบวง กรม ที่มีภารกิจเฉพาะ เช่น กรมทางหลวง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เหล่านี้ คือช่องทางผ่านของโครงการ “แผนที่เกินศักยภาพ” ซึ่งสำนักงานจังหวัดจะบรรจุแผนส่งไปให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบดังกล่าว หรือ ให้ อปท. ประสงค์ขอรับงบประมาณจากกรมที่มีงบประมาณนั้นโดยตรง

 

งบประมาณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ถือเป็นแหล่งงบประมาณสำคัญของท้องถิ่นที่ทุก อปท. “วิ่งงบประมาณ” เพราะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุน อปท. โดยการจัดสรรงบประมาณ “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” ต่อปีเป็นจำนวนมากมากองรวมไว้ จากข้อมูลปี 2556 งบอุดหนุนเฉพาะกิจ วงเงิน 1.19 แสนล้านบาท [11]

อปท. เป็นผู้เสนอโครงการข้ามปีตามระบบปีงบประมาณของส่วนกลาง เช่น งบประมาณปี 2559 อปท. ต้องส่งโครงการขอตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้น โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะแจ้งหนังสือเวียนผ่านจังหวัดให้ทุก อปท. เสนอโครงการผ่านจังหวัด เพื่อส่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาอนุมัติงบประมาณ การทราบผลอนุมัติโครงการฯ ก็ต่อเมื่อ “อปท.ได้รับใบจัดสรรโครงการ” ในอีกหนึ่งปีถัดไปเท่านั้น ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณหรือไม่เพียงใด

 

ข้อสังเกตการวิ่งงบประมาณ

มีข้อสังเกตในการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณหลักของ อปท. ดังนี้

1. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (สนทท.) และสมาคมท้องถิ่นอื่น เคยเรียกร้องให้ยกเลิกเงินอุดหนุนเฉพาะกิจทั้งหมดและให้เปลี่ยนเป็น “เงินอุดหนุนทั่วไป” แทน [12] เพื่อให้ อปท. ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนที่เท่าเทียมกัน เนื่องจากงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์มาตรฐานหรือกติกาในการจัดสรร ส่วนใหญ่ไม่อาจคาดเดาเหตุผลได้เลยว่าใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาจัดสรรงบ เช่น อปท. ที่เคยได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก็มักจะได้รับการจัดสรรเป็นประจำทุกปี แต่ อปท. ที่ไม่เคยได้รับการจัดสรรฯ ก็จะไม่เคยได้รับการจัดสรรฯ เช่นเดิม เป็นต้น

2. ข่าวการซื้อโครงการ การจ่ายเงินล่วงหน้า การทุจริต วิ่งเต้นโครงการ รวมเรียกว่า “การวิ่งงบประมาณ” มีมาทุกยุคทุกสมัยที่ผู้เกี่ยวข้องต่างยอมรับว่ามีอยู่จริง สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง เกิดจากการตั้งงบประมาณ ลอยๆ (ไม่แน่นอน) แล้วจึงมีการจัดสรรงบประมาณโครงการในภายหลัง เช่น งบการก่อสร้างตลาด หรืองบก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในการเสนอโครงการก็มีเพียงยอดเงินงบประมาณ ไม่มีรายละเอียดที่ขอเสนอโครงการไป แต่รัฐบาลก็จัดสรรให้ตามจำนวนที่ให้ หรือตามแบบแปลนมาตรฐานที่มี สำหรับการอนุมัติต้องรอจากใบจัดสรรงบประมาณเท่านั้น จึงจะทราบว่าได้รับงบประมาณ การได้รับการจัดสรรงบประมาณจึงเหมือนฝัน

3. ประเด็นสำคัญที่คนท้องถิ่นรับรู้และยอมรับกัน และเล่าขานกันมาปากต่อปากมาตลอด โดยไม่มีหลักฐาน จึงไม่มีใครกล้าพูด เพราะ “ไม่มีใบเสร็จ” ก็คือ การวิ่งงบประมาณที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ล่วงหน้า ก่อนใบจัดสรรงบประมาณออก โดยการประสานงานของนายหน้าที่อาจเป็นคนนอก หรือ ตัวนายก อปท. ที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะ อปท. ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นปกติประจำ เป็นตำนานเล่าขานกันไม่รู้จบถึงการทุจริตและความไม่ยุติธรรมในการจัดสรรงบประมาณ

 

ข้อสรุป

ตราบใดที่ความจำเป็นเดือดร้อนของประชาชน อปท. มีมาก ความต้องการงบประมาณของ อปท. ก็ย่อมมีมาก การพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจล่วงหน้า ที่ขึ้นกับดุลพินิจ การพิจารณาที่ไม่โปรงใส ประกอบกับเม็ดเงินในจำนวนที่สูงมาก ก็ยิ่งทำให้ผู้พิจารณาอนุมัติฯ มีอำนาจมากยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาการวิ่งงบประมาณแบบ “เงินแลกใบจัดสรรฯ” ก็คงไม่มีทางหมดไปได้ หากหน่วยงานราชการผู้มีอำนาจ และ ผู้เกี่ยวข้องยังหมกมุ่นอยู่ในวังวนของผลประโยชน์ส่วนตน ขาดจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม และชาติบ้านเมือง แม้จะอยู่ในยุค คสช. ที่เข้มงวดต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นก็ไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ ***


 

หมายเหตุ

*** บทความนี้กล่าวถึงเฉพาะงบประมาณ "เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ" ของ อปท. ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมต่อ อปท. โดยเฉพาะ อปท. ขนาดเล็ก ๆ และปัญหาเรื่องการทุจริตต่าง ๆ ในการจัดสรรงบประมาณฯ มาช้านาน

ดูใน รายงานการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้านการเงินการคลังของเทศบาล” โดย ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ และคณะ ช่วงปี 2553/2554 ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2557 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) รางวัลระดับดี ใน คุยกับดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้เปิดข้อมูลความเสี่ยง “หนี้ท้องถิ่น” , 2 กุมภาพันธ์ 2558, http://isranews.org/thaireform/thaireform-talk-interview/item/36233-weerasak_36233.html#.VM7seNT13MA.facebook 
 

ดู พื้นที่ชีวิต - รากแห่งการคอร์รัปชั่น, ladyHugsy Hugme Published on Jul 24, 2013 [Thai PBS 52.56 min], สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) Life Explorer, 25 กรกฎาคม 2556, https://www.youtube.com/watch?v=fHLAi6aBjCw

พื้นที่ชีวิต - ยืนหยัด ต้านคอร์รัปชั่น 7Aug13, [Hong Kong], ladyHugsy Hugme Published on Aug 7, 2013 [Thai PBS 46.48 min], Life Explorer, 7 สิงหาคม 2556, https://www.youtube.com/watch?v=3vfg21JlGJA 

พื้นที่ชีวิต - คอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตย 14Aug13, ladyHugsy Hugme Published on Aug 15, 2013 [Thai PBS 51.59 min], Life Explorer, 15 สิงหาคม 2556, https://www.youtube.com/watch?v=xmhC8IDqaXo

[1] Ong-art saibutra & Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer & สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22907 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 19 วันศุกร์ที่ 22 – วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2559, หน้า 80, ‎เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] ข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 9 มีนาคม 2558, http://www.dla.go.th/work/abt/ 

1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง

2. เทศบาล 2,440 แห่ง ( เทศบาลนคร 30 แห่ง, เทศบาลเมือง 178 แห่ง, เทศบาลตำบล 2,232 แห่ง)

3. องค์การบริหารส่วนตำบล 5,335 แห่ง

4. องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง

รวมทั้งสิ้น 7,853 แห่ง

ส่วนวิจัยและพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง สำนักพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

[3] พระราชบัญญัติกำหนดแผนและ ขั้นตอนการกระจายอำนาจให้เเก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 48-66 เล่ม 116 ตอบที 114 ก วันที่ 17 พฤศจิกายน 2542, www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/114/48.PDF & พระราชบัญญัติ กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1-3 เล่ม 124 ตอนที่ 2 ก วันที่  8 มกราคม 2550, www.kormor.obec.go.th/act/act522.pdf

[4] ดู ประกาศคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อสนับสนุนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2558, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 52-53 เล่ม 132 ตอนพิเศษ 260 ง วันที่ 20 ตุลาคม 2558, www.nmt.or.th/Lists/List5/Attachments/223/กระจายอำนาจปี59.PDF

[5] เปิดเส้นทางวิบากงานกระจายอำนาจ “อปท.”, ทีมข่าว Inside Thai Parliament, 22 กรกฎาคม 2557, http://www.info.or.th/blog/เปิดเส้นทางวิบากงานกระ/

15 ปี ของการกระจายอำนาจ ยังสามารถกระจายเงินลงไปได้ในสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น

& ดู เปิดรายละเอียดจัดสรรเงิน 2 แสนล้าน อุดหนุน อปท.ปี 59 - 28 ประเภท, 22 ตุลาคม 2558, http://www.isranews.org/เรื่องเด่น-สำนักข่าวอิศรา/item/42167-basketnews06.html& ประกาศคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อสนับสนุนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 260 ง วันที่ 20 ตุลาคม 2558 หน้า 52-54, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/260/52.PDF

[6] พรบ. เทศบาล พ.ศ. 2496 และ พรบ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[7] มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ, กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, AUTHORS ชัยพงษ์ สำเนียง, สิงหาคม 2555, https://www.academia.edu/20344639/กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติขององค_กรปกครองส_วนท_องถิ_น

[8] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 115 ง วันที่ 17 ตุลาคม 2548 หน้า 46-57, http://www.dla.go.th/work/planlocal/กฏหมาย ระเบียบ/ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาของ อปท. พ.ศ. 2548.pdf

[9] ดู ข้อ 10(2) แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548, อ้างแล้ว. 

[10] หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี (พ.ศ. 2557 - 2560) ตามที่ ก.น.จ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555, http://www.opdc.go.th/content.php?menu_id=5&content_id=2339& ดู ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 120 ตอนพิเศษ 120 ง วันที่ 14 ตุลาคม 2546, http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/POPProvince/DATA_03_ACT.pdf & ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่มที่ 123 ตอนพิเศษ 29 ง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549, http://www.sakonnakhon.go.th/audit/m/me/budget_law_12.doc 

& ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 123 ตอนพิเศษ 43 ง วันที่ 27 ธันวาคม 2549, http://www.bb.go.th/management/Law_Rule/attfile/province_ad/bud-province49.pdf

[11] คสช.ออกแบบสกัดงบท้องถิ่น ถึงขั้น “ยุบ อปท.”หรือไม่, ASTVผู้จัดการรายวัน, 19 กรกฎาคม 2557, http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9570000081486

การจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปีงบประมาณ 2557 ร้อยละ 27.28 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล งบประมาณรายจ่ายปี 2556 จัดสรรงบอุดหนุนให้ อปท. 2 แสนกว่าล้าน เมื่อรวมงบ อปท.ทั้งหมด 5.29 แสนล้านบาท คิดเป็น 26.77% ของงบประมาณแผ่นดิน ในจำนวน 2 แสนล้าน แบ่งเป็น งบอุดหนุนทั่วไป กับงบอุดหนุนเฉพาะกิจ จำนวน 1.19 แสนล้านบาท

[12] เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง'ยุบภูมิภาค', คมชัดลึก, 15 สิงหาคม 2557, www.komchadluek.net/detail/20140815/190164.html 

ข้อเสนอให้ “ยกเลิกเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ให้ปรับเปลี่ยนเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปกระจายให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย นายธีระเดช นรัตถรักษา ประธานชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย 

หมายเลขบันทึก: 599786เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2016 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2022 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท